ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ด้วยพระสิริโฉมอันงดงามใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ประกอบกับความห่วงใยที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและพืชพันธุ์ธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อมีการค้นพบพันธุ์ไม้ใหม่ๆ ที่มีสวยงามหรือค้นพบเป็นครั้งแรกของโลก องค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ไปเป็นชื่อดอกไม้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทต่างๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติอยู่เสมอๆ
กุหลาบควีนสิริกิติ์
กุหลาบควีนสิริกิติ์ (Queen Sirikit Rose) กุหลาบดอกใหญ่สีเหลือง ปลายกลีบสีอมส้ม มีกลิ่นหอม ลูกผสมระหว่างพันธุ์ Königinder Rosen กับพันธุ์ Golden Giant มีความสวยงามเป็นที่ประจักษ์ระดับโลก ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่ประเทศไอร์แลนด์ ในปี 2513 ต่อมา นายอองเดร อองดริก ผู้อำนวยการไร่กุหลาบกร็องด์ โรเซอเร ดู วาล เดอ ลัวร์ (Grandes Roseraies Du Val de Loire) ได้ขอพระราชทานพระนามเป็นชื่อของกุหลาบลูกผสมนี้ว่า กุหลาบควีนสิริกิติ์ ในปี 2514 โดยมีการเปิดบันทึกเผยเอกสารของไร่ความว่า “พระราชินีแห่งประเทศไทย ทรงพระสิริโฉมเป็นเสน่ห์แบบตะวันออกเหนือตะวันตก”
คัทลียาควีนสิริกิติ์
คัทลียาควีนสิริกิติ์ (Cattleya Queen Sirikit) กล้วยไม้ลูกผสมระหว่างพันธุ์ Cattleya Bow Bells กับ พันธุ์ C.o’brieniana var. alba โดยบริษัทกล้วยไม้เก่าแก่ของอังกฤษ Black & Flory สวยงามได้รับรางวัลระดับสูงจากราชสมาคมไม้ประดับ (Royal Horticultural Society) ประเทศอังกฤษ ซึ่ง Peter McKenzie Black จากบริษัท Black & Flory ได้ขอพระราชทานพระนาม ตั้งชื่อพรรณไม้ตั้งแต่ปี 2501 ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระราชทานให้เป็นดอกไม้ประจำวันสตรีไทย
ดอนญ่าควีนสิริกิติ์
ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ (Dona Queen Sirikit) พรรณไม้ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ผสมขึ้นในปี 2506 ลูกผสมระหว่าง Mussaenda Luz และ M.philipica Aurorae เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จฯ ไปทรงเยือนประเทศฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ และทางมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ตั้งชื่อของดอนญ่าลูกผสมพันธุ์ใหม่นี้
บัวควีนสิริกิติ์
บัวควีนสิริกิติ์ (Nymphaea Queen Sirikit) บัวลูกผสมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ข้ามสกุลบัวฝรั่งกับบัวผัน ระหว่าง Nymphaea กับ Brachyceras กลายเป็นบัวสายพันธุ์ใหม่งดงามยิ่ง ผสมพันธุ์โดยนายไพรัตน์ ทรงพานิช นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ต่อมา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตพระราชทานนามบัวลูกผสมสายพันธุ์ใหม่นามว่า “บัวควีนสิริกิติ์” เมื่อปี 2555
มหาพรหมราชินี
มหาพรหมราชินี (Mitrephora sirikitiae) พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกวงศ์กระดังงา ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พรรณไม้เฉพาะถิ่นพบบริเวณยอดเขาสูงชัน ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร ในเขตอำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ ร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เนื่องโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2547
โมกราชินี
โมกราชินี (Wrightia sirikitiae) อีกหนึ่งพรรณไม้หายากพบเฉพาะในประเทศไทย ที่ยกขึ้นเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ลักษณะดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด กลางดอกมีรยางค์เป็นขนยาว กลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งพบครั้งแรกโดย ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข บนเขาหินปูน จ.สระบุรี ต่อมา ได้ขอพระราชทานพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ตั้งชื่อเมื่อปี 2544
นอกจากนี้ ยังมีพรรณไม้พระราชทานนามซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นพรรณไม้ป่า เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอย่างไพเราะ ได้แก่
“ทิพเกสร” ดอกสีม่วงอ่อนแกมชมพู ไม้ล้มลุกกินแมลง พบในแถบชายน้ำทางภาคอีสานใกล้พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร “สร้อยสุวรรณา” ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ พบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หรือ “ดุสิตา” ไม้ล้มลุกดอกสีม่วงเข้มออกเป็นช่อพบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เช่นเดียวกัน
ข้อมูลและภาพประกอบ : www.baanlaesuan.com, www.doa.go.th, www.royalparkrajapruek.org