ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า สร้างความฮือฮาให้แวดวงเลือกตั้งไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับแนวคิดเรื่อง “แยกเบอร์” ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มือกฎหมายที่ผ่านงานทำคลอดรัฐธรรมนูญไทยมาแล้วหลายต่อหลายฉบับ
เพราะถ้ากฎหมายออกมามีผลบังคับใช้จริง ก็หมายความว่า “หมายเลข” แต่ละเขตของพรรคจะไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่ใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ
ฝ่ายคัดค้านมองว่า “เป็นการไม่ส่งเสริมพรรคการเมือง”
ขณะที่ “นายมีชัย” อธิบายว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการซื้อเสียงที่หว่านกันทั้งประเทศ ไม่ให้เกิดคำพูดว่า เอาเสาโทรเลขหรือคนขับรถมาลงสมัคร ส.ส.ก็ได้อีกต่อไป พร้อมประกาศเสียงแข็ง “อย่าดูถูกประชาชน”
ด้าน “นรชิต สิงหเสนี” โฆษก กรธ.บอกว่า “จะขจัดการโกงได้ ระบบนี้ยุติธรรม”
คนที่เห็นด้วยกับแนวคิดของ กรธ.ชัดๆ ก็คือ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่ออกมาสวนกระแสลูกพรรคแบบไม่ได้ปรึกษาหารือกันมาก่อน โดยเดอะมาร์คบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ต้องกังวลมากเกินไปเนื่องจากหากย้อนหลังไปในปี 2544 ประเทศไทยก็เคยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาแล้ว กาผิดบ้างถูกบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรถึงขนาดมีนัยสำคัญ
หนักไปกว่านั้นก็คือ นายอภิสิทธิ์ยังบอกด้วยว่า อยากเห็นผู้สมัครแบบไม่มีเบอร์ เพราะการมีเบอร์ทำให้การซื้อเสียงง่ายขึ้น เนื่องจากต้องไปซื้อเสียงกับผู้ที่ไม่สนใจการเมืองนัก ถ้าบอกเพียงเบอร์ก็จะทำให้จำได้ง่าย แต่กระนั้นก็ดีแบบไม่มีเบอร์นั้น จะต้องระบุชื่อ นามสกุลและพรรค
“ถ้าสังเกตประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่ค่อยใช้เบอร์ แต่ในอดีตเรายังกลัวคนอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งในปัจจุบันลดลงไปมากแล้ว” นายอภิสิทธิ์ยกตัวอย่างและอธิบายเหตุผล
ฝ่ายที่ค้านแนวคิดของ กรธ.และนายมีชัยอย่างเป็นทางการก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และพรรคการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนา ฯลฯรวมทั้งอดีต กกต.อย่างนางสดศรี สัตยธรรมที่ชำแหละเบื้องหน้าเบื้องหลังของแนวคิดนี้ออกมาว่า ทำเพื่อต้องการอะไร
แต่ที่เด็ดที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “สมชัย ศรีสุทธิยากร” หนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถึงขนาดโพสต์เฟซบุ๊กอัด กรธ.ว่าเป็น “ไบโพลาร์” กันเลยทีเดียว
กกต.ด้านบริหารกลางอย่างนายสมชัยอธิบายว่า แนวคิดของกรธ.ที่จะให้ผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองไปจับสลากหมายเลขของแต่ละเขตเอง โดยเชื่อว่าจะป้องกันการซื้อเสียงและบอกว่าประชาชนจะไม่สับสน แค่คิดก็สับสนแล้ว กรุงเทพมหานครมี 30 เขต โคราชมี 14 เขต ประชาชนที่นั่งรถข้ามเขตปกครองกันไปมาคงเห็นหมายเลขผู้สมัครและหน้าผู้สมัครของแต่ละพรรคสับสนวุ่นวายไปหมด
ขณะที่ กกต.ในแต่ละจังหวัดต้องเพิ่มภาระทางธุรการให้ผู้ที่สมัครมาเจอกันเพื่อจับสลาก หากถูกปิดล้อมสักที่จนเลยเวลารับสมัครก็จะเป็นเหตุให้เลือกตั้งเป็นโมฆะอีก การรวมคะแนนทั้งประเทศของพรรค คงเขียนโปรแกรมอย่างสนุกสนานเพราะต้องเอาคะแนนเบอร์โน้นของเขตนี้มารวมคะแนนเบอร์นี้ของเขตโน้น การกำกับตรวจสอบเพื่อดูถึงความถูกต้องเป็นไปได้ยาก โอกาสผิดพลาด โอกาสถูกฟ้องร้อง โอกาสที่ประชาชนจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็สูงขึ้น
“บอกอยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลัคนเลือกเบอร์ของพรรคการเมือง เช่นเดียวกับบอกว่า ต้องการคนที่มีคุณสมบัติสูงมาเป็นองค์กรอิสระ แต่องค์กรหนึ่งเซตซีโร อีกองค์กรหนึ่งให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ เพื่อนที่เป็นแพทย์คนหนึ่งบอกผมว่า เป็นอาการไบโพลาร์ทางการเมืองครับ”นายสมชัยวิจารณ์อย่างรุนแรงพร้อมซัดนายอภิสิทธิ์ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อแห่งหนึ่งในเวลาต่อมาว่า “ถ้าผู้สมัครหล่อแบบนายอภิสิทธิ์ทุกคนคงไม่มีปัญหา”
แถมยังท้าพนัน “ตัดหัว” กับ กรธ.อีกต่างหากถ้าระบบใหม่จะช่วยแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงได้
เรียกว่าซัดกันมันหยดติ๋งๆๆๆๆ เลยทีเดียว
ส่วน “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์แบบเสียดสีว่า “รับได้หมด ไม่เรียกร้องให้เปลี่ยนด้วย เอาให้สุดไปเลย แต่ช่วยเขียนให้คนใส่เสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้นมาลงคะแนนได้ด้วย รวมถึงอย่าไปเขียนช่องใหม่ว่า ให้คนต้องตีลังกาไปเลือกตั้งก็แล้วกัน”
ส่วน “รองณุ-นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลก็ออกตัวเสียงเขียวว่า “ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ ให้เขาไปทะเลาะกันเอง อย่าให้ผมเข้าไปเป็นฝ่ายที่สามเลย เป็นเรื่องของ กรธ.ที่ทำกฎหมาย รัฐบาลไปยุ่งอะไรไม่ได้เลย และที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามที่จะไม่ยุ่ง นอกจากเขาถามมา ขณะเดียวกัน กกต. ก็ต้องปกป้องวิธีการ หรือความสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง ที่เขามีประสบการณ์ ดังนั้นเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ และผู้มีหน้าที่เท่านั้น รัฐบาลซึ่งไม่ได้มีอำนาจ หรือหน้าที่ ก็ไม่ควรไปพูดอะไร แม้ว่าจะพูดในนามส่วนตัวก็อาจจะถูกตีเป็นประเด็นว่าเป็นจุดยืนรัฐบาลได้”
ทั้งนี้ หากมองแบบไม่เข้าใครออกใคร ก็ต้องบอกว่า แนวคิดในเรื่องนี้ของ กรธ.ไม่ธรรมดา และสมประสงค์ของการออกมาการเมืองใหม่หลังการเลือกตั้งที่ไม่ต้องการให้พรรคใดพรรคหนึ่งสามารถครองเสียงข้างมากในสภา ตรงตามเจตนารมณ์ที่ กรธ.วางหมากเอาไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ทุกประการ ที่สำคัญคือ เหตุที่ กรธ.ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ก็เพราะถ้าใช้แบบเดิมการคำนวณสัดส่วน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อน่าจะมีปัญหา เพียงแต่น่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายและสับสนในการปฏิบัติงานจริงอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว บทสรุปจะออกมาอย่างไร แนวคิดนี้จะได้ใช้หรือไม่ หรือจะมีการปรับแก้ เพราะตามขั้นตอนแล้ว กฎหมายไม่ได้จบสิ้นที่ กรธ.หากแต่ยังต้องส่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาอีก ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว สนช.อาจมีการปรับแก้เนื้อหาก็เป็นได้
แต่เชื่อขนมกินได้ว่า แนวคิดนี้ “ถูกลิขิต” มาแล้ว
ส่วนเมื่อใช้แล้วจะเป็นไปตามเป้าประสงค์หรือไม่ เรื่องนี้ยากต่อการคาดเดา ทว่า ก็มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะทำให้สมการการเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้พอสมควร เพราะตราบใดที่พรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยไม่สามารถชนะถล่มทลายได้เกิน 250 เสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ตราบนั้น ทิศทางทางการเมืองของไทยก็จะไม่แปรเปลี่ยนไปจากยุครัฐบาล คสช.เท่าใดนัก
ดังนั้น อย่าแปลกใจที่งานนี้ พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะพิ้นพล่านเป็นพิเศษ