ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับวันปมปัญหาระบบสาธารณสุขไทยที่ซุกใต้พรมยิ่งปรากฏชัดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 “กฎหมายบัตรทอง” ที่คนไทยรู้จักกันดี “30 บาท รักษาทุกโรค” ขณะที่มีบางกลุ่มพยายามใส่ไฟทำลายความปราถนาดี จน “นายกฯ ลุงตู่” ออกอาการโมโห
“ผมอยากให้ประชาชนออกกำลังกายกันให้มากขึ้น จะได้ปวดหัวกันน้อยลง การรักษาพยาบาลก็จะลดลง จะได้มีเงินไปดูแลส่วนอื่น ผมไม่เคยลดอะไรเลย มีแต่หาเงินเพิ่ม อย่าไปเชื่อไอ้ใครที่บอกว่าจะลดโน่นลดนี่ ลดโครงการ 30 บาทฯ หรือบัตรทอง พามาหาผมหน่อย ต้องพูดคุยปรับทัศนคติกันนิดหน่อย นิสัยแบบนี้ไม่ยอมเลิก เล่นไม่เลิก!” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าว
ทั้งนี้ คสช.ได้ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกแก้ปัญหาการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังพบติดขัดข้อกฎหมายส่งผลให้โรงพยาบาลไม่สามารถใช้งบได้ในหลายประเด็น ซึ่งอาจกระทบสิทธิและการบริการผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน
และนั่นส่งผลทำให้ “เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ไม่เห็นด้วยทุกประการ ระดมพลคัดค้านการแก้กฎหมายดังกล่าว โดยมองว่าการแก้ กม.บัตรทอง จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองประมาณ 49 ล้านคน จะกลายเป็น “ผู้ป่วยอนาถา” ได้รับการบริการสาธารณะสุขจะย่ำแย่ลงไปอีก
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ปัญหาด้านบริการสาธารณสุขไทยยังคงลุกลามบานปลาย สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ นายกฯ ลุงตู่ อย่างต่อเนื่อง นอกจากการแก้กฎหมายแล้วยังมีปัญหาภาวะโรงพยาบาลขาดทุน ที่เป็นข่าวครึกโครมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปกว่า 18 แห่งรัฐขาดทุนอันเนื่องมากจากงบค่าใช้จ่ายรายหัวในส่วนของระบบบัตรทองที่ได้น้อยและบริหารจัดการงบประมาณที่ไม่ดี
และหนึ่งประเด็นที่กำลังร้อนแรงเนื่องจาก ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. ตั้งโต๊ะแถลง กรณี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ค้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลสิทธิสถานพยาบาลอยู่ประมาณ 1,100 ล้านบาท หลังบอร์ด สปสช. ร่วมประชุมหารือ เรื่อง ความก้าวหน้าการดำเนินงานกรณีงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงาน หรือ ลูกจ้างของ อปท. ที่ส่อแวววุ่นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ในครั้งนั้น ตัวแทนจากบอร์ด สปสช. อธิบายสาเหตุว่า เนื่องจากช่วงแรกที่ตั้งกองทุนฯ ปีแรกตั้งไว้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แต่ใช้จริง 2,000 - 3,000 กว่าล้านบาท เพราะ อปท. ยังมีบุคลากรน้อย และเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ขณะที่เดิมที อปท. บริหารเงินและเบิกกันเอง แต่พบปัญหาว่าเป็นหน่วยงานขนาดเล็กไม่มีเงิน ครม. จึงให้ สปสช. เข้าเป็นผู้บริหารกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ซึ่งเงินกองทุนนี้มาจาก 2 ส่วน คือ รัฐจัดให้ กับ อปท. จัดเก็บได้เอง แล้วจึงโอนมาให้ สปสช. บริหารเพราะประสิทธิภาพดีกว่าและลดความซ้ำซ้อน
ต่อมา พนักงานและลูกจ้าง อปท. ทราบสิทธิของตนมากขึ้น ตัวเลขการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็สูงขึ้น และเริ่มมีปัญหาเมื่อปีที่ 2559กองทุนฯ ติดลบอยู่ 1,000 ล้านบาท แต่ประจวบเหมาะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงปลายปี จึงมีเงินจัดสรรเข้ามานำไปจ่ายได้ ขณะที่ปี 2560 เงินจัดสรรถึงเดือน เม.ย. ส่งผลให้มีงบขาด 1,600 ล้านบาท รวมปีที่แล้วอีก 1,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท เบื้องต้นได้เสนอทางออกให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ของบกลางจาก ครม. มาอุดหนุนแก้ปัญหาโดยด่วน
กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560 นพ.ปิยะสกล ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ติดตามเรื่องการของบกลางตามที่มีหนังสือเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,500 ล้านบาท ไปยังสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขระยะสั้น ขณะที่ แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวในงบประมาณตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ พิจารณากำหนดแนวทางการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย เพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นตามข้อเท็จจริง และหากยังไม่มีความคืบหน้าจะยื่นหนังสือทวงถามและขอเข้าหารือกับนายกฯ ต่อไป
“เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน อปท. จึงได้มอบ สปสช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมพิจารณาเพื่อปรับปรุงข้อตกลง เพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้นำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ การทดลองจ่าย วัตถุประสงค์ของเงินค่าบริหารจัดการ และองค์ประกอบคณะกรรมการ ซึ่งจะมีการนำเสนอต่ออนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท. ในวันที่ 30 ส.ค. นี้” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2560 สามารถค้างจ่ายรวมทั้งสิ้น 1,500 - 2,000 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้ไม่เหลือแล้ว ส่วนสถานพยาบาลยังให้บริการอยู่เหมือนเดิมจะไม่กระทบต่อพนักงาน หรือ ลูกจ้าง อปท. แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าต้องจัดการเรื่องการบริหารหาทางออกที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลพนักงาน และ ลูกจ้าง อปท. แต่ละท้องถิ่นจะบริหารค่ารักษาพยาบาลตามงบประมาณที่แต่ละแห่งได้รับการจัดสรร ส่งผลให้ถูกจำกัดการเข้าถึงการรักษา ต่อมา ปี 2555 รัฐบาลมอบหมายให้ สปสช. เข้าไปบริหารจัดการและมีการพัฒนาระบบให้เข้าถึงการรักษามากขึ้น เช่นเดียวกัน ส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2558 และเริ่มมีปัญหาติดลบตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560
งานนี้ นายกฯ ลุงตู่ คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะประเด็นบริการด้านสาธารณสุขส่งผลกระทบระดับชาติ แก้ไม่ตรงจุดบริหารไม่ถูกใจอาจปลุกม็อบจากทั่วสารทิศให้ลุกฮือขึ้นมาได้