xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

7 ตุลา จะต้องไม่สูญเปล่า “มันยังคงทุ้มอยู่ในใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จาก 7 ตุลาคม 2551 ถึง 2 สิงหาคม 2560

คดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เดินทางมาถึงบทสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาออกมาเป็นที่สิ้นสุด โดย “ยกฟ้อง” จำเลยทั้ง 4 คน

ได้แก่ นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว

คำพิพากษาสั้นๆ สรุปใจความสำคัญได้ว่า...

“จำเลยทั้ง 4 ราย ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนัก มีการพูดกระจายเสียงเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว และไม่สามารถนำรถฉีดน้ำ ฉีดเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากติดอยู่ที่รัฐสภา ขณะเดียวกันการปฏิบัติการของตำรวจก็ทำตามแผน 'กรกฎ 48' ที่มีการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งแก๊สน้ำตาดังกล่าว พยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สามารถทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย”

พลันที่คำตัดสินออกมา
นายสมชายให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า “เป็นไปตามคำพิพากษาที่ศาลได้ใช้ดุลยพินิจแล้ว ยินดีที่การต่อสู้คดีของเราได้รับความยุติธรรม”

และพลันที่คำตัดสินออกมา แม้ทุกคนจะน้อมรับคำพิพากษาของศาลด้วยความเคารพ แต่เชื่อเถอะว่า หัวใจของผู้สูญเสีย ญาติพี่น้อง ตลอดรวมถึงผู้เข้าร่วมชุมนุมคงตกอยู่ในสภาพเดียวกันและไม่อาจบรรยายออกมาเป็นคำพูดให้รับรู้ได้

จะมีก็เพียงน้ำตาแห่งความเสียใจเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ไหลออกมาเป็นทางจากดวงตาอันเศร้าสร้อยผ่านใบหน้าก่อนที่จะหยดลงไปยังพื้นดินเพื่อสะท้อนความโศกเศร้าให้แม่พระธรณีได้รับรู้

เสียงตะโกนด่านายสมชายขณะที่กำลังเดินออกมาหน้าศาล “ไอ้ฆาตกรๆๆๆๆ” ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งนายสมชายต้องรีบเดินออกไปจากบริเวณนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของบรรดาผู้รักชาติทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2561 ค่อยๆ ทะยอยปรากฏขึ้นมาในหัวสมองอันอึงอลไปด้วยความสับสนทีละภาพทีละภาพ เพราะทุกคนยังจำได้ดี

ยิ่งสำหรับ “ผู้สูญเสีย” ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร

“ตี๋ แซ่เตียว” หนึ่งในผู้ที่ต้องสูญเสียขาไปจากการสลายการชุมนุม สะท้อนภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า...

“เหตุการณ์ในวันนั้นโหดร้ายมาก มันยิงตั้งแต่ 6 โมงเช้า ยัน 6 โมงเย็น ตอน 6 โมงเย็นที่ผมโดนยิง ตอนนั้น อยู่ที่หน้า บช.น. ที่โดนยิงขา โดนยิงข้างล่าง โดนยิงตลอด ผมอยู่ข้างล่าง ใต้ต้นไม้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเพียง นับ 1 2 3 แล้วก็ ยิง โดยยิงมาในลักษณะที่ ผมจะวิ่งหนีก็วิ่งไม่ได้ ผมก็เลยลงไปคลาน ก่อนถึงใต้ต้นไม้ ก็ได้ยินเสียงระเบิดดัง ตู้ม จากนั้นขาผมก็ยุ่ย พอขาผมยุ่ย ผมก็คลานไปใต้ต้นไม้ แล้วยกขาขึ้นดู ว่ามันเป็นยังไง ปรากฏว่า ยกขาขึ้นมา เห็นเอ็น 3 เส้น ห้อยรุ่งริ่งอยู่ น่ากลัวมาก จากนั้นมา ตำรวจก็เคาะโล่ ไล่มา ตอนนั้น มารถพยาบาลเข้ามา มันก็ยิงใส่รถพยาบาล รถพยาบาลก็ต้องหมุนหนีออกไป จนตำรวจไปสลายการชุมนุมเลย จากที่ผมไป เขาถึงมายกผมไป ไปบนรถไปส่งที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ไปถึงที่นั่น ผมถึงได้รู้ว่ามีคนถูกยิง ผู้หญิง มารถอีกคันหนึ่ง ผมถามว่าเป็นยังไง เขาบอกว่า ตายแล้ว ผมถึงเข้าใจว่า เป็นน้องโบว์(น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ) หลังจากนั้น ผมเห็นแก๊สน้ำตาไปถูกคน คนไปล้างตา เอาน้ำเกลือ ร้องกัน ห่วงตาย ผมก็เลยร้อง จากนั้นเขาก็มารมยาผม พาผมไปตัดขา ไม่งั้นก็คงปล่อยให้ผมอยู่ตรงนั้นอีก ก็เลยมาอยู่ที่ห้อง ขาตัดไปแล้ว ถามหมอว่า ขาไปไหน หมอเขาบอกผมว่า จะเอาเหรอ ตัดทิ้งหมดแล้ว เละหมดแล้ว กางเกงก็ทิ้งไปแล้ว จะเอาไหม อยู่ในถังขยะ....”

ตี๋ แซ่เตียว ยังกล่าวถึงเงินเยียวยาที่ได้รับประมาณ 2 ล้านบาทว่า ไม่คุ้มกับขาที่ต้องเสียไป เพราะส่งผลทำให้การใช้ชีวิตลำบากกว่าเดิม เดินเหินอะไรก็ไม่ปกติ ปวดเวลาที่เนื้อไปเสียดสีกับขาเทียม ยกของหนักก็ไม่ได้

“ทุกวันนี้ปวดขามาก แล้วขาเทียมก็ต้องซื้อไม่ใช่ของฟรี ขาที่รัฐบาลให้มามันแข็ง เหมือนไม้กอล์ฟเราเดินไม่ได้เลย รองเท้าก็ต้องสั่งตัด...ถามว่ามันคุ้มไหม มันไม่คุ้มครับ มันจะคุ้มตรงไหน ขาผมขาดทั้งชีวิต ผมต้องใช้ชีวิตอย่างนี้”

แน่นอน คงไม่ต่างอะไรไปจาก “ชิงชัย อุดมเจริญกิจ หรือ ตี๋ ชิงชัย” ที่ไม่เพียงบาดเจ็บสาหัสเกือบไม่รอดชีวิต และต้องสูญเสียมือข้างขวาไปเท่านั้น หากยังถูกกล่าวหาว่าพกระเบิดไปก่อความรุนแรง ก่อนที่ความจริงจะปรากฏในเวลาต่อมาสิ่งของที่อยู่ในมือเป็นเพียงกรอบใส่พระเครื่องธรรมดาเท่านั้น

“ตี๋ ชิงชัย” เล่าว่า ในวันนั้นตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่ด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีผู้ชุมนุมที่เป็น คนแก่ ผู้หญิง และ เด็ก ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยตัวเขายืนหลบอยู่บริเวณริมกำแพงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนรู้สึกตัวว่าโดนแรงอัดของแก๊สน้ำตาพุ่งเข้าใส่ จนชาไปทั้งตัว แขนขาด เลือดไหลที่บริเวณคอไม่หยุด แต่ก็รอดมาได้

ทุกวันนี้ ตี๋ ชิงชัยต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีมือขวาที่เคยใช้หยิบพู่กันวาดรูปได้ จนต้องฝึกใช้มือซ้ายวาดรูปแทน เพื่อดำรงอาชีพศิลปินหาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งยังคงมีปัญหาระบบการหายใจที่ต้องรักษาต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี “ตี๋ ชิงชัย” ยังบอกว่า หากย้อนกลับไปวันนั้นได้ ก็จะยังออกไปชุมนุมเหมือนเดิม

กล่าวสำหรับปมประเด็นที่สำคัญของเหตุการณ์ในวันนั้นอยู่ตรงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดม “ยิง” และ “ขว้าง” แก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนอย่างหูดับตับไหม้เป็นเวลาหลายชั่วโมง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเองครบครันบรรจงยิงปืนแก๊สน้ำตา “วิถีตรง” แทนที่จะเป็น “วิถีโค้ง” ลูกแล้วลูกเล่าเข้าใส่ผู้ชุมนุม ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกถามนับจากวันนั้นถึงวันนี้ และจะถูกถามต่อไปในอนาคต

เพราะตามยุทธวิธีในการยิงแก๊สน้ำตา โดยปกติเจ้าหน้าที่จะยิงให้กระสุนออกไปในลักษณะ “วิถีโค้ง” ให้กระสุนตกอยู่ข้างกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ใช่ตกกลางกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดการแตกตื่น พร้อมกับมีตำรวจปราบจลาจลติดหน้ากากกันแก๊ส เข้าไปประชิดใช้โล่ผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกกระจายออกไป แต่การยิงของตำรวจไทย จะยืนยิงระดับแนวขนานพื้น ไม่ได้ยิงแบบวิถีกระสุนโค้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายสุดประมาณเพราะแรงกระสุนแก๊สน้ำตานั้น มีความแรงจนทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้จริงๆ หากอยู่ในระยะใกล้ๆ

ไม่นับรวมถึงข้อเท็จจริงอันมีหลักฐานแสดงว่า แก๊สน้ำตาที่ใช้นั้นหมดอายุการใช้งานจนทำให้ผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเป็นจำนวนมาก


การใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หรือ “ตุลาทมิฬ” ที่บริเวณหน้ารัฐสภา นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยที่ไม่ว่าใครก็ยากจะลืมเลือน จนสื่อทุกสำนักทั้งของไทย และต่างชาติได้สื่อภาพเหตุการณ์ช่วงเวลานั้นไปทั่วทุกมุมโลก

นอกจากตี๋ แซ่เตียวและตี๋ ชิงชัยแล้ว หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดีก็คือ “น้องโบว์-น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ”

หลังเหตุการณ์คลี่คลายและต้องสูญเสียบุตรสาว นายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดาของ น.ส.อังคณา เล่าถึงนาทีชีวิตในห้วงเวลานั้นว่า ปกติแล้วสามแม่ลูกไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ เป็นประจำ วันเกิดเหตุก่อนออกจากบ้านไปชุมนุมน้องโบว์บอกว่า อยู่ในทำเนียบรัฐบาลมันคงไม่มีอะไร แล้วลางร้ายก็ปรากฏเมื่อเขาได้รับโทรศัพท์ของภรรยา โทรจากโรงพยาบาลศิริราช เล่าเหตุการณ์ปะทะกัน และบอกว่า ไม่รู้ลูกเป็นอย่างไรบ้าง เขาจึงออกตามหา กระทั่งพบว่าลูกเสียชีวิตแล้ว แม้จะเสียใจที่ต้องสูญเสียลูกสาว แต่ก็ภาคภูมิใจที่ลูกสละชีพเพื่อชาติ

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปยังเมรุวัดศรีประวัติ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ

ในการนี้ คณะขององคมนตรีที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ประกอบด้วย พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ น.พ.เกษม วัฒนชัย นายพลากร สุวรรณรัฐ นอกจากนี้ยังมีนางสาวรสนา โตสิตระกูล, คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา รวมไปถึงแกนนำและผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรอรับเสด็จฯ ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา รวมทั้ง นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค และประชาชนมาร่วมงานอย่างเนืองแน่น

ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ซึ่งนายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ เปิดเผยว่า ทรงรับสั่งและชมว่า ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตนได้กราบทูลฯกลับไปว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มา

นอกจากนั้น นายจินดายังได้กล่าวอีกว่า พระองค์ท่านยังทรงรับสั่งว่า ขอให้กำลังใจกับครอบครัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบแล้ว และเงินที่เป็นค่ารักษา ในหลวงเป็นผู้พระราชทานให้

นั่นนับเป็นภาพความทรงจำที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของทุกคนโดยไม่มีวันลืมเลือนตราบจนสิ้นชีวิตถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้

และไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติหน้า พระมหากรุณาธิคุณก็ยังอยู่ในหัวใจของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่เสื่อมคลาย

สำหรับในทางคดี หลังเหตุการณ์สิ้นสุดลง พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกจากตำแหน่ง นายสมชายพ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดจำเลยทั้ง 4 คนเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552

หนึ่ง-นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการ และเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

สอง-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 6 ต่อ 3

สาม-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาดแขนขาด ก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป และมีการให้การจากพยานว่า เป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

และสี่-พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของพื้นที่ มีความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา เช่นกัน โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1

กระทั่งสุดท้ายศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า จำเลยทั้ง 4 คนไม่มีความผิด

กระนั้นก็ดี สิ่งที่ภาคประชาชนต้องคิดคำนึงกันต่อไปก็คือ คำพิพากษาที่ออกมาอาจถือเป็น “บรรทัดฐาน” ที่สำคัญของการชุมนุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า จะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็มในการควบคุมฝูงชนและการสลายการชุมนุม

ยิ่งในยามที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ยิ่งต้องระวัง เพราะแม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ แต่ก็ต้องขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้

ดังที่ นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 ได้แสดงความเป็นห่วงว่า จะเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมได้ง่ายขึ้น เพราะน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นการติดดาบให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมในอนาคต ไม่ว่าสีไหนก็ตาม

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกันว่า “ต่อไปการชุมนุมทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะที่มีผลบังคับใช้แล้วทางเจ้าหน้าที่จะต้องดูแลมากขึ้น ผมเชื่อว่าการชุมนุมจะทำเหมือนเดิมไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า จะหมดทางต่อสู้เสียทีเดียว เพราะเดชะบุญที่รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่องให้สามารถอุทธรณ์ได้ ทำให้ความหวังในการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

นั่นต้องถามใจ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ที่ใครๆ ก็รู้ว่า มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มากบารมี จะตัดสินใจอย่างไร

รวมทั้งตัวผู้เสียหายเองก็ยังมีช่องที่จะฟ้องร้องในนามส่วนตัวได้เช่นเดียวกัน

7 ตุลาคมจะต้องไม่สูญเปล่า.....
คำคำนี้คือคำสัญญาที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกคนไม่มีวันลืม


กำลังโหลดความคิดเห็น