ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่รอบ 60 ปี “วิกฤตน้ำท่วม จ.สกลนคร” รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่แถบภาคอีสานและภาคเหนือ เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2560 หลังรับอิทธิพลจาก “พายุเซินกา” ส่งผลให้หลายพื้นที่จมอยู่ใต้บาดาล ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ความเดือดร้อนแผ่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในการณ์นี้ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิรลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งมาว่าขอให้ช่วยกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว และได้รับสั่งให้รัฐบาลมองการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นให้ได้ รวมถึงทรงห่วงใยเรื่องการกักเก็บน้ำในทุกพื้นที่....
“พระองค์รับสั่งว่าให้นำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่พระราชทานไว้มากมายมาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พระองค์ท่านทรงติดตามทั้งข่าวโทรทัศน์ ข่าวถวายรายงานทั้งหมด ตั้งแต่ที่พระองค์รับสั่งไว้กับผมสมัยรายงานตั้งแต่เป็นรัฐบาลแรกคือ ให้รัฐบาลดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ทำให้ประชาชนพึงพอใจ มีอะไรที่สถาบันพอจะช่วยได้พระองค์ก็จะพระราชทานความช่วยเหลือมาให้ เราก็จะเห็นว่าพระองค์พระราชทานสิ่งต่างๆ มาแล้วในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์อาหารประชาชน และเพิ่มศูนย์อาหารสัตว์มาแล้วด้วย จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงห่วงใยและติดตามทุกเรื่อง และทรงเข้าใจถึงปัญหาทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีแนวทางความห่วงใยให้เตรียมการไว้ตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้ เราถึงแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวขณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สกลนคร
ขณะที่ “ธารน้ำใจคนไทย” หลั่งไหลช่วยผู้ประสบภัยอย่างไม่ขาดสาย
อย่างไรก็ดี วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ ยังก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายถึงระบบการป้องกันและระบบเตือนภัย ปัญหาเก่าๆ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข โดยประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์หนักที่สุดก็คือ กรณี ภาพการไหลทะลักของมวลน้ำจาก “อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น” ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งส่งผลให้ทำนบดินขอบอ่างพังทลายเป็นทางยาวกว่า 20 เมตร เป็นเหตุให้ จ.สกลนคร จมอยู่ใต้บาดาลทันที
การไหลบ่าของน้ำออกมาจากอ่างได้กลายเป็นที่มาของวาทกรรมกระหึ่มโลกโซเชียล เพราะสร้างการรับรู้ใหม่แก่คนไทยทั้งประเทศว่าไม่อาจเรียกว่า “เขื่อนแตก” แต่ต้องเรียกว่า “น้ำกัดเซาะสันเขื่อน” จนอดนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำพาประเทศไทยเผชิญ “มหาอุทกภัย ปี 2554” สมัยเธอการันตีว่า “เอาอยู่” แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับ “เอาไม่อยู่” จนกลายเป็นคำฮิตติดตัวไปโดยปริยาย
หรือเมื่อครั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่กล่าวชัดถ้อยชัดคำตอนตอบคำถามสื่อฯ เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. “กทม. ไม่มีน้ำท่วม มีแต่น้ำขังรอการระบาย”
สภาพอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร แทบไม่เหลือน้ำให้ควายนอนเล่น
สำหรับประเด็นแตกหรือไม่แตกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเอาไว้ความว่า “อ่างเก็บน้ำนี้สร้างมา 63ปีแล้ว ไม่เคยมีปัญหา มีความแข็งแรง หากเป็นสถานการณ์ปกติต้องรับปริมาณน้ำฝนได้แน่นอน และอ่างเก็บน้ำนี้ทำไว้รองรับน้ำประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำไหลเข้ามา 3ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ต้องล้นเป็นธรรมดา เมื่อน้ำล้นก็ต้องเซาะทำนบ ฉะนั้น อย่าไปเถียงกันว่าแตกหรือไม่แตก หรือใครต้องรับผิดชอบ”
จะแตกหรือไม่แตกไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ น้ำในอ่างแห้งจนสามารถเห็นตอไม้โผล่กันเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากได้เห็นด้วยตาตนเอง พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งซ่อมแซมเป็นการด่วนให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด เพื่อรองรับน้ำที่อาจจะมีฝนตกลงมาอีกเพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน
นี่ไม่นับรวมถึงเรือท้องแบนจำนวนมาก จอดทิ้งไว้ในโรงเก็บของ ปภ. เขต 7 สกลนคร ไม่ได้นำออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ประสบเหตุน้ำท่วมอย่างหนัก ทั้งๆ ที่อยู่ห่างเพียง 500 เมตร จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่นำเรือออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ว่าเรือบางชนิดต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญในการขับขี่ และต้องใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ จึงไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความชำนาญนำไปใช้ เนื่องจากอาจเกิดความเสียหายได้ ส่วนที่มีภาพปรากฏเรือจอดอยู่ในที่จอด ส่วนหนึ่งเป็นเรือที่เสียรอการตรวจซ่อมบำรุงให้ใช้การได้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรือที่เพิ่งกลับมาจากการออกปฏิบัติงานแล้วมีการนำกลับมาบำรุงรักษา ทำให้มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไป
ฟังคำอธิบายแล้วเชื่อหรือไม่ โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณา
ตัดกลับมาที่สถานการณ์น้ำท่วมอีกครั้ง...
ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายสาเหตุน้ำทะลักเมืองสกลฯ เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ 1. ระดับน้ำในหนองหารสูงเกินไปทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มที่ กล่าวคือ เส้นทางการไหลของน้ำในเมืองสกลนคร แทบทั้งหมดจะไหลไปลงหนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำ ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุของลำน้ำทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงเกิดการท่วมขัง 2. สิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาการพัฒนาเมืองจนกีดขวางทางน้ำ เป็นต้นว่า การตัดถนนหลายเส้นขวางลำห้วย ถมถนนหนองน้ำลำห้วย การสร้างอาคารบ้านเรือนกีดขวางทางน้ำ
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ชาวสกลนครได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ ขาดการประเมินความเสี่ยงการเผยแพร่ข้อเท็จจริงแก่พี่น้องประชาชน เช่น ก่อนมวลน้ำจะทะลักเข้าท่วมตัวเมืองนั้น เกิดกระแสข่าวเขื่อนแตก แต่กลับถูกบิดเบือนสร้างเข้าใจผิดเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตรุนแรง ซึ่งในประเด็นนี้ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสารคาม แสดงความคิดเห็นไว้ความว่า การประเมินความเสี่ยงรวมทั้งให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การประเมินและการเตือนภัยอย่างทันท่วงทีจะช่วยเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับกรณีฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนล่าช้าเป็นอีกประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตา เช่นเดียวกัน ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่าข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนประชาชนค่อนข้างช้า ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเตรียมตัวป้องกันภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ เป็นเหตุให้ความเสียหายเกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่คาดเอาไว้
ทั้งนี้ กรมชลประทานเผยว่าน้ำป่าจากเทือกเขาภูพานไหลลงมายัง อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น มีปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำในอ่างล้นออกและกัดเซาะแนวสันดินจึงไหลทะลักสู่ตัวเมืองทำให้สกลนครเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่
ด้าน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยว่าจากการประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสด้า) พบว่าพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดภาคอีสานหลายจังหวัดได้รับความเสียหายนับล้านไร่ ซึ่งส่วนมากเป็นสัดส่วนพื้นที่การเกษตรและแก้มลิง
นายอานนท์ กล่าวว่า ปัจจัยที่น้ำท่วมอีสานรอบนี้มาจากปริมาณฝนที่ตกหนัก แม้ว่าฝนจะกระจายตกในหลายจังหวัดของภาคอีสาน แต่ต้องยอมรับว่าหลายจังหวัดเช่น กาฬสินธุ์ สกลนคร ไม่มีการป้องกัน หรือ ไม่มีความพร้อมรับมือ สถานการณ์น้ำท่วมเหมือนในจังหวัดเสี่ยงอื่นๆ ขณะที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่แก้มลิงของอีสานที่เรียกว่า ป่าบุ่งป่าทามมันหายไปมาก เปลี่ยนสภาพรองรับการเติบโตของเมือง น้ำที่หลากลงมา จึงไม่มีทางลง ขณะที่การระบายน้ำออกเมืองสกลนคร เนื่องจากระดับน้ำโขงก็ยังสูงอยู่จึงน่าจะระบายออกช้า และแนะนำว่าถ้าน้ำยังขังในพื้นที่การเกษตร และยังไม่มีจุดระบาย รัฐควรต้องยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกร
บทเรียนสำคัญ ต้องหาเจ้าภาพหลักและนำข้อมูลทุกอย่างมาพิจารณาอย่างเป็นระบบ เช่น การใช้ที่ดิน ลักษณะภูมิประเทศ ฯลฯ เพื่อวางมาตรการแก้ปัญหา แต่ไม่ควรโยนให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะกรณีน้ำท่วม จ.สกลนคร ไม่ต่างกับน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องย้อนกลับไปพินิจพิจรณา “แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ฉบับ คสช.” ที่จัดสรรงบแสนล้านตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจใหม่ๆ เมื่อปี 2557 ทว่า เหตุใดยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงไร้เสถียรภาพ ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดอุทกภัยรุนแรงขึ้นทุกปี
สำหรับแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2558 - 2569) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยรัฐบาลยกเครื่องการปฏิรูปน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ ทุ่มงบประมาณแสนล้านบาทขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ
แบ่งยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำเป็น 5 ภารกิจ คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน โดยแผนดังกล่าวได้แบ่งช่วงเวลาในการปฏิบัติงานตามแผนเป็น 3 ช่วง ภายในระยะเวลา 10 ปี คือ 1. แผนระยะสั้น ตั้งแต่ปี 2558 - 2559 2. แผนระยะกลาง ปี 2560 - 2564 และ 3. แผนระยะยาว ปี 2565 - 2569
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคอีสานและภาคเหนือครั้งนี้ยังส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นเป้าโจมตีเรื่องการบริการน้ำผิดพลาด ซึ่งในประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศชัดเจนว่า “ขอให้เข้าใจว่าเหตุน้ำท่วมครั้งนี้มาจากภัยธรรมชาติ” ต่างจากมหาอุทกภัย ปี 2554 อันสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดของรัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์