xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คนไข้” รอจนตาย “หมอ – พยาบาล” จำเลยสังคม!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 โรงพยาบาลรัฐในแต่ละวันมีผู้ป่วยจำนวนมากรอคิวรักษา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นอีกหนึ่งในปัญหาวงการสาธารณสุขไทย กรณีบุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นจำเลยสังคมอย่างต่อเนื่อง และยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมด้วยการถูกโซเชียลฯ รุมวิจารณ์ หลังมีการแชร์เรื่องราว “ผู้ป่วยรอจนเสียชีวิต” โดยญาติผู้ป่วยอ้างว่าถูกละเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งกำลังกลายเป็นสถานการณ์ที่สร้างความกดดันแก่บรรดา “หมอ - พยาบาล” ให้ถอดใจทยอยยื่นใบลาออกจำนวนไม่น้อย

จากกรณี น้องนิว เด็กชายวัย 15 ปี เสียชีวิต หลังมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ญาติจึงนำส่ง รพ.ชะอำ ก่อนส่งต่อมายัง รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ข้อเท็จจริงทางฝั่งญาติอ้างว่ารอรับการรักษาเป็นเวลานาน กระทั่งเด็กชายเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเรื่องราวถูกแชร์ผ่านเฟซบุ๊ก Nu-sajee Kornrawee ญาติผู้เสียชีวิตซึ่งโพสต์เป็นอุทาหรณ์จนกลายเป็นข่าวดังเมื่อสัปดาห์ก่อน

แน่นอน ข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียวที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์จากฟากฝั่งญาติผู้ป่วย ส่งผลกระต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการรักษาพยาบาลเด็กชายผู้เคราะห์ร้ายรายนั้นอย่างหนัก

เวลาต่อมาคณะแพทย์ นำโดย นพ.ประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี และ นพ.สาธิต รัตนศรีทอง ผอ.รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ได้ร่วมแถลงข่าวความว่า เด็กชายวัย 15 ปี ถูกรีเฟอร์นำส่ง รพ.พระจอมเกล้าฯ ด้วยอาการปวดท้อง แพทย์ได้ทำการตรวจรักษาอย่างเต็มความสามารถ แต่ผู้ป่วยมีอาการเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตกขณะตรวจรักษา ซึ่งอาการดังกล่าวพบในผู้ป่วยสูงอายุ และเป็นกรณีที่พบน้อยมาก 5ใน 1,000,000รายเท่านั้น

ส่วนภาพผู้ป่วยต้องรอที่มีการแชร์ในโซเชียล นั้นอยู่ระหว่างอ่านฟิล์มรอการตรวจซีทีสแกน ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ป่วยรอจนเสียชีวิต ซึ่งคณะแพทย์ยอมรับว่าเป็นโรคที่รักษายาก สมมุติฐานเบื้องต้นของโรคทำได้ยาก ต้องใช้เครื่องมือซีทีสแกน หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวจึงจะทราบ และเมื่ออาการกำเริบรุนแรงจะมีเวลาเพียง 3-5 นาที ในการรักษาเท่านั้น

ขณะที่พยาบาลผู้ปฏิบัติงาน นางสมจิต กายสอน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ประจำห้องตรวจอายุรกรรม งานผู้ป่วยนอก ร.พ. พระจอมเกล้าฯ ซึ่งตกเป็นเป้าวิจารณ์ว่าละเลยคนไข้ได้เปิดใจผ่านสื่อตอนหนึ่งความว่า

“รู้สึกเสียใจมากอยู่แล้ว แต่เมื่อกระแสสังคมกลับมาโพสต์กล่าวหากันอย่างนี้รู้สึกเสียใจ และเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจในการทํางานมาก พี่นี้มีความรักในวิชาชีพมีความทุ่มเททุกอย่างในการทำงาน กระแสข่าวที่ออกมาแบบนี้พี่และทุกคนรู้สึกท้อแท้ เสียใจ อย่างไรก็ตามเราก็จะปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและให้ดีที่สุดต่อไป แต่วอนขอให้สังคมได้เข้าใจถึงหัวอกของพยาบาลบ้าง พยาบาลทุกคนมีความรักในวิชาชีพ มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนแบบไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านั้นได้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นั้นคือความมุ่งหมายสูงสุดของคนเป็นพยาบาล”

ประเด็นดังกล่าวสะท้อนปัญหาปฏิกิริยาคนไข้และญาติที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำลังสร้างความกดดันต่อผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขอย่างหนัก ซึ่งข้อเท็จจริงประการหนึ่งในมุมคนทำงานบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊กเพจ แหม่มโพธิ์ดำ ไว้อย่างน่าสนใจความว่า

“เราเป็นหัวหน้าพยาบาลแถวชลบุรีเขตรอยต่อระยอง ตอนนี้ข่าวกระแส รพ.เพชรบุรี ดังและแรงมาก เคสน้องที่ญาติเค้าโพสต์ว่ารอจนเสียชีวิต ควีนคะ กำลังใจพวกเราทีมแพทย์พยาบาลแทบไม่เหลือแล้ว ณ เวลานี้ พยาบาลถูกกดดันจากประเด็นนี้ทุกรายเลย กับประโยค “ต้องรอจนตายเหมือนน้องคนนั้นหรอ” กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกเคสต้องด่วนหมด ขู่จะฟ้องกันตลอด 24 ชม. เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ER เจอเคสมากะ Drug Withdrawals (ลงแดง) พยาบาลตัวเล็กๆ 3 คน ถูกถีบกลางลำตัว อีกคนโดนชกที่จมูก อีกคนถูกข่วนตามแขน แต่พวกเราไม่เคยแจ้งฟ้องออกสื่อ หรือได้รับการเหลียวแลจากผู้บริหารเลย กำลังใจพวกเราไม่เหลือแล้ว กำลังทยอยลาออก เด็กใหม่ๆ แม้ไม่ได้บรรจุก็ไม่เคยเรียกร้อง ก้มหน้าใช้ทุนให้หมดๆ แล้วจะทยอยลาออกจากภาครัฐ เดือนที่แล้ว พยาบาล รพช. ลาออกทีเดียว 8 คน ตอนนี้เจอแบบนี้ ก็ใกล้เต็มทีแล้ว จะมีผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขสักคนไหมพอจะบรรเทาทุกข์คนอาชีพนี้บ้าง...”

ปฏิกิริยาด้านลบที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ยังคงถูกแชร์ผ่านโลกออนไลน์ พวกเขายังถูกตั้งแง่โจมตีในประเด็น “ละเลยคนไข้ ปล่อยให้รอนาน” ซึ่งสร้างความบั่นทอนใจคนแก่บุคลากรที่ตั้งใจทำงานเหล่านี้เป็นอย่างมาก

บางกรณีผู้บริหารโรงพยาบาลถึงขั้นยกกระเช้าขอขมาผู้ป่วยในความล่าช้า เพื่อยุติความไม่พอใจ ยกตัวอย่าง กรณี เด็กหญิงถูกไม้ลูกชิ้นปักมือ ร้องไห้รอรักษานานเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะแพทย์ไม่ทราบชัดว่าปักบริเวณกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท หากดึงออกทันทีเป็นเกิดอันตราย ทว่า พ่อแม่นำเรื่องราวไปโพสต์แชร์ในโซเชียลฯ ทำนองว่า รักษาล่าช้า ปล่อยให้ลูกตนนั่งร้องไห้รอ หลังจากนั้นทาง รพ.มหาสารคาม ได้ส่งกระเช้าของขวัญมาขอโทษ

อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวโดยอธิบายว่า อยากให้เข้าใจแพทย์มากขึ้น เพราะต้องคอยดูแลรักษาคนไข้ คิดอัตราเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต้องรักษาคนไข้ต่อวัน ถึง 500 - 600 คน หมายความว่าภาระหน้าที่ของแพทย์เยอะมาก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่สามารถปฏิเสธการรอได้ แต่สำหรับกรณีที่ป่วยมีอาการป่วยหนัก ต้องเข้ารับการตรวจด่วน แพทย์จะวิเคราะห์ว่าอาการว่ารุนแรงต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนลัดคิวหรือไม่

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า บุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดขาดแคลนมากกว่า 36,000อัตรา ขณะที่แพทยสภามีนโยบายผลิตนักศึกษาแพทย์ เฉลี่ยปีละ 3,000 ราย จำนวน90 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้ทุนคืนด้วยการลงไปรักษาพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีแพทย์บรรจุใหม่ลาออกจากตำแหน่งเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ทุกปี แพทย์ส่วนหนึ่งลาออกเพื่อไปศึกษาต่อเฉพาะทาง อีกส่วนหนึ่ง ลาออกด้วยเหตุผลทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลา และที่สำคัญหมดกำลังใจจากการถูกต่อว่าจากสังคม โดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่แสดงความคิดเห็นโจมตีรุนแรง จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของแพทย์และพยาบาลมากขึ้น

นอกจากนี้ บุคลาการทางการแพทย์ต้องแบกรับภาระงานหนัก ดูแลผู้ป่วยจำนวนมากแต่ค่าตอบแทนน้อย แถมยังต้องแบกรับความคาดหวังของประชาชน และหากทำผิดพลาดก็ถูกร้องเรียน ตลอดจนเสียงก่นด่าไปจนถึงทำร้ายร่างกาย ล้วนแล้วแต่สร้างความเหนื่อยหน่ายบั่นทอนใจ เอาเป็นว่า “ทำดีเสมอตัว” แต่หากผิดพลาดขึ้นเมื่อใดถูกเหยียบจมธรณี ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังเป็น “ตัวกระตุ้น” ให้แพทย์และพยาบาลตัดสินใจลาออกมากขึ้นทุกที


กำลังโหลดความคิดเห็น