xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์1ก.ย.คุมบัตรเครดิต หั่นเพดานดอกเบี้ยลง2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติ คลอดเกณฑ์คุมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ เริ่มใช้ 1 ก.ย. 60 นี้ จำกัดบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น ได้วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง พร้อมปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 18% จากเดิม 20% ให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง คาดทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลง 750-900 ล้านบาท

วานนี้ (26 ก.ค.) นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะมีผลบังคับใช้กับผู้ขอมีบัตรเครดิต หรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ พร้อมทั้งประกาศปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต โดยมีผลบังคับใช้กับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ 1 ก.ย. 60 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์การควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินส่วนบุคคลดังกล่ว เพื่อเป็นแนวทางจะช่วยดูแลการก่อหนี้สินของภาคครัวเรือนให้เหมาะสมขึ้น เนื่องจากประชาชนเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ได้ง่ายและเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อาจส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเปราะบางก่อหนี้ จนเกินความสามารถชำระหนี้ของตนได้

โดยตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน ล่าสุด ณ ก.ย.60 อยู่ที่ระดับ 78.6 %ของจีดีพี จากข้อมูลของหนี้ครัวเรือนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี 50% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตและปริมาณ 1 ใน 5 ของกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 29 ปีเป็นเอ็นพีแอล จากคนไทย 21 ล้านคนที่เป็นหนี้ 3 ล้านคนหรือ 16 % เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันหรือเป็นเอ็นพีแอล

สำหรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น ธปท. ได้กำหนดวงเงินแก่ผู้ขอมีบัตรให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ตามรายได้ต่อเดือน โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ รายได้ตั้งแต่ 30,000-50,000 บาท ได้วงเงินไม่เกิน 3 เท่า และรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 เท่า พร้อมกันนี้ได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 18% จาก 20% ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันที่ต้นทุนทางการเงินต่ำลง

ขณะที่มาตรการสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ปรับวงเงินสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลไม่เกิน 3 ราย สำหรับผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป กำหนดวงเงินไม่เกิน 5 เท่า แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคแต่ละราย โดยยังคงเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลจะเรียกเก็บได้ เพื่อให้สามารถให้บริการสินเชื่อแก่ผู้บริโภคต่างๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

กสิกรฯเผยกระทบรายได้750-900ล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 2% อาจส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยของผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ลดลงประมาณ 750-900 ล้านบาท ซึ่งสำหรับเฉพาะส่วนของธนาคารพาณิชย์ จะคิดเป็นประมาณ 0.3% ของรายได้ดอกเบี้ยรวม ขณะที่ผลกระทบในทางปฏิบัติอื่นๆ นั้น คาดว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากเกณฑ์จะบังคับใช้เฉพาะกับลูกค้าใหม่เท่านั้น และให้ระยะเวลาในการปรับตัว อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีการอนุมัติเพดานสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกรอบที่ไม่หนีไปจากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น