xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปรตวัดสุทัศน์ ภิกษุสันดานกากับขุมทรัพย์แสนล้าน...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์”
เป็นคำที่เชื่อว่า คนไทยแทบจะทุกคนคุ้นชินกันเป็นอย่างดี

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - และถ้าจะพูดถึงเรื่องแร้งวัดสระเกศ ก็ต้องกล่าวถึงเปรตวัดสุทัศน์ เพราะสองคำนี้เป็นคำคู่กันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ จนเป็นคำติดปากของคนบางกอกสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพียงแต่อาจจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ที่มาของประโยคดังกล่าวมีต้นตอมาจากอะไร เป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงนิยายปรัมปราที่บอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

คำว่า แร้งวัดสระเกศเกิดขึ้นเพราะในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และมีการนำศพผ่าน “ประตูผี” ออกนอกกำแพงพระนครมาไว้ที่วัดสระเกศ ทำให้ “แร้ง” ที่นิยมชมชอบกินซากสิ่งเสียชีวิตต่างๆ มาชุมนุมกันที่วัดแห่งนี้เพื่อจิกกินซากศพเป็นอาหาร

ส่วนเปรตวัดสุทัศน์มีที่มาจากคำเล่าขานว่าที่วัดแห่งนี้มักมีเปรตปรากฏกายในเวลากลางคืนเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ประกอบกับอหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 จนเผาศพแทบไม่ทัน ณ วัดสระเกศ จึงมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “เปรตวัดสุทัศน์ แร้งวัดสระเกศ”

และในวันนี้ เรื่องราวของเปรตวัดสุทัศน์ในอดีตกำลังกลับมาเป็นประเด็นร้อนสุดๆ ในยุทธจักรดงขมิ้นยุคปัจจุบันจนเกิดเป็น “วิวาทะ” ในโลกสังคมออนไลน์ที่แซ่บซี้ดระดับโอทอป 5 ดาว อันเป็นผลมาจากกรณีทุจริต “เงินทอนวัด” ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ภายใต้การนำของ “พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” กำลังดำเนินการสะสาง และ นำมาซึ่งความไม่พอใจของพระสงฆ์องคเจ้าบางรูปถึงขั้นประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมและเรียกร้องให้มีการปลด “พ.ต.ท.พงศ์พร” ให้พ้นจากเก้าอี้ ผอ.พศ. กันเลยทีเดียว

คำถามก็คือ ทำไมถึงต้องเรียกร้องให้ปลด พ.ต.ท.พงศ์พร
พ.ต.ท.พงศ์พรไม่เข้าใจการบริหารจัดการของวัดวาอารามต่างๆ จริงดังคำกล่าวอ้างเช่นนั้นหรือ

หรือเป็นเพราะเกรงว่า พ.ต.ท.พงศ์พรจะขยายความจากทุจริตเงินทอนวัดไปจัดการ “ขุมทรัพย์” ก้อนมหึมาที่ไม่เคยมีใครเข้าไปตรวจสอบจนกระทั่งเกิดการรั่วไหลไปใช้เป็นสมบัติส่วนตัวมากกว่าศาสนสมบัติของพุทธศาสนิกชนคนไทย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานไหนไปยุ่งกับวัดวาอารามต่างๆ ที่มีนับแสนวัดทั่วประเทศในการใช้เงินทำบุญที่บรรดาญาติโยมบริจาคเพื่อจรรโลงศาสนาเลยแม้แต่น้อย


2560 เปรตวัดสุทัศน์ฟื้นคืนชีพ
จุดเริ่มต้นของวิวาทะแลเรื่องราวทั้งหมดมีที่มาจากกรณีการทุจริตเงินทอนวัดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(ปปป.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางสืบไปสืบมาพบว่า เจ้าหน้าที่ พศ.ร่วมมือกับวัดต่างๆ ทุจริตงบประมาณที่ใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการสืบสวนขยายผลก็ลุกลามบานไปออกไป และไม่ได้หยุดอยู่แค่วัดเล็กวัดน้อยเท่านั้น หากยังรวมไปถึงวัดขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กระทบพระชั้นผู้ใหญ่และคณะสงฆ์อย่างรุนแรง

ฝ่ายที่ตำหนิติติงก็มีการตีความว่า การทำงานของ พศ. การออกมาให้ข่าวให้ข้อมูลรายวันของ พ.ต.ท.พงศ์พร ทำให้คณะสงฆ์เสียหาย ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาที่ซึมลึกในหมู่พุทธศาสนิกชน ทั้งๆ ที่วัดวาอารามส่วนใหญ่มิได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น ส่วนฝ่ายสนับสนุน พศ.ก็ชูรักแร้ให้ พ.ต.ท.พงศ์พรเดินเครื่องเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะปฏิรูปศาสนาให้พ้นจากเหลือบไรหรือบรรดาแร้ง บรรดาเปรตที่อาศัยผ้าเหลืองแฝงตัวในการทำมาหากินให้หมดไปเสียที ขณะที่ภาครัฐเองก็เด้งรับด้วยการนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ให้การสนับสนุน พศ.เต็มที่

การปะทะคารมจึงเกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน โดย มีตัวละครที่เกี่ยวข้องมากหน้าหลายตา ทั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร เจ้าคุณพิพิธฯ พระพยอม หลวงปู่พุทธะอิสระ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ นายออมสิน ชีวพฤกษ์ หรือแม้กระทั่งนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง ชัย ราชวัตร ซึ่งในที่สุดก็ดุเดือดเลือดพล่านจนกลายเป็นที่มาของคำว่า เปรตวัดสุทัศน์
 
ทั้งนี้ หัวหมู่ทะลวงฟันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของ พ.ต.ท.พงศ์พรก็คือ พระเทพปฏิภาณวาที หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เจ้าคุณพิพิธ” แห่งวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

เจ้าคุณพิพิธฯ ออกมาบอกว่า พระสังฆาธิการ อันหมายถึงสมภาร เจ้าวัด และเจ้าคณะชั้นปกครองของสงฆ์ไทย จะตัดขาดกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือพศ. รวมทั้งคณะสงฆ์จะไม่เชิญ พ.ต.ท.พงศ์พร เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ

“ที่ผ่านมาพระสังฆาธิการทำงานร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ แบบพระ ให้เมตตาธรรม มีมือเปล่าไป กิจกรรมสำคัญพระท่านก็ให้เกียรติให้มีบทบาทในงานต่างๆ ขอให้พระช่วยอะไร ทั้งส่วนตัว ส่วนราชการพระก็ช่วย แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ขาดลงแล้ว เพราะอะไรก็คิดกันเอาเอง แปลว่าพระสังฆาธิการท่านคว่ำบาตรเสียแล้ว ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดก็ต้องรับชะตากรรมไปด้วย”

“ถ้าพระระดับไหนโกง จัดการได้ตามกฎหมาย ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิ์จะโจมตี ถ้าพระถูกราชการหลอกต้องไปจัดการกันเอง เพราะวัดเป็นเหยื่อต้องใช้วิธีการทางราชการและวิธีการแบบกระบวนศาล ไม่ใช่ใครที่พล่ามทำลายคณะสงฆ์ตลอดเวลา มีพระสงฆ์ที่ท่านเจ็บปวดจากการถูกโจมตีทำลายทางสื่อ กำลังทำบัญชีคว่ำบาตรบุคคลที่ใส่ร้ายป้ายสี เอาแบบเป็นบัญชีที่สื่อถึงกันหมด ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งราชการและเอกชน” เจ้าคุณพิพิธกล่าวและในวันต่อมา เจ้าคุณพิพิธยังแต่งกลอนสาปแช่งอีกต่างหาก

อย่างไรก็ดี ไม่น่าแปลกใจที่ท่านเจ้าคุณจะมีปฏิกิริยาเช่นนี้ เพราะเมื่อไล่เรียงรายชื่อเม็ดเงินที่ พศ.อุดหนุนให้กับวัดวาอารามต่างๆ ก็จะเห็นว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายคนคอเดียวกันทั้งสิ้น กล่าวคือ เมื่อตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนวัดจาก พศ.ตั้งแต่ปี 2558-2560 ก็พบว่า วัดบางแห่งได้รับการจัดสรรเงินที่สูงมาก เช่น วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ได้รับงบ 3 ปีรวมประมาณ 68 ล้านบาท วัดสระเกศวรมหาวิหาร 132 ล้านบาท วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 79 ล้านบาท เป็นต้น

หากจำกันได้ เจ้าคุณพิพิธผู้นี้เคยออกมาบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์เสนอชื่อผู้ที่จะถูกสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ให้ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด หรือสรุปกันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมคือ เจ้าคุณพิพิธอยู่ฝ่ายเดียวกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง แห่งวัดปากน้ำ ก่อนที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์แห่งวัดราชบพิธจะได้รับการสถาปนาในท้ายที่สุด

“อยากถามผู้ออกมาประท้วงว่า ตลอดชีวิตของสมเด็จท่านสร้างความเสียหายอะไรให้กับพุทธศาสนาบ้าง คุณประโยชน์ที่สมเด็จท่านทำให้นั้นมหาศาล และประจักษ์ชัด ในสังฆมณฑลนี้ผู้บริจาคทานบารมีมากสุดคือสมเด็จท่าน ทุกอย่างปฏิบัติตามพระธรรม พระวินัย ตามกฎเกณฑ์ ไม่ได้แสดงถึงความร่ำรวยอย่างที่คนใส่ร้าย เงินที่บริจาคก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากมาย คนที่ไม่ชอบสมเด็จท่าน คนพวกนี้ไม่เคยกราบไหว้สมเด็จท่านมาแต่เดิม ซึ่งพอเห็นศรัทธาคนซึ่งเกิดขึ้นที่วัดปากน้ำภาษีเจริญแล้วทำใจไม่ได้ สมเด็จท่านไม่อยากเป็นหรอก แต่จำเป็นต้องเป็นตามกฎหมาย ถ้าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสังฆราชจะเอื้อให้กับธรรมกาย อยากถามว่า ที่ผ่านมาเคยที่ไหน กระทำตรงไหน เมื่อไหร่ คดีความของธรรมกายมีมหาศาล ก็ล้วนแต่หลุดโดยกฎหมาย ท่านไม่เคยไปโอบอุ้ม การเอาเรื่องธรรมกายมาผูกโยงจึงไม่ใช่เรื่อง”เจ้าคุณพิพิธร่ายยาวในหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อครั้งกระโน้น

ส่วน “องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย” ที่ออกแถลงการณ์มาในทำนองเดียวกับเจ้าคุณพิพิธ โดยระบุว่า นับจากนี้ไปวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจะไม่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก พศ.อีกต่อไป ก็ไม่รู้ว่า องค์กรนี้ประกอบไปด้วยวัดวาอารามหรือพระสังฆาธิการรูปไหนบ้าง เพราะไม่มีรายชื่อปรากฏอยู่บนใบแถลงการณ์ที่แจกจ่ายออกมา ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วน่าจะเป็น “ใบปลิว” เสียมากกว่าด้วยซ้ำไป

ขณะที่ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ก็อดรนและทนกับใบปลิวดังกล่าวไม่ได้ เคาะแป้นพิมพ์โพสต์เฟซบุ๊กออกมาสรุปรวมความได้ว่า “พักนี้ดูพวกพ้องของผู้มีส่วนร่วมรับจ่ายเงินทอนวัด มีกิริยาร้อนรนขวนขวายพยายามที่จะแสดงพลังออกมาเป็นระยะๆเช่น ขู่ว่าจะบอยคอตไม่รับเงินอุดหนุนวัดบ้างล่ะ จะคว่ำบาตรไม่คบกับ ผอ.สำนักพุทธบ้างล่ะ และมีมติขับไล่ ผอ. ไม่รู้ว่ามีเจตนาจะข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่หยุดตรวจสอบ หรือว่าต้องการจะเบี่ยงเบนประเด็นด้วยอารมณ์ความรู้สึก ประมาณว่า เงินทอนวัดข้า ใครอย่าแตะบ้านเมืองกำลังเข้าสู่ยุคปฏิรูปโดย คสช.และรัฐบาลประกาศจัดการต่อการทุจริตคอรัปชั่นในทุกวงการ หรือพวกท่านเจ้าคุณจะให้ละเว้นการทุจริตในวงการสงฆ์เอาไว้ให้คู่ประเทศไทยต่อไป คนทั้งประเทศเขาต้องการปฏิรูปและรังเกียจการทุจริต แล้วทำไมพวกท่านเจ้าคุณจึงออกมาปกป้องคนทุจริต หากไม่คิดจะปกป้องคนทุจริตผิดศีลธรรม แล้วจะมาข่มขู่ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมายทำไม”
 
ที่เด็ดไม่แพ้กันคือ “พระราชธรรมนิเทศ” หรือ“เจ้าคุณพระพยอม” แห่งวัดสวนแก้วที่เขียนบทความสรุปรวมๆ ได้ว่า “ ความจริงถ้าวัดมีระบบตรวจสอบที่ดีซะหน่อย ข้าราชการเลวๆ หรือพวกเปรตเหล่านั้นก็ไม่สามารถมาทำชั่วทำไม่ดีได้ วัดต้องมีอุดมการณ์มีหลักการว่าจะไม่ผลาญงบประมาณแผ่นดิน”

หรือที่เคยกล่าวเอาไว้ในงานสัมมนาแบบเผ็ดๆ ร้อนๆ ว่า“ปกติหัวคิวกินกัน 20-30% ก็ถือว่ามากแล้ว เป็นพระไม่รู้หรือว่าการที่เขาเอาเงินทอน ถึง 80% ยิ่งผิดปกติ และเป็นไปได้อย่างไรที่เรามาถึงยุคที่วัดมีรายได้กันเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท ดังนั้นลำพังพระธรรมวินัย อาจเอาอยู่หากอยู่ในป่า แต่มาอยู่ในเมือง ก็ต้องอยู่ในกรอบปกครองของประเทศ”

แต่ที่เด็ดที่สุดเห็นจะเป็นการ์ตูนนิสต์ชื่อดังอย่าง “ชัย ราชวัตร” ที่ตวัดปากกาอัดเจ้าคุณพิพิธฯ อย่างรุนแรงชนิดที่ต้องบอกว่า ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ส่วนจะเป็นถ้อยคำใดนั้น เชื่อว่า คงคาดเดาได้ไม่ยาก

ส่วนความคืบหน้าคดีเงินทอนวัดนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงสรุปว่า คดีมีมูลความผิดชัดเจน เพียงพอ จึงมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีสำนวนการทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดแรก ส่วนอดีตผู้บริหาร พศ. 3 ราย คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผอ.พศ. นายพนม ศรศิลป์ อดีตผอ.พศ. และน.ส.ประนอม คงพิกุล รองผอ.พศ. พบว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดในการเบิกจ่ายงบฯดังกล่าว มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท โดยมอบหมายให้นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี จากนั้นป.ป.ช.จะแจ้งคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนรับทราบ หรือให้คัดค้านรายชื่ออนุกรรมการต่อไป

ผ่าขุมทรัพย์วัด...มหาศาลจนยากที่จะประเมิน
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ถ้าหากจะกล่าวถึงองค์กรหรือนิติบุคคลที่มีเงินทองหรือทรัพย์สินที่มีรายได้เป็นลำดับต้นของประเทศไทย เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่า “วัด” คือหนึ่งในนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินก้อนมหึมาอันเกิดจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งประเทศ

เพียงแต่ยังมิได้เคยมีการสำรวจตรวจสอบกันอย่างเป็นระบบ ปล่อยให้สมภาร เจ้าอาวาส บริหารจัดการกันไปตามอัธยาศัย เพราะเชื่อมั่นใน “ศีลอันบริสุทธิ์” ของศิษย์ตถาคต

ทว่า ในระยะหลังๆ เริ่มมีคำถามถึงเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปรากฏข่าวคราวพระจำนวนไม่น้อยนำเงินแห่งศรัทธาไปใช้ในนามส่วนตัวเป็นจำนวนมาก บางวัดแทนที่จะนำเงินเข้าวัดก็เล่นแร่แปรธาตุไปซุกไว้ในนามมูลนิธิ ที่ดินที่ควรจะเป็นธรณีสงฆ์ซึ่งซื้อขายไม่ได้ ก็กลายเป็นสมบัติของมูลนิธิ หรือไม่ก็สมบัติส่วนตัวของเจ้าอาวาสแทน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกรณีของ “นายวิรพล สุขผล” หรืออดีตเณรคำ ที่ใช้กระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง มีการเช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว หรือการถ่ายรูปคู่กับรถเบนซ์ในลักษณะที่ไม่สำรวม เป็นต้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนรายนี้กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยและศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เมื่อปี 2557 ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือTCIJ ได้เขียนรายงานหัวข้อ เจาะเงินฝากวัด 3 แสนล้าน 'เจ้าอาวาสคุม-ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล' เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยหยิบยกงานวิจัยของเรื่อง ‘การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย’ ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม แห่งคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า มาอ้างอิง โดยระบุว่าา จากจำนวนวัด 37,000 วัด มีเพียงหลักพันเท่านั้น ที่ส่งรายงานบัญชีให้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สำคัญคือการจัดทำบัญชีของวัดก็ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลแต่อย่างใด

การสำรวจของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า รายรับรวมโดยเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี เงินส่วนใหญ่หรือ 2,022,501 บาท มาจากเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซม โบสถ์ หรือศาสนสถานอื่น ๆ รองลงมาคือรายรับจากการสร้างวัตถุบูชา 1,460,907 บาท และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต เป็นต้น รวมประมาณ1,054,324 บาทต่อปี

ขณะที่รายจ่ายรวมเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 2,770,927 บาทต่อปี ซึ่งโดยมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัด 2,384,146 บาทต่อปี รองลงมาเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์ 451,832 บาทต่อปี

ส่วนผลการสำรวจวัด 490 วัด พบว่า 107 วัด มีรายรับระหว่าง 500,001-1,000,00 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.8 และโดยส่วนมากคือ 100 วัด มีรายจ่ายอยู่ที่ 200,001-500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.41 งานศึกษาของ ผศ.ดร.ณดา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วัดที่มีรายได้และรายจ่ายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปมีจำนวน 9-10 วัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 โดยในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า ในปัจจุบัน วัดที่มีตัวเลขรายรับรายจ่ายอยู่ที่หลัก 100 ล้านบาทต่อปีนั้นมีถึงราว 900 แห่งเลยทีเดียว

ไม่ต้องอื่นไกล เพียงแค่วัดพระธรรมกายวัดเดียว ก็ไม่รู้ว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากมายขนาดไหนแล้ว นี่ไม่นับรวมถึงมูลนิธิต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาและเป็นเจ้าของที่ดิน ตลอดรวมถึงทรัพย์สินแทนวัดเป็นจำนวนไม่น้อยดังที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น มูลนิธิมหาอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะปฏิรูปวัดไทยปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ อย่างล่าสุดเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2560 นายบวรเวท รุ่งขจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ได้ลุกขึ้นมาแถลงถึงแนวทางการจัดการทรัพย์สินของวัดต่อสาธารณชน โดยมีข้อเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ ทั้งนี้ให้มหาเถรสมาคม (มส.) หรือ พศ. กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งรูปแบบวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้ง ให้ พศ.นำเสนอมหาเถรสมาคม เรื่องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505, กฎกระทรวงปี 2511, กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ ให้ทันสมัยบังคับใช้ได้จริง

อาทิ การกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด และรายงานผลการตรวจสอบให้มหาเถรสมาคม นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ หากการตรวจสอบพบว่ามีความไม่โปร่งใสให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จากเดิมที่เพียงให้วัดแค่ส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้สำนักพุทธศาสนาฯ เก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบและไม่เคยมีบทลงโทษ

นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการผลักดันเรื่องการปฎิรูปพระพุทธศาสนาผ่าน ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ’ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 4 ด้าน คือ 1. เงิน ทรัพย์สินของวัด พระ ไม่มีการตรวจสอบหรือเปิดเผยทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสของวัด 2. การตีความพระธรรมวินัย ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่เข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่างเรื่องคำสอนให้ยึดในอัตตา หรือมีเรื่องข้อครหาต่าง ๆ ในตำแหน่งของพระชั้นต่าง ๆ 3. การปกครองคณะสงฆ์ เป็นลักษณะผูกขาด แค่กลุ่มเดียวราว 100 กว่ารูปแต่ควบคุมพระกว่า 2-3 แสนรูป และ 4. ภาครัฐต้องสนับสนุน ปกป้องคุ้มครอง กิจการของฝ่ายศาสนจักรโดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว

ทว่า เสียงคัดค้านจากฝ่ายศาสนจักรก็ดังกระหึ่มมาโดยตลอดเช่นกัน ทำให้เรื่องคาราคาซังและไม่เดินหน้าไปถึงไหน กระทั่งเกิดกรณีเปรตวัดสุทัศน์อันเป็นผลมาจากคดีทุจริตเงินทอนวัด จึงทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้อีกครั้ง

กระนั้นก็ดี คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้สำเร็จ แม้ในยุคที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือเต็มร้อยก็ตาม เพราะเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนและพร้อมที่จะถูกปลุกขึ้นมาเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี เหมือนดังที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเอาไว้ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์นับถืออยู่ เราจึงต้องทำให้ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่อไป อย่างไรก็ตามขออย่ารีบตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดีทั้งหมด เพราะคนที่เกี่ยวข้องเป็นคนส่วนน้อย เราต้องทำอย่างไรให้ส่วนน้อยตรงนี้ได้รับการแก้ไข จึงต้องนำไปสู่การตรวจสอบ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปทำให้เกิดประเด็นขึ้น มิฉะนั้นจะสร้างความขัดแย้งกับพุทธศาสนิกชน หรือกลายเป็นรัฐบาลชุดนี้ถูกกล่าวหาว่าทำลายศาสนาพุทธเพื่อให้ศาสนาอื่นได้เข้ามาแล้วจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกัน”

ขอขอบคุณ
ภาพภิกษุสันดานกาโดย อนุพงษ์ จันทร


กำลังโหลดความคิดเห็น