xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิเคราะห์คดี ASTV บนวิถีแห่งโทรทัศน์ดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การตัดสินคดีของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับให้ บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด พร้อมกับ 2 ผู้บริหาร มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 2498 กรณี “เอเอสทีวี” แพร่ภาพผ่านระบบดาวเทียมช่วงปี 2548-2549 โดยให้จำคุกผู้บริหารคนละ 1 ปี 4 เดือน พร้อมปรับเงิน 6 หมื่น และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 2 พันบาท ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องนั้น จำเลยได้น้อมรับคำตัดสินของศาลโดยปราศจากข้อโต้แย้ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเคารพต่อศาล คดีดังกล่าวมีการตั้ง "ข้อสังเกตบางประการ" โดยอาศัยหลักที่ไม่ห้ามวิจารณ์คำพิพากษา แต่ห้ามหมิ่นศาลและหมิ่นผู้พิพากษา ที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะถ้าจะว่าไปแล้วในห้วงเวลานั้นมีทีวีดาวเทียมเปิดให้บริการจำนวนไม่น้อย แถมมีข้อมูลด้วยว่า บางช่อง up link สัญญาณจากดาวเทียมภายในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำไป ต่างจาก ASTV ที่ส่งสัญญาณไปที่ฮ่องกง

สำหรับคดีดังกล่าวนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2560 ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1870/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล และนายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการสาธารณะ หรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากเดือน ก.ย. 2548 ถึงวันที่ 3 ก.พ. 2549 จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยร่วมกันทำการบันทึกรายการภาพและเสียง หรือทำการถ่ายทอดสดรายการตามที่มีกำหนดไว้ในผังรายการแล้วส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายเคเบิลใยแก้วซึ่งเช่าจาก บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อไปที่เกาะฮ่องกง ประเทศจีน

จากนั้น มีการส่งสัญญาณภาพและเสียงต่อไปยังดาวเทียม NSS6 แล้วดาวเทียมส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงกลับมาที่ประเทศไทยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อดูรายการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 59

ต่อมา อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์นำพยานมาเบิกความในชั้นศาลรวม 4 ปาก ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้เห็นว่า การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยการส่งภาพและเสียงของจำเลยทั้งสามในขั้นตอนใดที่จะถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 แต่โจทก์มีคำให้การในชั้นสอบสวนของ นายอานนท์ ลอยกุลนันท์ เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ พยานโจทก์ สรุปได้ความว่า สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ของจำเลยที่ 1 มีการส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าสายเคเบิล จากบริษัท กสท. และเป็นการส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงในประเทศไทย จากนั้นส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสายเคเบิลใต้น้ำจากประเทศไทย ไปที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังดาวเทียม NSS-6 และส่งสัญญาณจากดาวเทียวดังกล่าวกลับมายังประเทศไทย แม้คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟัง แต่ก็มิได้ห้ามโดยเด็ดขาด และเหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ดังกล่าวมาเบิกความได้ เป็นเพราะอาการป่วยต้องให้ออกซิเจน อันเป็นเหตุจำเป็น เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 226/3 (2) พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์หรือประกอบกิจการโทรทัศน์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2495 มาตรา 3, 5, 17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสาม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 60,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันๆ ละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 48 - 23 ม.ค.49

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถือเป็นที่สุด โดยโจทก์หรือจำเลยสามารถยื่นฎีกาได้อีกภายในเวลา 30 วัน

หลังจากศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษา ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ “News Hour” ทางช่องนิวส์วัน ต่อคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวด้วย โดยยังมีข้อสงสัยว่า เอเอสทีวี ให้การบริการโทรทัศน์ ประเภทที่ 2 คือ ประเภทไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งพวกเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียว จัดอยู่ในกลุ่มนี้ (ส่วนพวกประเภทที่ 1 ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งแต่เดิมคือช่อง 3, 5, 7 และ 9)

และเมื่อมี กสทช. ขึ้นมา มีการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และแบบที่ 2 ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใบประกอบกิจการรายปี ซึ่งเอเอสทีวี เสียค่าธรรมเนียมแบบที่ 2 ไม่เคยเสียค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ แล้วจะมีความผิดตามพ.ร.บ.กระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ฯ ตรงไหน

".... ในเมื่อ ASTV หรือโทรทัศน์จ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี มันก็น่าจะไม่ใช้คลื่นความถี่ ไม่น่าจะไปเกี่ยวกับ พ.ร.บ. วิทยุ ตั้งแต่ปี 2498 ถูกไหมครับ .... " อีกทั้งช่วงที่ฟ้องการแพร่ภาพเอเอสทีวี ช่วงเดือนก.ย. 2548 - ก.พ. 2549 นั้น เป็นเรื่องหลังจากรัฐธรรมนูญฯ 2540 ซึ่งตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาไม่มีหน่วยงานของรัฐฯ หรือหน่วยงานใดมาอธิบายว่าใช้คลื่นความถี่จะมีความผิดอย่างไร

อีกประการหนึ่งก็คือ ตอนนั้น ASTV เป็นสัญญาณ NSS-6 ไม่ใช่ดาวเทียมของไทย แม้กระทั่งสัญญาณที่ลงมาก็เป็นสัญญาณระดับนานาประเทศ ไม่ใช่สัญญาณของไทยไม่ได้เกี่ยวกับคลื่นของชาติเลย....

วิธีการส่งสัญญาณของ ASTV ช่วง ปี 2548 - 2549 ตามที่ว่ามา ผ่าน NSS6 แล้วสาดสัญญาณกลับมายังประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เรื่องนี้ อ้างอิงได้จากคำสั่งของศาลปกครองกลาง ซึ่งตอนนั้น กรมประชาสัมพันธ์ ห้ามเอเอสทีวีส่งสัญญาณไปฮ่องกง ผ่านดาวเทียม NSS-6 ผู้บริหารเอเอสทีวี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลาง สั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ เพิกถอนคำสั่งให้ กสท ระงับบริการดาวเทียมกับเอเอสทีวี และชดใช้ค่าเสียหาย 1.2 แสนบาท ถ้าการดำเนินการตรงนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลปกครองก็ไม่น่าจะออกคำสั่งเช่นนั้นได้

ข้อสังเกตของนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ก็คือ การส่งสัญญาณของเอเอสทีวี ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายหากยึดถือตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง

แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ จึงทำให้นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมฯ ออกอาการ "งง"

ขณะที่ นายสุรวิชช์ วีรวรรณ ผู้บริหารเครือผู้จัดการ ได้แสดงความเห็นในคอลัมน์ "หนึ่งความคิด" โดยมีข้อสังเกตบางประการต่อคำพิพากษาของศาลฯ โดยมีประเด็นหลักๆ ก็คือ พยานโจทก์ที่ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ทั้ง 4 ปาก ที่ไปให้การในศาลไม่สามารถชี้ได้เลยว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามกฎหมาย แต่ศาลมีความเห็นต่อไปว่า “แต่โจทก์มีคำให้การในชั้นสอบสวนของนายอานนท์ ลอยกุลนันท์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์”

ศาลระบุว่า แม้คำให้การของนายอานันท์ เป็น “พยานบอกเล่า” ซึ่ง “ศาลห้ามมิให้รับฟัง” แต่ “มิได้ห้ามโดยเด็ดขาด” เหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำนายอานนท์ มาเบิกความได้เพราะป่วยเป็นมะเร็งต้องให้ออกซิเจนอยู่ที่บ้าน .... ทั้งนี้ แม้จะมีคำพิพากษาฎีกาถึงคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าแต่ศาลมีดุลยพินิจจะรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น

แต่จะเห็นว่า แม้ศาลจะใช้ดุลยพินิจรับฟังพยานบอกเล่าได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวังอย่างสูงทั้งนี้เพราะพยานบอกเล่ามีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1

มาตรา 227/1 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

แต่ศาลกลับเชื่อ “พยานบอกเล่า” ปากนี้มากกว่า พยานโจทก์4ปากที่นำมาสืบในศาลแล้วไม่สามารถชี้ว่าจำเลยกระทำผิดได้ โดยระบุว่า นายอานนท์ ได้รับมอบหมายจากกรมประชาสัมพันธ์ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ จึงเป็นผู้ที่รู้เห็นโดยตรง

เมื่อเราอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะเห็นว่า ศาลใช้หลัก “ห้ามฟังพยานบอกเล่า” ในการพิพากษายกฟ้องจำเลย

แต่ศาลอุทธรณ์ใช้หลัก “ข้อยกเว้นห้ามฟังพยานบอกเล่า” ในการพิพากษาลงโทษจำเลย

โดยหลักการในคดีอาญา จำเลยได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าจำเลย "กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจนสิ้นสงสัย" หากโจทก์ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อข้อกล่าวหาแล้ว จำเลยจะต้องได้รับการปล่อยให้ให้พ้นข้อกล่าวหาในที่สุด แม้จะเลยมีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันข้อต่อสู้ของตนที่ตนให้การไว้ในการต่อสู้คดีดีก็ตาม .... (คลิกอ่านรายละเอียดใน คอลัมน์ หนึ่งความคิด - สุรวิชช์ วีรวรรณ

คำพิพากษาของศาลฯ ไม่มีใครอาจก้าวล่วง นี่เป็นแต่เพียงการพิเคราะห์คำพิพากษาแห่งคดีเท่านั้น

ส่วนสุดท้ายจะจบลงอย่างไร.ต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตาหลังคำพิพากษาของศาลฎีกาเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น