ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในระหว่างที่รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอ กำลังเดินหน้านโยบายการขับเคลื่อนแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ระยะ 5 ปี (2560-2565) ให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 21/2560 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประบธุรกิจ ด้วยแผนที่จะให้ “กรมการปกครอง”เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดรูปแบบและควบคุมการเข้าถึงข้อมูลให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงและปลอดภัยในการใช้งานระบบสารสนเทศ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มี “การจดแจ้งรายได้และอาชีพของประชาชนดำเนินการภายใต้โครงการ e-Payment ของภาครัฐ” “การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง”
และที่สำคัญ จะมี “การจัดทำฐานข้อมูลประชาชนโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก”เป็นดัชนีจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้การปรับปรุงบริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้รองรับการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card)โดยจัดงบประมาณพัฒนา “โปรแกรมการอ่านข้อมูลจากบัตร” และพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้บัตรประชาชนฯ อย่างเพียงพอ
ปัจจุบันกำลังจะมีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชาชนกลาง (Population Information Linkage Center) ให้มีฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรให้เป็นระบบเดียวกัน สามารถเรียกใช้ข้อมูลจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านรายการต่อวัน ,กรมการปกครอง ทุ่มงบประมาณ มากกว่า 100 ล้านบาท จัดหาอุปกรณ์เครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบเอนกประสงค์ (Smart Card Reader) จำนวน 214,756 เครื่องให้ 71 หน่วยงานรัฐแล้วเพื่อเป็นการยืนยันตัวบุคคลและอ่านข้อมูลในกระบวนการติดต่อราชการ
ยังรวมถึงการสนับสนุนระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ทั้งการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เบี้ยผู้สูงอายุคนพิการ และจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
ทั้งหมดนี้ รัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ.ร. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการของภาครัฐ
สั่งการโดยด่วนให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ แจ้งรายชื่อฐานข้อมูลที่ต้องใช้ในการบริการประชาชนไปยัง กระทรวงมหาดไทย ภายใน 3 เดือน แล้วให้รวบรวมรายชื่อฐานข้อมูลดังกล่าวแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของฐานข้อมูลทราบ
ขีดเส้นว่า หน่วยงานเจ้าของฐานข้อมูล จะต้องจัดเตรียมฐานข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายชื่อฐานข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการเชื่อมระบบฐานข้อมูลดังกล่าวกับระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและเปิดให้หน่วยงานที่ร้องขอใช้งานโดยเร็ว
นโยบายการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ กำลังจะไปได้สวย จู่ ๆ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. กลับมีข่าว ประเด็นปัญหาทะเบียนราษฎร เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ที่”กรมการปกครอง”รับผิดชอบอยู่ เกี่ยวกับปัญหาการสั่งแก้ไขเลขที่บัตรประชาชน 13 หลักของคนเกิด พ.ศ. 2527 (ปัจจุบันอายุน่าจะประมาณ 33 ปีเต็ม) กรณีของ พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ได้ร้องทุกข์ต่อประเด็นปัญหาการสั่งแก้ไขเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ของกระทรวงมหาดไทย
หน่วยงานนี้ แจ้งคร่าวๆ หลังมีข่าวว่า คนเกิดปี 2527 ที่เลขบัตรประชาชนมีปัญหาไม่ตรงกับใบสูติบัตร มาจากเปลี่ยนการบันทึกข้อมูลบุคคลจากมือเป็นอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ “ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต”อธิบดีกรมการปกครอง ออกมายอมรับว่า เรื่องเลข 13 หลักที่ไม่ตรงกันนั้น สาเหตุเกิดจากปี 2527 ที่เริ่มมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยคนที่เกิดปี 2527 จะใช้เลขนำหน้าเป็นเลข 3 ในขณะที่คนที่เกิดหลังจากปี 2527 จะใช้เลขนำหน้าเป็นเลข 1
ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ที่ร้องเรียนเกิดในปี 2527 แต่เลขนำหน้าบัตรประชาชนนั้นเป็นเลขอื่น โดยเกิดจากความคลาดเคลื่อนที่ไปใช้ข้อมูลเลขชุดที่เป็นเลข 3 ตามทะเบียนบ้านตอนที่ไปทำทะเบียนบ้าน จึงไม่ตรงกับเลขสูติบัตร
กรณีนี้ สำนักทะเบียน กรมการกครอง จึงแจ้งให้เจ้าตัวมาดำเนินการเปลี่ยนเป็นเลข 1 แต่พบปัญหาว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้โดยใช้เลขบัตรประชาชนเดิมที่ผิดพลาดต้องไปตามดำเนินการแก้ไข ซึ่งกรมการปกครองพบว่า มีผู้มีปัญหานี้จำนวนกว่า 10,000 ราย ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว 7,000 ราย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (12 ก.ค.) กรมการปกครอง ออกมาชี้แจงอีกครั้ง ถึงปัญหาการสั่งแก้ไขเลขที่บัตรประชาชน 13 หลักของคนเกิด พ.ศ. 2527
โดยขอให้ผู้มีปัญหาที่เหลือ จำนวนกว่า 10,000 ราย และพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ สำรวจเลขในทะเบียนบ้านและเลขบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง รวมถึงสูจิบัตรว่าตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงเขตให้ไปแจ้งที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักงานเขต
1. กรณีของ พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ได้รับหนังสือแจ้งจากที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ให้ไปยื่นคำร้องจำหน่ายเลขที่บัตรประชาชนซ้ำซ้อนและเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่เนื่องจากตนเองมีเลขบัตรประชาชนไม่สัมพันธ์กับ วัน เดือน ปีที่เกิดที่ต้องได้เป็นเลขนำหน้าประเภท 1 ตามสูติบัตร คือหมายเลข 1-3604-xxxxx-xx-x มิใช่เลขนำหน้าประเภท 3 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือหมายเลข 3-3603-xxxxx-xx-x
2. เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ เพิ่มเติมว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ภายหลังจากการเปลี่ยนเลขที่บัตรปชช.ใหม่ ซึ่งส่งผลให้การทำเอกสารทางราชการและธุรกรรมต่างๆ ล่าช้า เนื่องจากต้องดำเนินการด้วยตนเองทั้งหมด
3. จากการศึกษาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พบว่ามีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาเดียวกันโดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เกิดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2527
สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้มีโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชนในปี พ.ศ. 2527 โดยกำหนดให้ทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านมีเลขประจำตัวประชาชนทุกคนและบุคคลที่เกิดตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2526 เป็นต้นไป จะต้องกำหนดเลขประจำตัวประชาชนในสูติบัตรและทะเบียนบ้านเป็นบุคคลประเภท 1 แต่ในข้อเท็จจริงในระยะแรกมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ จึงทำให้มีข้อมูลบุคคลบางรายที่มีเลขประจำตัวประชาชนในสูติบัตร ขึ้นต้นด้วยเลข 1 แต่ในทะเบียนบ้านมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 3
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว สำนักทะเบียนกลาง ได้ตรวจพบและแจ้งสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น ทั่วประเทศให้ดำเนินการตรวจสอบแก้ไข โดยแจ้งเจ้าของรายการทราบและดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง
จากการตรวจสอบในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรพบว่า ผู้เกิดหลังปี พ.ศ. 2527 สูติบัตรมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 1 และมีเลขประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 ในทะเบียนบ้าน จำนวน 10,821 ราย ซึ่งได้ให้แจ้งประชาชนนำเอกสารทะเบียนบ้านตัวจริง มาแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว 7,386 ราย คงเหลือ 3,435 ราย
ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อประชาชนได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียน จะต้องไปดำเนินการแก้ไขรายการ ที่ภูมิลำเนาที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เมื่อแก้ไขรายการแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการติดต่อทำธุรกรรมหรือ นิติกรรมต่าง ๆ จึงจะต้องแก้ไขรายการอื่น ๆ ให้ถูกต้องตรงกับเลขประจำตัวประชาชนที่ได้รับใหม่ เช่น บัญชีธนาคาร พาสปอร์ต ทะเบียนสมรส ฯลฯ
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อราชการ หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้เกิดความรวดเร็ว และมีความคล่องตัว รวมทั้งประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. ประชาชนสามารถใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ระบุในทะเบียนบ้านต่อไปได้ตามปกติ โดยไม่ต้องแก้ไขรายการเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในสำเนาทะเบียนบ้านให้ตรงกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในสูติบัตร
2. กรณีที่ไปติดต่อราชการหรือติดต่อหน่วยงานอื่นที่จำเป็นต้องใช้สูติบัตร ให้นำหลักฐานทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสูติบัตรฉบับตัวจริง ไปยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนเขต/สำนักทะเบียนท้องถิ่น ออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน
3. ประชาชนสามารถนำสูติบัตรที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 1 ไปยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนเขต/สำนักทะเบียนท้องถิ่น ที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อบันทึก เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วย เลข 3 ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ไว้ด้านหลังสูติบัตร เพื่อใช้เป็นเอกสารทางราชการยืนยันว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน
ถือว่าเป็นการสะดุดเล็กๆ น้อย ๆ กับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรในอดีต ซึ่งกรมการปกครองออกมายืนยันว่า ผิดพลาดแค่หลักหมื่นคน และยังเหลือปัญหาแค่หลักพันคน แต่ถ้า “แผนการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ” ที่กรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทยกำลังทำอยู่ ที่คาดว่าอาจจะใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท มาสะดุดแบบนี้ก็คงไม่สวยนัก.