xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเชิงซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในโลกยุคปัจจุบัน เราเผชิญหน้ากับสถานการณ์การสื่อสารที่มีลักษณะเป็นการส่ง “สัญญาณเชิงซ้อน” มากขึ้น สัญญาณเชิงซ้อนเป็นสภาวะที่ผู้ส่งข่าวสารได้ส่ง “เนื้อหาของสาร” ที่ทำให้ผู้รับสารนั้น “ตีความสาร” ได้สองแบบในทางที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดสภาวะแบบนี้ขึ้นมา ผู้รับสารจะเกิดความคับข้องใจ เพราะไม่รู้ว่าเจตจำนงของผู้ส่งสารคืออะไรกันแน่ ครั้นจะถามเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ก็ถามไม่ได้ ครั้นจะหลบเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าวก็ทำได้ยากเพราะว่า ผู้รับสารมีความสัมพันธ์ในทางใดทางหนึ่งกับผู้ส่งสาร สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้รับสารมาก หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลอาจนำไปสู่การเป็นโรคจิตได้ แต่หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารประเทศกับประชาชนก็จะนำไปสู่ความอึดคับคับข้องใจและความขัดแย้งทางสังคมได้

เกรเกอรี เบทสัน (Gregory Bateson) นักมานุษยวิทยาผู้ล่วงลับได้อธิบายภาวะ “สัญญาณเชิงซ้อน” (double bind) เอาไว้ว่า เป็นสถานการณ์ที่เป็นปมปัญหาของความขัดแย้งแบบขั้วตรงข้ามของการสื่อสารนำไปสู่สภาวะของการแตกแยกทางจิตได้ สำหรับกระบวนการที่สัญญาณเชิงซ้อนทำให้เกิดโรคจิตเภทหรือการแตกแยกของจิตนั้น เบทสันจำแนกออกเป็นสี่ขั้นตอน โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับมารดาที่เป็นโรคจิตเภทเป็นตัวแบบการอธิบายดังนี้

1) ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับแม่เป็นความสัมพันธ์เชิงพึ่งพา นั่นคือเด็กต้องพึ่งพาแม่ในการที่ทำให้เขามีชีวิตและเติบโตขึ้นมา การพึ่งพาแม่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของเด็กอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุนี้เด็กจึงจำเป็นต้องประเมินข้อมูลข่าวสารจากแม่ให้ถูกต้องมากที่สุด เพื่อเขาจะได้ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของแม่ได้ถูกต้องนั่นเอง
2) เด็กรับข่าวสารที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกันจากแม่ในหลากหลายระดับ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลข่าวสารที่เป็นคำพูดมีลักษณะปฏิเสธหรือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบริบทของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่คำพูดหรือภาษากายที่แม่แสดงออกมา ซึ่งเบทสันเรียกว่าเป็นส่ง “อภิสาร” (metacommunication) (เช่น แม่พูดกับเด็กว่า ลูกก็รู้ ว่า แม่รักลูกมาก ด้วยแววตาเป็นปรปักษ์ สีหน้าเย็นชา และน้ำเสียงแข็งกระด้างห่างเหิน) สัญญานสองอย่างระหว่างความหมายของภาษาแบบ “คำพูด” กับความหมายของภาษาแบบ “ไม่ใช่คำพูด” ไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าสอดคล้องกัน หากแต่ขัดแย้งและไปด้วยกันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง
3) เด็กไม่ได้รับโอกาสให้ถามมารดาเพื่อสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร เพื่อขจัดปมความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งทำให้ความสับสนสะสมอยู่ภายในจิตใจของเด็กอย่างต่อเนื่องตามวันเวลาที่เขาได้รับสัญญาณเชิงซ้อนในลักษณะนี้
4) เด็กไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือหลบออกจากความสัมพันธ์กับแม่ของตนเองได้ เมื่อเผชิญหน้ากับสถาณการณ์แบบนี้บ่อยเข้า เด็กจึงถูกกดดันให้ทำการบิดเบือนการรับรู้ความเป็นจริงทั้งจากภายนอกและภายในจิตของตนเอง ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือการป่วยทางจิตอย่างรุนแรง

ทีนี้เราลองมาใช้ตัวแบบสัญญานเชิงซ้อน อธิบาย ความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “โลก” ภายใต้เงื่อนไขสี่ประการข้างต้น ๑) ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกที่เขาอาศัยอยู่เป็นความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มนุษย์ต้องประเมินธรรมชาติของโลกให้ถูกต้องมากที่สุด ๒) จิตมนุษย์รับข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในโลกที่เขาอาศัยอยู่ ด้วยเหตุนี้สำนึกเชิงจิตวิญญาณและจิตวิทยาภายในของมนุษย์ไม่สอดคล้องกับ “อภิสารเชิงวิทยาศาสตร์” ที่เขาได้รับรู้มา ๓) ในเชิงญาณวิทยาหรือวิธีการในการเข้าถึงความจริง จิตของมนุษย์ไม่สามารถดำเนินการสื่อสารโดยตรงกับโลกได้สำเร็จ มิอาจถามให้เกิดความกระจ่างหรือแก้ไขปัญหาการขัดกันของสิ่งที่ปรากฎอย่างสมบูรณ์ได้ ๔) ในเชิงการดำรงอยู่ มนุษย์ไม่สามารถจากไปหรือละทิ้งความสัมพันธ์กับโลกที่เขาอาศัยได้
จิตของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่จึงเผชิญหน้ากับปมปัญหาสำคัญสามประการ ประการแรกคือ ปมปัญหาของการที่เรารู้ว่าเราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชายขอบเล็ก ๆ ไม่มีนัยสำคัญอะไร ที่อาศัยในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ประการที่สอง ปมปัญหาที่เรารู้ว่า เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตสำนึก มีเป้าประสงค์ และเป็นอัตบุคคล ขณะเดียวกันเราก็เผชิญหน้ากับจักรวาลหรือโลกทางวัตถุที่ไร้จิตสำนึก ปราศจากเป้าประสงค์ และเป็นความว่างไร้ขอบเขต และประการที่สามคือ ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เราไม่มีวิธีการที่มีความเป็นไปได้ใด ที่จะทำให้รู้และเข้าใจสารัตถะแท้จริงของจักรวาลได้ เราตกอยู่ภายใต้วิวัฒนาการ ดำรงอยู่ และถูกนิยามโดยความเป็นจริง ที่แปลกแยกอย่างรุนแรงกับตัวเราเอง ยิ่งกว่านั้น เราก็มิอาจติดต่อโดยตรงกับจักรวาลเพื่อสร้างการรับรู้ความเป็นจริงของมันได้

ในระยะสองสามร้อยปีที่ผ่านมา วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบและเปิดเผยข่าวสารเกี่ยวกับโลกและจักรวาล ที่ทำให้ความเชื่อเชิงจิตวิทยาและจิตวิญญาณดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งไร้สาระ แต่กระนั้นความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความเป็นจริงทางจิตวิญญาณของเรา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดอย่างยาวนานจากบรรพบุรุษก็ยังคงดำรงอยู่ในจิตของเราอย่างเหนียวแน่น จึงดูเหมือนเรารับข่าวสารสองอย่างจากสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ด้านหนึ่ง เป็นข่าวสารที่กระตุ้น และเปิดหนทางในการแสวงหาความหมายและการบรรลุทางจิตวิญญาณ แต่อีกด้านหนึ่ง ข่าวสารที่บอกให้เราตระหนักว่า สารัตถะของความจริงแท้ที่เราพยายามค้นหา ช่างเย็นชา ไร้จิตวิญญาณ และไม่ตอบสนองใด ๆ ต่อความต้องการทางจิตวิญญาณของเรา เราจึงตกอยู่ในภาวะที่ถูกกระตุ้นและถูกบดขยี้ไปพร้อม ๆ กัน และนี่เป็นสถานการณ์ที่มนุษย์จำนวนมากมิอาจทำความเข้าใจและยอมรับได้

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ มนุษย์พยามหาทางตอบสนอง หรือไม่ก็หลีกหนีจากภาวะสัญญาณเชิงซ้อน การทำให้ความเป็นจริงทั้งภายในและภายนอกตัวตนของมนุษย์บิดเบือนจึงเกิดขึ้น ความรู้สึกภายในอยู่ในสภาพถูกกดทับและถูกปฏิเสธ ดังแสดงออกมาในรูปของความเฉื่อยชาและความมึนงงของจิต หรือไม่ก็แสดงออกมาในรูปของการชดเชยแบบล้นเกิน ดังเช่นการหลงตัวเอง และการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สำหรับด้านการตอบสนองต่อโลกภายนอกคือ การยอมจำนวนตกเป็นทาสของสภาพความเป็นจริงเพียงอย่างเดียวที่ตนเองเชื่อว่าจริง และปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามชะตากรรม หรือบางคนก็ดำเนินการฉกฉวยประโยชน์ขูดรีดจากโลกและบุคคลรอบข้างอย่างรุนแรง เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้างผลาญ หรือ การใช้แรงงานมนุษย์ดุจดังทาส หรือ การค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่น ๆ

ยังมียุทธศาสตร์อีกหลากหลายประการที่มนุษย์ใช้ในการต่อสู้กับสัญญาณเชิงซ้อนผ่านรูปแบบของการหลบหนีความจริง อาทิ การบริโภคสินค้าอย่างผิดปกติเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปของจิต ที่เราเรียกกันว่าลัทธิบริโภคนิยม การหมกมุ่นกับการรับข่าวสารจากสื่อมวลชนและเล่นสื่อสังคมออนไลน์อย่างลืมกาละและเทศะ หรือเรียกว่าเล่นกันอย่างไม่ลืมหูลืมตานั่นเอง การหลงไหลวิ่งตามแฟชั่นสมัยนิยม โดยซื้อสินค้าที่มีตราระดับโลก ใช้สินค้าที่ทันสมัยที่สุด การสร้างลัทธิความเชื่อทางศาสนาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอันเปราะบาง เช่น พวกลัทธิธรรมกาย การหลงไหลในดาราหรือคนดังอย่างมัวเมาดังที่เห็นได้ในกลุ่มวัยรุ่น การสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองแบบรุนแรง อย่างลัทธิก่อการร้ายทางศาสนา การคลั่งไหลลัทธิชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม และการติดยาเสพติด

เมื่อกลไกการหลีกเลี่ยงไม่สามารถที่จะเยียวยาภาวะความสับสนในจิตของมนุษย์ได้ ความกังวล ความหวาดระแวง ความซีมเศร้า ความรู้สึกที่ตนเองเป็นเหยื่อที่สิ้นหวัง แนวโน้มการสงสัยต่อความหมายของทุกสรรพสิ่ง แรงกระตุ้นในการปฏิเสธการดำรงอยู่ของตัวตน ความรู้สึกไร้เป้าประสงค์และความไร้สาระของโลก ความรู้สึกที่ไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งภายใน การแตกแยกของจิตสำนึก และเมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาพัฒนาไปสู่ระดับที่รุนแรง ปฏิกิริยาของจิตในการแยกตัวออกจากโลกความเป็นจริงก็เกิดขึ้นและเข้าสู่ภาวะจิตเภท อันได้แก่ การใช้ความรุนแรงในการทำลายตนเอง การมีโรคความจำเสื่อมอย่างสมบูรณ์ การแสดงพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว ความบ้าคลั่ง และการทำลายล้างสรรพสิ่ง โลกในยุคปัจจุบัน ผู้คนที่มีอาการและการกระทำแบบนี้มีเป็นจำนวนมหาศาลและนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น และหากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำประเทศหรือเป็นผู้มีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศ ความหายนะก็จะเกิดขึ้นในวงกว้างและรุนแรงยิ่งกว่าคนธรรมดาสามัญอย่างเทียบกันไม่ได้

สังคมไทยมีภาวะสัญญาณเชิงซ้อนในหลากหลายระดับทั้งในระดับครอบครัว องค์การ และระดับชาติ เราจึงมีปัญหาสุขภาพจิต ความซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ยาเสพติด อาชญากรรมรุนแรง ตลอดจนความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ มากมายที่ปรากฎในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์

ยิ่งกว่านั้นผู้นำประเทศหลายคนก็แสดงการสื่อสารแบบสัญญาณเชิงซ้อนออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้ผู้คนสับสนว่า สิ่งที่สื่อสารออกมามีความหมายอย่างไรกันแน่ หลายครั้งที่ภาษาคำพูดกับภาษาที่ไม่ใช่คำพูด ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และการกระทำกลับไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พูดออกมา ดังตัวอย่างการพูดว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่การกระทำกลับไม่สอดคล้องกันในหลายเรื่องและหลายหน หรือ การพูดว่าจะจัดการกับการทุจริตอย่างเด็ดขาด แต่การกระทำกลับไม่ค่อยไปในทิศทางเดียวกัน หรือเป็นแบบเลือกกระทำในบางเรื่อง และละเว้นในบางเรื่อง การสื่อสารในลักษณะนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความเบื่อหน่ายและรู้สึกหมดหวังกับการเมืองในปัจจุบัน

เท่าที่สังเกตดู ปฏิกิริยาของผู้คนที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ การวางเฉย และไม่สนใจในเรื่องการเมืองไปชั่วคราว ประเภทปล่อยให้พวกเขาว่ากันไปก่อน บางกลุ่มก็บิดเบือนการรับรู้ความเป็นจริงของตนเอง เพื่อปลอบประโลมจิตอันเปราะบาง โดยพยายามหาทางแก้ตัวให้กับผู้นำที่ตนเองชื่นชม บางกลุ่มก็แสดงปฏิกิริยาออกไปในทางที่เป็นปรปักษ์ และตอบโต้ด้วยหลากหลายวิธีการ

หากสถานการณ์แบบนี้ยังดำเนินต่อไป โดยที่กลุ่มผู้นำประเทศไม่ปรับปรุงสัญญาณการสื่อสารให้สอดคล้องระหว่างสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง ผมคิดว่าจะมีปัญหาใหญ่ของสังคมกำลังรออยู่บ้างหน้า

กำลังโหลดความคิดเห็น