xs
xsm
sm
md
lg

อัยการกร่าง-ตำรวจไม่ดี มุมต่ำตมที่เปลี่ยน มุมบวกของสื่อโซเชียลฯ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ต้องยอมรับว่าเวลานี้"กระแส"มันแรงมากจริงๆ แรงจนฉุดไม่อยู่จริงๆ โดยเฉพาะกระแสผลักดันให้เกิด"การปฏิรูป"ซึ่งเวลานี้แจ็กพ็อตกำลังเกิดขึ้นกับวงการตำรวจที่เวลานี้กำลังนับหนึ่งโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) ที่นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์เริ่มีการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา อีกทั้งนับจากนี้ก็จะทำงานตามกรอบเวลาที่ชัดเจนนั่นคือตามสูตร 2-3-4 คือรวบรวมผลศึกษาต่างๆนำมาสรุปประมวลภายใน 2 เดือน จากนั้นก็มีการพิจารณาเป็นรายละเอียดต่างภายใน 3 เดือน และ 4 เดือนที่เหลือก็เป็นช่วงของการรับฟังความเห็น ทุกอย่างก็ต้องเดินไปตามเส้นทางและเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ทุกอย่างมีกฎหมายรองรับ และเชื่อว่าผลที่ออกมาต้องมีความหมายเป็นการ"ปฏิรูป"และต้องเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ และข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่ก็ต้องยอมรับด้วย เพราะพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องมีแรงกดดันมากมายมหาศาลจนนำมาสู่การเคลื่อนไหวแบบนี้ขึ้นมาได้ แม้ว่านาทีนี้เราอาจยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาแบบไหนจะออกมา"แบบปาหี่"หรือไม่ ก็ยังไม่อาจทราบได้ แต่หากมองในแง่บวกและ"พลังของสังคม"ที่มีอยู่ในเวลานี้ยังมั่นใจว่าการปฏิรูปตำรวจจะออกมาแบบ"ตามใจสังคม"อย่างแน่นอน

แต่เชื่อหรือไม่ว่า"พลัง"สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือพลังใน"โลกโซเชี่ยลฯ"ที่กลายเป็น"ตัวปลุกเร้า"ที่สำคัญจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เพราะต้องยอมรับด้วยโลกยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารฉับไว แค่มี"สมาร์ทโฟน"ที่มีกล้องถ่ายภาพสามารถถ่ายคลิปพฤติกรรมไม่ดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปรากฏออกมาทั้งภาพและเสียงมาประจาน และก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ส่งต่อกันแบบ"ไฟลามทุ่ง"

แม้ว่าหลายครั้งจะถูกวิจารณ์ตำหนิกันว่า "ตื่นตูม"ไม่ดูตาม้าตาเรือ ผิดพลาดและมีการใส่ร้ายป้ายสี แบบไร้มาตรฐาน แต่หากมองอีกมุมหนึ่งนี่แหละคือปรากฏการณ์ใหม่ ที่เชื่อว่าทุกคนก็ต้องรับรู้รับทราบว่ามันต้องมีเทคโนโลยีแบบนี้เกิดขึ้นและเข้าถึงแทบทุกคน แต่ขณะเดียวกันในช่วงแรกๆอาจมีความโกลาหล สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายกันบ้าง แต่ทุกอย่างก็ย่อมมีการปรับตัว มีการหยุดคิดและ"เลือกเสพ"มากขึ้นกว่าเดิม หากสังเกตจะเห็นว่าในระยะหลังจะเกิดการเลือกเสพ และมีการคัดกรองมากกว่าเดิม อีกทั้งหากมีการปล่อยคลิปหรือข้อมูลที่บิดเบือนตัดต่อก็อาจเสี่ยงต่อการถูก"ย้อนศร"ถูกรุมประณามจากสื่อสังคมออนไลน์ด้วยกันเอง อีกทั้งในระบบกฎหมายก็มีบทลงโทษที่รุนแรงไม่น้อยเหมือนกัน

แต่โดยสรุปรวมๆว่านี่คือพลังของโลกโซเซียลฯที่หากมองในมุมบวกมัสก็มำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสร้างสรรค์ก็มี ทั้งในเรื่องของแชร์เรื่องดีๆที่เป็นตัวอย่างในสังคม เป็นการ"สร้างกระแสทำความดี"ก็เคยมีให้เห็นมากมาย และที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการแชร์คลิปประจานพฤติกรรมไม่ดีของตำรวจบางนายที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการสร้างกระแสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดกระแสปฏิรูปตำรวจได้อีกทางหนึ่งในวันนี้

ขณะเดียวกันด้วยพลังของโลกโซเซียลฯดังกล่าวกำลังจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงวงการอัยการหลังจากมีการปล่อยคลิปเสียงของอัยการคนหนึ่งที่มีพฤติกรรม"เมากร่าง"กับตำรวจในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งกระแสสั่นสะเทือนดังกล่าวส่วนสำคัญก็มาจากการแชร์คลิปในโลกโซเชียลฯกันอย่างครึกโครม มีการขุดเอาหลักฐานคลิปฉาวในอดีตเมื่อปี 2558 มาแฉและประจานเพิ่มอีก จนเกิดเสียงวิจารณ์ ตำหนิแบบที่เรียกว่า"ด่ายับ"จนสร้างความเสื่อมเสียกับวงการอัยการโดยรวม

จะว่าไปแล้วหน่วยงานอัยการเป็นอีก"หนึ่งในเป้าหมายหลัก"ที่เกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปไปพร้อมกับวงการตำรวจ เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานยุติธรรมระดับ"กลางน้ำ"ทีต่อเนื่องกัน เพราะหลายครั้งที่การสั่งคดีทำให้เกิด"ข้อกังขา"ของสังคม แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีเสียงวิจารณ์รุนแรงเหมือนกับตำรวจเพราะตามระบบงานไม่ได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านประจำวันแบบนั้น แต่ก็อยู่ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกกดดันให้ปฏิรูปไปพร้อมกัน

กรณีที่เกิดขึ้นจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ แต่ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกระแสสังคมอย่างฉับไวโดยมีหนังสือชี้แจงจากสำนักอัยการสูงสุดออกมาแบบทันควันหลังเกิดเหตุอัยการ"เมากร่าง"คนหนึ่งเกิดขึ้นโดยให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและให้ทราบผลโดยไม่ชักข้าและล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม รท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดที่ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวผลปรากฎว่า"เป็นเรื่องจริง"และคนที่ระบุว่าเป็นอัยการที่"เบ่ง"กับตำรวจเพื่อให้ไปส่งที่ร้านลาบ ที่"เมาแล้วข้บ"และเมาเหล้าในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็น"อัยการจริง"และเป็นคนเดียวกับที่เคยก่อเหตุเบ่งแบบนี้มาแล้วเมื่อปี 2558 ซึ่งอาจต้องโดนโทษหนักถึงขั้นไล่ออก เพราะมีพฤติกรรมซ้ำซาก เป็นตัวอย่างไม่ดี

ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่านี่คือพลังอีกด้านหนึ่งในโลกโซเซียลฯที่สร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกได้ ดังที่เคยมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปตำรวจและล่าสุดก็มีการกดดันและประจานอัยการบางคนที่ก่อพฤติกรรมอื้อฉาว จนอาจเรียกได้ว่าแทบจะ"หมดอนาคต"กันไปเลย ขณะเดียวกันยังได้สร้างพลังการตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นอีกทางหนึ่งด้วย !!
กำลังโหลดความคิดเห็น