xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนตำนาน “หลักเมืองนครฯ” สุดยอดแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่ใครๆ ก็ต้องไปทำพิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลักเมืองนครศรีธรรมราช ถูกออกแบบให้ส่วนยอดเป็นพรหม 8 หน้าที่มีความงดงามและกลมกลืนจนเกิดเป็นบรรยากาศศิลป์ที่สมบูรณ์ที่สุด จนได้รับการเปรียบเปรยว่าเหมือนดั่งเทวดามานิมิตไว้
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถ้าจะกล่าวถึง “หลักเมือง” หรือ “ศาลหลักเมือง” ที่มีชื่อเสียงและมีคนรู้จักมากที่สุดในประเทศไทย นอกจาก “หลักเมืองกรุงเทพฯ” ที่สร้างขึ้นมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แล้ว รองลงมาก็หนีไม่พ้น “หลักเมืองนครศรีธรรมราช” เนื่องด้วยประวัติการสร้างนั้นเกี่ยวพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เป็นสองรองใครในประเทศนี้ นั่นก็คือ “จตุคามรามเทพ”

จตุคามรามเทพที่ครั้งหนึ่งคนไทยศรัทธากันทั้งประเทศจนราคาพุ่งไปที่หลักล้าน และแทบจะทุกครัวเรือนต่างมีไว้ครอบครอง มีต้นกำเนิดมาจากการสร้างศาลและเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งกระโน้น

ขณะที่การจัดสร้างหลักเมืองแห่งอาณาจักรทะเลใต้แห่งนี้ ก็อัดแน่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ในทุกกระบวนการขั้นตอนเช่นกัน

และคราวนี้ ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชได้ตกเป็นเป้าของความสนใจอีกครั้ง เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เกิดขึ้น และมีข้อต้องสงสัยว่า เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทาง “ไสยศาสตร์” หรือไม่ เนื่องเพราะมีการปรับปรุงที่ผิดแผกแตกต่างไปจากขนบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเติมเสาหินอ่อนเข้าไปใหม่ เพดานรูปแบบหมู่ดวงดาวตามหลักจักรวาลทัศน์ถูกรื้อถอนออกไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ “พระพุทธรูป” ไปประดิษฐานบนซุ้มยอดศาล ฯลฯ จนนำไปสู่ความไม่พอใจของคนนครศรีธรรมราช
หลักเมืองนครศรีธรรมราชที่เพิ่งสร้างเสร็จ (ซ้าย) ขบวนแห่หลักเมืองนครศรีธรรมราช (ขวา)
ยิ่งเมื่อปรากฏชื่อ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” แห่งคิงเพาเวอร์ เป็นผู้ให้เงินในการบูรณะปฏิสังขรณ์ ด้วยแล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยิ่งดังหนักขึ้นกว่าเก่า เพราะเป็นที่รับรู้ว่า เจ้าสัวคนดังศรัทธาเรื่องในทำนองนี้อยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ หากย้อนหลังกลับไปตรวจสอบสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ก็จะพบร่องรอยของความศรัทธาที่มีต่อศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช จตุคามรามเทพ พังพระกาฬ อันเกี่ยวข้องกับตัวละครทางการเมืองและเหตุการณ์ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงก่อสร้างในราวปี 2530จนกระทั่งถึงในยุคปัจจุบันเมื่อปรากฏเป็นเข่าวใหญ่โตเรื่องการบูรณะศาลหลักเมือง
พระพุทธรูปที่นำไปประดิษฐานด้านบน ซึ่งมีผู้ร้องเรียนระบุว่า ไม่เหมาะสม
สภาพภายนอกของศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชขณะกำลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในปี 2560
ตัวอย่างชัดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็คือ เคยปรากฏเงาร่างของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี สามีของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ไปผูกผ้ารอบเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราชมาแล้วเมื่อปี 2551 เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งว่ากันว่า เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ จะเพื่อแก้กรรมหรือเสริมดวงต่อชะตาชีวิตก็ไม่ทราบได้

หลักเมืองนครศรีธรรมราชจึงไม่ใช่หลักเมืองธรรมดาๆ หากแต่เป็นหลักเมืองที่ใครๆ ต่างก็ปรารถนาไปทำพิธี

กำเนิดหลักเมืองนครฯ
ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรทะเลใต้
กล่าวโดยสรุปหลักเมืองนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นในช่วงราวปี 2530 ในยุคที่มี “นายเอนก สิทธิประศาสน์” เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของ “คนคอน” ขณะที่ในทางลึกก็เล่าขานกันว่า หลักเมืองหลักนี้สร้างขึ้นมาเพื่อถอนคำสาปดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชหรืออาณาจักรศรีวิชัย 12 นักษัตรที่ผูกดวงเมืองเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.1830 และวิธีการแก้คำสาปก็คือจะต้องสร้างหลักเมืองขึ้นมาใหม่ รวมทั้งนำดวงเมืองเก่าที่ถูกสาปไปทำลายตามกรรมวิธี

ทั้งนี้ โดยมีบุคคลสำคัญ 2 คนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคือ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชและพล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล อดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช สองนายตำรวจจอมขมังเวทย์

สิ่งที่ควรรู้ประการถัดมาคือ ไม้ที่ใช้ทำหลักเมืองคือ “ไม้ตะเคียนทอง” ที่ขึ้นอยู่บนยอดของเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราชส่วน “ลูกตาดำ” อันเป็นแก้วตาของพรหม 8 หน้ายอดศาลหลักเมือง ทำมาจาก “ไม้ค้ำฟ้า” เพื่อให้เกิดพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ โดยไม้ค้ำฟ้าที่ว่านี้เป็นต้นไม้ที่มีความพิเศษเหนือต้นไม้อื่นๆ เพราะไม่ว่าจะไปขึ้นอยู่ที่ใด ในป่าลึกสักเพียงไหนหรือมีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุมมากสักเพียงไหน แต่ไม้ค้ำฟ้าจะไม่ยอมอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดๆ หรือจะต้องขึ้นอยู่ “เหนือ” ต้นไม้อื่นๆ เสมอ
  เสาหินอ่อนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ถูกวิจารณ์ถึงความไม่ถูกต้อง

  ด้านในของศาลขณะกำลังบูรณะที่จะสังเกตเห็นว่า เพดานรูปแบบหมู่ดวงดาวตามหลักจักรวาลทัศน์ถูกรื้อถอนออกไป
“...หลักเมืองนครศรีธรรมราช เป็นหลักเมืองเพียงหลักเดียวในโลก ที่มีความแปลกประหลาดพิสดารยิ่งกว่าหลักเมืองใด เพราะว่าเป็นหลักเมืองที่เทวดากับมนุษย์ร่วมกันรังสรรค์ขึ้นตามอำนาจของฟ้าดินเมื่อถึงกำหนดเวลาแห่งยุค”พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล บันทึกเอาไว้บางช่วงบางตอนในหนังสือ “จตุคามรามเทพ ความจริงและความลับที่ไม่เคยมีใครรู้”

นอกจากนี้ในระหว่างการจัดสร้างเสาหลักเมืองก็ต้องมีพิธีกรรมสำคัญๆ มากมาย อาทิ พิธีกรรมเผาดวงชะตาเมือง พิธีลอยชะตาเมือง พิธีกรรมสะกดหินหลัก พิธีปลุกยักษ์วัดพระบรมธาตุ พิธีปลุกพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พิธีกรรมพลิกธรณี พิธีกรรมเทพชุมนุมตัดชัย พิธียกพลขึ้นบก พิธีตอกหัวใจสมุทร พิธีวางหัวใจเมือง พิธีกรรมแกะสลักประติมากรรมเสาหลักเมือง พิธีเบิกเนตรหลักเมือง พิธีการเจิมยอดชัยหลักเมือง เป็นต้น

แน่นอนว่า การกระทำแต่ละพิธีมีความสำคัญยิ่ง

ยกตัวอย่างเช่น พิธีกรรมเผาดวงชะตาเมือง พิธีนี้ทำที่ป่าช้าวัดชะเมา ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการล้างอาถรรพ์ดวงเมืองเดิมซึ่งเรียกว่า “ดวงราหูชิงจันทร์” หรือ “ดวงภินทุบาทว์” ที่ส่งผลทำให้เมืองเหมือนกับถูกสาป เจริญอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเสื่อมทรามและตกต่ำลง

หรือพิธีตอกหัวใจสมุทรที่กระทำขึ้นเพื่อให้ดวงชะตาเมืองถูกบรรจุด้วยธาตุทั้ง 4 ครบถ้วน โดยทำ ณ สี่แยกคูขวางเมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือนยี่ เวลาประมาณ 18.30 น. เหตุที่ต้องทำที่จุดดังกล่าวเพราะได้ศูนย์กับองค์พระบรมธาตุ ภูเขามหาชัยและได้ศูนย์กับทิศทั้ง 8 ตามตำราของชาวเมือง 12 นักษัตรในอดีต

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ ทรงเจิมหลักเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน หลักเมืองนครสร้างตามความเชื่อ และศิลปะแบบศรีวิชัยทั้ง องค์เสาหลักเมือง และอาคารศาลหลักเมือง แต่ละขั้นตอนในการสร้างล้วนมีพิธีกรรมแบบโบราณทั้งสิ้น อย่างอาคารศาลหลักเมืองเมื่อสร้างเสร็จ ในพิธีกรรมยังกล่าวไว้ว่า มันผู้ใดบังอาจดัดแปลงหรือตกแต่งให้ผิดแปลกออกไป จะต้องพบกับความหายนะ ภัยพิบัติ หากรีบแก้ไขทัน หรือยุติการซ่อมแซมได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างศาลและเสาหลักเมืองครั้งนั้นบอกเล่าเมื่อรับทราบถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น กระทั่งนายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องต่อการบูรณะศาลหลักเมืองทุกส่วน หลังจากที่เรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกต และเริ่มลุกลามกลายเป็นกระแส จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวนครศรีธรรมราช

ส่วนจะเกี่ยวข้องกับพิธีทางไสยศาสตร์หรือไม่นั้น ไม่อาจทราบได้


เข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ จน “ใครๆ” ก็ต้องไปทำพิธี
ทั้งนี้ เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหลักเมืองนครศรีธรรมราชอันเป็นที่เล่าขานกันนั้น ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เคยมีบุคคลสำคัญในบ้านเมืองหลายต่อหลายคนเดินทางไปกราบสักการะอยู่ไม่น้อย หนึ่งในบุคคลสำคัญที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่ง พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล บันทึกเอาไว้ในหนังสือ “ จตุคามรามเทพ ความจริงและความลับที่ไม่เคยมีใครรู้” และเรียกขานว่า “มหาบุรุษแห่งเมือง 12 นักษัตร”

แต่ที่เป็นกระแสข่าวโด่งดังไปทั้งบ้านทั้งเมืองก็เห็นจะหนีไม่พ้น “นายสมชายและนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยและน้องสาวของนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร
  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของนักโทษชายหนีคดีทักษิณขณะเดินทางไปผูกผ้ารอบเสาหลักเมือง
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2551 นายสมชาย ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย อ.เมือง นครศรีธรรมราช พร้อมกับประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่านายสมชายมาแทน “ทักษิณ ชินวัตร” ในการทำพิธีเสริมดวงบารมีโดยจะมีการทำพิธีไหว้พระธาตุ,ศาลหลักเมืองและการไหว้ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี โดยได้มีการเข้าทรงเพื่อที่จะขอฤกษ์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่นายสมชายได้ปฏิเสธและยืนยันว่า ไม่ได้มาประกอบพิธีกรรมอะไร ทว่า ได้ยอมรับว่าได้เดินทางไปไหว้พระที่วัดพระมหาธาตุจริง และไหว้ศาลหลักเมืองและไปไหว้อีกหลายแห่งจริง เพราะเป็นคนนครศรีธรรมราช

จากนั้น ข่าวของนายสมชายกับหลักเมืองนครศรีธรรมราชก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนคอนผู้นี้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีรายงานข่าวว่า มีกำหนดการเดินทางมายัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสักการะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช และโจษจันกันว่า เป็นการแก้บนบางอย่างที่นายสมชายได้บนไว้ ซึ่งทุกอย่างนั้นได้ถูกปิดไว้เป็นความลับ

มีการระดมตำรวจปราบจลาจลมาอารักขา ก่อนที่แผนจะแตกและเกรงว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านจน ในที่สุดนายสมชายก็ไม่ได้เดินทางมาสักการะหลักเมืองนครศรีธรรมราช แต่ก็ได้ส่งนายเฉลิม วงศ์สวัสดิ์ พี่ชายมาประกอบพิธีสักการะแทน

ส่วนการบูรณะครั้งนี้นั้น เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ “คนคอน” ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมีข้อสงสัยว่ามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ เนื่องจากผู้ให้การสนับสนุนเงินทุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ก็คือ “นายวิชัย รักศรีอักษร” แห่งคิงเพาเวอร์

ทั้งนี้เนื่องเพราะ หนึ่งในวัตถุมงคลที่เจ้าสัววิชัยให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากก็คือ “พังพระกาฬ” พระคู่บ้านคู่เมืองแห่งอาณาจักรศรีวิชัยที่มีความเกี่ยวพันกับจตุคามรามเทพ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจักรพรรดิของอาณาจักรโบราณแห่งนี้โดยเจ้าสัววิชัยได้นำเหรียญปิดตาพังพระกาฬไปฝังในสนามแข่งฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้แห่งประเทศอังกฤษทั้ง 4 มุม พร้อมๆ กับการชัก “ผ้ายันต์แพ้ไม่เป็น” ของพระพรหมมังคลาจารย์หรือเจ้าคุณธงชัย ในสนามเลสเตอร์ จนเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิ้งจอกสยามคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา

แต่จะเกี่ยวข้องและเป็นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์

สำหรับบุคคลสำคัญที่เปิดหน้าคัดค้านอย่างเป็นทางการนำโดย นายปวิช อินรินทร์ นักธุรกิจชาวนครศรีธรรมราช และคณะ ซึ่งได้เข้าร้องเรียนให้ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งระงับทันที และสั่งให้ทำการรื้อถอนสิ่งที่ต่อเติมเข้าไปใหม่ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะการต่อเติมเปลี่ยนรูปแบบว่า อาจเป็นการแอบแฝงพิธีกรรมอะไรบางประการพร้อมประกาศเสียงดังฟังชัดว่า หากไม่เร่งแก้ไขให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม คณะของตนเองพร้อมด้วยประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อการต่อเติมจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560 นายสายัณห์ ยุติธรรม อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กรณีการปล่อยปละละเลยให้มีการบูรณะต่อเติมอาคารศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช จนส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์แบบดั้งเดิมของอาคาร จนเกิดความเสียหายต่อสภาพทางศิลปกรรม

โดยได้ระบุถึงพฤติการณ์การเข้าบูรณะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช มีความผิดไปจากรูปแบบระเบียบปฏิบัติ กล่าวคือ ไม่มีการแจ้งรายละเอียดให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการ ไม่มีการแสดงงบประมาณ ไม่มีผู้ควบคุมงาน ไม่มีผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งมีเพียงป้ายปิดประกาศการปิดศาลหลักเมืองเพื่อบูรณะเท่านั้น

ทั้งนี้ ท้ายคำฟ้องได้ระบุคำขอต่อศาล ให้ศาลได้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอมาตรการคุ้มครอง โดยให้ระงับการบูรณะต่อเติมอาคารศาลหลักเมืองไว้ก่อน และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในฐานะผู้กำกับดูแล และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายในการแก้ไขปรับปรุงให้ศาลหลักเมืองกลับคืนสู่สภาพเดิม

ขณะที่ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อธิบายถึงการต่อเติมใหม่ว่าผิดหลักโบราณทั้งหมด โดยเฉพาะนาคที่อยู่รายรอบซึ่งถูกทำให้มีเกล็ดสยายขึ้น แต่เกล็ดเดิมนั้นเป็นนาคที่ไม่แสดงปาฏิหาริย์ มาเฝ้าพิทักษ์ศาลหลักเมือง เป็นนาคไม่ดุร้าย แต่การทำขึ้นใหม่นั้นตีความได้ว่า เป็นนาคที่แสดงอิทธิฤทธิ์ ไม่ทราบว่าทำเพื่ออะไร เช่นเดียวกับการเติมเสาหินเข้าไปใหม่ที่ไม่ถูกต้องเพราะพิธีกรรมตั้งแต่เดิมนั้น มีการทำพิธีถอดถอนเสาหินโบราณออกไป และเสาหินนั้นต้องทำพิธีทำลายอาคมที่ถูกผูกไว้เดิมด้วยการปัสสาวะรดเสาหินที่ถูกถอดถอน ดังนั้น การมีเสาหินใหม่เข้ามาอยู่ในศาลนั้นเป็นการทำลายนัยของการแก้เคล็ดในศาสตร์โบราณ

ส่วนการนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานบนซุ้มยอดศาล ก็ไม่เหมาะสมเพราะพิธีหลักเมืองตั้งแต่ต้นนั้นหลักเมืองเป็นของทุกศาสนาที่อยู่ในบ้านเมือง การนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานจึงเสมือนเป็นการจำเพาะว่าเป็นศาสนาพุทธ

ด้าน รศ.วิเชษฐ์ สุวิสิทฐ์ สถาปนิกผู้ออกแบบการบูรณะปรับปรุงศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยคณะทำงาน อธิบายยืนยันว่า การปรับปรุงแก้ไขระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการต่อเติมลวดลายต่างๆ นั้น เป็นไปตามแบบแผนเดิม ส่วนเสาหินอ่อนที่ถูกระบุว่าเป็นเสาโรมันนั้น ข้อเท็จจริงคือ การนำเสามาติดตั้งเพื่อทำการ “ทอนสเกล” หรือการลดมาตราส่วนให้มีความกลมกลืนภายในศาลมากยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นการเสริมดวงชะตาใดๆ

และทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวของ “เสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช” ที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์จนใครๆ ก็ต้องไปทำพิธี


กำลังโหลดความคิดเห็น