xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปฏิลูบ..ตำรวจ? งานหิน “บิ๊กสร้าง” เพื่อนซี้ “ป๋าป้อม” ระวังเจอ “เข้ขวางคลอง” เจ้าเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “วาระปฏิรูปตำรวจ” ก็ได้ถูกบรรจุเป็น “ไฟต์บังคับ” ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560 มาตรา 258 ในการกำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ ภารกิจและการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ “ขีดเส้นตาย” ให้ดำเนินการปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ วันที่ 6 เม.ย.61

และในมาตรา 260 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการดังกล่าว จำนวน 36 คน

ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ก็มีการติดตามความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ว่านี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร จน วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ถึงกลับต้องออกมาระบุว่า ที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเนื่องจากอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคล โดยรัฐธรรมนูญได้ล็อกสเปกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการปฏิรูปตำรวจเอาไว้ว่า ประธานจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่เคยเป็นตำรวจ กรรมการที่ไม่เคยเป็นตำรวจ รวมกับกรรมการที่เคยเป็นตำรวจหรือเป็นตำรวจอยู่ในจำนวนเท่าๆ กัน และกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน จึงไม่ได้หาง่ายๆ ต้องมีคุณสมบัติครบ เต็มใจ สังคมยอมรับ และมีประสบการณ์

พร้อมทั้งยอมรับด้วยว่า ยิ่งสรรหาช้า เวลาจะยิ่งเหลือน้อย

ก่อนจะมามีมติ ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)” จำนวน 36 คน เมื่อการประชุม ครม. วันที่ 4 ก.ค.60 ที่ผ่านมา หรือหลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ร่วม 3 เดือน

โดยรายชื่อ “36 อรหันต์” ประกอบด้วย 1.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด

คณะกรรมการฝ่ายรัฐบาล 15 คน ได้แก่ 1.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2.พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ อดีตรอง ผบ.ตร. 3.พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. 4.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 5.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม 6.พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 7.พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ 8.พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 9.พล.ต.อ.บุญชัย ชื่นสุชน อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. 10.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตรอง ผบ.ตร. ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 11.พล.ต.อ.สุพร พันธุ์เสือ อดีตรอง ผบ.ตร. 12.พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 13.พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผบ.ตร. 14.พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ 15.พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.

กรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ 15 คน ประกอบด้วย 1.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 2.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 5.นางเบญจพรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 6.นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7.นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 8.นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 9.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา 10.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด 11.นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 12.พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ 13.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14.พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ15.นายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับรายชื่อที่ออกมานั้น ภาพรวมยังคงจำกัดวงอยู่แค่กลุ่มบุคลากรที่ คสช.ใช้งาน ทั้งข้าราชการปัจจุบัน ข้าราชบำนาญ หรือกระทั่งนักวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่มีตำแหน่งในองคาพยพของ คสช.มาแล้วเกือบทั้งหมด ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่สังคมแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ติดใจว่าใช้ “สีเขียว” มาดูแล “สีกากี” เพราะรู้อยู่ว่ายุคนี้ใครคุม

แล้วก็คงมีธงอยู่แล้วว่า จะไม่เปิดโอกาสให้ “คนนอก” เข้ามามีส่วนร่วม เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเรียกร้องให้หยิบชื่อ “บิ๊กเนม” ผู้ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับปฏิรูปตำรวจเข้าไปอยู่ในโควตาของผู้ทรงคุณวุฒิ อย่าง พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร กระทั่ง “ภาคประชาชน” ไล่ตั้งแต่ สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต “จเรโป๊งเหน่ง” เกรียงไกร ไทยอ่อน “มาร์ค พิทบลู” ณัชพล สุพัฒนะ หรือ เกิดผล แก้วเกิด ทนายมหาชน ก็ไม่มีใครได้ย่างกรายเข้าไปมีส่วนให้ฟูมฟักสำนักงานตำรวจยุคใหม่ ทั้งที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีไอเดียแหลมคมเกี่ยวกับการสังคายนา “กรมปทุมวัน”
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ (ภาพซ้าย) | พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ภาพกลาง) | พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ภาพขวา)

แน่นอนว่า นาทีนี้สปอตไลท์ย่อมสาดส่องไปที่ “หัวโต๊ะ” อย่าง “บิ๊กสร้าง” พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดนี้ มีการพลิกปูมประวัติกันยกใหญ่ว่าเป็น อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 6 (ตท.6) มีโปรไฟล์สวยหรู ผลการเรียนได้ที่หนึ่งของรุ่นมาโดยตลอด จนได้โอกาสไปศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อย เวสต์ปอยต์ สหรัฐอเมริกา รับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์ พร้อมๆกับปริญญาตรีอีกใบด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ Norwich University สหรัฐอเมริกา ก่อนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ที่สถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา และมาได้ปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

ถือเป็น “นายร้อยเวสปอยท์” ที่ได้รับการยอมรับมาตลอดสมัยรับราชการ และได้ขึ้นมาอยู่ระดับนำของกองทัพไทย

แต่โปรไฟล์ที่สวยหรู ความรู้ความสามารถที่มีนั้น ที่ขนาด “บิ๊กตู่” ก็ยังการันตีว่า “ไว้ใจได้ ท่านเป็นอาจารย์ผม ผม เชื่อมั่นท่าน” ก็ต้องมาสะดุดกับร่องรอยจุดเริ่มต้นชีวิตทหาร ที่ “บิ๊กสร้าง” เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 (ตท.6) รุ่นเดียวกับ “ทีมงาน คมช.” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ที่เคยร่วมกันรัฐประหารเมื่อปี 2549

และเป็นทราบโดยทั่วกันว่า ตท.6 มีสมาชิกคนสำคัญอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อยู่ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น “บิ๊กสร้าง” ยังถูกนับอยู่ในระดับ “ซี้ย้ำปึ้ก” กับ “ป๋าป้อม” เสียด้วย จนก่อให้เกิดคำถามในตัว พล.อ.บุญสร้าง กับงานปฏิรูปตำรวจ ที่เหลือเวลาอีกราว 9 เดือนเท่านั้นว่าจะเดินไปในทิศทางใด

เพราะตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น มีการประกาศ “วาระแห่งชาติ” เป็นกองพะเนิน ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่ยังไม่มีผลสัมฤทธิ์หยิบจับได้เป็นรูปธรรม เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะเป็น “วาระปฏิรูปตำรวจ” ที่ถูกเรียกร้องอย่างหนักมาตั้งแต่สมัยม็อบ กปปส.ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ปูทางให้รัฐบาล คสช. ที่วางจุดยืนอยู่ตรงข้าม “กองทัพสีกากี” ที่มองกันว่าเป็นแนวร่วมของกลุ่มอำนาจเก่า หรือที่ถูกขนานนามว่า “ตำรวจมะเขือเทศ”

แต่เมื่ออำนาจมาอยู่ในมือ คสช.แล้ว “วาระปฏิรูปตำรวจ” ที่แรกเริ่มเดิมทีดูจะขึงขังจริงจัง ประกาศเสียงดังฟังชัดต้องเปลี่ยนแปลง “ตำรวจ” ในฐานะต้นธารกระบวนการยุติธรรม ให้ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์-ที่พึงของประชาชนอย่างแท้จริง

ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ก็คือการที่ สตช.อยู่ภายใต้อาณัติการกำกับของ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” จนทำให้จากที่เคยถูกจัดอันดับไว้ต้นในการรื้อนั่งร้านใหม่ กลายเป็นองค์กรที่เสมือนหนึ่งแตะต้องไม่ได้

ทั้งที่มีเสียงเชียร์กระหึ่มให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์” ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร ต่อเนื่องมาถึงอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่นำมาใช้ต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560 ถือเป็น “โอกาสทอง” ที่สังคมคาดหวังว่าน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในการสังคายนา “กรมปทุมวัน” จนแล้วจนรอด การปฏิรูปเรื่องสำคัญๆก็นิ่งสนิท จนถูกค่อนแคะล่วงหน้าไว้ว่ารัฐประหารคราวนี้ “เสียของ” อีกแหง๋

ดูได้จากการประกาศคำสั่ง คสช.โดยมาตรา 44 หลายฉบับที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการภายใน สตช. ซึ่งล้วนแล้วแต่หยิบยกข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปไว้ในวรรคต้นทุกครั้ง แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปี หลายฤดูกาลโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจ ก็มี “ตัวเร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนภายในองค์กรสีกากี กับกระแสข่าวการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ หรือ “ขบวนการเซ็งลี้ตำรวจ” ให้ได้ยินเป็นระยะ อย่างล่าสุดก็มาจากการเปิดโปงของ วิทยา แก้วภราดัย แกนนำ กปปส. ที่ตกเป็นข่าวโด่งดังอยู่หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำทับกับคำประกาศของ “นายกฯตู่” กลางที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.59 ว่า “..วันนี้ผมปฏิรูปไปได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลหน้า โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจจะรื้อจะปรับอย่างไรบอกรัฐบาลหน้า..”

ตอนนั้นทำให้เอากองเชียร์ คสช.งงกันเป็นแถบ เมื่อท่านผู้นำประกาศผลักภาระไปให้รัฐบาลหน้า ยังดีที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560 ได้บรรจุเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ชัดเจน ทำให้รัฐบาล คสช.ดิ้นไม่ออก และต้องมาแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุด พล.อ.บุญสร้างนี่แหละ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ไม่มีใครติดใจสงสัยในความรู้ความสามารถของ พล.อ.บุญสร้าง แต่ที่กังวลกลับเป็น “เงาทะมึน” ที่อยู่หลัง พล.อ.บุญสร้าง มากกว่า ซึ่งไม่ใช่เงาของนายทหารรุ่นน้องหรือลูกศิษย์อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกตัวแล้วว่า จะไม่ไปก้าวก่าย หรือไปสั่งอาจารย์ที่สอนตัวเองมาไม่ได้ หากแต่เป็นเงาทะมึนของเพื่อนมากกว่า

ไม่เท่านั้นก็ยังร่างเงา "น้องป." ที่ว่ากันว่าเป็น ผบ.ตร.ตัวจริงยุคนี้ทาบทับอยู่ด้วย

ตามคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในฐานะกรรมการปฏิรูปตำรวจกล่าวถึง พล.อ.บุญสร้าง ซึ่งเป็นทหารได้รับมอบหมายมาเป็นผู้นำในการปฏิรูปวงการตำรวจในทำนองว่า ข้าราชการตำรวจให้การยอมรับ พล.อ.บุญสร้าง ที่มีประสบการณ์และมีมุมมองอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่า กำลังใจของตำรวจทุกคนยังดี ไม่มีท้อแท้ อีกด้วย

ไม่เท่านั้น ผบ.ตร.จะพูดทิ้งท้ายด้วยว่า “เชื่อว่าตำรวจไม่เป็นไอ้เข้ขวางคลอง”

ทำให้มีคำถามว่าแล้ว 3 ปีที่ผ่านมาใครกันที่เป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” จนการปฏิรูปวงการตำรวจไม่ไปไหน ทั้งที่มีข้อเสนอ-ไอเดียมากมาย ทั้งจากคนใน-คนนอก แต่กลับไร้การขับเคลื่อนที่มาจากฝ่ายนโยบาย-ฝ่ายบริหาร ที่กำกับดูแลตำรวจอยู่

ในความเป็นจริง หากพิจารณาตามตรรกะว่าหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 อย่างครอบจักรวาลมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยๆ เรื่อง เหตุใดจึงต้องเงื้อง่าราคาแพงรอมาถึง 3 ปี จึงมาขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ เรื่องแบบนี้แค่ใช้มาตรา 44 ทุบเปรี้ยงเดียวก็ทำได้แล้ว ที่สำคัญข้อเสนอ-ไอเดีย-แนวทางการปฏิรูปตำรวจ ก็มี แบบ “สำเร็จรูป” เพราะเรื่องนี้ทำกันมานมนานกาเล ย้อนไปสั้นๆ ก็ สมัย รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบงานตำรวจ มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน เสนอแนวทางการพัฒนาระบบงานตำรวจ โดยใช้การกระจายอำนาจองค์กรตำรวจ แต่ในที่สุดก็ถูกต่อต้านจากนายตำรวจทั่วประเทศ จนถูกพับไป

ของ “อาจารย์สังศิต” ก็มีหลายแบบ ทั้งรูปเล่มผลวิจัย หรือการให้ความเห็นตามเวทีเสวนา ที่ทำไปทำมาก็กลายเป็นเรื่องถูกแจ้งความดำเนินคดีไปอีก หรือของ คณิต ณ นคร ที่มีกล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจ ไว้ในรายงานการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กระทั่ง ในสมัยรัฐบาลชุดนี้ก็มีตั้งแต่ชุดสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ อยู่แล้ว ภาพรวมก็กล่าวถึงคล้ายๆกัน อาทิ การกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น การปรับปรุงระบบแต่งตั้งโยกย้าย การปรับปรุงระบบงานสอบสวน ความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง มาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น

ซึ่งรายงานที่ว่าไปนั้น ก็น่าจะตอบโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งไว้ 3 ด้าน คือ 1.โครงสร้าง สังกัด อำนาจหน้าที่ 2.อำนาจการสอบสวนจะแยกหรือไม่ และ 3.การบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่ง อย่างไม่มีปัญหา

จึงพอสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาข้อเสนอมีอย่างรอบด้าน แต่ติดขัดอยู่ที่ “ผู้มีอำนาจ” ไม่นำพาให้เกิดเป็นรูปธรรมมากกว่า จนทำให้ภารกิจด้านการปฏิรูปตำรวจล้มเหลวไปโดยปริยาย

แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดพันธกิจไว้อย่างชัดเจน ว่าให้ดำเนินการแบบทำทันที ไม่ใช่เพียงข้อเสนอเป็น “เสือกระดาษ” เหมือนในอดีต แต่ก็ไม่มีเครื่องรับประกันใดที่จะยืนยันว่า คณะกรรมการฯที่นำโดย พล.อ.บุญสร้าง จะทำงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการที่ยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึง “ฟาร์มโชคชัย - พี่น้อง 2 ป.” ที่เป็นอุปสรรคในลักษณะ “เข้ขวางคลอง” ขวางทางปรับเปลี่ยน สตช.ไปในทางที่ดีขึ้นมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา...ใช่หรือไม่

9 เดือนข้างหน้านี้ จะพิสูจนว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ชุดนี้ ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาด้วยความจริงใจของรัฐบาล คสช. หรือแค่ตั้งขึ้นแบบเสียไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

จากปฏิรูป จะกลายเป็น ปฏิลูบๆ คลำๆ อย่างเคยหรือเปล่า...ต้องติดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น