หลายคนคงงงๆ นะว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สวมบทวิญญาณ “สุนทรตู่” แล้วมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นจนเจ้าตัวต้องออกมารำพึงว่า “ผมแต่งกลอนไปหน่อยเดียว ทะเลาะกันอีกในวงการกลอน กวีแห่งชาติทะเลาะกันสองฝ่าย ผมก็ไม่เข้าใจว่าเป็นตัวเปิดศึก เพราะคิดอะไรได้เร็วๆ ก็เขียนไป พอได้กลายเป็นทำให้มาทะเลาะกัน ซึ่งรู้สึกกลุ้มใจจนอยากจะหยุดพูดสักหนึ่งเดือน”
เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ได้เขียนบทกวีเผยแพร่ออกมา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ ได้เขียนบทกวีตอบว่า
1. จะต้องพัฒนาศึกษาชาติ
2. โครงสร้างอำนาจไม่บาทใหญ่
3. ศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย
4. ธรรมาธิปไตยให้เป็นจริง....
แล้วพล.อ.ประยุทธ์นำมาพูดถึงในรายการศาสตร์พระราชา การพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันรุ่งขึ้นสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรมอีกคนได้โพสต์เฟซบุ๊กใจความว่า
“ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น ไม่เคยรู้ก็จะได้รู้
ลูกชายขอไว้ตั้งแต่เมื่อคืนบอกว่า “ปล่อยเขาไปเถอะพ่อ” ปล่อยแล้วครับ ทางใครทางมัน โลกใครโลกมัน อย่าพบกันเป็นดีที่สุดแต่จำพวก “เงาของเขา” ที่วางตัวเหยียบเรือสองแคมนี่สิ ทำใจลำบาก
นี่กระมังครับ 1 ใน 250 ของ “ส.ว.ลากตั้ง” ทางวัฒนธรรมจำพวก “เงาของเขา” ในกระทรวงวัฒนธรรม และพวกพ้องที่เลือกแล้วเตรียมตัว “เลีย” ล่วงหน้าได้ ขณะนี้ก็เป็น 1 ใน 15 ของคณะกรรมการกลาง “วัฒนธรรมแห่งชาติ” อยู่แล้ว ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ เอาตามที่เลือก ที่สบายใจกันต่อไปตามที่นิยมยินดี
เขาคือใคร ไม่ “สำนึกพลาด” อย่างไร เขา “เลือก” ของเขา “เรา” ก็เลือกของเราและอย่าพบกันได้เป็นดี – บางทีจำพวก “คณะเงา” ของเขา อาจจะรู้สึกสมเพชผมก็เป็นได้
ลาก่อน - บทกวีที่แสนไพเราะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมานี้ ผมโง่ไปเองที่ไม่เชื่อฟังลูกชาย”
ใครต่อใครในแวดวงวรรณกรรมก็รู้ทันทีว่า สุชาติหมายถึงเนาวรัตน์ เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่สุชาติมีท่าทีอย่างนี้กับเนาวรัตน์และกับคนอื่นในแวดวงวรรณกรรมที่มีจุดยืนทางการเมืองไม่เหมือนกับตัวเอง ก็จะถูกสุชาติแสดงทัศนะทำนองว่า คนเหล่านั้นเป็นคนใช้ไม่ได้และประกาศจะไม่คบหากับคนโน้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา
ทั้งที่สุชาติประกาศตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่บูชาสิทธิเสรีภาพ แต่ดูเหมือนสุชาติจะบูชาสิทธิเสรีภาพของตัวเอง แต่ไม่บูชาสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ซึ่งน่าจะเป็นนิยามของพวกที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อนในโลกนี้
ช่วงเดียวกันนั้นเนาวรัตน์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำบทกวีชื่อ “ครูด้านกลับ” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2548 มาโพสต์ โดยขึ้นข้อความว่า “ใครพาล? ใครพระ?”
“อยู่เป็นต้องดูเป็นเห็น ด้านร้ายให้เป็นครู
ด้านดีมีให้ดูเป็น ไม้วัดบรรทัดฐาน
หมาเห่าอย่าเห่าตอบ มันทดสอบสัญชาตญาณ
รู้ได้ในสันดาน ว่าใครพาลและใครพระ”
เนาวรัตน์ลงบทกวียาวหลายบทแต่ผมคัดมาเพียง 2 บท ใครอยากอ่านฉบับเต็มก็ลองไปหาอ่านกันดู บทกวีของเนาวรัตน์ที่เอาบทเก่ามาโพสต์ถูกสื่อไปตีความว่าออกมาตอบโต้สุชาติเกิดข่าวคราวขึ้นมา จนกวีนาม “สุนทรตู่” ต้องออกอาการหงุดหงิดว่าทำให้ศิลปินแห่งชาติทะเลาะกัน พาลจะหยุดพูดไปอีก 1 เดือน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักมักคุ้นกับศิลปินแห่งชาติทั้งสองท่าน เคยพบปะสังสรรค์ทำกิจกรรมดื่มกินกัน พูดตรงๆ ว่าผมให้ความเคารพนับถือกันมา แต่หลังจากเกิดกีฬาสีทางการเมืองในสังคมไทย เกิดฝ่ายเอาทักษิณไม่เอาทักษิณ เกิดฝ่ายประชาธิปไตยฝ่ายไม่เอาประชาธิปไตย วงการนักเขียนก็เช่นเดียวกับสังคมไทยที่แตกออกเป็น 2 ขั้ว ผมก็เหินห่างจากสุชาติไปบ้างเพราะไม่มีกิจกรรมอะไรให้พบปะวิสาสะกัน ส่วนตัวแกอาจไม่อยากคบหากับผม แต่ถ้าเจอกันผมก็คงยกมือไหว้แกเหมือนเดิม
แต่ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมสุชาติต้องคอยกระแหนะกระแหนฝ่ายที่มีความเห็นต่างกับตัวเอง ผมไม่ได้หมายความว่า ถ้าสุชาติไม่เห็นด้วยก็ควรจะเฉยๆ นะครับ แต่ผมอยากเห็นสุชาติโต้ในประเด็นมากกว่าการเหน็บแหนมเสียดสีที่ตัวบุคคล เพราะการเคารพความเห็นต่างเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ ที่สำคัญจุดยืน ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องถูกผิด อยู่ที่ว่าใครจะมีมุมมองอย่างไร มีข้อมูลแค่ไหนแล้วโต้แย้งกันด้วยเหตุผล
ทำไมสุชาติไม่พูดว่า บทกวี 4 ข้อที่เนาวรัตน์ตอบ “สุนทรตู่” มานั้นมันไม่ถูกต้องอย่างไร แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าบทกวีที่เนาวรัตน์เขียนตอบ “สุนทรตู่” นั้นเป็นเรื่องดีที่ตักเตือนรัฐบาลและผู้มีอำนาจให้ยึดถือเป็นแนวทาง
เรื่องประกาศกันว่าจะไม่คบหาเป็นเพื่อนก็เป็นเรื่องส่วนตัว ในทัศนะของผมมันเป็นสิทธิส่วนตัวของสุชาติอยู่แล้วที่จะคบหากับใครหรือไม่ แต่สำหรับผม ผมไม่ละทิ้งความเป็นเพื่อนกับใครเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนกับผม ผมเจอเพื่อนเสื้อแดงก็ยังทักทายพูดคุยยกมือไหว้ ในฐานะคนที่รู้จักและเคยให้ความเคารพ
พูดถึงการเป็นศิลปินแห่งชาติ สำหรับเนาวรัตน์นั้น คงไม่มีใครสงสัยเลยจนได้รับฉายาว่า กวีรัตนโกสินทร์ ซึ่งน่าจะเป็นฉายานามที่ใหญ่กว่ากวีซีไรต์ เพราะกวีซีไรต์นั้นได้กันหลายคน แต่มีไม่กี่คนที่ยืนระยะได้และหลายคนได้แล้วก็ได้เลยไม่เป็นที่รู้จักหรือมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง แบบที่คนในสังคมได้ยินชื่อแล้วร้องอ๋อว่า คนนี้เป็นนักเขียนเป็นกวี ไม่เชื่อลองเอ่ยชื่อกวีซีไรต์ถามชาวบ้านสัก 10 ท่านก็ได้ ผมว่าน่าจะจำได้ไม่ถึงครึ่ง
สำหรับสุชาติ ในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรมนั้น พูดกันตามตรงผมยังกังขานะครับ สุชาติได้เป็นศิลปินแห่งชาติวรรณกรรมมีวงเล็บว่า “เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์” เท่าที่ผมจำได้เรื่องสั้นของสุชาติคือ เรื่องสั้นชุดความเงียบ และบทกวีคือ บทกวีชุดจินตนาการสามบรรทัดเท่านั้นเอง นอกนั้นงานที่ปรากฏจนสร้างตัวตนของสุชาติก็คือ การตอบจดหมายวรรณกรรมในนามสิงห์ สนามหลวง และเป็นบรรณาธิการช่อการะเกดซึ่งไม่ใช่ฐานะนักเขียนเรื่องสั้นและบทกวีเลย
เปรียบเหมือนกับสุชาติเคยเป็นนักมวยขึ้นเวทีมาสองสามครั้ง แล้วหันเหไปเป็นเทรนเนอร์กับโปรโมเตอร์จนมีชื่อในทางนั้น แล้วต่อมาได้รับการประกาศว่าเป็น “ยอดมวยไทย” ซึ่งผมว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในวงการมวยก็จะมีคำถามมากนะครับ
นี่เป็นคำถามนอกเหนือเรื่องสุชาติชวนทะเลาะกับเนาวรัตน์นะ แต่ไม่เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองของสุชาติที่ตรงข้ามกับผม เพราะผมเคารพในจุดยืนและการเลือกข้างทางการเมืองของสุชาตินั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan