xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มหากาพย์เงินทอนวัด ภาค 1จับตา “วัดพนัญเชิง” ภาคต่อ พุ่งเป้า 5 วัดใต้ 2 วัดดังเมืองกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สองตัวละครสำคัญของคดีเงินทอนวัด
ผู้จัดการสุปสัปดาห์ - เป็น “มหากาพย์” ที่ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีข้อมูลสำแดงให้เห็นเส้นทางการคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกใน “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)” และ “วัดวาอาราม” ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องร้องออกมาดังๆ ว่า “เฮ้ย นี่มันใช่หน่วยงานที่มีหน้าที่ทำนุบำรุงพุทธศาสนาหรือ ทำไมมันถึงโกงกันได้ถึงขนาดนี้?” เฉกเช่นเดียวกับ “วัด” ที่แม้จะเชื่อได้ว่าบางวัดไม่รู้เรื่องจริงๆ แต่ก็มั่นใจอีกเช่นกันว่า หลายต่อหลายวัดรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการงาบเงินทอนวัดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐสูงถึง 60.5 ล้านบาท

ภาคแรกมีวัด 12 แห่งที่เข้าข่ายทุจริตประกอบด้วย 1.วัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา 2.วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน 3.วัดห้วยตาแกละ จ.เพชรบุรี 4.วัดราชบุรณะ (วัดนอก) จ.ชุมพร 5.วัดโพธิ์ศรี 6.วัดโคกเลาะ 7.วัดพระศรีเจริญ จ.อำนาจเจริญ ส่วนอีก 5 วัดอยู่จังหวัดลำปางประกอบด้วย วัดวัฒนาราม วัดหาดปู่ด้าย วัดทุ่งต๋ำ วัดบ้านอ้อ และวัดอุมลอง

ขณะที่ผู้ต้องหาที่อยู่ในสำนวนสอบสวนของกองบังคับการตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ที่ส่งไปให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดและดำเนินคดีมีทั้งหมด 10 คน โดย 5 คน ปปป.พบตัวและแจ้งข้อหาแล้วประกอบด้วย 1.นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) 2.นางณัฐฐาวดี ตันตยาวิสารสุทธิ์ นักวิชาการ พศ. 3.นายฐานพัฒน์ ม่วงทอง ไม่ใช่ข้าราชการแต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน 4.นายศิวโรจน์ ปิยะรัตน์เสรี ไม่ใช่ข้าราชการแต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน 5.พระสุทธิพงษ์ สุทธิวังโส พระวัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน

ส่วนคนที่ร่วมกระบวนการแต่อยู่ระหว่างการติดตามตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา ได้แก่ 1.นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. ซึ่งขณะนี้หลบหนีไปประเทศสหรัฐอเมริกา 2.นางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.พศ. 3.น.ส.อุบล ดิษฐ์ด้วง ไม่ใช่ข้าราชการแต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน 4.นางชมพูนุท จันฤาไชย ไม่ใช่ข้าราชการแต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน และ 5.นางรัสริน รวมสิน ไม่ใช่ข้าราชการแต่มีส่วนรู้เห็นและสนับสนุน

กล่าวสำหรับภาคแรกนั้น วัดที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษก็คือวัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นวัดใหญ่ที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะ “หลวงพ่อโต” ที่มีคนศรัทธาจำนวนมาก ที่สำคัญคือเป็นวัดที่มี พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาส

เหตุที่ถูกจับตาก็เพราะสังคมสงสัยว่า ทำไมวัดพนัญเชิงที่มีรายได้จากการทำบุญจำนวนมหาศาลถึงต้องขอรับเงินอุดหนุนจาก พศ.และที่สำคัญคือ ไม่น่าจะถูกหลอกง่ายๆ เหมือนกับวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ หลังตกเป็นข่าว วัดพนัญเชิงฯ เงียบมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของทางวัดและคณะสงฆ์ เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องอาจลุกลามบานปลายจนยากแก่การแก้ไขจัดการได้

แต่ในการแถลงข่าวชี้แจงก็เป็นที่จับตาของสังคมเช่นกัน เนื่องเพราะทนายความผู้รับมอบอำนาจมิใช่ใครอื่น หากแต่เป็น “นายสมศักดิ์ โตรักษา” ทนายที่รับว่าความให้กับนักการเมืองและพระ รวมถึงคดีดังๆ เป็นจำนวนมาก เช่น คดีรถเบนซ์โบราณของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นต้น

แน่นอนการปรากฏตัวของทนายสมศักดิ์ ย่อมหนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเกี่ยวโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทนายสมศักดิ์อธิบาย เมื่อปี 2555 วัดได้ก่อสร้างกุฏิทรงไทยจำนวน 9 หลังและในปี 2556 ได้ก่อสร้างทางเดินรอบวิหารหลวงพ่อโต โดยนำรายได้จากการทำบุญและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธามาดำเนินการ ต่อมา นางประนอม คงพิกุล รอง ผอ.พศ.ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.กองพุทธศาสนสถาน พศ.ได้โทรศัพท์มาหาพระธรรมรัตนมงคล แจ้งว่า พศ.จะให้เงินอุดหนุนทางวัด 10 ล้านบาทเพื่อใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยโอนเงินเข้าบัญชีวัดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2557 โดยนางประนอมแจ้งว่า ให้ทางวัดนำไปใช้ 2 ล้านบาท ส่วนอีก 8 ล้านบาทจะนำไปให้วัดอื่นๆ ที่ยากจน โดยทางวัดได้โอนกลับไปให้ในบัญชีของนางชมพูนุท จันฤาไชยจำนวน 8 ล้านบาท

ต่อมาในช่วงปลายปี 2557 นางประนอมได้บอกกับพระธรรมรัตนมงคลอีกว่า จะให้เงินสนับสนุนวัดอีก 10 ล้านบาท แต่ขอให้ทางวัดมอบเงิน 5 ล้านบาทคืนเพื่อนำไปช่วยวัดอื่นๆ ซึ่งทางวัดก็ได้ให้ลูกศิษย์นำเงินสดไปมอบให้นางประนอมที่ย่านพุทธมณฑล จ.นครปฐม

นายสมศักดิ์บอกว่า ทางพระธรรมรัตนมงคลได้สอบถามนางประนอมว่าถูกกฎหมายหรือไม่ เมื่อนางประนอมยืนยันว่าถูกกฎหมาย จึงเชื่อและดำเนินการตามที่นางประนอมแนะนำ

“ขอยืนยันว่า เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด และได้มอบอำนาจให้ผมแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับนางประนอมในข้อหาฉ้อโฉงแล้ว”ทนายสมศักดิ์แจกแจง

ขีดเส้นใต้ในชั้นนี้เอาไว้ที่ชื่อของนางประนอมเป็นพิเศษ เพราะถ้าย้อนหลังกลับไปในการบุกจับเงินทอนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ปรากฏชื่อนางประนอมไปเป็นพยานให้กับ ผอ.พศ.ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จนอัยการสั่งไม่ฟ้องมาแล้ว และเที่ยวนี้ ชื่อของนางประนอมก็โผล่ขึ้นมาเกี่ยวข้องกับวัดพนัญเชิงอีกคำรบ และวันนี้นางประนอมก็ยังนั่งเก้าอี้ รอง ผอ.พศ.เหมือนเดิมโดยที่ยังไม่ถูกโยกย้ายแต่ประการใด

คำถามก็คือ ในเมื่อพระธรรมรัตนมงคลยืนยันว่า ตกเป็นเหยื่อของนางประนอมแล้ว ใครในวัดพนัญเชิงฯ ที่จะต้องถูกลากโยงเข้าไปในคดีเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ 12 สำนวนก่อนหน้านี้ หรือไม่

....นี่เป็นคำถามชวนให้สงสัยอย่างยิ่งและยังไม่มีคำตอบแน่ชัด มีเพียงคำอธิบายจาก “พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” ผอ.พศ.คนปัจจุบันที่บอกว่า “ มีคำถามคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องเงินบูรณปฏิสังขรณ์วัดประกอบด้วยใครบ้าง คำตอบคือ ผู้บริหาร พศ.และวัด ผู้ที่มีอำนาจของวัดในการถอนเงินในที่นี้ย่อมหมายถึงเจ้าอาวาสที่ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่ทางวัดแถลงว่า ไม่มีเจตนาและไม่ทราบนั้น เป็นสิ่งที่ทางวัดสามารถทำได้”
สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดพนัญเชิง แถลงข่าวยืนยันว่าเจ้าอาวาสและวัดตกเป็นเหยื่อของขบวนการเงินทอน
ขณะที่การสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมของ ปปป.ใน “ภาค 2” หรือภาคต่อเนื่องนั้น พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.เปิดเผยว่า ทาง ปปป.ได้ขยายผลสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมในช่วงระหว่างปี 2554-59 และพบว่า มีวัดที่เข้าข่ายกระทำความผิดทั่วประเทศไทยอีก 476 วัด โดยมีการทุจริตในลักษณะเดิมคือการเบิกงบประมาณเพื่อไปปฏิสังขรณ์รวมถึงงบประมาณอื่นๆ จาก พศ.สอดแทรกเพิ่มเติม

ทั้งนี้ มีการกระทำการทุจริตกับวัดในกรุงเทพฯ และทั่วทุกภาค โดยเป็นบุคคลกลุ่มใหม่ที่ทั้งข้าราชการใน พศ.และฆราวาสเข้าร่วม

นอกจากนั้น ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า ทางทหารได้ชุดปฏิบัติการณ์ 5 ชุดเข้าตรวจสอบวัดที่อยู่ในข่ายเป้าหมายเป็นวัดที่มีผลประโยชน์สูงและไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องระบบบัญชีของวัด กรรมการของวัด รวมทั้งปัญหาด้านอื่นๆ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีเป้าหมาย 5 วัดคือ วัดสระโพธิ์ อ.เชียรใหญ่, วัดเสาธงทอง อ.เมือง, วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง, วัดอัมพวัน อ.นาบอน และวัดกัลยานิมิต อ.ถ้ำพรรณรา

“สำหรับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งมีรายได้เข้าวัดจำนวนมหาศาลจากเงินทำบุญ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการเสื่อมโทรมของปูชนียสถานภายในวัดกลับต้องใช้งบจากกรมศิลปากรทุกครั้ง ขณะที่วัดเสาธงทอง ซึ่งอยู่ติดกับวัดวังตะวันตก มีผลประโยชน์จากการเช่าที่ดินของวัดจำนวนมาก แต่สภาพวัดกลับเหลือเพียงอาคารที่พักสงฆ์เพียงหลังเดียว ส่วนพื้นที่อื่นๆ หมดสภาพการเป็นวัดแล้ว”

ขณะเดียวกันยังมีอีก 2 วัดเมืองกรุงที่ตกเป็นเป้าหมายของการตรวจสอบ คือ วัดราชสิทธารามวรวิหาร และวัดบำเพ็ญเหนือ ซึ่งดูจากข้อมูลแล้ว งานนี้ บอกได้เลยว่า ยาวไป ยาวไป

แต่เอาเข้าจริง ต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอนวัดเท่านั้นที่มีปัญหา หากยังมีตำนานเล่าขานกันมานานแสนนานและยังไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างจริงๆ จังๆ อีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือ กรณี “เงินนิตยภัต” หรือเงินเดือนที่รัฐมอบให้กับพระผู้ปกครอง มากน้อย ตามลำดับชั้น เพราะมีข้อมูลว่า บางวัดไม่เคยได้รับเงินที่จะต้องได้ในส่วนนี้เสียด้วยซ้ำไป

….เปรตเรียกพี่ยังน้อยไปสำหรับเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น