xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยที่ชิงสุกก่อนห่าม

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


วันที่ 24 มิถุนายนผ่านไปแล้ว คนจำนวนหนึ่งรำลึกถึงวาระ 85 ปีของเหตุการณ์ 2475 ที่คณะราษฎรได้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

แน่นอนถ้าคิดแต่ผลลัพธ์นับว่าผู้ก่อการในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคุณูปการต่อการนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย

แต่หากถามผมว่า ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในวันนั้นเราจะมีประชาธิปไตยในวันนี้ไหม ผมว่า มีแน่ๆ ครับไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนในตอนนี้ แต่เปลี่ยนไม่นานหลังจากนั้นนั่นแหละ

ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพระประชวรหนักจนใกล้สวรรคตทรงมีพระราชดำรัสว่า “ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองในทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ในขณะสืบตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น”

แต่เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 6 มิได้ทำตามข้อแนะนำของพระบิดา อาจเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักเรียนอังกฤษและเห็นการปกครองในประเทศอังกฤษทรงมีความเห็นในขณะนั้นว่า “อย่าลืมสภาพของประเทศยุโรปกับเมืองไทยผิดกันอยู่ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นคุณกับเขาอาจเป็นโทษกับเราก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ความคิดของรัชกาลที่ 6 ในเวลานั้นถูกวิจารณ์ด้วยความเห็นของคนหนุ่มหัวก้าวหน้านักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น และพระองค์ก็ทรงยอมรับฟัง และได้วางแผนให้ข้าราชการของพระองค์รู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยจัดสร้างเมืองสมมติ “ดุสิตธานี” เพื่อฝึกฝนให้ข้าราชบริพารของพระองค์ ให้ได้รู้จักและเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีพระราชดำริให้ประชาชนทดลองที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่โต มีพลเมืองไม่มาก และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ถูกเสนาบดีบางท่านคัดค้านจึงมิได้ดำเนินการจนรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2468

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร เขียนไว้ในบทความเรื่องกระแสความคิดเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 7 ว่า พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) อาจารย์สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มาเยือนกรุงเทพฯ ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สยามจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยและควรมีรูปแบบเป็นประการใด พระยากัลยาณไมตรี ได้ถวายความเห็นว่า ประเทศสยามยังไม่ควรมีการปกครองในระบอบรัฐสภา และควรใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปตามเดิมก่อน เพราะความสำเร็จและประสิทธิภาพของรัฐสภาเป็นผลมาจากการที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นผู้มีความรู้ทางการเมืองดีพอ

แต่ความมุ่งมั่นที่จะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยของในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ยังคงอยู่ ทรงพระราชดำริเห็นว่า เมื่อประชาชนมีความรู้พอที่จะใช้การปกครองระบบรัฐสภาอย่างได้ผล ซึ่งก็คงจะต้องถึงเวลาอันควรเปลี่ยนระบอบการปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งอย่างแน่นอน พระองค์ทรงมีความคิดในขณะนั้นว่า ถ้าช้าเกินไปแล้วต้องยอมให้ก็ไม่เหมาะและอาจจะมีผลร้าย ถ้าแม้ยอมให้เร็วเกินไป ราษฎรยังไม่มีความรู้ก็อาจไม่เป็นงานและอาจเป็นผลให้เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง

เมื่อคราวเสด็จฯ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร เมื่อพ.ศ. 2474 หนังสือพิมพ์ในอเมริกาหลายฉบับได้ประโคมข่าวการสัมภาษณ์รัชกาลที่ 7 อย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่พระองค์ทรงยืนยันว่า พอเสด็จกลับถึงเมืองไทยครั้งนี้แล้ว ก็ทรงปฏิวัติการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยทันที

แต่แนวคิดของในหลวงรัชกาล 7 ที่จะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ไม่ทันใจคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งในขณะนั้นนำโดยปรีดี พนมยงค์ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ฯลฯ ได้มีการพูดคุยกันที่ฝรั่งเศสว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสยามจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อทั้งหมดกลับสู่ประเทศจึงได้วางแผนกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกลุ่มทหารเข้าร่วมส่วนหนึ่งแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีกำลังทหารอยู่ในมือ แต่ถ้าจะปฏิวัติให้สำเร็จจะต้องได้กำลังทหารในกรุงเทพฯ มาเป็นพวก ในวันที่ 24 มิถุนายนในขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ประทับที่หัวหิน จึงออกอุบายให้ทหารมาร่วมสวนสนามที่ลานพระราชวังดุสิต รวมทั้งหลอกทหารบางกรมว่า เกิดกบฏให้ยกกำลังไปช่วย เมื่อทหารไปชุมนุมกันอยู่ที่นั่นเกือบหมด พระยาพหลฯ จึงถือโอกาสประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่ามกลางความงุนงงของทหารที่มาร่วมชุมนุมอยู่

ต่อมาคณะราษฎรได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 7 ว่า “คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น”

พร้อมระบุว่า ถ้าทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์

แม้จะมีการเสนอให้ต่อสู้แต่พระองค์ทรงห่วงจะเป็นการเสียเลือดเนื้อ ดังพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎรว่า “ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก ถ้าเพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”

แต่ต่อมาเมื่อทรงเห็นรัฐธรรมนูญที่นายปรีดีนำมาถวายนั้นไม่ตรงกับแนวทางของพระองค์ที่มีความคิดจะพระราชทานระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทรงมีพระราชบันทึกว่า “ครั้งเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯ และได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องต้องกันเสียแล้ว” จนกระทั่งทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นประเทศไทยก็เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเราได้เห็นความล้มลุกคลุกคลานตลอด 85 ปี มีทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยึดอำนาจได้รัฐบาลทหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลือกตั้งแล้วยึดอำนาจร่างรัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งใหม่หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้

มันทำให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า ถ้าแนวคิดเรื่องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยก่อนจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในอดีตได้ค่อยๆ ดำเนินไปผลลัพธ์มันจะเหมือนกับประชาธิปไตยไทยในวันนี้หรือไม่

หรือผลพวงจากการชิงสุกก่อนห่ามในวันนั้นคือบทสรุปด้วยคำพูดของนายปรีดี พนมยงค์เองว่า “เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ก็ไม่มีอำนาจ”

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น