ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรื่องราวของ “ฐิตินาถ ณ พัทลุง” หรือ “ครูอ้อย เข็มทิศชีวิต” เจ้าของคอร์สอบรมการให้กำลังใจคลายปมชีวิต ให้กับนักธุรกิจ ดารานักแสดง และผู้มีชื่อเสียง และเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี ระดับ Best Seller กำลังขยายวงความน่าสนใจออกมาเรื่อยๆ เพราะไม่เพียงแต่เรื่องราวของคอร์สอบรมที่เก็บเงินแพงหูฉี่ รวมถึงเรื่องราวส่วนตัวในกรณี “ไสว ณ พัทลุง” ผู้เป็นพ่อที่เป็นแกนนำคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยแล้ว ล่าสุดยังมีกรณีเรื่อง “การเล่นหุ้น” ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกต่างหาก
เพราะครูอ้อยไม่ได้เป็นแค่คนเขียนหนังสือ เจ้าของคอร์สอบรม หากแต่ยังมีพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้น เข้าไปลงทุนใน “บมจ.แอสเซท ไบร์ท (ABC)” ด้วยมูลค่าแตะจุดสูงสุดเกือบ 1.6 พันล้านบาท ก่อนจะประสบวิกฤตทำให้มูลค่าลดลงเหลือแค่ 23 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน
ที่สำคัญคือครูอ้อยชักชวนนักลงทุนรายอื่นประสบปัญหาขาดทุนถ้วนหน้า หลังราคาหุ้นเคยสูงสุด 63.50 บาท เหลือแค่ 20 สตางค์
กลายเป็นเรื่องที่ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษได้ว่า GO SO BIG หนักยิ่งไปกว่าเก่าเสียอีก
ปมประเด็นนี้ดูเหมือนจะมีนัยสำคัญไม่น้อย เพราะถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของครูอ้อยหลังจากตกเป็นข่าว ก็จะพบว่า เธอได้ตัดสินใจเข้าร้องเรียนกับกรมสอบสวนตดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งแม้จะเจตนามั่วมาผิดที่จนถูกไล่ให้กลับไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ แต่ข้อมูลที่เธอแจกแจงออกมาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตในตลาดหลักทรัพย์ของเธอไม่น้อย
กล่าวคือ ครูอ้อยบอกว่า ถูกอดีตกลุ่มลูกศิษย์ข่มขู่กรรโชกเงิน 11 ล้านบาท หากไม่กระทำตามจะกล่าวหาใส่ร้ายตนเองทุกเรื่องเพื่อให้เสียชื่อเสียงจนไม่สามารถทำงานได้
“สาเหตุอาจมาจากไม่พอใจเพราะตักเตือนอบรม ยกคำสอนพระพุทธเจ้าจนเจ็บแค้นใจคิดทำร้ายตน”
ฉับพลันที่ข้อมูลหลุดออกมา สังคมสงสัยทันทีว่า ใครคืออดีตลูกศิษย์ที่กล้ากรรโชกทรัพย์ครูอ้อย และมูลเหตุมาจากไม่พอใจที่ถูกตักเตือนจริงหรือ เพราะลำพังแค่เรื่องแค่นี้ไม่น่าจะเป็นชนวนเหตุได้
แต่ปมในเรื่องนี้ก็คลี่คลายลงไปได้ในที่สุด เพราะประจวบเหมาะกับการที่มี “นักลงทุนรายหนึ่ง” ออกมาเปิดเผยว่า ถูกครูอ้อย ชักชวนให้เข้าไปลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากตนเองประสบความสำเร็จมีกำไรจาดตลาดหุ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ พร้อมรับประกันความเสียหาย โดยอ้างมีข้อมูลวงในจะมีนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการบริษัทดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นด้วย แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เมื่อดีลนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ นักลงทุนต่างประเทศถอดใจ และส่งผลกระทบต่อบริษัทมหาศาล และราคาหุ้นดิ่งเหว ทำให้นักลงทุนคนดังกล่าวต้องประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนกว่า 10 ล้านบาท
มูลค่าเม็ดเงินที่เธอโร่ออกมาบอกสังคมว่าถูกอดีตลูกศิษย์ขู่กรรโชกทรัพย์นั้น ตรงกับข้อมูลที่นักลงทุนรายนี้ออกมาเปิดเผยเป๊ะคือประมาณ 10 ล้านบาท
เซียนหุ้นรายนี้ให้ข้อมูลว่า ประมาณปี 2557 ครูอ้อยได้ติดต่อเข้ามาในเเฟนเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาเปิดขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องการเล่นหุ้น และชักชวนให้เข้าฟังสัมมนาที่ครูอ้อยเป็นผู้จัดโดยให้ตนเองไปบรรยายเรื่องหุ้น ให้ความรู้แก่นักลงทุน มีลูกศิษย์ครูอ้อยมากกว่า 100 คน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
จากนั้น นักเล่นหุ้นรายนี้ก็เริ่มสนิทกับครูอ้อยและทีมงานมากขึ้น ถึงขั้นเคยไปบ้าน ต่อมาครูอ้อยก็เริ่มชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน เข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งครูอ้อยเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 3 ทำให้เกิดความเชื่อมั่น โดยครูอ้อยบอกข้อมูลเชิงลึกถึงเป้าหมายของราคาหุ้น ว่าจะขึ้นไปสูงถึง 15 บาทต่อหุ้น และบอกหากขาดทุนจะรับผิดชอบค่าเสียหาย โดยลูกค้าที่ให้ตนดูแลเรื่องหุ้นให้หลายราย ก็นำเงินของลูกค้ามาซื้อหุ้นในหุ้นที่ครูอ้อยถือ เริ่มลงทุนจาก 5-6 ล้านบาท และมียอดลงทุนสูงถึง 20 ล้านบาท
ทว่า หลังเริ่มซื้อหุ้นภายในเวลา 3 เดือน ยอดหุ้นตกจาก หุ้นละ 4 บาท 50 สตางค์ เหลือ 2 บาทกว่าต่อหุ้น จึงตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด ทำให้ขาดทุนกว่า 13 ล้านบาท ปัจจุบันหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ราคา 21 สตางค์ต่อหุ้น และไม่เคยขึ้นมาสูงกว่าที่ตนขายอีกเลย
“ตลอดเวลาที่ถือหุ้น มีการพูดคุยกับครูอ้อยเสมอ ซึ่งครูอ้อยจะบอกว่าอย่าเพิ่งขายหุ้น ให้ถือไว้ก่อน โดยออกอุบายว่าขณะนี้ทีมงานกำลังจัดการอยู่ พร้อมบอกผ่านข้อความไลน์ว่า จะรับผิดชอบหากขาดทุน ส่วนตัวรู้จักครูอ้อยได้ไม่ถึง 1 เดือน ก็ตัดสินใจลงทุน เพราะคิดว่าคนที่เรียกตัวเองว่าครู ไม่น่าจะทำกันแบบนี้ วันนี้จึงอยากออกมาให้เรื่องของตนเป็นบทเรียนของหลายๆ คน หลังจากที่ขาดทุนแล้ว ตนเคยถูกลูกค้าจับตัวไปเพราะเรียกร้องค่าเสียหาย จนกระทั่งตกลงได้ ปัจจุบันตนยังต้องผ่อนชำระค่าเสียหายอยู่เดือนละหลายหมื่น เพื่อชดใช้เงินค่าเสียหาย 13 ล้านบาทที่สูญไป”เซียนหุ้นรายนี้เผยข้อมูลผ่านเฟนเพจเฟซบุ๊ก ทุบโต๊ะข่าว Amarin TV 34
เงื่อนงำของความเป็น “นักปั้นหุ้น” เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจข้อมูลการลงทุนของครูอ้อย พบว่า ผู้นำทางจิตวิญญาณรายนี้ปรากฎรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ABC โดยถือหุ้น 118,551,100 หุ้น หรือถือสัดส่วน 1.50% ของทุนจดทะเบียน
แน่นอน แมงเม่าน้อยใหญ่พากันสงสัยว่า ทำไมครูอ้อย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษาดี ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากโชกโชน และสร้างความศรัทธาในหลักคิดกับผู้คนจำนวนมาก จึงเข้ามาลงทุนหุ้นแอสเซท ไบร์ท เพราะหุ้นตัวนี้ ปัจจัยพื้นฐานเปราะบาง ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี และถ้ายังขาดทุนต่อไปอีก อนาคตอาจมีปัญหาด้านฐานะการดำเนินงาน
กล่าวสำหรับบริษัท ABC นั้น ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2521 โดยเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท บางกอกไนล่อน จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ครูอ้อย เริ่มเข้าซื้อหุ้น ABC ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 3 ของบริษัท มีหุ้น 25,163,500 หุ้น หรือ 1.91% ณ เดือนสิงหาคม 2557 ราคาหุ้น ABC ปรับตัวสูงสุดระหว่างวันถึง 30% และปรับขึ้นติดต่อกัน 5 วันทำการพุ่งกระฉูดถึง 249% ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม - 22 สิงหาคม 2557 (โดยราคาปรับขึ้นจาก 18.20 บาทต่อหุ้นไปสูงสุดที่ 63.50 บาทต่อหุ้น)
หากคำนวณมูลค่าหุ้นที่ ครูอ้อย ถืออยู่จำนวน 25,163,500 หุ้น ในราคาที่ 63.50 บาท (ราคาสูงสุด ณ ขณะนั้น) คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,597,882,250 บาท หรือเกือบ 1,600 ล้านบาท
ครูอ้อยได้ถือหุ้นครองหุ้นอันดับ 3 มาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยจำนวน 25,163,500 หุ้น สัดส่วน 1.91% ต่อมาในปี 2558 ซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 57,167,200 หุ้น ครองสัดส่วนถือหุ้น 2.17% จากการปรับราคาพาร์จากเดิม 1 บาท เหลือเพียง 0.10 บาท และต่อมาในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เธอยังถือครองหุ้นอันดับ 3 ด้วยจำนวนหุ้น 118,551,1090 หุ้น สัดส่วน 1.50%
หากเปรียบเทียบมูลค่าหุ้น ณ ปัจจุบัน จำนวนหุ้นที่ถืออยู่จำนวน 118,551,100 หุ้น ราคา 0.20 บาท (20 มิ.ย. 60) ทำให้มูลค่ารวมคงเหลือ 23.17 ล้านบาทเท่านั้น
ระหว่างการลงทุน “ฐิตินาถ” พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุนกับนักลงทุน รวมถึงผู้เข้าร่วมหลักสูตร จึงมีผู้สนใจเข้าลงทุนตาม “ฐิตินาถ” จำนวนหนึ่งในปี 2557 โดยมีราคาเฉลี่ยการซื้อหุ้น ABC อยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น ซึ่งระหว่างการลงทุนหุ้น ABC มีการแตกพาร์ และปรับลดมูลค่าลงเหลือ 0.10 บาท จากเดิม 1 บาท การปรับลดมูลค่าพาร์ลง ประกอบกับปริมาณหุ้น ABC ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มมากขึ้นราคาหุ้นในกระดานปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันราคาหุ้นก็มีความเคลื่อนไหวหวือหวามากจนตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องให้ใช้ Cash balance หลายครั้งจนติดอันดับ 10 หุ้นโหดตั้งแต่ปี 2557 - 2559 เลยทีเดียว (วิ่งจาก 5 สตางค์ไปถึงเกือบ 2.60 บาท แล้วก็ค่อย ๆ ร่วงมาอยู่ที่ 40 สตางค์)
เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการลงทุนของครูอ้อย ณ วันที่ราคาหุ้น ABC แตะระดับราคาสูงสุดที่ 63.50 บาท กับปัจจุบันที่ 0.20 บาท ทำให้พบว่า มูลค่าการลงทุนได้หดหายไปจากเดิมเกือบ 1,600 ล้านบาท คงเหลือเพียง 23.17 ล้านบาท
ที่สำคัญคือ ถ้าหากใครได้ติดตาม “ไลฟ์สด” ของครูอ้อยเมื่อหลายวันก่อนก็จะเห้ฯชัดเจนว่า เธอออกมาปกป้อง หุ้น ABC สุดกำลัง แถมยังให้เหตุผลด้วยว่า เหตุที่ยังถือหุ้นตัวนีค้อยู่ก็เพราะลูกศิษย์ยังติดกันอยู่หลายคน ส่วนตัวเธอเองนั้น สบายดี เพราะมีการตัดขายไปเป็นระยะ แถมได้กำไรทุกราคาเสียด้วย
ก็ไม่รู้ว่า ทำไมครูอ้อยถึงไม่ยี่หระในขณะที่ลูกศิษย์กลายเป็นแมงเม่าเจ็บหนักกันถ้วนหน้า
และวันนี้ นักปั้นหุ้นอย่างครูอ้อยก็ต้องเผชิญการตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว