xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

5 ทศวรรษ เส้นทางสู่มหาลัยฯ “Entrance - Admission - Clearing House - TCAS”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิวัฒนาการการสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนตามสภาพสังคม จากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2504 ระบบ “Entrance” เปลี่ยนผ่านสู่ “Admission” ตามต่อด้วย “Clearing House” กระทั่งล่าสุด “TCAS” ในปีการศึกษา 2561 ซึ่งว่ากันว่าเป็นการปฏิรูประบบการสมัครคัดเลือกเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เป็นกลไกเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะกรณีเด็กนักเรียน “วิ่งรอกสอบ” “กั๊กที่นั่ง” ของกลุ่มนักเรียนฐานะดี

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธาน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยรายละเอียดของรูปแบบการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง Thai university Central Admission System หรือ TCAS ประจำปีการศึกษา 2561ว่า ระบบ TCAS เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบและกันสิทธิ์คนอื่น ลดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจน และต้องการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนอย่างสมบูรณ์จนจบการศึกษา

ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบนี้ไม่ใช่ระบบเอนทรานซ์ ที่คัดเลือกคนจากข้อสอบเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีองค์ประกอบอื่น แต่ TCAS ถือเป็นการรวมวิธีการรับนักศึกษาทั้ง 5 รูปแบบมาไว้ด้วยกัน

รอบที่ 1 “โควตาใช้ Portfolio” จำนวน 44,258 คน ไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่าย แบ่งเป็น 2 รอบ

รอบที่ 2 “การรับตรง/โควตา” จำนวน 68,050 คน มีการสอบข้อเขียน หรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้น ที่ หรือโควตาโรงเรียนในเครือข่าย หรือโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ และโควตา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ไม่ใช่การรับทั่วประเทศ

รอบที่ 3 “การรับตรงร่วมกัน” จำนวน 44,390 คน สำหรับนักเรียนในโครงการ กสพท. โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ แต่ละสถาบันอุดมศึกษากำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง เกณฑ์การคัดเลือกใช้คะแนน O-NET GAT/PAT 9 วิชาสามัญ หรือข้อสอบตรง

รอบที่ 4 “การรับแบบ Admissions” จำนวน 34,744 คน สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ เกณฑ์การคัดเลือกใช้คะแนน O-NET GAT/PAT

รอบที่ 5 “การรับตรงอิสระ” จำนวน 15,064 คน สถาบันอุดมศึกษาเปิดรับตรงเพิ่มเติมได้เองอิสระ
โดยมีข้อบังคับกำกับว่า หากผู้สมัครผ่านการคัดเลือกในรอบไหน ต้องทำการยืนยันสิทธิ์ทุกรอบซึ่งหลังจากการยืนยันสิทธิ์รอบนั้นๆ เป็นที่เรียบร้อย จะถูกตัดสิทธิ์การสอบในรอบถัดไปโดยปริยาย กล่าวคือระบบ TCASกำหนดให้ผู้สอบทุกคนมีเพียง 1 สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ มีสถาบัน 54 แห่ง สามารถรับนักศึกษาได้จำนวนทั้งสิ้น 206,506 คน แบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิก ทปอ. 24 แห่ง รับนักศึกษาจำนวน 148,000 คน ,มหาวิทยาลัยราชภัฎ 18 แห่ง รับนักศึกษา จำนวน 52,878 คน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง รับนักศึกษาจำนวน 2,650 คน และสถาบันสมทบ 3 แห่ง ได้แก่ กลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (กสพท.) มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รับนักศึกษา จำนวน 2,978 คน ซึ่งรายละเอียดการรับสมัครผู้สมัครสามารถเข้าดูข้อมูลได้ตามเว็บไซต์ของสถาบัน หรือเว็บไซต์ http://tcas61.cupt.net/ ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับประวัติศาสตร์เส้นทางการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนั้น จากการรวบรวมข้อมูลแหล่งต่างๆ สอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย เริ่มต้นเมื่อปี 2504 “ยุค Entrance บุกเบิก” ซึ่งเป็นช่วงแรกเป็นยุคที่มีมหาวิทยาลัยเพียง 5 สถาบันเท่านั้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดสอบก็อาศัยความร่วมมือของเหล่ามหาวิทยาลัยทั้งหมด

ต่อมาปี 2516 เกิดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นทบวงมหาวิทยาลัยในเวลาถัดมา) รวมทั้ง มีมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระบบ Entrance ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยสอบครั้งเดียวและเลือก 6 อันดับ นักเรียนสามารถสอบเทียบ ไม่ต้องใช้เกรดสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปรากฏว่ามีนักเรียนอายุน้อย เช่น อายุ 16 สอบติดหมอและเรียนจบตอนอายุ 22 ปี กลายเป็นว่าเรียนจบเร็วเกินไป

เข้าสู่ “ยุค Entrance ใหม่” ระหว่างปี 2542 - 2549 มีจัดการสอบคัดเลือก 2 ครั้ง (ช่วงเดือน ต.ค. และ มี.ค.) เพื่อลดความเครียดของนักเรียนและปัญหาการสอบเทียบที่กล่าวข้างต้น แล้วให้นักเรียนนำคะแนนมายื่นเลือกคณะ 4 อันดับ แต่การสอบช่วงเดือน ต.ค. นักเรียนยังไม่จบ ม.6 เท่ากับว่าเกิดการเร่งบทเรียนเร่งสอน จึงมีการคิดคะแนนสอบ 90 เปอร์เซ็นต์ + GPA (เกรดเฉลี่ยแยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้) + PR (ระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์) รวม10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดปัญหาเรื่องการเรียนไม่ครบหลักสูตร แต่ระบบ GPA และ PR ถูกต่อต้านจากนักเรียนในปี 2542 เนื่องจากเด็กไม่ได้เตรียมตัวสะสมเกรด ก่อนใช้จริงในปี 2543 จากนั้นมีการเพิ่มสัดส่วนเกรดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ แต่เกิดปัญหาเรื่องการปล่อยเกรดของบางโรงเรียนจึงถูกต่อต้านก่อนเข้าสู่ระบบใหม่

ปี 2549 การเริ่มต้นของ “ยุค Admission” มีการเพิ่มคะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม GPAX (เกรดเฉลี่ยของทุกวิชาตลอดหลักสูตร) และGPA รวมเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ คู่กับคะแนนการสอบ A-NET (Advanced National Educational Test) 0 - 35 เปอร์เซ็นต์ และ O-NET (Ordinary National Educational Test) 35 - 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ประสบปัญหาเรื่องมาตรฐานการสอนของแต่ละโรงเรียน เกิดเสียงทักท้วงเรื่องความไม่เท่าเทียม รวมทั้ง การรับตรงจากมหาวิทยาลัยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ถัดมาปี 2553 จำต้องแก้ปัญหาเรื่องใช้เกรดเฉลี่ยลดสัดส่วน GPAX และ GPA เหลือแค่ GPAX 20 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับคะแนน O-Net อีก 30 เปอร์เซ็นต์ และเปลี่ยนจากจาก A-Net เป็นสอบ GAT/PAT แทน (General Aptitude Test / Professional A Aptitude Test) ทว่า การสอบ GAT/PAT ไม่ตอบโจทย์กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ในปี 2556กสพท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดให้มีการสอบ 7 วิชาสามัญ และ2558 เพิ่มจัดสอบเป็น 9 วิชาสามัญ ข้อสอบกลางรับตรงร่วมกัน และเกิดระบบClearing House สำหรับยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาสำหรับคนที่ติดรับตรง และตัดสิทธิ์ออกจากการคัดเลือกระบบแอดมิชชั่นต่อไป ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาสะสมเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนฐานะร่ำรวยตระเวนสอบกั๊กที่นั่ง

ต่อมาปี 2560 “ยุค Clearing House” ในช่วงแรก ใช้ระบบสอบกลางครั้งเดียว สอบ GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ ทั้งกำหนดไม่ให้มีการเปิดสอบรับตรงนอกช่วงเวลา ช่วงที่ 2 ระบบClearing House 2 รอบ ประกาศผลให้นักเรียนทราบคะแนนและเลือกอันดับ 4 อันดับ

กระทั่งล่าสุด ปี 2561 เกิดการปฏิบัติวงการศึกษาครั้งใหญ่ “ยุค TCAS” การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนเข้าสู่ระบบใหม่อีกครั้ง เพื่อเคลียร์ปัญหาที่หมักหมมจากระบบเก่าอีกครา


กำลังโหลดความคิดเห็น