xs
xsm
sm
md
lg

Primary Vote กับกฎเหล็กของคณาธิปไตยในพรรคการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ระบบการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ระบบการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ Primary Vote ที่บัญญัติเอาไว้ใน ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งผ่านการลงมติรับรองด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจากสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ จะกลายเป็นมาตรการอันทรงพลังในการปฏิรูปการเมืองไทยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง จะเขย่าอำนาจคณาธิปไตยของกลุ่มนายทุนและนักเลือกตั้งที่ครอบงำพรรคการเมืองให้สั่นคลอน และนำไปสู่การเปิดศักราชใหม่ของการสร้างประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองไทย ที่สมาชิกพรรคจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของพรรคการเมืองมากขึ้นในอนาคต

ในอดีตการคัดเลือกคนเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเป็นการผูกขาดอำนาจของกลุ่มคนเพียงส่วนน้อยที่เป็นนายทุนหรือผู้บริหารที่ทรงอิทธิพในพรรคการเมือง ใครอยากลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องเข้าหาและอ้อนวอนผู้ทรงอิทธิพลในพรรค เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นมีอำนาจตัดสินชี้ขาดว่าจะส่งใครหรือไม่ส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตใดบ้าง ซึ่งการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับดุลพินิจของกลุ่มคนเหล่านั้น ส่วนสมาชิกพรรคไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง และไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้แต่อย่างใด

เมื่ออำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มอันน้อยนิดและขึ้นกับดุลพินิจ ในหลายครั้งได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งบางคนที่ไร้เส้นไร้สายในพรรค แม้ว่าเขาได้พยายามทำงานมวลชนในพื้นที่บางแห่งอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในพื้นที่ แต่เมื่อถึงคราวต้องสมัครรับเลือกตั้ง กลุ่มผู้นำพรรคกลับส่งเขาลงเขตอื่นที่เขาไม่มีฐานเสียง ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามามีน้อย ส่วนเขตที่เขากำลังสร้างฐานมวลชนและพรรคทำให้พรรคได้รับความนิยมสูงกลับให้บุคคลอื่นที่มีเส้นสายใหญ่ในพรรคลงแทน “ปรากฎการณ์กาเหว่า” แบบนี้จะเกิดยากขึ้น หรืออาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไปภายใต้ระบบ Primary Vote ที่จะนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งในอนาคต

ระบบ Primary Vote ซึ่งกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองมีสิทธิคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค เป็นการขยายการมีส่วนร่วมออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นการแก้ปัญหาการใช้อำนาจเผด็จการของกลุ่มผู้นำพรรค และเป็นการสถาปนาประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองขึ้นมา สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทำให้การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีความหมายและมีคุณค่ามากขึ้น อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และการปฏฺรูปการเมืองอย่างแท้จริง

ยิ่งกว่านั้นระบบ Primary Vote จะเป็นกลไกในการสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากขึ้น เพราะประชาชนจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีส่วนสำคัญในการกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าไปทำงานเพื่อบ้านเมืองในระดับชาติ ต่างจากในตอนแรกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้การเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียเงินค่าสมัคร แต่กลับไม่ได้กำหนดสิทธิหรืออำนาจของสมาชิกพรรคการเมืองเอาไว้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายก็กลัวว่าจะไม่มีคนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองการเมือง เพราะขนาดไม่เสียเงินยังหาคนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ยากอยู่ไม่น้อย หากต้องเสียเงินค่าสมัครตามที่กฎหมายกำหนดก็คงจะยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเสียเงินไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไรกลับมา

ดังนั้นเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมมาธิการวิสามัญ (กมธ.)ว่าด้วยพรรคการเมือง คณะกรรมมาธิการฯได้เห็นปัญหาที่สมาชิกพรรคการเมืองยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทและอำนาจแท้จริงจากร่างกฎหมายที่เขียนโดย กรธ. หากปล่อยให้เป็นไปตามร่างที่ กรธ. เสนอมาย่อมไม่ส่งผลดีหรือผลกระทบทางบวกใดๆต่อการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการธิการวิสามัญจึงได้เสนอบทบัญญัติว่าด้วย Primary Vote ขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง นโยบายและการบริหารของพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐

อย่างไรก็ตามมีนักการเมืองบางคนและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคนมีท่าทีในเชิงไม่เห็นด้วยกับระบบ Primary Vote บางคนให้เหตุผลแบบลอยๆว่าระบบนี้เร็วเกินไปสำหรับการเมืองไทย บางคนทำเสมือนเป็นห่วงพรรคการเมืองโดยกลัวว่านหจะสร้างความโกลาหลแก่พรรคการเมือง บางคนก็ระบุว่าจะทำให้เกิดการจัดตั้งคะแนนของผู้สมัคร หรือมีการซื้อเสียงสมาชิกพรรคให้เลือกตนเอง บางคนระบุว่าจะทำให้คนที่มีชื่อเสียง แต่หาเสียงไม่เป็นไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง บางคนก็บอกว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมือง และบางคนบอกว่ากลัวว่า คณะกรรมการเลือกตั้งจะมีปัญหาในการปฏิบัติ

ผมคิดว่า คนที่กล่าวว่าระบบ Primary Vote เร็วเกินไปสำหรับการเมืองไทยนั้นมีวิธีคิดที่ไม่ต่างกับการพูดว่า “ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเร็วเกินไปสำหรับการเมืองไทย” ซึ่งเป็นการพูดภายใต้ความเชื่อว่าประชาชนไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะเลือกใครนั่นเอง สำหรับผมแล้ว ในเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องการและยอมรับการเลือกตั้ง ส.ส. และประชาธิปไตยแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาโต้แย้งหรือไม่ยอมรับการเลือกตั้งขั้นภายในพรรคการเมืองและการสร้างประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง

คนที่มีเหตุผลและมีความมุ่งหวังในการปฏิรูปการเมืองคงไม่เสนอความคิดที่ขัดแย้งกันเองในลักษณะ “สนับสนุนให้มีประชาธิปไตยในระดับประเทศอย่างแข็งขัน แต่กลับปฏิเสธประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง” สำหรับคนที่มีวิธีคิดแบบนี้ย่อมส่อให้เห็นถึงทัศนคติแบบปากว่าตาขยิบ แท้จริงหาได้ต้องการประชาธิปไตยแต่อย่างใด ยิ่งถ้าเป็นนักการเมืองที่พูดในลักษณะนี้แล้ว ก็สามารถอนุมานได้ว่า นักการเมืองคนนั้นเป็นนักฉวยโอกาสทางการเมืองเท่านั้นเอง

หรือการอ้างว่าระบบ Primary Vote จะทำให้เกิดการจัดตั้งคะแนนหรือมีการซื้อเสียงสมาชิก ดังนั้นไม่ควรมีระบบนี้ ถ้าอ้างเหตุผลแบบนี้ เราก็คงต้องยกเลิกการเลือกตั้งทั้งหมดในทุกระดับทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และให้คสช. บริหารประเทศต่อไปโดยไม่มีการเลือกตั้งจะไม่ดีกว่าหรือ เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งของสังคมไทยก็อุดมไปด้วยการซื้อขายเสียงมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การซื้อขายเสียงมีแนวโน้มลดลง และมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังมีนิสัยชอบซื้อและขายเสียงอยู่ แต่คนจำนวนมากเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ทางการเมืองแล้ว ซึ่งเงินไม่มีอิทธิพลใด ๆต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพวกเขา

ผมคิดว่าคนที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่นี้ส่วนใหญ่จะมีสำนึกทางการเมืองสูงและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าประชาชนทั่วๆไปด้วยซ้ำ เพราะอย่างน้อยพวกเขายอมเสียเงินค่าสมัครสมาชิก เพื่อจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ดังนั้นการครอบงำชักจูงพวกเขาทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วนใครที่คิดว่าจะมีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นยอมเสียค่าสมัครแทนหัวคะแนนหรือมวลชนที่เป็นฐานเสียงของตนเองเพื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคและลงมติเลือกตนเอง สิ่งนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายพรรคการเมือง และมีบทลงโทษรุนแรงทั้งคนให้และคนรับเงินเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรค ก็ลองดูว่า จะมีใครกล้าเสี่ยงท้าทายกฎหมายภายใต้โลกปัจจุบันที่ทุกอย่างจะถูกพบเห็น บันทึก และเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายดายเช่นนี้

บางคนบอกว่าคนดีมีชื่อเสียง แต่หาเสียงไม่เก่งจะไม่มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง ประเด็นนี้ผมคิดว่า หากคนที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนดีและอยากลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วรอให้ผู้มีอิทธิพลในพรรคอุ้มชูลงสมัครในนามพรรคในเขตที่พรรคมีฐานคะแนนเสียงดีหรือบรรจุในบัญชีรายชื่อลำดับต้น ๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเป็น ส.ส. หากคิดแบบนี้ผมว่า อย่าเข้าไปทำงานการเมืองภายใต้ระบอบประชาธปไตยจะดีกว่าครับ เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคนที่เข้าสู่สนามการเมือง จะมาทำตัวเป็นคุณชายฉุยฉายแบบที่บางคนเคยทำไม่ได้หรอกครับ

คนที่เป็น ส.ส.หรือนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ต้องทำงานมวลชนและเข้าหาประชาชนทั้งนั้น โดยเฉพาะคนที่ต้องการลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต หากทำงานมวลชนไม่เป็น หรือ พูดปราศรัยไม่เป็น แต่อยากเป็น ส.ส. ก็เลี่ยงไม่ได้ครับที่ต้องฝึกฝนทักษะการทำงานมวลชนและฝึกการพูดในที่สาธารณะก่อนลงสมัคร เรื่องพวกนี้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ครับ หากทำไม่ได้ก็อย่าไปลงสมัครรับเลือกตั้งจะดีกว่า ควรไปทำงานการเมืองในลักษณะอื่น ๆ เช่น เป็นที่ปรึกษา หรือไม่ก็สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีมีฝีมือ เผื่อพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลมาเชิญเป็นรัฐมนตรีในวันใดวันหนึ่ง

สำหรับผู้ที่กลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองนั้น ก็ต้องบอกว่าควรไปทำความเข้าใจกับธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยให้มากขึ้น เพราะระบอบนี้จำเป็นต้องมีการแข่งขัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้งอยู่แล้ว ดังนั้นหากต้องการประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการแข่งขัน และต้องฝึกฝนให้มีความอดทนอดกลั้นและยอมรับธรรมชาติของการแข่งขันว่าจะต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ ดังนั้นเวที Primary Vote จึงเป็นเวทีหนึ่งที่จะสร้างประสบการณ์ให้คนที่อยากมาเป็นนักการเมืองต้องรู้จักยอมรับความพ่ายแพ้ และความถ่อมตนของชัยชนะอย่างมีน้ำใจนักกีฬา แต่ถ้าไม่อาจยอมรับกับธรรมชาติแบบนี้ได้ ผมว่าอย่าริไปทำงานการเมืองให้เสียอารมณ์ความรู้สึกจะดีกว่า

บางคนอ้างว่าวัฒนธรรมของสังคมไทย เมื่อเกิดการแข่งขันและมีการแพ้ชนะเกิดขึ้นก็มองหน้ากันไม่ติด แล้วสรุปเอาเองว่า Primary Vote ไม่เหมาะสม นักการเมืองคนใดที่คิดแบบนี้ ผมว่าเลิกเล่นการเมืองหรือยุบพรรคตัวเองไปเลยดีกว่า เมื่ออยากจะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับกระบวนการและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนวัฒนธรรมไทยเรื่องใดที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยก็ต้องค่อยปรับเปลี่ยนและแก้ไขกันไป
ส่วนคนที่กังวลว่าจะสร้างความโกลาหลเพราะพรรคการเมืองจะเตรียมตัวไม่ทัน คนที่ให้เหตุผลแบบนี้เท่าที่ผมได้ยินมาเป็นคนในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าอย่าไปกังวลเลยว่าพรรคการเมืองจะเตรียมตัวไม่ทัน พรรคไหนเตรียมตัวไม่ทันก็ไม่ต้องส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เพราะมีพรรคการเมืองไม่น้อยที่เตรียมตัวทันอยู่แล้ว พรรคใดที่มีสมาชิกและจัดตั้งสาขาพรรคสี่สาขาครบตามกฎหมายกำหนดก็สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ในสี่จังหวัดที่มีสาขาพรรคตั้งอยู่ อันที่จริงในปัจจุบันมีพรรคที่มีความพร้อมแบบนี้ก็มีนับสิบพรรค ส่วนพรรคใดที่ต้องการส่งผู้สมัครเพิ่มในจังหวัดที่นอกเหนือจากนี้ ก็ต้องไปจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติมในจังหวัดที่ตนเองอยากจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ภายในหนึ่งปีหลังจากประกาศใช้ พรป. พรรคการเมือง หากคสช.ยอมให้พรรคการเมืองทำงานการเมืองได้ทันที เรื่องความไม่พร้อมของพรรคการเมืองจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย และไม่มีปัญหาใด ๆให้กังวล ยกเว้นเสียแต่ว่า คสช. จะไม่ยอมให้พรรคการเมืองทำงานการเมืองจนกระทั่งใกล้ถึงเวลาเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การหาสมาชิกและการจัดตั้งสาขาพรรคในจังหวัดต่าง ๆ ไม่ทัน แต่หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่ คสช.ต้องรับผิดชอบเอาเองที่จะต้องตอบสังคม

ส่วนเหตุผลที่ว่า กกต.อาจ เตรียมตัวไม่ทันหรือปฏิบัติไม่ได้ตามที่ประธาน กรธ. พูดนั้น อันนี้ผมคิดว่าประธาน กรธ. ไม่ทราบถึงศักยภาพการทำงานที่แท้จริงของ กกต. เท่าที่ควร นี่ถ้า กรธ. ไม่เข้าไปยุ่งกับ กกต.ชุดปัจจุบันมากเกินไป และไม่ยุบ กกต.จังหวัด ก็มีความมั่นใจได้เลยว่า กกต. พร้อมเต็มที่ แต่เมื่อไปทำ กกต.ปั่นป่วนขึ้นมาก็อาจจะมีปัญหาในการทำงานอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่า กกต. ก็ยังทำงานนี้ได้ เพราะว่า กกต.มีสนง. กกต. ประจำจังหวัดและมีเจ้าหน้าที่อยู่ทุกจังหวัด และตัวแทน กกต.ที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญ พรป. พรรคการเมืองก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า กกต.พร้อมและสามารถปฏิบัติให้มีการเลือกตั้งแบบ Primary Vote ได้

สรุปว่านักการเมืองที่ออกมาคัดค้านระบบ Primary Vote นั้น ผมคิดว่าเหตุผลที่ซ่อนเร้นก็คือการกลัวสูญสียอำนาจในการควบคุม กำกับ และชี้นำพรรค ส่วน กรธ.บางคนที่ออกมาคัดค้านไม่มีอะไรมากไปกว่าการรู้สึกเสียหน้าที่ร่างของตนเองถูกรื้อทั้งแผง ซึ่งผมคิดว่าอย่าเอาหน้าตาของตนเองมาเป็นเหตุขัดขวางการพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยจะดีกว่า

กล่าวได้ว่าระบบ Primary Vote จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้อิทธิพลและอำนาจของนายทุนพรรคและกลุ่มผู้นำของพรรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การเมืองภายในพรรคมีชีวิตชีวาและเข่งขันกันมากขึ้น และทำให้สมาชิกพรรคมีความสำคัญและมีความหมายทางการเมืองอย่างแท้จริง เมื่อกระบวนการภายในพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่อประชาธิปไตยโดยรวมของสังคมด้วย

ท้ายที่สุด เราสามารถคาดการณ์ในเชิงทฤษฎีได้ว่า ระบบ Primary Vote จะเขย่า “กฎเหล็กของคณาธิปไตยในพรรคการเมืองให้สั่นคลอน” และหากดำเนินการใช้ระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้โอกาสของการเจริญเติบงอกงามของประชาธิปไตยในพรรคการเมืองจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเบียดขับอำนาจของคณาธิปไตยภายในพรรคการเมืองให้เสื่อมสลายลงไปในที่สุด เมื่อถึงจุดนั้นพรรคการเมืองก็จะกลายเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น