เรื่องรถไฟความเร็วสูง(ปานกลาง)นั้น ถ้าพูดแบบกว้างๆ ส่วนตัวผมเชื่อนะครับว่าการสร้างมีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี แต่เท่าที่ฟังยังไม่มีการถกเถียงกันอย่างจริงจังด้วยข้อมูลว่าดีไม่ดีอย่างไรคุ้มไม่คุ้ม และที่เชียร์กันอยู่เพราะถือหางกันทางการเมืองมากกว่า บางคนเคยคัดค้านสมัยยิ่งลักษณ์วันนี้มาสนับสนุนหรือไม่ก็แกล้งเงียบสมัยประยุทธ์
ฝ่ายเสื้อแดงก็แดกดันด้วยข้อมูลสุกๆ ดิบๆ ว่า สมัยยิ่งลักษณ์จะใช้เงิน 2.2 ล้านสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่สมัยประยุทธ์ใช้ 3.3 ล้านได้แค่รถไฟความเร็วปานกลาง
แต่จริงแล้วจะเลือกรถไฟความเร็วสูงแบบยิ่งลักษณ์หรือรถไฟความเร็วปานกลางแบบประยุทธ์ มันก็ถกเถียงกันได้อีกแหละว่าภูมิศาสตร์และระยะทางการคมนาคมในประเทศจากใจกลางที่เอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางนั้น มันจำเป็นต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงไหม หรือแค่รถไฟความเร็วปานกลางอย่างที่ประยุทธ์จะทำก็พอ หรือเอาเข้าจริงรถไฟทางคู่ที่คิดไว้ตอนแรกก็โอเคแล้ว โดยส่วนตัวผมแล้วคิดว่าบ้านเราสร้างรถไฟทางคู่ก็พอแล้ว
มีคนเขาวิจัยไว้นะครับว่าถ้าเกิน 500 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงจะสู้เครื่องบินไม่ได้ กรุงเทพฯ ไปเชียงราย 784 กิโลเมตร ไปเชียงใหม่ 683 กิโลเมตร ไปหาดใหญ่ 943 กิโลเมตร หนองคาย 630 กิโลเมตร อุบลฯ 603 กิโลเมตร ถามว่าจะนั่งรถไฟความเร็วสูงมั้ย มีคนเคยคำนวณมาแล้วว่ารถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่จะราคาประมาณ 1,200 บาท
แล้วคิดว่าคนจีนจะนั่งรถไฟมาเมืองไทยมั้ย อย่าว่าคนฝั่งอื่นเลย คนแถวคุนหมิงที่ใกล้ที่สุดระยะทาง 1,260 กิโลเมตร พวกนี้จะนั่งรถไฟมาไทยมั้ย เอาแบบไม่จอดเลยก็กว่า 5 ชั่วโมง ผมว่าไม่นั่งหรอกมาเครื่องบินสบายกว่า ไม่ต้องพูดถึงคนจีนฝั่งตะวันออกติดทะเลหรือทางเหนือแถวปักกิ่ง ดังนั้นที่น่าเป็นไปได้ที่สุดก็คือการขนส่งสินค้านั่นเอง จีนมีสินค้าทะลักมาไทยแน่แล้ว ไทยเอาอะไรไปขายจีน
แต่ถ้าจะสร้างนอกจากใช้กำปั้นเหล็กมาตรา 44 ทุบลงมา ถามว่ารัฐบาลได้มีการศึกษาหรือไม่ว่า ผลดีผลเสียในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงคืออะไร ยกเว้นสมัยยิ่งลักษณ์ที่เคยบอกว่าจะไว้ใช้ขนผัก แล้วใครจะเป็นคนใช้รถไฟความเร็วสูง ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทใช้รถไฟความเร็วสูงได้มั้ย ในต่างประเทศมีการศึกษาว่าบางเมืองที่รถไฟผ่านมีความเจริญคืออย่างมีนัยสำคัญ มีจีดีพีที่สูงขึ้นมันใช้ได้กับเมืองไทยมั้ย การเวนคืนใช้หลักที่มีความยุติธรรมมั้ย เพราะที่ชาวบ้านที่เป็นทางผ่านจะไม่ได้รับอานิสงส์เลยแถมที่จะถูกปิดตายด้านหนึ่ง ได้ประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่รอบๆ สถานี
ทำไมรัฐบาลไม่เอาผลศึกษาข้อมูลมาบอกคนไทยสักหน่อยละว่าไทยเราจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หรือตกลงแล้วไทยอยากได้หรือจีนอยากได้กันแน่
รัฐบาลทหารนั้นเริ่มคุยกันกับจีนตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2557 หลังรับตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่กี่เดือน ตอนนั้นคุยกันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างสองประเทศ และจะดําเนินงานโครงการรถไฟเส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ จากนั้นจึงมีการประชุมร่วมกันทันทีในเดือนมกราคม 2558
มีการคุยกันอีกหลายครั้ง แรกๆ คุยกันเรื่องทางคู่คุยไปคุยมากลายเป็นความเร็วปานกลาง ตอนคุยครั้งที่ 2 ก็บอกว่าโครงการจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 และจะเสร็จถึงหนองคายใน 36 เดือน มีการคุยกันว่า เรื่องโครงสร้างพื้นฐานตลอดเส้นทาง ไทยเป็นหลักโดยไทยเรื่องการเวนคืน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ในส่วนที่เป็นอุโมงค์และไหล่เขา จีนเป็นหลักดําเนินการ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญมากกว่า การวางระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุม ให้จีนเป็นหลัก
ในการประชุมครั้งที่ 6 มีการคุยเรื่องการพิจารณาร่วมทุนระหว่างไทย - จีน เพื่อดำเนินงานด้านระบบรถไฟ (Railway System) การให้บริหารเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation and Maintenance) และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Civil Work) โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทกิจการร่วมค้าด้านรถไฟของจีน เป็นผู้ลงทุนหลัก ซึ่งรูปแบบการลงทุนของบริษัทร่วมทุนให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยและหลักปฏิบัติสากลทั่วไป และให้แต่ละฝ่ายแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากนั้นก็คุยกันมาเรื่อยถึงแหล่งเงินกู้อะไรต่างๆ รวมถึงการกำหนดการวางศิลาฤกษ์เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยที่สถานีเชียงรากน้อย ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ตลกนะครับ การเจรจาพุดคุยกันยื่นข้อเสนอไปมายังไม่ได้ตกลงเซ็นสัญญากันเลยมีแต่บันทึกความเข้าใจ แต่จะวางศิลาฤกษ์กันก่อน จากนั้นการพูดคุยกันว่าจะเริ่มโครงการก็ถอยร่นไปเรื่อยๆ รวมทั้งพูดคุยเรื่องจะตั้งบริษัทร่วมทุนไทยให้จีนถือหุ้นร้อยละ 60 ไทย 40
แต่พอพล.อ.ประยุทธ์ไปจีนอีกรอบพบหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศเปรี้ยงทันทีว่าไทยจะลงทุนเองทั้งหมด แต่จะขอกู้เงินจากจีนในอัตรามิตรภาพ โดยมีเงื่อนไขเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยต้องที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งเงินอื่น สรุปไทยจะออกเงินเองหมดแต่กู้จีนจ่ายดอกเบี้ยให้จีน แล้วจะจ้างจีนทำ เพื่อสร้างรถไฟให้จีนใช้ขนสินค้าลงมา
หลังจากนั้นการเจรจามีมาเรื่อยๆ ต่อรองกันไปเน้นเรื่องเงินกู้จากไหน เหล็กข้ออ้อยจะใช้มาตรฐานไหนของใคร จนถึงครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงลึกเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และสถาปนิกอย่างถูกกฎหมายของบุคลากรจีนสำหรับโครงการรถไฟฯ โดยให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของไทย
แต่อยู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศใช้มาตรา 44 โดยอ้างว่าเพื่อเร่งรัดให้โครงการเดินหน้าไปโดยเร็ว โดยให้วิศวกรจีนกับสถาปนิกจีนไม่ต้องขึ้นกับกฎหมายประกอบวิชาชีพนี้ในไทย ไม่ต้องผ่านกฎหมายฮั้ว ไม่ต้องผ่านกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องผ่านกฎหมายพัสดุ ไม่ต้องผ่านซูเปอร์บอร์ดที่ คสช.เองตั้งขึ้นมากํากับการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานของรัฐ เรียกได้ว่าแบะท่าให้จีนทุกประตู
เอาเถอะเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว ผมไม่ได้คัดค้านแบบหัวชนฝานะครับ แต่ผมถามว่า เคยมีผลศึกษาข้อดีข้อเสียของการมีรถไฟความเร็วสูง ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจออกมาบ้างมั้ย อย่างน้อยการที่เราจะใช้เงินมหาศาลทำโครงการนี้ ประชาชนอย่างผมจะได้มั่นใจว่า เราจะคุ้มค่าที่จะลงทุนไปไม่กลายเป็นโครงการอัปยศแบบหลายโครงการที่ผ่านมา
ถามง่ายๆ ว่ามีผลการศึกษาการคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือยัง ไทยหรือใครจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ถ้าไทยได้ประโยชน์จะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะเท่าที่ติดตามก็คือ งานนี้ไทยลงทุน กู้เงินจีน จีนได้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าลงมายังกลุ่มอาเซียนที่มีด่านสำคัญคือไทย แล้วทำไมเราถึงเป็นเบี้ยร่างทุกประตูอย่างนี้
โครงการใช้เงินลงทุนขนาดนี้ ให้คนไทยแบกหนี้ขนาดนี้ เอาเถอะถ้าท่านอยากจะทำก็ทำ แต่ช่วยบอกคนไทยหน่อยสิว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan