xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสื่อมวลชนเป็นผู้ร้ายคดีหั่นศพ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ผมเป็นคนรุ่นกลางๆ เกือบเก่าในวงการสื่อมวลชน เข้ามาประกอบวิชาชีพสื่อตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง แต่ถ้าจะว่าไปแล้วก็ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาตั้งแต่เรียนมัธยมนั่นแหละ หรือถ้าถอยไปอีกก็โตมาบนกองกระดาษเพราะอาทำโรงพิมพ์ พ่อเป็นนักข่าวและทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ถ้านับเฉพาะที่เข้ามาทำหนังสือพิมพ์ส่วนกลางเริ่มที่หนังสือพิมพ์มาตุภูมิรายวันก็ 34 ปีมาแล้ว กำลังย่างขึ้นปีที่ 35

อายุ 25 ปีผมเป็นหัวหน้าบรรณาธิกรณ์ของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หนังสือพิมพ์ไทยที่มีระบบบรรณาธิกรณ์ที่เข้มแข็งแบบหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่ง นี่ผมพูดถึงอดีตนะครับออกมานานแล้วไม่รู้ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร

ผมจึงผ่านเครื่องฉับแกละตัวเรียงตะกั่ว เครื่องพิมพ์ตีธงไฮเดลเบิร์ก แท่นลมแท่นนอนมาตั้งแต่เด็ก ช่วงวันหยุดต้องช่วยแจกตัวเรียงกลับลงช่อง มาจนถึงยุคตัดแปะ จากกระดาษแก้วบางๆ ต้องเลย์กลับหน้า สู่ยุคปะอาร์ตเวิร์ก มายุคคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน จนถึงยุคโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่าผมเป็นคนหนึ่งในคนวัยเดียวกันโชคดีที่ได้ผ่านวิวัฒนาการด้านสื่ออันหลากหลายนี้

แต่ผมก็ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีพยายามศึกษาเรียนรู้ที่แม้รู้ว่าไม่มีวันตามมันทันและมันจะวิ่งหนีเราไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะหมดลมไปเอง แม้จะวิ่งตามมันอยู่บอกตรงๆ ว่าถึงจะมีประสบการณ์มาระดับหนึ่ง ผมก็ไม่กล้าไปเทศนาสั่งสอนใครหรอกว่า อนาคตของสื่อมันจะเป็นอย่างไรเพราะใครจะไปหยั่งรู้อนาคตได้ล่ะว่าอนาคตวิวัฒนาการจะก้าวไปขนาดไหน

แต่ที่ผมรู้และสัมผัสได้ก็คือ สื่อจะอยู่แบบเก่าไม่ได้แล้ว สื่อกระดาษกำลังกลายเป็นความหลังอันขมขื่น เว็บไซต์กำลังดิ้นตาย โทรทัศน์จองสุสานไว้ล่วงหน้าแล้ว สื่อมวลชนที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอาชีพอันทรงเกียรติจะไม่เป็นผู้กำหนดวาระหลักของสังคมอีกต่อไป เพราะสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียมันได้สร้างสื่อมวลชนเอกชนขึ้นจำนวนมาก และสะท้อนออกมากำหนดวาระข่าวอีกทีว่าสังคมต้องการรับรู้เรื่องไหน

เราเรียกสื่อหลักว่า “สื่อมวลชน” ผมเลยเรียกสื่อที่กำลังก่อเกิดในโซเชียลว่า “สื่อเอกชน” และเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังไล่กวดคลื่นลูกเก่า

ท่ามกลางกระแสโซเชียล ผมพอจะรับรู้ได้อยู่บ้างว่ายังมีคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่กำลังเบื่อหน่ายกระแสของโซเชียลต้องการข่าวสารที่เป็นข่าวจริงๆ ต้องการข่าวสารที่มีสาระและประโยชน์ ถามว่ามีสื่อที่ยังมีจิตสำนึกเช่นนี้อยู่หรือไม่ ผมว่ามีครับ แต่บอกเลยว่าเขาจะอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้และไม่มีวันยืนหยัดต้านกระแสของสังคมได้ ทำไมหรือครับก็เพราะเอเจนซีโฆษณามันวิ่งไปหาโซเชียลมีเดียหมด

เอเจนซีพวกนี้แหละครับคือตัวร้าย แต่ที่เขาทำอย่างนั้นก็เพราะต้องการความสัมฤทธิผลของลูกค้าเขา นั่นก็เพื่อปากท้องของเขาเพื่อรักษาวิชาชีพของเขาเหมือนกัน ไม่มีหน้าที่อะไรที่เขาต้องจรรโลงสังคมนี่ เขาจึงชี้เป้าให้ลูกค้าของเขาไปที่สื่อที่ได้รับความนิยมมากกว่าสื่อที่มีคุณภาพแต่มีผู้อ่านน้อย ในอดีตหนังสือดีๆ ไม่มีวันอยู่ได้ เพราะไม่มีโฆษณา

และเมื่อวันนี้สื่อมวลชนไม่ได้เป็นผู้กำหนดวาระข่าวของสังคมอีกแล้ว แต่ผู้กำหนดวาระข่าวของสังคมคือโซเชียลมีเดียที่ก่อเกิดเป็นสื่อเอกชนจำนวนมาก ทั้งด้วยการสร้างเพจข่าวเอกเทศขึ้นมา หรือเพจตัวบุคคล เอเจนซีโฆษณาก็ไหลไปตามทิศทางของสังคมคือมุ่งหาสื่อโซเชียลเป็นหลัก โฆษณาจากสื่อกระแสหลักจึงหลุดหายจนยากที่จะอยู่ได้

แต่ถามว่าสื่อกระแสหลักปรับตัวได้เร็วและเท่าทันกระแสไหม มีทั้งที่ปรับตัวทันและปรับตัวไม่ทัน และมีทั้งที่เพิ่งปรับตัวและพยายามดิ้นรนแหวกว่ายอยู่ในกระแสคลื่นของสังคมข่าวสารที่ถาโถมอยู่ และทางเดียวที่สื่อจะอยู่รอดก็คือต้องตามให้ทันกระแสโซเชียลมีเดียนั่นเอง เราจึงเห็นสื่อหลักล้มหายตายจากจำนวนมากและส่วนใหญ่กำลังจะร่อแร่กันหมด

การที่สื่อต้องปรับตัว ผมไม่ได้หมายความว่าใครจะลืมจรรยาบรรณและกรอบวิชาชีพของสื่อที่ท่องจำสั่งสอนและเรียนกันในมหาวิทยาลัยมานะครับ แต่มันเห็นแล้วว่า ถ้าไม่ตามให้ทันกระแสนี้มันจะเอาตัวไม่รอด ดูหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไทยรัฐสิครับถ้าสมัยก่อนหน้าหลังต้องจองกันยาวเป็นเดือน วันนี้ต้องลงโฆษณารายการโทรทัศน์ของตัวเอง กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมในกระแสน้ำเชี่ยว

ทุกคนรู้ครับว่าสังคมต้องการข่าวที่มีเนื้อหาสาระและมีประโยชน์ แต่มันไปไม่รอดในทางธุรกิจไงครับ บอกสิครับจะให้สื่อทำอย่างไร เครือผู้จัดการนำเสนอความพิกลพิการของเครือข่ายพลังงานเป็นผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติแท้ๆมีใครสนใจบ้างครับ หรือจะให้คนทำสื่อเสพเกียรติภูมิเกียรติยศแทนข้าวปลาอาหาร

วันนี้สื่อมวลชนกำลังถูกโจมตีว่า ทำไมเสนอข่าวของอีเปรี้ยวกันอึกทึกครึกโครมทำราวกับว่าผู้ต้องหาฆ่าหั่นศพกลายเป็นฮีโร่ของสังคม ผมก็รับฟังครับและรู้สึกดีที่คนเหล่านั้นเห็นความวิปริตของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างที่บอกสื่อมวลชนไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนวาระข่าวของสังคมอีกแล้ว แต่โซเชียลมีเดียต่างหากที่กำหนดวาระข่าวของสังคม

มีเสียงบ่นเรื่องสื่ออยู่ในเฟซบุ๊กครับ แต่น้อยกว่ากลุ่มคนที่เฝ้าติดตามมอนิเตอร์และใคร่อยากรู้ทุกแง่มุมของอีเปรี้ยวครับ วันนี้ไปดูเพจที่เกิดขึ้นในช่วงข้ามคืนแบบเพจแหม่มโพดำ หรือเพจอีจันสิ มีคนเข้าไปติดตามข่าวกันจำนวนมาก

ดูในเฟซเพื่อนของเราส่วนใหญ่สิเขากำลังพูดกันเรื่องอะไร เขาพูดเรื่องอีเปรี้ยวกันทั้งนั้น ย้อนไปในยุคเก่าก็จะเข้าใจว่าทำไมไทยรัฐ เดลินิวส์จึงเป็นสื่อขายดี

ถ้าสื่อมวลชนไม่วิ่งตามกระแสหลักของสังคมก็อยู่ไม่ได้ สื่อจะยึด “ขนบ”แบบเดิมก็อยู่ไม่ได้ เพื่อความอยู่รอดก็ต้องโถมไปตามคลื่นของกระแสสังคม แล้วธรรมชาติของมนุษย์มันก็ต้องดิ้นรนหนีตายกันทั้งนั้น แต่ผมคิดว่า สื่อมวลชนกระแสหลักยังมีกรอบของความรับผิดชอบ มีขอบเขตที่จะต้องเดิน มีสังคมที่คอยหวดแส้อยู่ มีความรับผิดชอบต่อเกียรติยศชื่อเสียง แต่ก็ยอมรับแหละว่าความผิดพลาดของสื่อหลักก็มีมากจะเห็นได้ว่าในระยะหลังสื่อกลายเป็นผู้ร้ายถูกสวดส่งในโซเชียลมีเดียเพราะทุกคนมีกระบอกเสียงเหมือนกัน

แต่สื่อเอกชนไม่ต้องมีขนบไม่ต้องมีบุคลากรจำนวนมาก ต้นทุนต่ำ ไม่มีเกียรติยศต้องแบก บางเพจซ่อนเร้นตัวตน บางเพจสร้างด้วยคนสองสามคน ไม่มีจรรยาบรรณให้ต้องยึดถือ ไม่ได้กังวลว่าข่าวนั้นจะได้รับการกลั่นกรองให้ถูกต้องสมบูรณ์หรือยัง ไม่ต้องคำนึงว่ารอบด้านหรือไม่ ไม่ต้องคำนึงว่าจะผิดหรือถูกมุ่งไปที่ยอดไลค์และแชร์อย่างเดียว เมื่อมีคนติดตามมากเอเจนซีโฆษณาก็วิ่งเข้ามาหา

ถ้าจะโทษสื่อมวลชนกระแสหลัก สำหรับคนที่วิพากษ์วิจารณ์สื่อนั้นเข้าใจล่ะว่าอยากจะช่วยดึงรั้งสังคมเอาไว้ให้อยู่ในความถูกต้องดีงาม แต่ถามหน่อยสิว่าสื่อมวลชนกระแสหลักจะฝ่าวิกฤตให้อยู่รอดในท่ามกลางการกำหนดวาระสังคมของโซเชียลมีเดียอย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น