ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา หลังจากได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 120 วันแล้ว
ว่ากันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ออกมาแทนฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้มากมาย โดยเฉพาะการให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างครอบจักรวาลในการตั้งข้อหาการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ของกฎหมายฉบับเดิม
มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับเดิมนั้น บัญญัติไว้ว่า “มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)”
กล่าวแบบรวบรัดก็ต้องบอกว่าเจตนารมณ์ของมาตรานี้ แต่เดิมนั้นคือต้องการจะเอาผิดผู้ที่นำเอาข้อมูลที่ผิดกฎหมายไปเผยแพร่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ประชาชน ความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งข้อมูลที่เข้าข่ายลามกอนาจาร
อย่างไรก็ตาม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มาตรานี้ถูกนำไปใช้ตั้งข้อหากันแบบเหวี่ยงแห เหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านของตำรวจ นึกข้อหาอะไรไม่อออกก็ให้ผิด มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เอาไว้ก่อน เพราะสมัยนี้แค่คุยกันผ่านระบบแชตของโทรศัพท์มือถือ ก็เป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว เนื่องจากคำนิยามของ “คอมพิวเตอร์”ตามกฎหมายนี้ หมายความรวมไปถึงโทรศัพท์ที่เป็นสมาร์ทโฟนด้วย
หลายกรณีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของเจ้าหน้าที่เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และบางครั้งก็ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการจงใจใช้มาตรานี้เพื่อปิดปากคนที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
ที่เห็นได้ชัดเจน คือกรณีนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และ เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ที่ถูกแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นับครั้งไม่ถ้วน จากการที่เขาทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตรัฐบาลแบบกัดไม่ปล่อยและไม่เลือกหน้า
นับเฉพาะในปี 2560 เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 อย่างน้อย 3 ครั้ง
ครั้งแรก ในเดือนมีนาคม 2560 นายวีระ ถูกออกหมายจับในข้อหานำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีที่ได้ทำโพลผ่านหน้าเฟซบุ๊กสอบถามความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ผลออกมาทำนองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 2 ต้นเดือนเมษายน 2560 นายวีระ ถูกแจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าตำรวจใช้อำนาจกลั่นแกล้งประชาชน กรณี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีปิโตรเลียม บริเวณอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560
นายวีระเองได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งความดำเนินคดีตัวเขาในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลายครั้ง น่าจะเป็นเพราะต้องการปิดปากเรื่องที่เขากำลังตรวจสอบกรณีการตั้งบ่อนกาสิโนในพื้นที่พิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ช่องสายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผู้มีอำนาจระดับสูงในรัฐบาลอาจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ต่อมา วันที่ 9 พฤษภาคม 2560 พล.ต.อ.ศรีวราห์ ได้มอบหมายให้ทนายความแจ้งความดำเนินคดีนายวีระ สมความคิด และพวก ในความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) และ ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีที่นายวีระได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการสร้างถนนทับคลองน้ำสาธารณะ ที่บ้านปางแก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยนายวีระได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ให้สั่งการดำเนินคดี พล.ต.อ.ศรีวราห์ด้วย
กรณีนายวีระ เป็นเรื่องของภาคประชาชนที่อาสามาทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล แล้วถูกเจ้าหน้าที่เล่นงานกลับด้วยกฎหมายคอมพิวเตอร์
ยังมีกรณีของนายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที พิธีกรรายการ “สภากาแฟ สภาประชาชน” ทางสถานีโทรทัศน์นิวส์วัน(NEWS1) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามนำหมายจับเข้าควบคุมตัวที่ร้านกาแฟ ใน ซ.ลาดพร้าว 122 ในเวลากลางคืน พร้อมแจ้งข้อหากระทำผิด มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 และร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่ได้เชิญกลุ่มชมรมนักธุรกิจส่งอาหารเข้าเรือนจำกลางจังหวัดอ่างทองมาพูดคุยในรายการเรื่องการทุจริตการส่งอาหารเข้าเรือนจำจนนำไปสู่การดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายราย
กรณีของนายยุทธิยงถูกตั้งข้อหาดังกล่าว ต้องบอกว่า เขาตกเป็นเหยื่อในการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างไม่เป็นธรรม และเป็นเหยื่อของการตั้งข้อหาแบบสะเพร่าของเจ้าหน้าที่
นั่นเพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 นั้น ผู้กระทำความผิดจะต้องมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่กรณีนี้ นายยุทธิยงไม่ได้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพียงแต่เป็นพิธีกรจัดรายการ พูดคุยกับชาวบ้านเท่านั้น
และองค์ประกอบที่สำคัญคือ ข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ และคนที่นำเข้าสู่ระบบรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่พิสูจน์ได้แล้วหรือยังว่าข้อมูลที่นายยุทธิยงพูดคุยกับชาวบ้านในรายการเป็นข้อมูลเท็จ
ปัญหาการใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับเดิมนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด 10 ปี จนนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ให้มีข้อความดังนี้
“มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (๑) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
จะเห็นว่า มาตรา 14 ที่มีการแก้ไขใหม่ ได้ระบุให้ชัดเจนขึ้นว่า การกระทำที่ถือเป็นความผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นการจงใจ หรือมีเจตนาหลอกลวง นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และทำให้เกืดความเสียหายในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรณีการหมิ่นประมาท
นั่นเพราะที่ผ่านมา มักจะมีการตั้งข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงเข้าไปกับคดีหมิ่นประมาทด้วย เพื่อให้โทษรุนแรงขึ้น จนหลายกรณีเป็นการข่มขู่ผู้ถูกดำเนินคดีให้เกิดความหวาดกลัว และผิดจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิม
ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ได้พยายามปิดช่องโหว่ตรงนี้ โดยหากเป็นการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ก็ให้ไปฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญาที่ว่างด้วยเรื่องหมิ่นประมาทไป ไม่ต้องเอากฎหมายคอมพิวเตอร์ที่มีโทษรุนแรงกว่าพ่วงเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ดี หากเจ้าหน้าที่จะตีความวลีที่ว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย” นั้น รวมความถึง “ความเสียหายต่อชื่อเสียง” เข้าไปด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่า ยังสามารถเอากฎหมายคอมพิวเตอร์ไปใช้กับกรณีหมิ่นประมาทได้อยู่ดี
และนี่ จะยังเป็นช่องโหว่ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ ในการปิดกั้นเสรีภาพหรือกลั่นแกล้งประชาชนได้อยู่เหมือนเดิม