xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาของการแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
"ปัญญาพลวัตร"

หลายครั้งที่รัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหาของประชาชน โดยการออกฏหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติ ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นแนวทางที่มีสมรรถนะและประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มภายในแวดวงนั้น ๆ ได้ แต่เมื่อมีการนำแนวทางเหล่านั้นไปปฏิบัติจริง กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ตามที่กำหนดเอาไว้ได้

เท่าที่สังเกตถึงวิธีคิดในการออกมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ หลายเรื่องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ขาดการพิสูจน์เชิงประจักษ์ หลายเรื่องใช้การเชื่อมโยงเชิงตรรกะที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ หลายเรื่องมีมุมมองคับแคบมุ่งไปที่บางส่วนของปัญหา หลายเรื่องคนที่นำมาตรการไปปฏิบัติเองก็ขาดความรู้และทักษะในการนำมาตรการไปปฏิบัติ หลายเรื่องก็ขาดกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างแนวทางกับการปฏิบัติจริง หลายเรื่องทำให้กลุ่มที่มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นสูญเสียประโยชน์ ซึ่งคนเหล่านั้นก็จะไม่ร่วมมือและต่อต้าน และหลายเรื่องไม่มีการปรับเปลี่ยนค่านิยมและบรรทัดฐานเดิมเสียก่อน จึงทำให้มาตรการต่าง ๆไร้ประสิทธิผล

สิ่งที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นปัญหาของการแก้ไขปัญหา ที่ทำให้ปัญหาสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของไทย ยากแก่การแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปได้

อันที่จริงรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต่างก็ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้างในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดให้เกิดความครอบคลุมในทุกมิติของปัญหา ทำอย่างไรจึงสามารถสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหานั้น ทำอย่างไรในการประเมินสมรรถนะของมาตรการแก้ไขปัญหา และทำอย่างไรจึงทำให้การนำมาตรการลงไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลขึ้นมา แต่ทั้ง ๆ ที่ทราบและมีความรู้อยู่ท่วมหัว กลับกลายเป็นว่า มีนโยบายและมาตรการจำนวนมากมิได้ใช้กระบวนการที่ควรจะเป็นตามความรู้ที่มี หรือบางกรณีทำทีเป็นใช้ความรู้ในการทำกระบวนการเหล่านั้น แต่ก็ทำอย่างไร้คุณภาพและเป็นไปในรูปแบบพิธีกรรมเสียมากกว่า

อย่างเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย และการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งมีการกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและหลักการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ความรู้เรื่องการสร้างมีส่วนร่วมที่แท้จริงก็มีอยู่มากมาย แต่พอถึงเวลาเข้าจริงหลายหน่วยงานก็ไม่สนใจนำความรู้มาใช้มากนัก หรือทำเพียงแต่เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาให้แสดงความคิดเห็นพอเป็นพิธีเพื่อแสดงให้สาธารณะรับรู้ในเชิงสัญลักษณ์ หรืออย่างมากก็ทำเพียงบันทึกลงในรายงานการประชุม และข้อคิดเห็นเหล่านั้นมักถูกทำให้จมอยู่ในทะเลเอกสาร เมื่อมีการตัดสินใจจริง ๆว่าจะกำหนดมาตรการใดบ้าง ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็มีแนวโน้มที่จะยึดความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของกลุ่มตนเองเป็นหลักอยู่เหมือนเดิม

ยิ่งกว่านั้นในยุคปัจจุบัน บางเรื่องที่รัฐบาลทำ แม้แต่พิธีกรรมการมีส่วนร่วมก็ไม่สนใจไยดีที่จะทำ กลับใช้มาตรา ๔๔ กำหนดเป็นกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งอย่างฉับพลัน โดยอ้างว่าเพื่อให้การดำเนินงานและการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่การทำแบบนี้ หากเป็นเรื่องการโยกย้ายข้าราชการก็คงไม่เป็นไรมากนัก เพราะอย่างไรเสียข้าราชการที่ถูกย้ายก็ต้องปฏิบัติตามอำนาจเด็ดขาดอยู่แล้ว คงไม่มีข้าราชคนใดกล้าท้าทายอำนาจรัฐบาลอย่างเปิดเผยเป็นแน่ แต่หากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การใช้มาตรการแบบนี้ย่อมมีความเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งทางสังคมสูง ดังกรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นต้น

การใช้ความเชื่อและค่านิยมของผู้มีอำนาจเป็นหลักในการกำหนดกฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ โดยปราศจากหลักฐานและเหตุผลที่หนักแน่นทางวิชาการ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเหตุผลสำคัญลำดับต้น ๆ ในการทำให้ปัญหาหลายอย่างของสังคมไทยไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ และหากกระบวนทัศน์และวิธีคิดของผู้มีอำนาจทั้งหลายยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็ไม่ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต

การทำให้ปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งหลายในการออกกฎหมาย นโยบาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงจากความคิดและพฤติกรรมแบบเดิม ๆ ที่เคยกระทำกันมา โดยต้องพร้อมเปิดใจและเปิดเวทีให้ข้อมูลข่าวสาร ความคิด ความเชื่อที่แตกต่างจากตนเองได้มีโอกาสแสดงออกอย่างเท่าเทียมกันให้มากที่สุด และต้องผนึกกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและผลประโยชน์เข้าไปสู่ “องค์คณะ” ในการตัดสินใจเรื่องเหล่านั้นด้วย เพื่อสร้างดุลยภาพทั้งในแง่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ค่านิยม ผลประโยชน์ และอำนาจ ให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจไม่เอียงข้างหรือมีอคติต่อความเชื่อและผลประโยชน์ของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมากเกินไป จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมขึ้นมา เพราะหากกระแสความรู้สึกไม่ธรรมหรือความรู้สึกที่ตนเองถูกเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ย่อมมีโอกาสสูงที่ทำให้ปัญหาบานปลายและขยายเป็นความขัดแย้งทางสังคมในวงกว้าง

อันที่จริงสังคมไทยหรือสังคมอื่น ๆ ต่างก็มีบทเรียมากมายในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าผู้บริหารปกครองประเทศหรือผู้มีอำนาจอิทธิพลทั้งหลายทั้งในภาคการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไม่ค่อยเรียนรู้และผนึกลงไปในความทรงจำของตนเองเท่าไรนัก ด้วยแบบแผนในการคิดและการปฏิบัติของพวกเขามักซ้ำซากความผิดพลาดแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ

การยึดติดและหลงในความคิดและความเชื่อของตนเองและกลุ่มตนเองว่าดีที่สุด โดยไม่เปิดพื้นที่ให้ความคิดหรือความเชื่อของกลุ่มอื่นในสังคมได้มีโอกาสนำไปปฏิบัติบ้าง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมไทยไม่อาจแก้ไขได้ นอกเหนือจากเรื่องการยึดติดในประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์สังคม ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กัน

ดังนั้นหากว่าสังคมไทย มีผู้นำทางการเมืองและธุรกิจที่มีสติตระหนักรู้และมีจิตใจที่เปิดกว้าง โดยไม่ยึดติดกับความคิดและความเชื่อของตนเองมากจนเกินไป รวมทั้งสามารถปล่อยวางผลประโยชน์และความสุขส่วนตัวลงเสียบ้าง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง ผมคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้ปัญหาของการแก้ปัญหาค่อยๆหมดไปในอนาคต และส่งผลให้ตัวสารัตถะของปัญหาคลี่คลายลงไปด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น