หลังชัยชนะขาดลอยจากการลงคะแนนเลือกตั้งตรงจากทั่วประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม ก็ถึงวันสถาปนาประธานาธิบดีมาครง เพียง 6 วันหลังการนับคะแนน พิธีเริ่มเวลา 10 โมงเช้า โดยว่าที่ประธานาธิบดีมาครงเดินทางไปถึงทำเนียบ (คือพระราชวังเซลิเซ) มีพรมสีแดงปูรับหน้าทำเนียบ เขาก้าวขึ้นบันไดไปพบกับประธานาธิบดีโอลองด์ที่ยืนรออยู่ แล้วทั้งคู่ก็จับมือทักทายก่อนจะเดินขึ้นไปบนชั้น 2 ของทำเนียบ เข้าไปที่ทำงานประธานาธิบดี โดยประตูจะปิดสนิทปล่อยให้ว่าที่ประธานาธิบดี + ประธานาธิบดีสนทนากันเพียงลำพัง
ทั้งคู่ใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง (นานกว่าคาด) เพื่อฝากฝังปัญหาและจุดอ่อนจุดแข็งในการทำงาน รวมทั้งการมอบหมายเลขโค้ดลับสำหรับกดปุ่มนิวเคลียร์ที่โอลองด์ (รู้แต่เพียงคนเดียว) จะมอบให้มาครง
หลังทั้งคู่เดินลงจากชั้นสอง มาครงเดินมาส่งประธานาธิบดีโอลองด์ เพื่ออำลาจากทำเนียบ ผ่านแถวทหารเกียรติยศ รถของประธานาธิบดีโอลองด์ที่จะหมดหน้าที่ในวินาทีนี้ จอดรออยู่ปลายพรมแดงที่ปูลาดค่อนข้างยาว เป็นรถเปอร์โยต์ที่ค่อนข้างเล็กและไม่ใช่โมเดลล่าสุดซะอีก
ทั้งคู่จับมืออำลาครั้งสุดท้าย พร้อมคำพูดว่า “ขอให้โชคดี” จากปากของโอลองด์ บอกกับมาครง โดยประธานาธิบดีมาครงยืนส่งโบกมือ จนรถยนต์ลับสายตา แล้วอดีตประธานาธิบดีโอลองด์ก็เดินทางไปอำลาที่พรรคสังคมนิยม
ประธานาธิบดีมาครง เดินกลับเข้ามาในห้องโถงใหญ่เต็มไปด้วยตัวแทนของสภาและองค์กรอิสระต่างๆ มีทั้งฝ่ายตุลาการ, อดีตผู้นำของฝรั่งเศส และบรรดาแขกเกียรติยศ เพื่อเริ่มพิธีสถาปนาประธานาธิบดีคนใหม่
เริ่มจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ คือท่านโลรองต์ ฟาบิอุส ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของโอลองด์ และเคยเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยสุด (เป็น ส.ส.เมื่ออายุ 34 ปี) ท่านได้รับแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีโอลองด์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานของการประชุมสุดยอดที่มีผลจากปัญหาลดโลกร้อนเมื่อปีที่แล้ว และประสบผลสำเร็จเยี่ยมยอด ท่านได้เป็นผู้กล่าวสรุปถึงการชนะเลือกตั้งของมาครง เพื่อมานำพาประชาชนไปสู่ความสำเร็จสมดังคาดหวัง
ต่อมาได้มีพิธีมอบอิสริยาภรณ์สูงสุดของประเทศ ให้แก่ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นสร้อยที่จัดทำขึ้นในสมัยนโปเลียนที่ 1
หลังจากนั้น ก็เป็นสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีคนใหม่ ที่พูดได้กินใจมาก
เขาได้พูดถึงคุณงามความดีของอดีตประธานาธิบดีที่ผ่านมา นำเอาแต่ด้านดีที่เป็นมรดกทิ้งเอาไว้ แม้แต่โอลองด์ ซึ่งมีคะแนนนิยมค่อนข้างต่ำเสียจนไม่กล้าลงสมัครเป็นครั้งที่ 2 มาครงก็พูดว่าประสบผลสำเร็จที่สามารถนำพาทั้งโลกมาลงนามในข้อตกลงจะปกป้องโลกจากภาวะโลกร้อน
เขาได้พูดถึง “ความหวัง” และเขาจะนำพาเอาความมั่นใจกลับคืนมาสู่ชาวฝรั่งเศส รวมทั้งให้กำลังใจว่า ประเทศฝรั่งเศสกำลังจะก้าวไปสู่ “Renaissance” หรือการเกิดใหม่รุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่กล่าวสุนทรพจน์แห่งความหวังนี้ ท่าทางของเขาค่อนข้างเคร่งขรึม ไม่ค่อยยิ้มนัก เพราะมันเหมือนเป็นการปฏิญาณต่อหน้าประชาชนถึงภารกิจหนักหนาที่รอเขาอยู่เบื้องหน้า ที่จะต้องนำพาประเทศสู่การปฏิรูปเพื่อให้ฝรั่งเศสหลุดพ้นจากการป่วยหนักจากปัญหาเศรษฐกิจคนว่างงาน, การก่อการร้ายข้ามชาติ และความแตกแยกภายในประเทศ
หลังสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งมีเสียงปรบมือกึกก้องจากบรรดาพยานที่ยืนรวมตัวกันในอดีตท้องพระโรงใหญ่นี้ แล้วเขาก็มาเดินจับมือทักทายผู้คน เพื่อลงบันไดมายังด้านหน้าทำเนียบ เพื่อรับการเคารพจากกองทหารกลุ่มย่อมๆ ช่วงนี้มีการยิงสลุต 21 นัดด้วย ก่อนที่จะนั่งรถเปิดประทุนของทหารเดินทาง (ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย) ไปยังประตูชัยอาร์ค เดอ ทรี ออมฟ์ เพื่อวางพวงมาลาเคารพอนุเสาวรีย์ทหารนิรนามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ต่อด้วยการเดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงปารีส เพื่อรับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของนครปารีส (แอนด์ อิเดลโก้) พร้อมด้วยรองนายกเทศมนตรี, คณะผู้บริหารของเธอ รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติไม่ว่าจะเป็นทูตานุทูต, ตัวแทนองค์กรสมาคมต่างๆ และเอ็นจีโอ โดยมีสุนทรพจน์ต้อนรับ และสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีคนใหม่ด้วย
เป็นอันจบพิธีอย่างเป็นทางการในพิธีสถาปนาประธานาธิบดีคนใหม่ โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ของฝรั่งเศส และผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอาทิตย์นี้บรรดาศาลาว่าการของเมืองต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส จะมีพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อเปลี่ยนรูปภาพ (อย่างทางการ) ของประธานาธิบดีคนใหม่มาแทนที่รูปภาพของประธานาธิบดีคนเดิม
สำหรับพิธีสถาปนาของฝรั่งเศสนี้ ช่างแตกต่างกับพิธีของสหรัฐฯ อย่างมาก
ของสหรัฐฯ นั้น ทำกันกลางแจ้งในช่วงเดือนมกราคมที่หนาวจัด ขณะที่ฝรั่งเศสนั้นกลับจัดภายในอาคารท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติจำนวนจำกัด (แม้ว่าจะเป็นฤดูใบไม้ผลิที่ค่อนข้างอบอุ่นสบายๆ ไม่หนาวเลย) ขณะที่สหรัฐฯ จะพยายามวัดแข่งกันว่า ประชาชนจะมาร่วมพิธีมากขนาดไหน? และของฝรั่งเศสไม่มีการสาบานตนแต่อย่างใด หรือไม่มีศาสนาจารย์มาประสาทพรแบบของสหรัฐฯ
พิธีของฝรั่งเศสนั้นดูจะเรียบง่ายกว่าของสหรัฐฯ มาก และพิธีกรของรายการทีวีฝรั่งเศสยังบอกด้วยว่าปีนี้ไม่เหมือนพิธีที่ผ่านๆ มา ครั้งนี้จัดในวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุด เดิมมักจัดวันธรรมดา-ไม่ใช่วันหยุด ปรากฏว่าปาริเซียน (หรือชาวปารีส) มายืนรอแสดงความยินดีต่อผู้นำคนใหม่อย่างล้นหลามในถนนฌ็องเซลิเซ ที่อยู่ตรงทางเข้าทำเนียบ และตลอดทางไปถึงอนุเสาวรีย์แห่งชัยชนะ ที่ประธานาธิบดีมาครงจะเดินทางผ่าน ซึ่งเดิมมาครงตั้งใจจะเดินเท้าจากทำเนียบฌ็องเซลิเซไปยังประตูชัย (ประมาณเกือบ 2 กิโลเมตร) เพราะเขายังหนุ่มแน่นมาก จริงๆ เขาเริ่มต้นเดินจากทำเนียบแล้ว ตอนนั้นเป็นเวลา 11 โมงเช้า ปรากฏมีฝนโปรยปรายลงมา เขาก็เดินพร้อมมีคนกางร่มให้ แต่ต่อมาเขาก็เปลี่ยนไปยืนบนรถทหารที่เปิดประทุนไม่มีหลังคา แล้วค่อยๆ เดินทางผ่านฝูงชน 2 ข้างทางถนนฌ็องเซลิเซไปยังประตูชัย ท่ามกลางประชาชนที่ยืนกางร่มหรือสวมฮู้ด ต้อนรับผู้นำหนุ่มคนใหม่ด้วยเสียงแสดงความยินดีกึกก้อง
ในวันจันทร์ จะเป็นวันแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง เขามีกำหนดการเดินทางไปพบกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นพี่ใหญ่สุดของสหภาพยุโรป คือนางอังเกลา แมร์เคิล พร้อมกับการประกาศชื่อ ครม.ของเขา ซึ่งจะมีชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย
คาดการณ์กันหนาหูมาก รวมทั้งมีโพลที่สะท้อนอยากให้นางคริสติน ลาการ์ด เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเธอจะเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของฝรั่งเศส โดยเธอไม่เคยลงสมัคร ส.ส./ส.ว.เลย แต่เคยเป็นรัฐมนตรีคลังของรัฐบาลประธานาธิบดีซาร์โกซี และปัจจุบันเป็นผอ.ใหญ่ของไอเอ็มเอฟ ซึ่งอยู่ในข่ายที่ประธานาธิบดีมาครงเคยประกาศว่า ครม.ของเขาจะเป็นคนใหม่ๆ (ทั้งอายุมาก, อายุน้อย ที่ไม่ใช่พวกเขี้ยวลากทางการเมือง) รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.ที่พรรคของเขาจะส่งลงสมัครจะต้องมีผู้หญิงถึงครึ่งหนึ่ง และครม.ก็จะมีผู้หญิงครึ่งหนึ่งเช่นกัน (ตามคำขอร้องของภรรยา คือสุภาพสตรีหมายเลข 1 นางบริจิตต์ มาครง)
มีหลายคนเทียบความหนุ่มแน่น ทำลายประวัติศาสตร์ของเขา พร้อมนโยบายใหม่ๆ ที่จะพลิกฟื้นปฏิรูปประเทศ ว่าเขาจะเหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ แห่งอังกฤษ หรืออดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน, อดีตประธานาธิบดีโอบามา แห่งสหรัฐฯ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของฝรั่งเศส ซึ่งเดินหน้านำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศของตนอย่างค่อนข้างมาก
เขาเป็นผู้นำฝรั่งเศสที่อายุน้อยสุด นับจากนโปเลียน โบนาปาร์ต (นโปเลียนเป็นนักรบที่ชาญฉลาดเก่งกล้ามาก รบชนะทั้งยุโรป และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิเมื่ออายุแค่ 35 ปี)
เขาได้คะแนนสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ชาวปารีสลงคะแนนให้ พอๆ กับเมืองใหญ่ๆ ของฝรั่งเศสที่นิยมในตัวเขา แต่คะแนนเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศไม่ให้คะแนนเขา แต่กลับไปให้แก่มาดามเลอ แปน ซึ่งสะท้อนถึงบรรดาผู้ที่ไม่ได้รับผลพวงจากการเปิดพรมแดนสู่โลกาภิวัตน์ และไม่พอใจต่อนโยบายเปิดการค้าเสรี และเปิดพรมแดนรับผู้อพยพต่างชาติ
ปัญหาหนักๆ กำลังรอเขาให้เข้ามาแก้อย่างจริงใจ โปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้จะเป็นพวกที่ถูกโลกาภิวัตน์ละทิ้งไว้ข้างหลังก็ตาม.