ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลายวันก่อน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงมารับฟังข้อมูลเรื่อง“ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ”จากผลการศึกษาของ คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปธรรมาภิบาล ประสิทธิภาพ และการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฯ
อนุกรรมาธิการสปท.ชุดนี้ ยังมี นายอภินันท์ ซื่อธนานุวงศ์ อดีตอธิบดีกรมที่ดิน นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต อดีตผู้ว่าฯเชียงใหม่ พล.อ.ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ อดีตหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหม และ นางศรีสุวรรณ พยอมยงค์
ข้อศึกษาดังกล่าว อนุฯสปท. รายงานต่อกระทรวงมหาดไทยว่า หลังจากมีประกาศ คสช. ที่ 96/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค.57 ให้จังหวัดจัดตังศูนย์ดำรงธรรม โดยให้ผู้ว่าฯ ทำหน้าที่บูรณาการการบริหารจัดการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติการในศูนย์ฯ ให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ จัดทำข้อเสนอทางงบประมาณ มีบทบาทหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา รับเรื่องปัญหาความต้องการ และข้อเสนอของประชาชน รวมถึงให้มีศูนย์บริการร่วมฯ
ทุกกระทรวง กรม ส่วนราชการ จะเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน กรณีจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการบังคับบัญชา กำกับดูแลบรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด (ยกเว้นข้าราชการ 7 ประเภท) สำหรับโครงสร้างนั้น ผู้ว่าฯ จะนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ มีปลัดจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นเลขานุการร่วม โดยผู้ว่าฯ จะบูรณาการปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งการรับเรื่อง ให้ข้อมูลข่าวสาร และงานบริการ
ขณะที่มติครม. ลงวันที่ 14 ต.ค.59 เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ที่ผู้ว่าฯ เป็นผู้ออกคำสั่งในการจัดตั้ง ตามโครงสร้างมีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการฯ มีปลัดอำเภอหัวหน้าสำนักงานอำเภองานปกครองเป็นหัวหน้าฯ มีคณะที่ปรึกษาศูนย์จากทุกภาคส่วนประชารัฐ ชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ชปต.) เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
อย่างไรก็ตาม สปท.ชุดนี้ให้ข้อมูลจากการลงพื้นที่ใน 4 จังหวัด ตลอด 10 เดือน เมื่อ เดือนก.ค.59-เม.ย.60 ประกอบด้วย ยโสธร นครนายก ราชบุรี และกาญจนบุรี ความเห็นโดยสรุปของอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าว เห็นว่า ใน"ด้านโครงสร้างและการจัดตั้ง" พบว่า ภาระผู้นำของผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ที่แตกต่างกัน ทำให้คุณภาพดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมในแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน หรือควรมีการสร้างความเข้าใจว่า ศูนย์ดำรงธรรมเป็นของทุกส่วนราชการ ตามประกาศ คสช.96/2557 ไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น เพื่อสร้างการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ผู้ว่าฯ ควรให้การสนับสนุนศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ให้สามารถแก้ปัญหาของประชาชนระดับอำเภอมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
“ด้านภารกิจ”อนุฯสปท. เห็นว่า เมื่อประชาชนมาใช้บริการ จะต้องมีคำตอบและเป็นที่พึ่งได้ โดยมีช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย “ด้านการสร้างความเป็นธรรม”ในการพัฒนากลไกการช่วยเหลือ เพิ่มหน้าที่ให้“ปลัดอำเภอ”เข้ามาเป็นตัวกลาง ไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้เข้มแข็ง การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและนิติกร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการต้องไม่สร้างปัญหาเอง“ด้านบุคลากร” การสร้างความรู้/ความเข้าใจด้านระเบียบ กฎหมายของผู้ปฏิบัติงาน และความสามารถในการประสานงาน โดยเฉพาะความร่วมมือที่จริงจังของหน่วยกำลังทั้ง ทหาร-ตำรวจ การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน และการเร่งรัด ติดตาม ประเมินผล รวมถึงความต่อเนื่องของผู้ปฏิบัติงาน
สปท.ชุดนี้ยังเสนอว่า ในส่วนของ"มาตรการด้านการบริหารจัดการ" จะต้องกำหนดแผนพัฒนาศูนย์ดำรงธรรม เพื่อสร้างความยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ ควรมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการในส่วนกลาง”เพื่อติดตาม ประเมินผล สนับสนุน โดยให้เน้นหนักด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และมีการจัดทำงบประมาณ โดย คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) เพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังควรมี “ฐานข้อมูล”ที่จำเป็น เช่น ระเบียบกฎหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติ ข้อมูลการประสานงานการเชื่อมโยงกับทุกหน่วยราชการระดับอำเภอ จังหวัด และมหาดไทย ไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ
“ข้อเสนอต่อมาตรการด้านบุคคล”ส่งเสริมให้ “ปลัดจังหวัด”เป็นผู้กำกับดูแล“ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ”โดยตรง ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานบูรณาการงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดในระดับอำเภอ จ่าจังหวัด หรือป้องกันจังหวัด เป็นเลขานุการ และส่งเสริม“ปลัดอำเภอ” ที่รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ มีบทบาทมากขึ้น และอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-5 ปี ในการกำกับดูแลศูนย์ดำรงธรรม
สุดท้ายข้อเสนอ“มาตรการด้านระเบียบกฎหมาย”เนื่องจาก รธน.ปี60 มาตรา 41(2) กำหนดให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว เห็นสมควรให้พิจารณาจัดทำกฎหมายกำหนดมาตรฐานและวิธีการดำเนินงานไว้รองรับสิทธิดังกล่าว
เสนอให้ร่วมมือกับ“สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี”ในการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2552 โดยพัฒนาโครงสร้าง และกลไกลการดำเนินงานที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ จากส่วนกลางมาถึงศูนย์ดำรงธรรมในระดับจังหวัด
“ควรปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 มาตรา 61/1 มาตรา 61/2 และมาตรา 61/3
ปรับปรุง “กฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท พ.ศ.2553 กฎกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.2553 พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2557 ที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางหมู่บ้าน อพป. และข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. 2530”
จากผลการศึกษาดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ให้ความเห็นว่า ผู้ว่าฯ นายอำเภอ จะต้องเอาใจใส่ และให้ความสำคัญกับข้อร้องเรียน/ร้องทุกข์ของประชาชน และควรแสดงให้เห็นว่า “ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ” ได้ดำเนินการติดตามผลของข้อร้องเรียน/ร้องทุกข์อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่อยู่ในอำนาจของศูนย์ดำรงธรรมแล้วก็ตาม เช่น อยู่ในกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน (เจ้าหน้าที่ตำรวจ)
เมื่อต้นปี 2560 “ผู้จัดการสุดสัปดาห์”เคยนำ งบประมาณตลอด 3 ปีของ“ศูนย์ดำรงธรรม”มาเผยแพร่ พบว่า ปีแรก มหาดไทย โอนให้จังหวัดละ 1,190,521 บาท รวม 76 จังหวัดๆ ละ 90,479,600 บาท ปีที่สองของศูนย์ดำรงธรรม (1 ธ.ค.58 ถึง 4 มี.ค.59) มหาดไทย ระบุว่าได้รับงบประมาณงวดแรก 84,919,100 บาท เป็นงบประมาณรายจ่ายปี 2559 โดยจัดสรรให้จังหวัดละ 902,275 บาท รวม 76 จังหวัด 68,572,900 บาท เข้าสู่ปีที่สาม (4 มี.ค.59- 22ธ.ค.59) มหาดไทย ระบุว่าได้รับงบประมาณงวดแรก 86,970,800 บาท เป็นงบรายจ่ายปี 2560 โดยจัดสรรให้จังหวัดละ 1,009,500 บาท รวม 76 จังหวัด 76,722,000 บาท
ขณะที่ 3 ปี ศูนย์ดำรงธรรม ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 272,918,300 บาท มากกว่างบปี 57 ที่ได้รับโอนมา 199,775,895 บาท หักลบแล้วเกินมา 73,142,405 บาท.