xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เอาแน่!กฎหมายกดหัวสื่อ ปูทางกำจัด "เสี้ยนตำเท้า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” สโลแกนที่บรรดาสื่อมวลชนออกมารณรงค์ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ตั้งแท่นชงเรื่องโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.)

กระแสคัดค้านจากสื่อมวลชนเข้มข้นเข้มแข็งมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ที่สปท. เอ่ยอ้างว่าจะปฏิรูปประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือการปฏิรูปสื่อสารมวลชน แต่มีการบิดเบือนเนื้อหาผิดเพี้ยนจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยทำไว้อย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะเรื่องการให้สื่อมวลชนต้อง “ขึ้นทะเบียน”มีใบประกอบวิชาชีพ เฉกเช่นอาชีพอื่นๆ เช่น สภาทนายความ พร้อมกำหนดโทษที่ปรับแต่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากจำคุก 2 ปี เพิ่มเป็น 3 ปี หากไม่มีใบอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นตัวนักข่าวเอง หรือต้นสังกัดที่รับนักข่าวที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน

ปมประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เสียงโต้แย้งว่าจำเป็นด้วยหรือที่สื่อมวลชนจะต้องตีทะเบียนเหมือนอาชีพเฉพาะอื่นๆ อาชีพสภาทนายความ ถ้าว่าความแบบผิดเพี้ยน อาจทำให้คนต้องติดคุก อาชีพแพทย์ ถ้ารักษาผิดเพี้ยน อาจทำคนไข้ถึงตาย แต่อาชีพสื่อมวลชน ถ้าเขียนข่าวผิดเพี้ยน ก็ไม่น่าจะมีใครต้องตายหรือติดคุก
 
อีกทั้งยังมีกฎหมายอื่นๆ กำกับดูแลสื่ออยู่แล้ว ถ้าใครถูกเขียนข่าวจนได้รับความเสียหาย ก็ฟ้องร้องกันไป ไหนจะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ติดหนวดขู่ไว้อยู่แล้วอีกต่างหาก นี่คือหนึ่งในประเด็นที่แหลมคมที่เครือข่ายสื่อสารมวลชนต้องออกมารณรงค์กันอย่างหนัก เพราะไม่ใช่แค่เฉพาะสื่อกระแสหลัก กระแสรอง วันนี้สื่อโซเชียล นักข่าวพลเมือง ก็เข้าข่ายต้องขึ้นทะเบียนลักษณะนี้เช่นเดียวกัน

เสียงคัดค้านที่ดังอื้ออึงทำให้ กมธ.สื่อฯ สปท. ที่มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร และพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ เป็นหัวหอก ต้องยอมถอยไปหนึ่งก้าว ด้วยการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตตรงนี้ไป แต่ก็ยังมีติดติ่งไม่ทิ้งหลักการจะหามาตรการมาล็อกสื่อมวลชนอยู่ดี เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหนยังไม่ชัด

ส่วนประเด็นสำคัญอีกจุดคือ การให้ตัวแทนภาครัฐปลัดกระทรวงต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการใน“สภาวิชาชีพสื่อมวลชน”เสียงคัดค้านรุนแรงเช่นเดียวกัน สมาคมสื่อต่างๆไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง

เพราะการให้คนในภาครัฐ เช่น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มาร่วมเป็นกรรมการควบคุมสื่อ มีอำนาจให้คุณให้โทษ ถามว่า ถ้าเกิดวันหนึ่ง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มีข้อสงสัยทำผิดทุจริตเรื่องใดๆ หรือลักลอบไปกินเด็กที่เมืองสามหมอกขึ้นมา สื่อมวลชนที่เข้าไปตามขุดคุ้ยเกาะติดจะโดนอะไรหรือไม่ อาจโดนอำนาจที่ปลัดคนนี้มีอยู่ในมือเล่นงานเอาคืนจนกระเด็นจากวิชาชีพสื่อมวลชนก็เป็นไปได้

ประเด็นนี้แม้ กมธ.สื่อฯสปท. จะยอมถอยไปก็ถอยแค่ครึ่งก้าว ขอหั่นตัวแทนภาครัฐจากเดิม 4 คน เหลือ 2 คน แต่กระนั้นเสียงคัดค้านจากสื่อสารมวลชนก็ยังไม่เบาลง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีภาครัฐอยู่เลย เพื่อตัดปัญหาการแทรกแซงครอบงำ
 
ทั้งนี้วงการสื่อมวลชน ไม่ปฏิเสธเรื่องการปฏิรูประเทศ ไม่ปฏิเสธการปฏิรูปสื่อสารมวลชน และไม่ปฏิเสธการมี“สภาวิชาชีพ”เพราะที่ผ่านมาก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ท่ามกลางสื่อมวลชนที่แตกแขนงออกมาอย่างมากมายหลากหลายในยุคปัจจุบัน การควบคุมก็ไม่ทั่วถึง บางสื่อก็เสนอข่าวกันเลอะเทอะเปรอะเปื้อน โดยเฉพาะสื่อบนโลกออนไลน์ ที่ใครนึกจะเขียนอะไรก็เขียน ไม่มีจริยธรรมความรับผิดชอบ

ผู้มีอำนาจบารมีไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”ออกมาสบถก่นด่าสื่อเหล่านี้หลายครั้ง หนักข้อก็ถึงขั้นจับกุมคุมขัง

การมี“สภาวิชาชีพ”ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพียงแต่องค์ประกอบกรรมการที่ออกแบบมานั้นยังไม่ดี หากปรับแต่งแล้วทำให้การกำกับควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำคัญว่าต้องไม่มีภาครัฐเข้ามาครอบงำเกี่ยวข้อง ต้องมีเฉพาะวิชาชีพสื่อและองค์กรกลางเท่านั้น จึงพอรับไหว

สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อการเมือง มีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบผู้มีอำนาจ หากเข้ามายุ่งเกี่ยวมีส่วนได้เสียแล้ว ให้คุณให้โทษได้แล้วจะตรวจสอบได้อย่างไรกัน

สุดท้ายสื่อก็เป็นเครื่องมือของรัฐบาลไปเสียหมดบ้านนี้เมืองนี้
 
แต่ดูเหมือนว่าเสียงสะท้อนจะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาของบรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติแห่ง สปท. ล่าสุดกดปุ่มโหวตผ่าน ร่าง พ.ร.บ.กดหัวสื่อไปด้วยเสียงท่วมท้น คงหลักการการมีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพ จับอาการน้ำเสียงส่อเค้า“เอาแน่”

เรายังไม่รู้เจตนาลึกๆ ที่แท้จริงของผู้มีอำนาจยามนี้คืออะไรกันแน่ จะเป็นไปตามที่คนนินทาหมาดูถูกหรือไม่ว่าจ้องจะกดหัวสื่อ ครอบงำ แทรกแซงไม่ให้เสนอข่าวขุดคุ้ย ให้หงุดหงิดรำคาญ เพราะอยู่มา 3 ปี รู้สึกมีปัญหามากกับการทำงานของสื่อมวลชน ปัดแข้งปัดขาการทำงานของรัฐบาลมาตลอด

โดยเฉพาะท่านผู้นำ ที่ออกอาการฟิวส์ขาดหลายครั้ง ไม่รู้ว่างานนี้ชงเอง หรือมีหน่วยสอพลอชงให้อย่างหวานเจี๊ยบ

และหากวิเคราะห์ดูโรดแมป และเจตนารมณ์ของ คสช. ที่วางยุทธศาสตร์อะไรต่างๆไว้อย่างยาวนาน นั่นคือวางแผนไว้แล้วว่าอย่างน้อยๆรัฐบาลชุดหน้า คนในเครือข่ายคสช.จะกลับมากันอีกรอบ ชั่วโมงนี้ก็เป่าแตร ตีฉิ่ง กันสนั่นหวั่นไหว
                 
     อวยกันแหลก “บิ๊กตู่”เหมาะสมกลับมาเป็นนายกฯอีกรอบ ดังนั้น นี่อาจจะเป็นการวางแผนล่วงหน้า ควบคุมทุกอย่าง ควบคุมสื่อ ไม่ให้เป็นเสี้ยนตำเท้าในอนาคต!!!

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี การจะปฏิรูปสื่อครั้งนี้ใครบางคนอาจมีเจตนาที่ดีในการยกระดับสื่อที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันว่ามันหลากหลาย ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ไร้ระเบียบสังคมสิ้นดี ใครบางคนอยากวางกติกาให้เข้าที่เข้าทาง กำจัดสื่อไม่ดีทิ้งไป เหลือไว้เพียงสื่อที่มีจรรยาบรรณ น่าเชื่อถือได้เท่านั้น

ถ้าเป็นแบบนั้นก็ยกมือท่วมหัว อนุโมทนาสาธุ เพียงแต่ต้องฝากให้คิดว่าความหวังดีอาจสร้างผลร้าย กฎกติกาทุกอย่างที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยง ถ้าได้คนดีมาสั่งการควบคุม ผลลัพธ์ย่อมออกมาดี แต่ถ้าได้คนไม่ดีมีวาระแฝง ความฉิบหายก็มาเยือนแน่

การร่างกติกาที่หลายฝ่ายท้วงติง มีช่องว่างช่องโหว่แบบนี้ หากรัฐบาลในอนาคตมีเจตนาไม่ดีต้องการครอบงำสื่อ ปิดปากสื่อไม่ให้วิจารณ์ผลงานตัวเอง หรือขุดคุ้ยเปิดโปงทุจริต ก็จะใช้อำนาจมาจัดการด้วยวิธีต่างๆผ่านกลไกกฎหมายที่เขียนขึ้นกันมานี้
 
ไล่นักข่าวออกจากอาชีพ ปิดโรงพิมพ์ ปิดสถานี ปิดเพจข่าว !!!
 
เมื่อนั้นแม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่พฤติกรรมคุกคามสื่อ ก็อาจจะร้ายกาจยิ่งกว่ายุคเผด็จการ


กำลังโหลดความคิดเห็น