xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

8 ปี “บิ๊กป้อม” กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แจ้งเกิด- และฆ่าทิ้ง “ศชต.” ก่อนระเบิด “บิ๊กซีปัตตานี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บ่ายวันอังคารที่ 9 พ.ค. 60 ประชาชนทั่วประเทศไทย และอาจทั้งโลกที่มีโอกาสเห็นคลิปภาพเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิด 2 ลูกซ้อนที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี

และคงตกใจ สะเทือนใจไม่น้อย เพราะนอกจากแรงระเบิดที่เห็นเป็นไฟลุกท่วมยังมีความเสียหาย และคนเจ็บที่เป็นเด็ก-ผู้หญิง มีทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม อยู่ในสภาพเลือดโทรมกาย แต่ละคนอยู่ในอาการตื่นตระหนก ถือว่าเป็นเหตุรุนแรง อุกอาจสะเทือนขวัญ เขย่าความเชื่อมั่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากที่สุด

ทุกเหตุ -ทุกสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ และให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ ขนาดที่เรียกว่าหากมีใครแหลมนำเสนอภาพอุดจาดตาในโลกโซเชียลฯ จะถูกตำหนิ ถูกมองว่าเป็นคนไม่หวังดีต่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง หนักที่สุดคือกลายเป็นคนขายชาติไปเลยก็มี
 
แต่เหตุการณ์คาร์บอมบ์ ที่บิ๊กซี ปัตตานี เที่ยวนี้คงต้องมองถึงรากเหง้าปัญหาที่แท้จริงกันแล้ว มิใช่ตั้งประเด็นแต่เพียงใครเป็นผู้กระทำ ใครอยู่เบื้องหลัง หรือรุมประณามมือระเบิดเพียงอย่างเดียว ขณะที่ฝ่ายทางการผู้เกี่ยวข้องกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับ “ลอยตัว” มีการอิงกระแสความเห็นอกเห็นใจหล่อเลี้ยงกันไปเรื่อยๆ

หลังเกิดเหตุได้ต่อโทรศัพท์คุยกับ “นายตำรวจระดับ ผกก.ท่านหนึ่ง” มีข้อมูลน่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังว่าความจริงแล้วสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น อยู่ในระดับที่น่าพอใจ หลายจุดรุนแรงกำลังจะถูกประกาศให้เป็นพื้นสีเขียว และเชื่อกันว่าภายในปี 2565 ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง เหตุการณ์รุนแรงจะหมดไป กลายเป็นพื้นที่สีเขียวทุกตารางนิ้ว

แต่เหตุการณ์ในห้วงเดือนที่ผ่านมา กลับทำให้ไม่มั่นใจว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้จะสงบเรียบร้อยจริงหรือเปล่า และแต่ละเหตุรุนแรงมีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข่าวโคมลอยที่หาเรื่องบั่นทอนความน่าเชื่อถือกันไป

ไม่ว่าจะมาจากเหตุผลใดรัฐบาลภายใต้ความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ท่านไม่อาจพ้นภาระนี้ได้
 
นายตำรวจที่ลงไปปฏิบัติราชการท่านนี้ปะติดปะต่อ ถึงเหตุผลความล้มเหลวในด้านการข่าวของฝ่ายเราว่าน่าจะมาจากเหตุผล 2 เรื่องคือ 1. ขวัญกำลังใจของคนทำงาน 2. การยุบศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ให้ไปรวมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และ 3. กำลังพลที่ย้ายไปฏิบัติหน้าที่ส่วนหนึ่งไม่เต็มใจลงไปทำงาน

ย้อนกลับไปเหตุการณ์ “วันเสียงปืนแตก” อันเป็นปฐมบทของเหตุการณ์รุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้กรณีคนร้ายบุกเข้าปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาส อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47

รัฐบาสไทยต้องระดมสรรพกำลังพร้อมงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาปีๆหนึ่งกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยมีตัวเลขที่น่าตกใจว่า ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่เกิดเหตุรุนแรงเราต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท

วันที่ 14 ก.พ. 52 สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นคือ มีมติ ครม.ให้แยกกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ออกจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ หรือ ศชต. ด้วยเหตุผลเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจ

ผ่านมา 8 ปี ฝ่ายตรงข้าม และเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งประชาชน บาดเจ็บล้มตายกันนับไม่ถ้วน การเปลี่ยนแปลงมีทั้งบวกและลบ แต่เรื่องขวัญ-กำลังใจ ยังอยู่ครบถ้วน เนื่องจากระเบียบ ตร.มีสิทธิพิเศษ 9 ข้อเป็นแรงจูงใจ อาทิ ให้ทวีคูณอายุราชการ เบี้ยเลี้ยงพิเศษ หรือกระทั่งหากรอดตายกลับมา ก็สามารถเลือกโรงพักที่ประสงค์จะไปปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ที่สุดหลังจากตำรวจกลุ่มหนึ่งได้สิทธิต่างๆ จน “เข้าไลน์-ขึ้นหม้อ” เตรียมสู่ตำแหน่งใหญ่จู่ๆ ผู้มีอำนาจกลับสั่งยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ ของข้าราชการตำรวจที่ลงไปปฏิบัติภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือที่เรียกว่าคำสั่งชักบันไดหนี จนเกิดภาวะระส่ำระสาย สร้างความแตกแยกในแวดวงตำรวจอย่างไม่เคยมีมาก่อน
 
ท่ามกลางบรรยากาศซังกะตายนั้น วันที่ 4 เม.ย. 60 มีมติสำคัญของ คณะรัฐมนตรีภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช. พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ควบตำแหน่งรวม.กลาโหม สั่งยุบ ศชต. ให้ไปรวมกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และให้ยกฐานะกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ( บก.ทท.) ขึ้นเป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ซึ่งมีรายละเอียดในการเกลี่ยกำลังพลต่อมาว่า ให้ กก. 1-6 ขึ้นตรงกับภาค 9 ส่วน กก.7-10 ขึ้นตรงกับกองบัญชาการแห่งใหม่ หรือ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว นั่นเอง ส่วนภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ กองกำลังรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ภายใต้การนำของทหารรับผิดชอบไปเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งงบประมาณส่วนใหญ่ด้วย

ที่ผ่านมาโดยการตัดสินใจของคณะผู้บริหาร เมื่อปี 52 และในปัจจุบันมีบุคคลหนึ่งเดียวที่มีบทบาทสำคัญ นั่นคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งมีส่วนร่วมก่อตั้ง ศชต. และยกเลิกในเวลาอีก 8 ปีต่อมา แสดงว่าที่ผ่านมานั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตัดสินใจผิดพลาด หรือสถานการณ์มันผ่อนคลายแล้วจึงผ่องถ่าย ศชต. แปลงกายมาเป็นกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ท่ามกลางความรุนแรงเพิ่มความถี่ และอานุภาพทำลายล้างมากขึ้น รัฐบาลเองคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจากการบริหารงานแบบชักเข้าชักออกรวมทั้งบรรยากาศของการทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น “นักรบ” ส่วนหนึ่งมิได้มีความฮึกเหิมแต่กลับ อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียแขน เพราะขาดขวัญ กำลังใจ ไม่รู้อนาคต ไม่รู้วันนี้จะอยู่หรือจะตาย

ต่างจากฝ่ายตรงข้ามที่มีตัวตายตัวแทน เหตุระเบิดกว่า 30 จุด ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าขีดความสามารถรวมทั้งความบ้าบิ่นไม่ได้ลดน้อยถอยลง กลับดูเหมือนว่าจะเหิมเกริมจนไม่ทราบว่าเราหรือเขาที่เป็นฝ่ายตั้งรับกันแน่ ... กระทั่งถึงคิววางระเบิดห้าง “บิ๊กซี” กลางเมืองปัตตานี สร้างความสะท้านสะเทือนภาพลักษณ์ประเทศไทยกันไปทั้งโลก
 
สิ่งที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทยและนานาประเทศพวกเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอีก 5 ปีข้างหน้า แผ่นดินด้ามขวานจะเข้าโหมตความสงบสุขจริงตามที่ฝ่ายทหารได้ประเมินสถานการณ์ไว้.


กำลังโหลดความคิดเห็น