xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แม้ว” เซ้ง “ชาติไทย” ทำพรรคสาขา ฝากเลี้ยง “ลิ่วล้อ” เดินยุทธศาสตร์ “แยกกันตี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป้อมพระสุเมรุ

การเลือกตั้งครั้งต่อไปน่าสนใจกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการเลือกตั้งช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันมักจะอยู่เพียงแค่ 2 ขั้วการเมือง ระหว่าง “ระบอบทักษิณ” กับ “ค่ายประชาธิปัตย์” ขณะที่พรรคขนาดกลาง -ขนาดเล็ก มักจะเป็น “ไม้ประดับ” ที่แบะท่าคอย “พรรคเบอร์หนึ่ง” เกี่ยวไปร่วมรัฐบาลเพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้นในเวทีสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

แต่กับกติกาใหม่ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไป น่าจะส่งผลให้ทิศทางในสนามเลือกใหม่ครั้งต่อไปปรับโฉมหน้าไปพอสมควร ด้วยสูตรเลือกตั้งพิสดารพันลึก ที่เรียกว่าแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” กำหนดให้มี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 350 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน ซึ่งจะมีการนำคะแนนส.ส.เขตทั้งที่ชนะ และแพ้การเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้

ตามสูตรนี้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับที่ 1 จะไม่สามารถชนะขาดได้ด้วยกติกาที่ “กำหนดเพดาน” ไว้ ซึ่งว่ากันว่าสูตรเลือกตั้งที่ว่านี้ ถูกคิดค้นคิดมาเพื่อ “บอนไซ” พรรคใหญ่ไม่ให้ได้เสียงในสภาฯ ถล่มทลาย เหมือนที่ครั้งหนึ่ง “ระบอบทักษิณ” เคยสร้างประวัติการณ์ กวาด ส.ส.ครึ่งค่อนประเทศนั่นเอง

ยิ่งประกอบกับบทบาทของ “สภาฯลากตั้ง” สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งอีก 250 เสียง ส่งผลให้ “ไม้ประดับ” อย่าง พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก ทั้งที่เคยมี และไม่มีส.ส.ในสภา จะมีส.ส.เข้าไปนั่งในเวทีนิติบัญญัติ ในจำนวนที่มากขึ้น พรรคใหญ่ก็จำเป็นจะต้องอาศัยพรรคเหล่านี้เพื่อร่วมกันก่อตั้งรัฐบาลมากขึ้น
พูดง่ายๆ ก็คือ จากเดิมอาจไม่ต้องง้อเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้ต้องออกแรงง้อให้พรรคเหล่านี้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน
แน่นอน พรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 3 ย่อมต้องเนื้อหอมที่สุด ตามที่มีการคาดการณ์กันว่า น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค และมี “เสี่นเน” เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นเจ้าของพรรค น่าจะการันตีพรรคอันดบต้นๆ ต่อจากพรรคเพื่อไทย ของขั้วทักษิณ และ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงในภาคใต้คอยหนุนอยู่

จากการประเมินทำให้มั่นใจได้ว่า พรรคภูมิใจไทย จะเป็นพรรคตัวแปรที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะในฐานะพรรคสำรองของฝ่ายการเมือง หรือ “พรรคทหาร” ที่มีความสัมพันธ์อันดี และจะได้รับการสนับสนุนจาก “บิ๊ก” ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ ที่ตายตัว ยิ่งถ้าเห็นพัฒนาการของพรรคเพื่อไทย ในหลายปีมานี้ ตั้งแต่เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ต่อเนื่องมาถึงพรรคพลังประชาชน กระทั่งก่อกำเนิดเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แม้จะถูกสกัด บล็อก แค่ไหนจากกติกา แต่เป็นพรรคที่สามารถปรับสภาพตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ได้เสมอ
เช่นเดียวกันกับครั้งนี้ ที่พรรคเพื่อไทย น่าจะปรับตัวเองให้เข้ากับกติกา และหาจุดโหว่เพื่อทำให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งอีกครั้งได้ ตามกระแสข่าวว่า “นายใหญ่” สั่งปรับกลยุทธ์เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้าเอาไว้แล้ว ตาม “สูตรแยกกันตี” ปรับสูตรเพื่อกวาดต้อน ส.ส.ให้ได้มากที่สุด เพื่อไปชนกับ “พรรค ส.ว.” ที่แต่งตั้งโดยคสช. และแบเบอร์มีเก้าอี้ 250 ที่นั่งในสภาฯ

แต่ในเมื่อ “รวมกันตายหมู่” เพดาน ส.ส.ไม่สามารถขยับได้ตามกติกาที่ล็อกเอาไว้ หากทุกคนยังอยู่ภายใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย จึงต้องเปลี่ยนเป็นการ “แยกกันตี” โดยการกระจายกำลังไปยังพรรคต่างๆ ที่มีการจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอาไว้

แม้จะเป็นพรรคโนเนม ไม่คุ้นหู แต่เมื่อคนในพรรคเพื่อไทย ที่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ มาตลอด ไปสังกัด แล้วชูสโลแกนว่า เป็นพวกเดียวและมีอุดมการณ์เดียวกับพรรคเพื่อไทย การชนะเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่ยากเย็นเลยแม้แต่น้อย

แต่สำหรับพรรคขนาดกลางที่มีต้นทุนส.ส.อยู่แล้ว ก็เป็นพรรคที่ควรจะหาไว้เป็นพวกเช่นเดียวกัน เหลือบมองไปดูรอบๆ พรรคภูมิใจไทย อย่างไรเสียก็ไม่มาอยู่ด้วยกันแน่ พรรคชาติพัฒนา วันนี้ปริมาณส.ส.ไม่ได้มากมายก่ายกอง มีแค่พื้นที่ จ.นครราชสีมา เท่านั้น พรรคพลังชล ก็เช่นเดียวกันเป็นพรรคจังหวัด

เมื่อหันมามอง “พรรคชาติไทยพัฒนา” ที่มีต้นทุนส.ส.ในระดับเกิน 10 ที่พอจะเอามาเพิ่มปริมาณเสียงตัวเองได้สูสีกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนเมื่อครั้ง “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชา ยังไม่ลาโลก จุดยืนค่อนข้างชัดว่า พร้อมอยู่กับทุกพรรค ขอให้ได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น ตามหลักคิด “ไม่อดอยากปากแห้ง”

ครั้นมาในตอนนี้เมื่อเสียหัวเรือใหญ่ไป ทุกคนแทบจะจับทางพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้เลยว่า จะเอาอย่างไรต่อ มีเพียงการชูสโลแกนขายคนรุ่นใหม่ ที่นำทีมโดย “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของ “บรรหาร” กับยังบลัดอย่าง “ภราดร ปริศนานันทกุล” และ “กรวีร์ ปริศนานันทกุล” บุตรชายสองคนของ “เฮียตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง เท่านั้น

ในขณะที่ประเด็นเรื่องหัวหน้าพรรคยังเงียบเชียบ ไม่มีความชัดเจนว่า สุดท้ายจะเอาใครขึ้น นับตั้งแต่งานศพ “บรรหาร” เสร็จสิ้น ไล่เรียงตัวใหญ่ๆ ในพรรค “เฮียตือ” หมดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้วจากคดี เหลือ “นิกร จำนง - ประภัตร โพธสุธน” ที่เป็นบิ๊กเนมการเมืองขึ้นมาหน่อย

กระนั้นการนำคนนอกตระกูล “ศิลปอาชา” มาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็มีโอกาสที่ความขลังของ “พรรคบรรหาร” และการโกยแต้มในเมืองสุพรรณบุรี อาจจะลดลง จึงมีการมองไปที่ทายาททางการเมืองของ “หลงจู๊บรรหาร” อย่าง “ลูกท็อป” และ “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา ที่เคยมีดีกรีเป็นรัฐมนตรีมาก่อน

หาก “บรรหาร” ยังอยู่ เชื่อกันว่าผู้สืบทอดแทนเขาไม่น่าจะใช่ “หนูนา” ซึ่งเป็นลูกผู้หญิงตามความเชื่อคนจีน แต่ขณะเดียวกัน “ลูกท็อป” ก็ดูจะไม่ค่อยพิศวาสเรื่องการเมืองเสียเท่าใด กระนั้นเมื่อ “บรรหาร” ไม่อยู่แล้ว โอกาสที่จะเป็น “หนูนา” ก็เป็นไปได้สูง

เพียงแต่การให้ “หนูนา” มาทำหน้าที่ตรงนี้ อาจไม่มีเพาเวอร์เท่าไหร่นัก เป็นเพียงสัญลักษณ์ของ “ศิลปอาชา” เท่านั้น

เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยสำคัญคือ “ทุน” หาก “บรรหาร” ยังอยู่ เขาคือคนที่จัดการทุกอย่าง เรื่องเงินไม่มีปัญหา ด้วยบารมี และคอนเนกชั่น แต่เมื่อขาดเขาไป ต้องยอมรับว่า “ชาติไทยพัฒนา” ประสบปัญหาหนักกันเลยทีเดียว
ซึ่งคนที่เห็นวิกฤติในโอกาสดูเหมือนจะเป็น “คนแดนไกล” ที่ว่ากันว่า ในช่วงงานศพ ต่อสายตรงถึงลูกสาวคนโตของ “บรรหาร” เพื่ออาสาดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายในพรรค นัยหนึ่งก็คือ ขอเข้ามาดูแลจัดการพรรคอยู่เบื้องหลัง

เสียงลือเสียงเล่าอ้างดังสนั่นว่า ปลายสาย “เซย์เยส” เรียบร้อย

การ “เทกโอเวอร์” มีเงื่อนไขไม่มาก โดยให้คงใช้ชื่อพรรคเดิม แนวทางเน้นพื้นที่พรรคภาคกลาง สุพรรณบุรี อ่างทอง ยังเป็นฐานที่มั่น และตัวผู้สมัคร ส.ส.คนเดิมของพรรค แต่ขอล็อกเก้าอี้หัวหน้าพรรคไว้ให้ “ทายาทหลง จู๊” ไม่ว่าจะเป็น “ลูกท็อป” หรือ “หนูนา” ซึ่งแว่วว่าขณะที่รายแรกมีภาษีดีกว่าพี่สาวที่ไม่อยากกลับมาสู้รบตบมือกับสิงสาราสัตว์ ที่เคยขย้ำ “เตี่ยบรรหาร” เรื่องสัญชาติ จนเจ้าตัวต้อง เสียน้ำตาจากความโหดร้ายของเวทีการเมืองมาแล้ว

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือ ฐานพื้นที่ของพรรคชาติไทยพัฒนา จะขยายกว้างขึ้น เพื่อทำให้พรรคได้ปริมาณ ส.ส.มากขึ้นกว่าเก่า กล่าวคือ เพดานส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา ในกติกาฉบับใหม่ยังสามารถทำได้มากกว่านี้อีกหลายที่นั่ง โดยพรรคเพื่อไทย จะส่งบรรดาผู้สมัคร - อดีต ส.ส.พรรค ที่มีฐานเสียงตัวเองหนาแน่นอยู่แล้ว มาฝากเลี้ยงไว้ โดยให้มาสมัครเข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนาแทน

ตามแผนนี้ก็จะทำให้ที่นั่ง ส.ส.ของ “พรรคบรรหารบุรี” เพิ่มมากขึ้น จนสามารถทำได้ใกล้เคียงกับพรรคภูมิใจไทย หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เสร็จสิ้น “พลพรรคเพื่อไทย” ที่เกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่นมาตลอด 3 ปีในยุค คสช.เรืองอำนาจ ก็จะเริ่มขยับทันที

สมาชิกในพรรคสีแดงหลายคนจะทยอยเก็บข้าวเก็บของไปอยู่บ้านใหม่ แต่ “เจ้านายเดิม”.
กำลังโหลดความคิดเห็น