ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปมร้อนร่างกฎหมายกดหัวสื่อว่าระอุแล้วยังไม่คุโชนเท่ากับวาทะของ “ท่านนายพลกุนเชียง” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ดูท่าเหมือนจะแค้นฝังหุ่นหรือแค้นสั่งฟ้าสื่อมาแต่ชาติปางก่อน จึงได้สบถ “....ผมไม่เข้าใจ ไอ้สื่อพวกนี้จริงๆมันต้องจับไปยิงเป้า....” ในขณะที่อภิปรายในการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เมื่อวันก่อน
ท่านนายพลกุนเชียง สารภาพว่ารบกับสื่อมาตลอดและคงคุกรุ่นขุ่นมัวอยู่ในใจจนเผลอพลั้งปาก ไม่นับคำสบถสารพัดจนต้องขอถอนคำพูดกลางที่ประชุมแบบรู้ตัวเองดีว่าวาจาแบบนี้มีปัญหาแน่
ระดับสมาชิก สปท.ที่กร่างขนาดอยากจะจับสื่อยิงเป้านี่เท่ากับล่อเป้าชัดๆ ด้วยเหตุฉะนี้ ก่อนที่จะไปดูว่าร่างกฎหมายกดหัวสื่อแต่เรียกเสียสวยหรูว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นมีปัญหาเช่นไร ตามไปรู้จัก “บิ๊กเยิ้ม” หรือ “นายพลกุนเชียง” กันเสียก่อน
วีรกรรมของ “บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 นายทหาร ตท.12 ร่วมรุ่น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สร้างทั้ง “ชื่อเสียง” เอาไว้มากมายเมื่อคราวรั้งตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2
ช่วงนั้น ต้องถือว่า “บิ๊กเยิ้ม” มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาอยู่ในระดับเลวร้ายสุดๆ จากข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร โดยจุดชนวนมาจากเหตุที่กัมพูชาขึ้นมาสร้างวัด-ชุมชน-ตลาด และสร้างถนนขึ้นมายังปราสาทพระวิหาร เป็นการก่อสร้างถาวรวัตถุในขณะที่ “บิ๊กเยิ้ม” นั่งเป็นแม่ทัพภาค 2 ดูแลรับผิดชอบพื้นที่อยู่นั่นเอง
แถมแม่ทัพใหญ่คุมภาคอีสาน ก็มิได้สนใจและมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย โดย “บิ๊กเยิ้ม” แม่ทัพภาคที่ 2 เวลานั้น ถึงกับให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นเป็นเรื่องของ “อิฐแค่ 2-3 ก้อน” ทำเอาประชาชนคนไทยที่นั่งดูหน้าจอทีวีถึงกับอึ้งกิมกี่ไปตามๆ กัน
แต่ในเวลาต่อมา ก็กลับมีภาพซ้อนของบิ๊กเยิ้มไปเล่นบททุบป้ายหินขนาดใหญ่ ที่เขียนว่า “ที่นี่กัมพูชา” บริเวณตลาดใกล้วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ในพื้นที่ทับซ้อนที่กัมพูชาเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร ขัดกับเอ็มโอยู 2543 จนได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษ” แบบงงๆ กันไป เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ถาวรวัตถุทั้งวัดทั้งตลาดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร “ใคร” เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และ ถูกใช้เป็น “พื้นที่ทำกิน” ของ “ใคร” บางคน หรือไม่
เกิดข้อสงสัยกันไปทั่วบ้านทั่วเมืองว่า ทางการไทยโดยเฉพาะนายทหารใหญ่แห่งกองทัพภาค 2 “ตีบทแตก” หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวร่ำลือหนาหูว่า “ท่านแม่ทัพ” ไม่ใช่ธรรมดา เพราะมีความใกล้ชิดกับนักธุรกิจกัมพูชาและระดับผู้นำประเทศเลยทีเดียว เนื่องจากเป็น “นายทหารอีสานใต้” อยู่ในพื้นที่ชายขอบติดกัมพูชามาตลอด
สมญานามน่ารักเป็น “นายพลกุนเชียง” ก็มาจากภารกิจสำคัญที่ “ท่านแม่ทัพ” คอยส่งเสบียงทั้ง ข้าวสาร กุนเชียง หัวไชโป๊ ไปบรรณาการให้ผู้บังคับบัญชากัมพูชาทุกระดับอย่างทั่วถึงอีกต่างหาก
ไม่เท่านั้น พล.อ.ธวัชชัย ยังได้รับการขนานนามว่า “เสี่ยเยิ้ม” ซึ่งคงไม่ต้องอรรถาธิบายว่า มีต้นสายปลายเหตุอย่างไร ไม่นับรวมถึงการใช้วิชาก้นหีบขั้นสุดยอดที่ทำให้มีวันนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการที่ถูกเปิดโปงเรื่องราวสารพัดสารพันจนต้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษจะทำให้ “นายพลเยิ้มย้วยเขมร์” ผูกใจเจ็บ “สื่อมวลชน” มาจนบัดนี้หรือไม่ ด้วยเหตุดังกล่าว พอได้ทีเลยโชว์ “วุฒิภาวะสูงส่ง” ด้วยการประกาศจะประหารสื่อกลางสภาฯ
องค์กรวิชาชีพสื่อรวมตัวกันไปยื่นหนังสือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงประวัติ “บิ๊กเยิ้ม”ก็จะพบว่า ได้รับการอุ้มชูจาก “เพื่อน” มาโดยตลอด สมัยที่ซอยเท้าอยู่ในตำแหน่ง “รองแม่ทัพ 2 - แม่ทัพน้อย 2” อยู่นานสองนาน ก็เป็น “เพื่อน” ที่ไปกระชากขึ้นมารับเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 2 ที่จ้องมานาน แล้วพอ คสช. เข้ามา “บิ๊กเยิ้ม” ที่ไม่ได้มีบทบาทในช่วงยึดอำนาจอะไรมาก เพราะเกษียณไปแล้ว ก็ถูกตั้งให้เป็น สนช. ชุดแรก
ทว่า แม้จะมีบุญหรือบุญมีแต่ก็มีกรรมมาบัง เหตุเป็น สนช. ได้ไม่กี่วัน ก็โดนสื่อลากสาแหรก เคยไปเป็นรองหัวหน้าพรรค และสมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ในนามพรรคชาติพัฒนา ของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่คุ้นเคยกันมาสมัย “บิ๊กเยิ้ม” เป็นใหญ่อยู่ที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 เมืองโคราช พอโดนคุ้ยว่าขัดคุณสมบัติ สนช. ตามรัฐธรรมนูญฯ ก็ต้องไขก๊อกออกไป
และนั่นก็เป็นอีกกรณีที่ทำให้แค้นฝังหุ่นกับนักข่าว
ถึงกระนั้น ก็ไม่รู้ว่าเพราะเป็น “เพื่อน” หรือเก่งกล้าสามารถกว่าคนอีกครึ่งค่อนประเทศ ในที่สุด คสช. ก็หาตำแหน่งให้ลง โดยแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อเนื่องมาถึง สปท. ชุดปัจจุบัน เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานซูเปอร์บอร์ด กสทช. ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. บอร์ดการนิคมฯ บอร์ดไทยออยล์ ที่เคยได้รับมาก่อนหน้านั้น
ต้องไม่ลืมว่า นอกจาก “บิ๊กเยิ้ม” จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ “นายกฯประยุทธ์” แล้ว ยังเป็นสมาชิกสายประจำของมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ภายในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ซึ่งเปรียบเหมือน “ทำเนียบรัฐบาล” แห่งที่สอง เพราะเป็นแหล่งรวมของ “ตัวละคร” หลากหลาย ภายใต้ร่มบารมีของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ อีกด้วย
ถึงเวลานี้ แม้ “บิ๊กเยิ้ม” แม้จะเกษียณอำลาตำแหน่งไปนานหลายปีแล้ว แต่อิทธิพลของ “ท่านนายพลกุนเชียง” ยังแผ่อยู่ในกองทัพภาคที่ 2 ที่ดูแลพื้นที่ “อีสานใต้” เนื่องจากสนิทสนมกับ ออกญาลึม เฮง นายทุนใกล้ชิดนายกฯฮุนเซน ของทางฝั่งเขมร พร้อมๆ กับปรากฏชื่อ “บิ๊กกี่” เพื่อนซี้ “พี่ใหญ่” ในการสานสัมพันธ์ธุรกิจชายแดนแห่งเบื้องบูรพาทิศอีกด้วย
และไม่ใช่แค่ธุรกิจตามแนวชายแดนเท่านั้น ในระยะนี้ “บิ๊กเยิ้ม” ยัง “รับงานใหญ่” จัดขบวนแห่ปลุกผีโครงการขุด “คลองไทย” ภาคต่อของ “คอคอดกระ” แม้ว่าคณะผู้นำรัฐบาลทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ตอกฝาโลงไม่เอาๆ เพราะไม่อยากเล่นเรื่องร้อนที่อาจถูกโยงถึงปัญหาความมั่นคงของชาติ แต่ “บิ๊กเยิ้ม”ก็ยังเดินหน้าโดยดึงเอา พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน เข้ามาร่วมเป็นทัพหน้า ช่วยผลักดันโครงการนี้ ชนิดไม่มีถอย
ทั้งหมดนั้นอาจเป็นเรื่องเล่าหน้าฉากของ “บิ๊กเยิ้ม” จากบรรดาสื่อแต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ หากเทียบกับของจริง ซึ่งไม่มีใครรู้ตื้นลึกหนาบางได้ดีที่สุดเท่ากับเจ้าตัวนายพลกุนเชียงเอง
สำหรับการทำธุรกิจที่เปิดเผยต่อสาธารณชนมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า พล.อ.ธวัชชัย ถือหุ้นธุรกิจตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ขณะยศ ‘พ.ท.’ ในชื่อ บริษัท เกษตรอิสระบุรีรัมย์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 10 ก.ค. 2534 ทุน 1 ล้านบาท ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ตั้งเลขที่ 435/2 ถ.จิระ ต.ในเมือง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยมี พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี (บิ๊กตุ๋ย) อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยุค รสช. ปี 2534-2535 ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 5,200 หุ้น มีหุ้นส่วนรวม 13 คน อาทิ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร (บิ๊กเหวียง) พล.ต.ทวีสิทธิ์ หนูมิตร (ขณะนั้น) พล.ต.จิระศักดิ์ พรหโมปกรณ์ (ขณะนั้น) พ.ท.ธวัชชัย คนละ 450 หุ้น ต่อมาได้เลิกกิจการและถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง
ต่อมา เมื่อ 16 ก.ค. 2541 พล.อ.ธวัชชัย (ขณะยศ พ.อ.) จดทะเบียนจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้ำดื่ม-น้ำแข็ง เอส พี ทุน 300,000 บาท ทำธุรกิจขายน้ำดื่ม น้ำแข็งขนาดเล็ก (น้ำแข็งหลอด) ที่ตั้งเลขที่ 230 หมู่ที่ 5 ถ.ราชสีมา-ปักธงชัย ต.โพธิ์กลาง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พ.อ.ชลิต เมฆมุกดา (ขณะนั้น - ต่อมา พล.ต.ชลิต เมฆมุกดา เป็น ผบ.ฉก.ปัตตานี) ร่วมลงหุ้นคนละ 150,000 บาท และได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2546
ปัจจุบัน พล.อ.ธวัชชัย เป็นกรรมการแห่งเดียวคือ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด จดทะเบียนวันที่ 3 ม.ค. 2550 ทุน 300 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้บริการเช่าโครงข่ายสายสัญญาณ รับเหมาติดตั้งและก่อสร้างระบบข่ายสายสัญญาณ ที่ตั้งเลขที่ 48 ซ.รุ่งเรือง ถ.รัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร มี บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ โดยมี พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ร่วมเป็นกรรมการด้วย
ต่อมาแปรสภาพเป็น บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ทุน 500 ล้านบาท ให้บริการโทรคมนาคมโดยลงทุนก่อสร้างโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงทั่วประเทศไทย เพื่อให้บริการวงจรเช่าความเร็วสูงและให้บริการพื้นที่เซิร์ฟเวอร์ พื้นที่วางเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์การให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งและศูนย์สำรองข้อมูล พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เป็นกรรมการร่วมกับบุคคลอื่น มีบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ เป็นบริษัทในเครือบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ โฮลดิ้ง จำกัด ของ นายสมบัติ อนันตรัมพร นางชลิดา อนันตรัมพร กลุ่มนี้มีบริษัทในเครือหลายแห่ง
วกกลับมาถึงเรื่องร่างกฎหมายกดหัวสื่อที่ สปท. กระเหี้ยนกระหือรืออยากตีทะเบียน อยากควบคุมพฤติกรรมสื่อภายใต้วาทกรรม “จรรยาบรรณ” และ “วิชาชีพ” จนเป็นเรื่องร้อนฉ่าขึ้นมาตีคู่กับข่าวเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ โดยล่าสุด เมื่อวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์กรสื่อรวมตัวเรียกร้องให้ล้มร่างกฎหมายดังกล่าว จากที่ก่อนหน้านี้ ตัวแทน 30 องค์กรสื่อ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและขอให้ยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมกับเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และเดินหน้าปฏิรูปสื่อโดยการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
สาระสำคัญในจดหมายเปิดผนึก ระบุถึงเหตุผลที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อและขัดแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ หลายมาตรา จากนิยามคำว่า “ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่กินความกว้างขวางมาก ครอบคลุมถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภทนอกจากสื่อวิชาชีพแล้ว บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และ 35
ที่สำคัญ ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สปท. ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน
นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่สำคัญคือในปัจจุบันก็มีกฎหมายกำกับดูแลสารพัดสารพัน ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
นี่ไม่นับรวมถึงปฏิกิริยาต่อต้านจากโลกสังคมออนไลน์ที่รุนแรงเสียยิ่งกว่า
นอกจากนั้น รัฐบาลคงมั่นใจเกินไปว่า หลังการเลือกตั้ง จะยังคงสามารถบริหารจัดการประเทศได้ต่อไป แต่ในทางกลับกัน หากมีการสลับขั้วทางการเมืองหรืออำนาจเปลี่ยนฝั่ง คงไม่ต้องคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากกฎหมายตีทะเบียนสื่อมีผลบังคับใช้
ประเมินจากท่าทีของรัฐบาลหลังการเคลื่อนไหวขององค์กรสื่อมีแนวโน้มว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คงถูกแก้ไขอีกหลายยกและอาจถูกตีตกไปตามข้อเรียกร้องและกระแสกดดันของสังคมที่ใช้สื่อออนไลน์กันถ้วนทั่ว ทั้งนี้ ตามกระบวนการตรากฎหมายหลังจากผ่าน สปท. แล้ว ก็โยนลูกมายังรัฐบาล ซึ่งต้องมาฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับเรื่องไปดำเนินการ ก่อนนำเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีก 3 วาระ
“.... เรื่องของ พ.ร.บ.สื่อฯ เดี๋ยวผมจะดูแลให้” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังตัวแทน 30 องค์กรสื่อ เข้ายื่นหนังสือ และหลังการประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา
ดูๆ ไปแล้ว การปล่อยเรื่องร่างกฎหมายคุมสื่อออกมาในช่วงจังหวะนี้ พร้อมกับบทก้าวร้าวของนายพลกุนเชียงอาจเป็นเพียงความพยายามเบี่ยงกระแสจากการที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามเรื่องที่ ครม.งุบงิบอนุมัติซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งไม่ได้ผลเพราะกลายเป็นว่ารัฐบาลเจอศึกสองด้านเข้าไปพร้อมๆ กัน อย่างช่วยไม่ได้
ที่สำคัญคือยังกระทบชิ่งไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรงอีกต่างหาก ด้วยความที่ “บิ๊กเยิ้ม” เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งทำให้มิอาจมองเป็นอื่นได้ว่า รัฐบาลปรารถนาที่จะคุมสื่อหรือปิดปากสื่อจริงๆ
งานนี้ เรียกว่า ไม่มีได้ มีแต่เสียล้วนๆ