ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บทสรุปตามคำพิพากษาในคดีดังที่รู้จักกันในชื่อ “คดีตายายเก็บเห็ด” ได้รับความคลี่คลายตามหลักฐานแล้วว่าจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของ “ขบวนการมอดไม้” มีความผิดข้อหา “คดีบุกรุกป่า” ต้องรับโทษจำคุก 5 ปี
ทั้งนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2553 โดย นายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน ทั้งสองอายุ 55 ปี ตกเป็น “จำเลย” ในข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์โดยการทำไม้ในป่าดงระแนง ต.คลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ตัดและโค่นไม้สักไม้กระยาเลยที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ออกจากต้นจำนวน 700 ต้น รวมทั้ง ร่วมกันมีไม้สักและไม้กระยาเลยที่ยังไม่ได้แปรรูป จำนวน 1,148 ท่อน
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 446/2560 ระบุตอนหนึ่งความว่า “..เมื่อพบเจ้าหน้าที่จึงได้วิ่งหนี ปรากฏหลักฐานการตัดไม้เป็นแปลงปลูกไม้สวนป่า ปี 2527,2531,2532,2536 มีการตัดโค่นไม้สักกับไม้กระยาเลย ขนาดโตประมาณ 30 ถึง 90 ซม. อายุประมาณ 15 ถึง 20 ปี ที่กำลังโต เป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันเป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าว ตามพฤติกรรมแห่งคดีเชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง และยังมีการติดตามเพื่อขยายผล.."
โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ซึ่งเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวเกิดคำถามขึ้นในสังคมมากมาย นำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรม วิพากษ์กันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายรังแกประชาชน จวบจนกระทั่งคดีสิ้นสุดข้อเท็จจริงปรากฏชัดด้วยหลักฐานและคำพิพากษาศาล
สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ “สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล” โฆษกศาลยุติธรรม จะมาร่วมถอดบทเรียนถึงเรื่องราวและข้อเท็จจริงทั้งหมดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปรุงแต่งคำให้การ การแสวงหาความยุติธรรมภายใต้อำนาจศาล กระบวนการต้นน้ำสู่ปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม คำพิพากษาในบางคดีที่อาจไม่ถูกใจประชาชนแต่ชอบธรรมตามบรรทัดฐาน
ตามคำพิพากษาจำเลยทั้งสองคนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการมอดไม้ แล้วการขยายผลจับกุมตัวการที่แท้จริงจะมีการดำเนินการต่อไปในลักษณะใดได้บ้าง
ต้องอธิบายว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจ ในการหาตัวผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมกระบวนการฝ่ายไหน ประเด็นนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับทางศาลยุติธรรมครับ ฉะนั้น ทางศาลยุติธรรมจะไม่ทราบเรื่องนี้นะครับ ต้องรอจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวน และท่านอัยการได้ฟ้องร้อง ศาลถึงจะทราบว่าผู้ร่วมกระทำความผิดมีความเกี่ยวพันกับคดีใดบ้าง
เราจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกา มีทั้งผู้ร่วมกระทำความผิดที่ไม่ใช่จำเลยทั้งสองคน มีผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลครับ
โดยปกติแล้ว ศาลมีบทบาทในการสอบสวนเพิ่มได้หรือไม่ อย่างไร
ต้องอธิบายให้ฟังว่ารูปแบบของการยื่นฟ้องคดี อธิบายให้จำเลยฟังและจำเลยรับสารภาพแล้วพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นรูปแบบปกติที่เกิดขึ้นในการพิจารณาคดีทั่วๆ ไปของศาล เนื่องจากว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป ศาลก็จะต้องนำพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย
อย่างนี้กระบวนต้นน้ำถือเป็นปัญหาหรือเปล่า
ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นความราบรื่นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีปัญหาอะไรแต่ว่าอาจจะเป็นคดีบางประเภทหรือบางเรื่องเท่านั้นครับ ที่อาจจะมีข้อขัดข้องในการดำเนินการบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าต้องแก้ไขต่อไปครับ
ท่านคิดว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมคืออะไร
ทางศาลยุติธรรมไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นความผิดพลาดของกระบวนยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำนะครับ พิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย พิจารณาคดีในศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์คือ พนักงานอัยการยื่นฟ้องแล้ว จำเลยก็รับสารภาพ ศาลก็ตัดสินไปตามรูปคดี คือกล่าวได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสืบพยานข้อเท็จจริง ในการหาพยานหลักฐาน เพราะว่าในการตัดสินเป็นการตัดสินตามการรับสารภาพของจำเลยนะครับ
ที่ผ่านมามีคดีลักษณะเดียวกันเยอะไหม
การรุกป่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ตามพฤติกรรมของการกระทำความผิดบางพื้นที่เป็นร้อยเป็นพันไร่ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญของบ้านเมืองเรา กระทบต่อนิเวศวิทยา กระทบต่อแหล่งน้ำ กระทบทุกๆ อย่างนะครับ ดังนั้น เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องร่วมมือกัน ปราบปราม
มีการขยายผลไปถึงตัวการใหญ่นายทุนที่ได้ผลประโยชน์หรือไม่
โดยลักษณะของคดีผมไม่ทราบว่าหน่วยงานอื่นจะดำเนินการอย่างไรนะครับ แต่ทางศาลทราบเรื่องก็ต่อเมื่อมีการยื่นสำนวนคดีต่อศาล ที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้างในการดำเนินคดีต่างๆ มีรูปแบบของผู้กระทำความผิดหลายรูปแบบ
กรณีการปรุงแต่งคำให้การของจำเลยและการรายงานข่าวคลาดเคลื่อน ส่งผลให้สังคมเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรม ส่วนตัวท่านมีความคิดเห็นอย่างไร
ประเด็นแรกเป็นสิทธิของจำเลยในการต่อสู้ ทางศาลเราหน้าที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้าง ต้องเรียนว่าศาลพิจารณาพิพากษาคดีจากหลักฐานที่ปรากฏขึ้นในสำนวนจากการนำเสนอของคู่ความนะครับ และตัดสินคดีไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับกระแสความรู้สึกนึกคิดของประชาชนทั่วๆ ไปที่อาจได้ข้อมูลมาด้านเดียว ศาลฎีกาของเรายืนหยัดอยู่ตรงส่วนนี้มาตลอด
อีกประเด็นเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง ตั้งแต่รูปเรื่องดำเนินคดีก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ทำให้ดูว่าจำเลยทั้งสองนั้นเป็นผู้สูงอายุ แต่ความจริงแล้วขณะที่ถูกฟ้องมีอายุเพียง 48 ปี เป็นตัวอย่างหนึ่ง นอกจากนั้น การรับฟังข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในส่วนศาลยุติธรรมนั้นให้ความสำคัญกับการรับฟังในส่วนของพยานหลักฐานที่เข้ามาสู่สำนวนตามบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาตามกระแสหรือข้อมูลภายนอกครับ ดังนั้น การพิจารณาของเราจะอยู่ในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานของสังคมในทางสากล
มีการพาดพิงถึงบุคคลที่แนะให้จำเลยทั้งสองโกหก จะมีการดำเนินการใดหรือไม่
ข้อมูลในส่วนนี้ไม่มีปรากฏในสำนวนของศาลว่าจำเลยทั้งสองจะถูกหลอกลวงหรือไม่ แต่เพิ่งมาปรากฏในชั้นอุทธรณ์ ถ้าเกิดศาลชั้นต้นได้ทราบข้อมูลก่อนถ้าเกิดขึ้นในบริเวณศาลก็อาจมีความผิดในฐานละเมิดอำนาจศาลได้ครับ
ดูเหมือนสังคมไทยกำลังวิพากษ์กันว่าคนจนไม่รู้กฎหมายตกเป็นเหยื่อกระบวนการยุติธรรม ท่านมองประเด็นนี้อย่างไร
ผมคิดว่าการวินิจฉัยคดีของศาลอยู่ในสำนวน ตัดสินไปตามบทบัญญัติของศาลไม่ได้คำนึงเลยครับว่า จำเลยคนนั้นจะเป็นคนร่ำรวยหรือยากจน ทุกคนเมื่อมาถึงศาลแล้วก็มีความ เสมอภาคกันตามกฎหมาย ศาลจะใช้ความยุติธรรมดำเนินการกับทุกฝ่ายเหมือนกันทุกฝ่าย (มีการช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อประชาชนในเบื้องต้น) เบื้องต้นไม่ว่ากระบวนการในชั้นสอบสวน เช่น สภาทนายความ กระทรวงยุติธรรม หรือในส่วนของศาลเองขณะนี้ เรามีศูนย์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในคดีอาญา ศูนย์นี้เมื่อประชาชนเดินเข้ามาถึงศาลไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหาย หรือแม้แต่พยานก็สามารถมาข้อความรู้ข้อมูลที่ตัวเองสงสัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีของตัวเอง ในส่วนนี้ที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน แม้กระทั่งศาลก็อาจจะให้เข้ามานั่งอธิบายข้อมูลให้ประชาชนได้ความรู้ในส่วนต่างๆ
ขอความให้ความเชื่อมั่นครับว่า ศาลยุติธรรมจะพิจารณาพิพากษาคดีไปตามพยานหลักฐานในสำนวนเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น เชื่อมั่นได้ว่าศาลยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมทางกฎหมายได้อย่างเสมอภาคกันครับ