ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ธุรกิจการศึกษาพุ่งติดทอปเท็นดาวรุ่งในปี 2560 โดยประเมินเม็ดเงินคร่าวๆ มูลค่ากว่าแสนล้านบาทและมีกลุ่มทุนแห่ลงทุนสินทรัพย์อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2558 เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการศึกษาที่มีแนวโน้มแข่งขันกันสูงจากการสอบวัดระดับของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กำลังเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มชาวต่างชาติที่ไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทย ขยายฐานการเติบโตเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยสำรวจเม็ดเงินค่าใช้จ่ายบริการด้านการศึกษาเฉพาะช่วงเปิดเทอมใหญ่เดือนพฤษภาคม 2559 ในระดับก่อนอุดมศึกษาจากผู้ปกครองทั่วประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 60,900 ล้านบาท เติบโต 2% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีมูลค่า 59,700 ล้านบาท แยกเป็นค่าเทอมโรงเรียนเอกชนประมาณ 40,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอมประมาณ 16,700 ล้านบาท ค่าเรียนกวดวิชาประมาณ 2,800 ล้านบาท และค่าเรียนเสริมทักษะอื่นๆ อีก 800 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 พบว่า มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการศึกษาที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 302 ราย มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 3,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีมูลค่าเพียง 459 ล้านบาท และมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจการศึกษาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 5 ประเทศแรก คือ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย รัสเซีย และอังกฤษ
ทั้งแนวโน้มการเติบโตและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลดึงดูดให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่กระโดดเข้าสู่สมรภูมิธุรกิจการศึกษา ด้านหนึ่งสามารถแก้ปัญหาบุคลากรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการขององค์กร อีกด้านหนึ่งต่อยอดธุรกิจ ทั้งการสร้างแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์และการขยายไลน์ เพื่อสร้างจุดขายเร่งการเติบโตในอนาคต
กรณีอย่าง “โรงเรียนสาธิตพัฒนา” ซึ่งบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นำร่องทดลองโมเดลสร้าง “เมือง” ในที่ดินผืนใหญ่ย่านรามอินทรา สามารถสร้างฐานการตลาดที่แข็งแกร่ง
จากนั้นเดินหน้าขยาย “อาณาจักรที 77” ย่านสุขุมวิท 77 เนื้อที่รวม 50 กว่าไร่ สร้าง “HUB” แห่งใหม่ โดยนับเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยมีพื้นที่รวม 30 ไร่ ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม 6 โครงการและทาวน์เฮาส์ 1 โครงการ มีรีเทลมอลล์ “ฮาบิโตะ” ซึ่งประเดิมเปิดสาขาแรก โครงการอพาร์ตเมนต์ระดับพรีเมียม ซึ่งจับมือกับบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) และจุดขายสำคัญ คือ แคมปัสใหม่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ สาขา 2 ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2560
แผนสร้างเมืองและ HUB ต่อยอดให้แสนสิริเดินหน้าโครงการที่อยู่อาศัยและเติมเต็มองค์ประกอบต่างๆ ทั้งเส้นทางคมนาคมขนส่ง การเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า คอมมูนิตี้มอลล์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และโรงเรียน
ทั้งนี้ แสนสิริเริ่มแตกไลน์ธุรกิจการศึกษาอย่างชัดเจนภายใต้โครงการ “โรงเรียนสาธิตพัฒนา” เมื่อ 10 กว่าปีก่อน และวางแผนลึกๆ จะขยายสาขาต่อไปในทำเลอื่นๆ เพื่อสร้างโรงเรียนสาธิตที่ดีที่สุด โดยร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ก่อนขยายชั้นเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2554
อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนสาธิตพัฒนาเน้นจับกลุ่มลูกค้าตลาดบนเช่นเดียวกับโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ต่างๆ ของแสนสิริ โดยชั้นเตรียมอนุบาล-อนุบาล 3 อยู่ที่เทอมละ 53,500 บาท ประถมศึกษาปีที่ 1 อยู่ที่ 62,500 บาท ป.2 อยู่ที่ 67,500 บาท ป.3 อยู่ที่ 72,500 บาท ป.4-6 อยู่ที่ 75,000 บาท และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 อยู่ที่เทอมละ 80,000 บาท
แน่นอนว่า โรงเรียนสาธิตพัฒนาประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งมาจากการหยิบแบรนด์ “สาธิต” ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ปกครองมาอย่างยาวนาน แม้พ่อแม่หลายรายอาจไม่รู้ประวัติศาสตร์การเกิดโรงเรียนสาธิตแห่งแรก คือ โรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน ที่ก่อตั้งขึ้นตามดำริของศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2496 โดยริเริ่มโครงการจัดการเรียนการสอน ตั้งหน่วยสาธิตในแผนกฝึกหัดครูมัธยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สังกัดกองเตรียมอุดมศึกษา กรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียน มศว. ปทุมวัน จึงถือเป็นต้นแบบที่สร้างความตื่นเต้นให้วงการศึกษาไทยในยุคสมัยนั้น เป็นแหล่งผลิตหลักสูตรใหม่ๆ และครูชั้นเยี่ยมของประเทศดึงดูดให้เหล่าเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ และชนชั้นกลาง ส่งลูกหลานเข้ามาศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้
มหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่างสนใจเปิดโรงเรียนสาธิต รวมถึงสถาบันราชภัฏ หรือวิทยาลัยครูในอดีต จนปัจจุบัน มีโรงเรียนที่ใช้ชื่อ “สาธิต” จำนวนมาก โดยมีโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นโรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรก เปิดดำเนินการเมื่อปี 2547 ตามด้วยโรงเรียนสาธิตพัฒนา และล่าสุด บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งรุกธุรกิจการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตัดสินใจเปิดโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ สาธิต PIM ภายใต้ความร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในปี 2559 และจะเปิดการเรียนการสอนนักเรียนชุดแรกในปีการศึกษา 2560
สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนสาธิต PIM อยู่ที่เทอมละ 60,000 บาท หรือ 120,000 บาทต่อปี
นอกจากนี้ มีกลุ่มทุนอีกหลายค่ายที่ขยับตัวรุกธุรกิจการศึกษา เช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เตรียมขยายธุรกิจการศึกษารองรับกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยร่วมลงทุนโรงเรียนนานาชาติ American International School (AIS) จากฮ่องกง สร้างโรงเรียนนานาชาติระดับเกรดเอ บนที่ดิน 167 ไร่ ใกล้กับโครงการธนาซิตี้ ถนนบางนา-ตราด เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2563 และตั้งเป้ารองรับนักเรียนประมาณ 2,500 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม อายุระหว่าง 3-18 ปี
แผนดังกล่าวถือเป็นแผนเดิมของโครงการธนาซิตี้ตามมาสเตอร์แพลนการพัฒนาที่จะมีทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม สนามกอล์ฟ และที่อยู่อาศัย
ด้านบริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด ของมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ กำลังเร่งพัฒนาโรงเรียนไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล (Thai International School) บนที่ดิน 30 กว่าไร่ ถนนรังสิต-ปทุมธานี งบลงทุนทั้งโครงการประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยตั้งเป้ารับนักเรียนสูงสุด 1,000 คน แต่จะนำร่องเปิดการเรียนการสอนในเดือนสิงหาคม 2560 ปีแรกรับเด็กชั้นเตรียมอนุบาลถึงเกรด 3 และจะเปิดครบทุกระดับชั้นถึงประถมศึกษาในปี 2565 ภายใต้หลักสูตรการเรียนการสอนตามระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และรูปแบบโรงเรียนนานาชาติที่เน้นความเป็นไทย
ส่วนค่าเทอมต่อปีการศึกษา ชั้นเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล 3 อยู่ที่ 300,000 บาท, เกรด 1-5 ประมาณ 450,000 บาท, เกรด 6-8 อยู่ที่ 500,000 บาท และเกรด 9-12 อยู่ที่ 600,000 บาท
ขณะที่ “เครือสหพัฒน์” ซึ่งเน้นภาพลักษณ์ความเป็นองค์กรธุรกิจแห่งความซื่อสัตย์ ประกาศจับมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้ง “สถาบันยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก (Institute of Strategic and Appreciative Business) หรือ I-SAB” โดยหมายมั่นสร้างสถาบันการศึกษาผลิตนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรมตามแนวทางของผู้ก่อตั้งอย่าง ดร. เทียม โชควัฒนา ซึ่งมีปรัชญาคุณธรรมถึง 100 ข้อ คำคิดและทัศนคติที่ดีในการบริหาร
ระยะแรก I-SAB เน้นการสอนหลักสูตรระยะสั้นให้กลุ่มทายาทธุรกิจที่เป็นคู่ค้าของสหพัฒน์ก่อนขยายสู่คนภายนอก ได้แก่ หลักสูตรปรัชญากลยุทธ์ธุรกิจเชิงบูรณาการ (The CEO) หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารกลยุทธ์สู่ความสำเร็จขององค์กร (The Master) และหลักสูตรสุดยอดพนักงานบริการรุ่นใหม่ (The Rookie) ใช้เวลา 5 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้จากวิทยากรระดับประเทศในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ที่เป็นทฤษฎีพื้นฐานของงานบริการและปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมอง การอัพเดตความรู้ใหม่ๆ ในโลกของธุรกิจการให้บริการจากวิชาต่างๆ เช่น กระบวนการจัดการในโมเดิร์นเทรด วิชาเจาะลึกพฤติกรรมลูกค้าสมัยใหม่ กลยุทธ์และเทคนิคการให้บริการ เพื่อรับการเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี)
ด้านบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ทุ่มเม็ดเงินกว่า 300 ล้าน เปิดตัว “เอพี อะคาเดมี่” (AP Academy) สถาบันเพื่อการเรียนรู้ครบวงจรด้านอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมทั้งการบริหาร บริการ ออกแบบ ก่อสร้าง และซื้อขาย ทั้งกลุ่มพนักงานของเอพีและบุคคลภายนอกองค์กร เช่น นิสิตนักศึกษา โดยมี “มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป” ร่วมสนับสนุน ทั้งงบและเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมอบรมเดินทางไปดูงานถึงประเทศญี่ปุ่น
อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า โครงสร้างหลักของเอพี อะคาเดมี่ ประกอบด้วย เอพี พร็อพเพอร์ตี้ สคูล (AP Property School) เน้นการพัฒนาคุณภาพ ทักษะ ความรู้ ความสามารถให้บุคลากรของเอพี ไทยแลนด์, เอพี โอเพ่นเฮ้าส์ (AP Open House) เน้นการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และทักษะให้นิสิตนักศึกษาฝึกงาน เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ชีวิตการทำงาน และเอพี ซิมโพเซียม (AP Symposium) หรือส่วนเวทีเสวนางานดีไซน์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วม โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและฟังแนวคิดต่างๆจากวิทยากร กูรูด้านออกแบบ
การเข้ามาบุกธุรกิจการศึกษาของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แม้ด้านหนึ่งช่วยขยายโอกาสทางการศึกษารูปแบบใหม่ๆ แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายพุ่งสูงมาก ที่สำคัญเป็น “โอกาส” ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น!!