xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งุบงิบ - ปิดลับ “เรือดำน้ำ” รัฐบาล คสช.เล่นของร้อน แลกประโยชน์ชาติ หรือประโยชน์ใคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเริ่ม.. ที่มีต่อมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการจัดซื้อ เรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท จากโครงการทั้งหมดที่ต้องจัดซื้อ 3 ลำ ในวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท

โดยเฉพาะการที่ ครม.ลงมติอนุมัติ “แบบเงียบๆ” ที่กว่าสัปดาห์จึงมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน แถมเป็นการเปิดเผยแบบที่ “โดนจับได้” เสียก่อนด้วย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็อ้างว่า “เป็นความลับ” จึงไม่ได้มีการแถลงภายหลังการประชุม ครม.เหมือนมติทั่วๆไป

ทั้งตัว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ผู้เสนอวาระเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เอง ที่ตะแบงว่า ทุกอย่างดำเนินการตามขั้นตอน ไม่น่าจะมีอะไรที่น่าสงสัย

“เอกสารนี้เป็นเอกสารลับ เขาไม่เปิดเผยกัน ทุกเรื่องที่เป็นเอกสารลับ ไม่ว่าจะเป็น ครม.ไหนก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเอกสารทางด้านยุทธศาสตร์ เรื่องยุทธวิธีเป็นเอกสารลับทั้งหมดอยู่แล้ว ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีเอกสารลับทั้งหมด” พล.อ.ประวิตร ว่าไว้เช่นนั้น

สำทับด้วย “นายพลไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ “อ้างตาใส” ว่า ประชุม ครม.แต่ละครั้งมีเรื่องเข้าที่ประชุมถึง 40-70 เรื่อง จะให้ชี้แจงทุกเรื่องคงไม่ได้ จึงหยิบมาเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจ ที่สำคัญวันนั้นไม่มีใครสอบถามเรื่องเรือดำน้ำเลย

"วันนั้นไม่มีคนถามเรื่องเรือดำน้ำ ประกอบกับหน่วยงานต้นเรื่องคือกองทัพเรือ และ กระทรวงกลาโหมกำหนดเป็นชั้นความลับ หรือที่รู้จักกันในนาม เอกสารมุมแดง หมายความว่า เมื่อแจกให้ ครม.พิจารณาแล้ว ก็เก็บเอกสารกลับคืน จึงไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวมาแถลง แต่ไม่มีการปกปิด ปิดบัง ซ้อนเร้น หรือมุบมิบแต่ประการใด” โฆษกรัฐบาล พ่วงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ บอก
เรื่องที่อ้างว่า “ลับ” นั้น ฟังดูไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง เพราะประเทศที่ไม่ได้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยตนเองอย่างไทยทันทีที่ทำข้อเสนอสั่งซื้อ โลกก็รู้แล้วว่ากองทัพไทยมีอะไรบ้าง หรือที่อ้างว่ากลัวความลับทางทหารรั่วไหลนั้นเป็นเพราะไม่อยากให้สังคมได้รับรู้ถึง “เสปก” ที่แท้จริงของเรือดำน้ำ 
ที่สำคัญการที่คนในรัฐบาลบอก ไม่มีอะไรลับลมคมในอะไร แต่คนใช้งานอย่าง “กองทัพเรือ” โดย พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ บอกยังไม่รู้เรื่อง หลังจากที่ข่าวว่า ครม.อนุมัติโครงการแล้วหลุดออกมาแรกๆ

ครั้นจะบอกว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ไม่สลักสำคัญ ก็ย้อนแย้งกับจุดยืนที่ผ่านมาของ “รัฐบาล คสช.” อีก เพราะทีมงานหัวแถว-ปลายแถว เคยเรียงหน้าพากันออกมาบอกว่า การมีเรือดำน้ำสำคัญหนักหนาต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ

อีกทั้งงบประมาณที่จัดสรรไปซื้อก็มูลค่ามากถึง 1.35 หมื่นล้านบาทในเฟสแรก มากกว่างบประมาณทั้งปีของบางกระทรวงเสียอีก เงินที่มาจากภาษีประชาชนขนาดนี้ อาจจะไม่สำคัญต่อรัฐบาล แต่น่าจะสำคัญต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน

จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกมองว่า มีความพยายามหลบๆ ซ่อนๆ อย่างมีพิรุธ คล้ายว่ามี “เจตนาไม่บริสุทธิ์” จนอาจขอยึดสมญานาม “เสือตะวันออก” ของทีมงานบูรพาพยัคฆ์คืน แล้วเปลี่ยนเป็น “เสือซุ่ม” แทนมากกว่า

พอมีพิรุธแบบนี้ ก็ห้ามยากที่สังคมจะคิดเลยเถิดไปถึง “ผลประโยชน์แอบแฝง” โดยเฉพาะเรื่อง “คอมมิชชั่น” ที่อยู่คู่กับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในทุกยุคทุกสมัย คำนวณเล่นๆจากงบประมาณโครงการ 3.6 หมื่นล้านบาท หากมี “เงินทอน” กระเด็นออกมาซัก 10-20 % ก็ปาเข้าไปหลักหลายพันล้านบาทเข้าให้แล้ว

จึงไม่แปลกที่การชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมต้องมีคำว่า “โปร่งใส” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ทั้ง พล.ท.สรรเสริญ ที่บอกว่า การอนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำไปนั้นเป็นแบบจีทูจีกับประเทศจีน มี การ อนุมัติจำนวน 1 ลำ วงเงินประมาณ 1.35 หมื่นล้านบาท เป็นการจ่ายเงินแบบผูกพันงบประมาณ 3-4 ปี ของกองทัพเรือ และยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส รูปแบบจีทูจีโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลจะปิดบัง หมกเม็ด เพราะเป็นภาษีประชาชน

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร พูดแบบปัดรำคาญว่า การจัดซื้อจัดหาต้องทำให้โปร่งใส เป็นการซื้อในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) โดยตรง และสาเหตุที่เลือกซื้อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากราคาถูกมากเมื่อเทียบกับ 9 ประเทศ ทุกประเทศแพงกว่าทั้งหมด ซึ่งนอกจากมีราคาแพงแล้วยังไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือต่างๆติดมาด้วย

แต่ประโยคที่มันทำเอาประชาชนเจ้าของเงินแทบสำลักอยู่ที่ “ทั้งหมด 3.6 หมื่นล้านบาท จำนวน 3 ลำ ส่วนรายละเอียดจะแบ่งจ่ายอย่างไรสื่อไม่จำเป็นต้องรู้ เอาเป็นว่าใช้เวลาทั้งหมด 11 ปี เป็นการทยอยจ่าย”

จนมีคำถามต่อว่า เมื่อสื่อไม่จำเป็นต้องรู้ แล้วประชาชนรู้ได้หรือไม่

ลับลมคมในที่สำคัญอีกประการคือ รายละเอียดของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่เคย โฆษณา ไว้ดิบดีนั้น “เปลี่ยนไปพอสมควร” อย่างไม่มีเหตุผลด้วย

จากเดิมที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงเรื่องที่เลือกศึกษาและซื้อของจากประเทศจีน เนื่องจากมีข้อเสนอสุดพิเศษ ด้วยโปรโมชั่นซื้อ 2 แถม 1 คือ ซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ แถมให้ฟรีๆอีก 1 ลำ แต่พลันที่เรื่องออกมาจาก ครม.ว่าตกลงซื้อจากประเทศจีนแล้ว ในราคา 1.35 หมื่นล้านบาทต่อลำ กลับกลายเป็นว่าต้องใช้งบประมาณ 3.26 หมื่นล้านบาทต่อ 3 ลำ เท่ากับตกลำละ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นราคาเต็ม ที่มีส่วนลดให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

โปรโมชั่น 2 แถม 1 ที่เคยคุยเขื่องเอาไว้ หายไปอย่างไร้ร่องรอย

ซ้ำร้ายรัฐบาลไทยยังไม่ใช้โอกาสนี้ ที่จัดซื้อเรือดำน้ำแบบ “จีทูจี - รัฐต่อรัฐ” ในการ “บาร์เตอร์เทรด” แลกสินค้าผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่กำลังจะเน่าคาโกดังรัฐ ไปแลกกับเรือดำน้ำ ซึ่งหากเป็นเหตุผลว่า ทางผู้ขายหรือ “พี่จีน” ต้องการเป็น “เงินสด” มากกว่าสินค้า ก็คงพอรับได้ และเท่ากับว่าเราไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เลยแม้จะเป็น “ผู้ซื้อ” ก็ตาม

แต่หากเป็นเหตุผลของ “ผู้ซื้อ” ที่อยากจ่ายเป็น “เงินสด” อันนี้แหละน่ากลัว เพราะหากมี “เงินทอน” จริง ก็ยังไม่เคยเห็นการทอนกลับเป็นข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรเลย

และแม้มติ ครม.จะอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนไปแล้ว 1 ลำถ้วนก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาล คสช.ยังไม่เคลียร์ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน รวมไปถึงเหตุผลที่มีน้ำหนัก มากพอในการซื้อเรือดำน้ำในภาวะเศรษฐกิจที่เข้าขั้นเลวร้ายเช่นนี้

คำถามแรกที่มีมานานแสนนาน มีว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำหรือ??” ซึ่งหลายคนในรัฐบาล ตลอดจนฝ่ายสนับสนุนก็ยืนยันว่าต้องมีเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ โดยเฉพาะเมื่อชาติอาเซียนล้วนมีเรือดำน้ำกันหลายประเทศ หากพิจารณาตาม “ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ” ก็จำเป็นต้องมีไว้เพื่อให้ชาติอื่น “เกรงใจ” อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกไว้ในวาระหนึ่ง

ตลอดจนข้อสงสัยที่ว่า ความลึกโดยเฉลี่ยของอ่าวไทยอยู่ที่ 60-80 เมตร จะเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติการของเรือดำน้ำหรือไม่ หรือคุณภาพของเรือดำน้ำสัญชาติจีน จะไปสู้รบตบมือกับ เรือ ดำน้ำของฝรั่งมั่งค่าได้หรือไม่นั้น เหล่านี้ “รัฐบาล คสช.” เองก็เคยอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาทไปเมื่อปี 2558 เพื่อให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนมาแล้ว

ดังนั้นหากมัวไปถามเรื่องความจำเป็น-เหมาะสม ก็เชื่อว่ารัฐบาลก็ยังยืนกรานว่าจำเป็น-เหมาะสมอย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยจะมีเรือดำน้ำสักลำสองลำ หรือไม่มีเลยก็ไม่มีนัยสำคัญใดๆ ในทางยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น

คำถามที่รัฐบาล คสช.ควรตอบให้ได้มากกว่าคือ ความคุ้มค่าและความเหมาะสมในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนมูลค่า 1.35 หมื่นล้านบาท ในภาวการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในขณะนี้มากกว่า กระทั่งเปิดช่องให้ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และผู้คนของระบอบทักษิณหยิบยกไปโจมตี

การที่รัฐบาล คสช.กล้าเสี่ยง “เล่นของร้อน” ขนาดนี้ ก็ต้องคำนวณมาแล้วว่า คุ้มค่าการลงทุน หรือได้คุ้มกับที่เสียไป เพียงแต่สิ่งที่ได้มาคือประโยชน์ชาติ หรือประโยชน์ของใคร

ดังนั้นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเตรียมไว้อย่างรัดกุมมากกว่าการตะแบงถึงความจำเป็น-เหมาะสมของโครงการ อยู่ที่เรื่องการคอร์รัปชั่น หรือแลกผลประโยชน์ส่วนตัวของคนเพียงไม่กี่คนมากกว่า ซึ่งสิ่งที่จะสะท้อนได้ดีคือ คุณภาพของเรือดำน้ำ

เพราะคนไทยยังไม่ลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นานนักกับกรณีของ “จีที 200-เรือเหาะ” และ “รถหุ้มเกราะยูเครน” ที่เสียงบประมาณสั่งซื้อมา แต่ใช้ไม่ได้จนต้องปลดประจำการและยังคงหลอกหลอนคนไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้

อีกไม่นานคงรู้กัน.....


กำลังโหลดความคิดเห็น