xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อากาศร้อนวิปริต ค่าไฟขึ้นวิปลาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อุณหภูมิความร้อนทั่วประเทศไทยทะยานแตะ 40 องศาฯ แถมไฟสุมทรวงชาวบ้านร้านตลาด ด้วยการขึ้นค่าเอฟทีอีก 12.52 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้นทันทีในเดือน พ.ค. - ส.ค. 2560โดยเบื้องหลังการเรียกเก็บค่าเอฟทีในครั้งนี้เรียกว่า “ไม่ธรรมดา”

สภาพร้อนจัดที่คนไทยต้องเผชิญในปี 2560 หลายพื้นที่เข้าชิงชัยทุบสถิติที่เคยถูกบันทึกไว้เมื่อ “ปี 2559 ประเทศไทยทำลายสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 50 ปี ด้วยอุณหภูมิ 44.6 องศาฯ” ณ วันที่ 28 เม.ย. 2559 บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สำหรับปีนี้หลายจังหวัดยังคงเผชิญสภาพอากาศร้อนทะยานสู่ 40 องศาฯ บ้างลือว่าอุณหภูมิสูงสุดในปีไก่ไฟนี้อาจจะ “ร้อนทะลุ 47 องศาฯ” รวมทั้งมีการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงปลายเดือน เม.ย. - พ.ค. นี้ที่ 32,000 เมกะวัตต์

วันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมายืนยันผลการประเมินของกรมอุตุฯ ในปี 2560 ความว่า อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 43 องศา เท่านั้น ในแถบภาคเหนือและกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ปีนี้อุณหภูมิความร้อนจะทำลายสถิติเดิม เนื่องจากในปี 2560 ไม่ได้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ ดังเช่นในปี 2559 ซึ่งรับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนิโญโดยตรง จึงส่งผลให้ประเทศไททำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี

ทว่า สภาพอากาศของประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) อธิบายว่าเนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย โดยอุณหภูมิทั่วประเทศจะอยู่ที่ 40 - 41 องศาฯ

คาดการณ์ว่าสภาพอากาศร้อนที่สุดจะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากของประเทศไทย โดยในปีนี้จะเริ่มจากใต้สุดของประเทศไทยที่ อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. แล้วดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่ภาคเหนือ

หลังจากนั้นวันที่ 27 เม.ย. เวลาประมาณ 12.16 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากของกรุงเทพฯ โดยช่วงร้อนที่สุดวัดได้ 39 องศาฯ จวบจนวันที่ 19 พ.ค. จะเคลื่อนไปตั้งฉากทางตอนเหนือสุดบริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตามลำดับ

กล่าวคือ อุณหภูมิความร้อนเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องความกดอากาศต่ำ อิทธิพล จากมรสุมที่พัดผ่านเข้ามายังประเทศไทย เหล่านี้ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติประมาณ 44 - 45 องศาฯ แต่จากการตรวจสอบอุณหภูมิปีนี้ยังไม่น่าจะสูงไปกว่า 40 - 41 องศาฯ

อีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้สภาพอากาศ กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศขึ้น ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) อัตราใหม่ 12.52 สตางค์ มีผลระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ จากปัจจุบันที่ค่าเอฟทีติดลบอยู่ที่ 37.29 สตางค์ต่อหน่วย หรือเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 3.38 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป

โดยยกเหตุสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนจากพลังงานหมุนเวียน และการปิดซ่อมแหล่งก๊าซยาดานาในเมียนมา เมื่อวันที่ 25- 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ที่ต้องใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า 30 ล้านลิตร ทำให้ไม่สามารถตรึงค่าเอฟทีได้

กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. - พ.ค. ที่ 32,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นต้องเตรียมแผนรับมือโดยเตรียมก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมรับอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ายังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ

ทว่า เบื้องหลังแท้จริงแล้วภาระค่าไฟที่แพงขึ้นที่ประชาชนต้องแบกรับไม่เป็นเช่นนั้น ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เปิดเผยข้อเท็จจริงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตัดทอนใจความสำคัญความว่า

“ที่ค่าไฟที่มันแพงนั้น มีหลายปัจจัย สาเหตุการณ์หนึ่งที่ปิดปากไม่ยอมพูดกันก็คือผลิตไฟฟ้าเกินอยู่หว่า ๑๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ส่วนเกินคือต้นทุนจำนวนมหาศาลและคิดกลับมายังค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย

“เฉพาะค่าความพร้อมที่ต้องจ่ายให้เอกชนโดยไม่ต้องผลิตเพราะไฟฟ้าเกิน แต่เซ็นต์สัญญาแล้วไม่ผลิตก็ต้องจ่ายปีที่แล้วมูลค่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ทั้งหมดนี้คือต้นทุนของค่าไฟฟ้า พอพูดถึงค่าเอฟทีซึ่งถูกคิดจากความเปลี่ยนแปลงของ ๓ ปัจจัย และปัจจัยที่มีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของค่าเอฟทีมากที่สุดคือ ค่าไฟฟ้าจากภาคเอกชน

“ดัดจริตเพื่อจะเก็บค่าไฟแพง พ่วงด้วยกระแสสร้างโรงไฟฟ้ถ่านหิน ค่าเอฟที ๑ สตางค์ ได้เงินราว ๒,๐๐๐ ล้านต่อปี ค่าเอฟที ๑๐ สตางค์ ได้เงินราว ๒๐,๐๐๐ ล้านต่อปี

“ระบบพลังงานที่ทรงอิทธิพลอยู่ได้เพราะเงินที่มาจากกระบวนการอันไม่ชอบธรรม ซึ่งขูดรีดจากประชาชนนั้น สามารถนำไปให้คอมมิชชั่น แลกกับสารพัดผลประโยชน์”

ประสิทธิชัย ยังเปิดเผยต่อไปว่า “การคำนวณค่าเอฟที เกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้เดิมของ3 ปัจจัย คือ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และนโยบายรัฐ การเก็บค่าเอฟทีเป็นการคำนวณล่วงหน้าโดยจะมีการปรับเปลี่ยนปีละ ๓ ครั้ง หากเก็บผิดพลาดไปจะมีการปรับเปลี่ยนในงวดถัดไป

“ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเอฟทีทั้ง 3 ปัจจัย พบว่าค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนของ กฟผ. เป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วมมากที่สุด เช่น ในช่วงแรกของปี 2558 ปัจจัยนี้มีส่วนร่วมถึง 67% ในขณะที่ปัจจัยจากนโยบายของรัฐมีส่วนร่วมน้อยที่สุดแค่ 5% เท่านั้น ที่เหลืออีก 28% เป็นค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. ในส่วนที่ กฟผ. ผลิต (ข้อมูลจาก กกพ.)”

ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน วิพากษ์ความเหมาะสมกรณี กกพ. เสนอขึ้นค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ซึ่งหมายถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือค่าที่เปลี่ยนไปจากงวดก่อน โดยอ้างเหตุผลสำคัญว่าราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกจนถึงสิ้นปี ซึ่งนั่นหมายถึงอาจจะต้องขึ้นค่าเอฟทีอีกในงวดสุดท้ายของปีนี้

ผศ.ประสาท กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมแหล่งผลิตในประเทศไทยในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. มีแนวโน้มที่ลดลงตลอด จึงเกิดคำถามว่าการขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้างวดหน้านั้นสมเหตุสมผลหรือไม่

ขณะที่ยังมีอีก 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าเอฟที คือ1. ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล 2. ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ขณะนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมีผลทำให้ค่าเอฟทีไฟฟ้างวดแรกกับงวดที่สอง (พ.ค. - ส.ค.) เพิ่มขึ้นเพียง 0.56 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นจึงสรุปได้ความว่า

1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาจนถึงกุมภาพันธ์ 2560 แต่ทาง กกพ. กลับคาดการณ์ว่าในงวดหน้าราคาก๊าซจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาเชื้อเพลิงอื่นๆ มีราคาลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าราคาสูงขึ้นจริงจำนวน 7.52 บาทต่อล้านบีทียู ก็จะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเพียง 4.08 สตางค์ต่อหน่วย

2. นโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ตามความเข้าใจของผม มีผลทำให้ค่าเอฟทีสูงขึ้น 0.57 สตางค์ต่อหน่วย

3. ประเด็นสำคัญที่ได้จากกรณีนี้คือ การทำความชัดเจนเรื่องอัตราผลตอบแทนของบริษัท ปตท. ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงรายเดียวจากกิจการท่อก๊าซและการแยกก๊าซที่บางเดือนได้รับในอัตรา 17% แต่บางเดือนได้รับถึง 36% ซึ่งการกำกับกิจการท่อก๊าซเป็นหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

“ยังไม่ได้กล่าวถึงค่าเอฟทีที่เกิดจากค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ซึ่งเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าถึงประมาณ 65% ของไฟฟ้าทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทไฟฟ้าจากเอกชนก็ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเดียวกันกับ กฟผ. การเคลื่อนไหวด้านต้นทุนของโรงไฟฟ้าเอกชนจึงย่อมจะมีความคล้ายคลึงกับของ กฟผ.”

นอกจากนี้ ยากจะปฏิเสธถึงผลกระทบการขึ้นค่าเอฟที อาจเปิดช่องให้เกิดการปรับราคาสินค้าบางประเภทโดยข้ออ้างผลกระทบอ้างต้นทุนเพิ่ม ซึ่งทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกมาให้ข้อมูลว่า จากการค่าไฟฟ้ากระทบต่อต้นทุนและราคาขายปลีกสินค้าต่างๆ น้อยมากเพียง 0.0002 - 0.266% ดังนั้น จะไม่อนุญาตให้มีการปรับราคาสินค้าใดๆ

อนิจจัง อนิจจา พี่น้องชาวไทย เผชิญทั้งสภาพอากาศร้อนปรอทแตก ทั้งสภาวะค่าครองชีพทะลุเพดาน...


กำลังโหลดความคิดเห็น