xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พรเพชร” งุบงิบทำเกินอำนาจ? ตัดทิ้ง ม.10/1บรรษัทน้ำมันฯ สนองกลุ่มทุนพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ฉบับสนองทุนพลังงานของสภาผู้ทรงเกียรติยังมีเรื่องลับลมคมในไม่หยุดหย่อน หลังเจอบอมบ์ขวางลำตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจาก “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้วรอบหนึ่ง

มาคราวนี้ระดับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ลงมือเอง โดยทำหน้าที่ “ เกินอำนาจ” ตัดทิ้งมาตรา 10/1 ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไปแบบเนียนๆ ไม่มีประชุมขอมติ สนช. แต่อย่างใด ด้วยข้ออ้างที่ว่าปรึกษาหารือกับกรรมาธิการฯ เรียบร้อยแล้ว

เรื่องสำคัญชนิดที่แก้ไขเนื้อหาในสาระสำคัญ “ท่านประธาน” จะทำเช่นนั้นได้อย่างไร มีข้อบังคับใดให้ท่านสามารถใช้อำนาจกระทำได้ ย่อมมีคำถามจากประชาชนและมีความเห็นต่างจากผู้ที่เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา เน้นย้ำว่า การ ปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. ล้วนต้องทำผ่านรูปแบบการประชุมเพื่อให้ได้ “มติ” ทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้น ประธาน สนช. จะแค่ปรึกษาหารือกับกรรมาธิการบางคน แล้วตัดนั่นเพิ่มนี่ในร่างกฎหมายนั้น ทำไม่ได้เด็ดขาด

นางสาวรสนา ได้ตั้งคำถามต่อประธาน สนช. และสอนมวยประธาน สนช. ถึงรูปแบบการทำงานของ สนช.ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการ เป็นรูปแบบการทำงานของ “องค์กรกลุ่ม” ในการปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นการตรากฎหมาย การตราข้อบังคับ การพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ การอภิปรายซักถามคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบหรือถอดถอนบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ล้วนต้องทำผ่านรูปแบบการประชุมเพื่อให้ได้มติทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้น

ย้ำอีกครั้ง “ล้วนต้องทำผ่านรูปแบบการประชุมเพื่อให้ได้มติทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้น”

โดยรูปแบบการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. ที่มาของสมาชิก 2. องค์ประชุม 3. องค์มติ ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นข้อบังคับฯ ที่ใช้กับการประชุมทั้งของสภานิติบัญญัติและกรรมาธิการ ข้อบังคับฯ จึงกำหนดรายละเอียดวิธีการประชุม เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า "องค์มติ" จากการประชุม ....

การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ. ..... ได้เพิ่มมาตรา 10/1 ว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งมาจากทั้งมติ ครม. และมติคณะกรรมาธิการวิสามัญ อันเป็นกลไกสำคัญของการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการที่เป็นสาระหลักในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ดังนั้น การตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ จึงเป็นการทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างบริการไม่สามารถปฏิบัติได้

มาตรา 10/1 ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่คณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นกลไกที่สำคัญของระบบใหม่ที่ได้แก้ไขเพิ่มเข้ามาในร่าง พ.ร.บ ปิโตรเลียม และได้เสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว หากจะตัดมาตรา 10/1 ต้องเป็นมติของสมาชิก สนช.ที่จะลงมติไม่เห็นชอบกับการเพิ่มเติมของกรรมาธิการฯ ในมาตรานี้ มิใช่ตัดออกโดยพลการด้วยข้ออ้างว่าประธานกรรมาธิการได้ปรึกษากรรมาธิการแล้ว โดยไม่มีเรียกการประชุมใหม่ ซึ่งไม่มีข้อบังคับข้อใดระบุให้กระทำได้

ดังที่บัญญัติในข้อบังคับการประชุม สนช.ไว้แล้วว่าการทำงานขององค์กรกลุ่ม เพื่อให้เกิดมติต้องมีองค์ประกอบของการประชุม ถ้าประชุมทั่วไปต้องมีองค์ประชุม 1/3 แต่ถ้าจะประชุมเพื่อมีมติในเรื่องหนึ่งเรื่องใดต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมที่ทำให้เกิดองค์มติได้ และเงื่อนไขการประชุมก็ถูกกำหนดในข้อบังคับฯ ว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน หากจะประชุมเร่งด่วนไม่รอถึง 3 วัน ก็ต้องขอมติในที่ประชุมสภาให้พักการประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการนัดประชุมเร่งด่วนเพื่อมีมติแก้ไขก็ได้

น.ส.รสนาระบุด้วยว่า การที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายฉบับ เมื่อวันที่ 25เมษายน ที่ผ่านมาว่า “เนื่องจากกระบวนการพิจารณาได้มีการสอบถามความเห็นชอบจากกรรมาธิการฯ และที่ประชุม สนช.แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงมติ เนื่องจากเป็นการตัดออก ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม” นั้น อาศัยข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติข้อใดที่ว่าการตัดออกไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมจึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงมติ ไม่ว่าจะเป็นการตัดออก การเปลี่ยนถ้อยคำ การเพิ่มเติมถ้อยคำและเนื้อหา การลดทอนถ้อยคำและเนื้อหา ล้วนอยู่ในความหมายของคำว่า การแก้ไขทั้งสิ้น ถือเป็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้เพิ่มมาตรา 10/1 ไว้แล้ว เพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการเพิ่มเติมของกรรมาธิการฯหรือไม่

การไม่ให้สภาลงมติว่าจะเห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา10/1 ของกรรมาธิการหรือไม่ แต่กลับใช้วิธีขอให้ตัดมาตรา10/1 ออกและไปใส่ในข้อสังเกต จึงทำให้เกิดคำถามว่า ประธาน สนช. ไม่ต้องการให้สมาชิกโหวตเห็นชอบกับมาตรา 10/1 ของกรรมาธิการ ใช่หรือไม่? ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งคำถามได้ว่าความเบี่ยงเบนดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มีหนังสือถึงสมาชิก สนช. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ก่อนมีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเพียง 3 วัน ที่ขอให้ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯโดยให้ตัดมาตรา 10/1 ออกใช่หรือไม่?

“เช่นนี้แล้วย่อมทำให้สังคมอาจเกิดคำถามต่อไปได้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา114 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

น.ส.รสนาระบุชัดเจนว่า ไม่ว่าจะตัดมาตรา10/1 ออก หรือแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้ ก็คือการแก้ไขจากร่างเดิมที่สภานิติบัญญัติกำลังพิจารณาอยู่ และต้องมีการขอมติคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งในการประชุมสภาวันที่ 30 มีนาคม 2560 มีกรรมาธิการหลายคนยืนยันว่าการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการจำเป็นต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อทำให้ 2 ระบบนี้สามารถปฏิบัติได้จริง กรรมาธิการบางคนได้พูดว่าอย่าเอาไปแอบไว้ในข้อสังเกตเลย และขอยืนยันให้ใส่เป็นมาตราไว้ในกฎหมาย

“การที่ท่านประธาน สนช.รวบรัดถามบนบัลลังก์ว่า "ตอนนี้เอาสรุปว่าท่านสมชาย ถามกรรมาธิการตรงๆ ว่าจะเป็นข้อสังเกตได้ไหม" จึงทำให้ประธานกรรมาธิการต้องยอมกล่าวถ้อยคำที่แสดงความไม่เต็มใจว่า "ผมและกรรมาธิการก็ยอมรับความคิดนี้ แต่ก็ยอมรับเพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้เพื่อให้งานกฎหมายนั้นเดินไปได้ สภาพการณ์ของการประชุม สนช.ที่ไม่มีฝ่ายค้านจึงออกมาด้วยการตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่าง พ.ร.บ ปิโตรเลียมโดยง่ายดาย โดยพลการ ทำให้หมิ่นเหม่ต่อการขัดข้อบังคับการประชุมของสนช.และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“นี่จะไม่ถือว่าเป็นการทำเกินอำนาจ(over rule) ข้อบังคับและมติคณะกรรมาธิการโดยประธานทั้ง 2 ท่านคือประธานกรรมาธิการและประธาน สนช.ละหรือ? นี่มิใช่เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของกระบวนการบัญญัติกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติละหรือ?” เป็นคำถามทิ้งท้ายจากนางสาวรสนา

สำหรับอีกบุคคลหนึ่งที่ตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ก็คือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมาว่า โดยแสดงความเห็นต่อกรณีที่นายพรเพชร ตัดมาตรา 10/1 ออกจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ดังกล่าวข้างต้นว่า เนื่องจากกระบวนการตรากฎหมายเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ และเกี่ยวข้องกับบุคคลทุกระดับของประเทศ ผู้รับผิดชอบในการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายจึงต้องดำเนินการอย่างถูกต้องรอบคอบ มิให้ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา

ประกอบกับคลิปวิดีโอแสดงชัดแจ้งว่า ประธานคณะกรรมาธิการฯ มิได้จัดประชุมคณะอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏการพูดคุยกับกรรมาธิการเฉพาะบางราย ประธาน สนช.และประธานคณะกรรมาธิการฯ จึงต้องให้ข้อมูลแก่ท่านนายกรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่ทูลเกล้าฯ ให้ชัดเจนต่อไปนี้

1. การที่ประธาน สนช.ระบุว่า ได้มีการสอบถามความเห็นชอบจากกรรมาธิการฯ แล้วนั้น ข้อบังคับกำหนดให้ประธานจะต้องสอบถามความเห็นจากกรรมาธิการ ในลักษณะเป็นองค์คณะ หรือสามารถสอบถามความเห็นของกรรมาธิการเฉพาะบางคนได้

2. การที่ประธาน สนช.ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ สามารถมีความเห็นตัดมาตราออกได้ โดยไม่ต้องประชุมกันเพื่อลงมติ นั้น เป็นไปตามข้อบังคับใด และต้องมีกรรมาธิการมีความเห็นกี่ราย จึงจะถือเป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ ในลักษณะเป็นองค์คณะ

3. หลักฐานการประชุม สนช.บันทึกว่าประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้แจ้งความเห็นนี้ต่อที่ประชุม สนช. ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เปิดให้กรรมาธิการทั้งคณะมีส่วนร่วมในความเห็นดังกล่าว หรือไม่ เมื่อใด มีหลักฐานอย่าง การแจ้งที่ประชุมว่าเป็นความเห็นของกรรมาธิการในลักษณะเป็นองค์คณะ ทั้งที่ไม่ทราบจำนวนกรรมาธิการที่มีความเห็นดังกล่าว เป็นการแจ้งที่ประชุมโดยมิชอบหรือไม่

ดังนั้น ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องใคร่ครวญให้ดีอย่าให้มีงานเข้าก็แล้วกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น