xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งเศสเลือกการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เผยแพร่:   โดย: สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกของฝรั่งเศส ปรากฏว่าหนุ่มน้อยหน้าใสอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจ นายเอ็มมานูเอล มาครง ได้คะแนนนำสูงสุดที่กระทรวงมหาดไทยประกาศว่าเขาได้ 23.9 เปอร์เซ็นต์ (นับคะแนนไปแล้วประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์)

ตามมาด้วยผู้หญิงแกร่ง นางมารีน เลอ เพน ที่มีนโยบายคล้ายโดนัลด์ ทรัมป์ คือ “ฝรั่งเศสต้องมาก่อน” เธอได้ 21.4 เปอร์เซ็นต์

คะแนนของทั้งสองคนนี้ ตรงกันกับการทำโพลครั้งสุดท้ายหลังการประชันนโยบายครั้งล่าสุดก่อนเปิดหีบ นั่นคือ 48 ชั่วโมงก่อนวันเลือกตั้ง แต่เป็นการวัดผล ก่อนการกราดยิงที่ถนนฌ็องเซลิเซ่

เมื่อเกิดการกราดยิงในเวลาอีก 10 นาที 3 ทุ่มของวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน (เหลือเพียง 2 วันก็จะลงคะแนน) ฝ่ายมารีน เลอ เพน คาดว่าเธอน่าจะได้คะแนนจากชาวฝรั่งเศสที่ขยาดกลัวฝ่ายไอซิส เพราะเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายใจกลางมหานครปารีส บนถนนสายที่สวยที่สุดในโลก ท่ามกลางการชอปปิ้งอย่างดุเดือดของเหล่านักท่องเที่ยวและการบันเทิงเริงรมย์ด้วยเสียงดนตรีตามคาเฟ่, ไนต์คลับ และร้านอาหาร 2 ฟากฝั่งถนนสวยที่สุดของโลกในช่วงต้นของค่ำคืนที่แสนพิศวาสของปารีสช่วงฤดูใบไม้ผลิที่อากาศดีเยี่ยม

นางมารีน เลอ เพน ได้กล่าวในเวทีสุดท้ายของการแถลงนโยบายหน้าจอทีวี ร่วมกับผู้สมัครอีก 10 คน ในขณะที่เกิดการกราดยิงที่ถนนฌ็องเซลิเซ่ เธอได้หาประโยชน์จากเหตุการณ์ โดยกระพือความกลัวให้กับคนฝรั่งเศส โดยบอกว่านโยบายคุมเข้มการเข้าเมือง, การปิดพรมแดนกับพวกผู้อพยพ จะทำได้ก็ต่อเมื่อเธอเป็นประธานาธิบดี โดยเหตุการณ์สยองขวัญนี้เกิดซ้ำซาก และไม่มีรัฐบาลใดในอดีตสามารถจัดการให้ได้ผลเลย

แต่ปรากฏว่า หลังจากทางกระทรวงมหาดไทยและสำนักอัยการออกมาแถลงว่าผู้ก่อการร้ายที่ถูกวิสามัญก่อนที่เขาจะสามารถกราดยิงให้นักท่องเที่ยวตายกลาดเกลื่อนนั้น (และตำรวจตายเพียง 1 คน โดยผู้ก่อการร้ายได้จอดรถออดี้ไว้ข้างหลังรถแวนของตำรวจ แล้วลงมาจากรถกราดยิงถูกตำรวจที่นั่งในรถ 2 คน ตายไป 1 คน บาดเจ็บอีก 1 คน กระสุนได้ไปโดนนักท่องเที่ยวหนึ่งคนที่บาดเจ็บไม่รุนแรงนัก ก็นับว่ามีการบาดเจ็บ มีตายน้อยมากเพราะตำรวจจัดการวิสามัญได้เร็ว ขณะที่คนร้ายกำลังพยายามวิ่งหนีไม่ให้ตำรวจจับได้) การแถลงข่าวตำรวจบอกว่าผู้ก่อการร้ายเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศส ก็คือพวก Homegrown หรือสนิมเกิดแต่เนื้อในตน ไม่ใช่ผู้เพิ่งอพยพเข้ามา หรือเป็นผู้อพยพที่หลบซ่อนอยู่แบบผิดกฎหมายเป็นผู้ก่อการร้าย

คำแถลงนี้เองทำให้คะแนนของนางมารีน เลอ เพน ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะเธอไปให้น้ำหนักกับนโยบายการปิดพรมแดน ไม่ให้คนนอกโดยเฉพาะชาวมุสลิมเข้าประเทศ แต่คนร้ายนั้นกลายเป็นคนที่ทั้งเกิดหรือเติบโตในแผ่นดินฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องมีเหตุผลอื่นนอกเหนือจากการปิดประเทศ เพราะการปิดประเทศก็จะไม่สามารถปิดกั้นไม่ให้เกิดการก่อการร้ายได้

ขณะที่นายฟรองซัวส์ ฟิญง แถลงทันทีหน้าจอทีวี ขณะแถลงนโยบายครั้งสุดท้ายร่วมกับผู้สมัครอีก 10 คน เขาบอกว่าต้องใช้ความร่วมมือกับพันธมิตร (ทั้งที่สหรัฐฯ และอาหรับ รวมถึงรัสเซีย) เพื่อจัดการระดับนานาชาติ นัยคือการแลกเปลี่ยนข่าวกรองอย่างลึกซึ้งและรวดเร็วจึงจะปราบหรือปิดกั้นปฏิบัติการของไอซิสได้ นายฟิญงเน้นมาตลอดว่าเขามีประสบการณ์มาก (เคยเป็นถึงนายกฯ) สามารถจัดการให้เกิดความร่วมมือกับพันธมิตรได้ทันที (อันนี้คือเขาให้ประชาชนเห็นถึงการขาดประสบการณ์ของนายมาครงที่กำลังมีคะแนนนำในแทบทุกโพล)

หลังลงคะแนนรอบแรก ปรากฏว่านายฟิญงได้ตีตื้นคะแนนมามากกว่าคาด คือได้เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่คะแนนของเขาได้ลดลงไปเหลือแค่ 14.15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้าการกราดยิงคืนวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นไปได้ว่าคนฝรั่งเศสกลับมาเทคะแนนให้ฟิญงแทนจะให้กับเลอ เพน เพราะชอบวิธีการจัดการปัญหาก่อการร้ายแบบใช้ความร่วมมือระดับชาติมากกว่า และมองว่าเลอ เพน จะแก้ปัญหาไปผิดทาง หรือถึงขนาดกระพือให้ปัญหาไอซิสเลวร้ายมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ

ผลการเลือกตั้งรอบแรกนี้ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่ฝรั่งเศส คือพรรคใหญ่ 2 พรรค (อนุรักษนิยม + สังคมนิยม) ที่ผลัดกันบริหารประเทศมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คราวนี้ไม่เข้ารอบเลย สะท้อนถึงความเอือมระอาของประชาชนต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเดิมๆ ประชาชนอยากได้ประเภทใหม่ๆ แกะกล่อง แบบมาครง ซึ่งตั้งขบวนการทางการเมืองชื่อ “เดินหน้า!” “En Marche!” (ใช้อักษรย่อว่า EM อันเป็นตัวย่อของชื่อ Emmanuel Macron ทำให้ประชาชนจำได้ง่ายๆ)

พรรคสังคมนิยมที่เป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันพ่ายแพ้แบบหมดรูป ประธานาธิบดีออลลองด์เองเป็นคนพลิกกลับนโยบาย, โลเลตั้งแต่เข้ามาบริหาร เช่น ตอนหาเสียงก่อนชนะเลือกตั้งปี 2011 ก็บอกจะขึ้นภาษีคนรวยถึง 75 เปอร์เซ็นต์ (สำหรับผู้มีรายได้ปีละ 1 ล้านยูโรขึ้นไป คือประมาณ 40 ล้านบาท) ทำเอาดาราฟุตบอล, ดาราหนัง, นักดนตรีดังๆ รวมทั้งเศรษฐีนักลงทุนโบยบินไปอยู่ที่อื่น (ไปอยู่ลักเซมเบิร์ก ที่ไม่มีเก็บภาษีรายได้ หรือไปรัสเซีย) พอเป็นเช่นนี้ ประธานาธิบดีออลลองด์กลับมาคิดภาษีคนรวยและธุรกิจต่ำลงมาก และหันไปปฏิรูปตลาดแรงงาน จะให้คนงานทำงานเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อ 1 อาทิตย์

ประกอบกับปัญหาการก่อการร้ายภายใต้การบริหารของสังคมนิยมก็แย่มาก มีเกิดขึ้นบ่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า หัวปีชนท้ายปี ตั้งแต่ชาร์ลี เอ็บโด, บาตาครอง, เมืองนีซ ประชาชนมองว่าไร้น้ำยาจริงๆ จนคะแนนนิยมของประธานาธิบดีออลลองด์บางครั้งต่ำแค่ 4-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยม คือนายเบอนัวต์ อามงด์ ซึ่งชนะศึกในพรรคได้เป็นตัวแทนของพรรคมาลงแข่งตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยนโยบายที่แหวกแนว และมองไปข้างหน้า เช่นการให้รายได้หลักประกันทั่วหน้าแก่คนจน ตลอดจนการคิดภาษีเครื่องจักรกลต่างๆ ที่มาทำงานแทนคน เช่น Robot ต่างๆ ก็ในเมื่อคนจะต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่หุ่นยนต์และ Automation มาแทนที่แรงงานคน ก็น่าทำการเก็บภาษีเครื่องจักรกลนำมาเลี้ยงดูคนตกงาน ฟังดูดีมาก ตอนแรกคะแนนนิยมของอามงด์พุ่งขึ้นเป็นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนหลังฐานเสียงพรรคสังคมนิยมก็แตก บางพวกมองว่าข้อเสนอของอามงด์ดูจะเป็นจริงได้ยาก กลัวจะเสียของเลยหันมาเทคะแนนให้มาครงและให้กับผู้สมัครที่พูดจาเสน่ห์แรงจากซ้ายสุด ท่าน ส.ว.คนดัง ที่นำเอาเทคโนโลยีใหม่เจี๊ยบมาใช้ คือโฮโลแกรม เขาชื่อเมลองชง คะแนนของเมลองชงเป็นม้าตีนปลายที่ขยับจากต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์พรวดขึ้นมาถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์

หลัง Exit Polls หลายสำนักให้มาครงได้ชนะที่ 1 นำเลอ เพน ที่ได้ที่ 2 ชนิดห่างกันแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ บรรดาผู้แพ้ทยอยออกมาสนับสนุนมาครง นำโดยนายอามงด์ที่บอกว่าเสียดายที่ฝ่ายสังคมนิยมเสียงแตกไปคนละทิศละทาง และเขาจะสู้กับนโยบายของเลอ เพน โดยจะลงคะแนนในรอบ 2 ให้กับมาครง และขอให้คนที่ลงคะแนนให้เขาได้ร่วมกันให้คะแนนมาครง เพื่อไม่ให้เลอ เพน ได้คะแนนในรอบ 2

นายฟิญง ก็ออกมากล่าวแบบสุภาพบุรุษ (ที่เคยเป็นนายกฯ มาอย่างยาวนาน) ว่าคะแนนที่ได้มาครั้งนี้ เป็นความผิดของเขาแต่เพียงผู้เดียว (ไม่โทษพรรคเลย) และขอร้องให้ฐานเสียงของเขาร่วมกันปกป้องประเทศฝรั่งเศสจากนางเลอ เพน เพราะถ้าเลอ เพนเข้ามาจะทำให้ประเทศเสียหาย เลวร้าย และตกต่ำมาก เขาจะลงคะแนนรอบสองให้มาครง

นายเมลองชง จากซ้ายสุดยังยักท่า บอกว่าจะรอคะแนนอย่างเป็นทางการก่อนการตัดสินใจใดๆ แต่จริงๆ แล้วฐานเสียงผู้ใช้แรงงานและผู้อพยพของเขา อาจมีส่วนที่เป็นทางพวกเห็นชอบกับนโยบายของเลอ เพน เพราะเขาเสนอการออกมาจากสหภาพยุโรป, จากเนโต, จากการใช้เงินยูโร ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับเลอ เพน เพียงแต่เขาไม่ให้ปิดประเทศแบบเลอ เพน ฐานเสียงของเขาบางส่วนอาจไปให้เลอ เพนในรอบสอง และบางส่วนน่าจะไปให้กับมาครง

ย้อนหลังไปปี 2002 ตอนนั้นในรอบแรก ฌากส์ ชีรัค ได้ที่ 1 แค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยนายฌอง-มารี เลอ เพน (พ่อของนางมารีน เลอ เพน) ได้ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์

ทั้งคู่ไปสู้กันในรอบ 2 ปรากฏว่านโยบายขวาแบบสุดๆ ของนายฌอง-มารี ทำเอาฐานเสียงของพรรคต่างขยาดกับนายฌอง-มารี หันมาเทให้ฌากส์ ชีรัคเต็มๆ ชีรัคได้ไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ

หนนี้ประวัติศาสตร์น่าจะซ้ำรอย คือมาครงน่าจะกวาดได้อย่างต่ำๆ (หลายๆ โพลสะท้อน) 2 ส่วน 3 คือ 68 เปอร์เซ็นต์เป็นต้นไป

ตอนนี้เงินยูโรได้แข็งขึ้นทันที 1.3 เปอร์เซ็นต์ ต้อนรับมาครงจะชนะรอบ 2 และจะไม่หักโค่นยุโรปลงอย่างที่เลอ เพน ได้นำเสนอนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น