ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์นี้ขออนุญาตท่านผู้อ่านที่เคารพรักแหกสังเวียนตำรวจมาสังเวียนชาวดง เกี่ยวกับกรณีเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัดสินใจปลดล็อก ปล่อยหมีควายละลิ่วตกลงมาตาย ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคอข่าวที่สนใจการเคลื่อนไหวต่างๆ รวมไปทั้งเจ้าหน้าที่ทุกระดับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนที่สุดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้สื่อตรงไปยัง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวงฯ
ขอเกริ่นนำความเป็นมาของหมีควายเพศผู้ตัวนี้เสียก่อน มีข้อมูลว่าเป็นหมีป่าอายุราว 7-8 ปี มีความก้าวร้าว ดุร้ายเช่นสัตว์ป่าทั่วไป คาดว่าจะหลุดมาจากพื้นที่อุทยานเขาใหญ่ เข้าไปกินสัตว์เลี้ยงและพืชผลจนชาวบ้านร้องขอความช่วยเหลือมายัง นายวิรัช จตุพนาพร ผอ.สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ 1 จ.ปราจีนบุรี เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.ปี 59
ปฏิบัติการไล่ล่าคือ ให้พรานผู้ชำนาญเอากรงมาดัก เมื่อจับได้แล้วหมีควายไม่ยอมหยุดความดุร้าย ใช้เขี้ยว เล็บกัด และตะกรุยกรงจนตัวมันเองได้รับบาดเจ็บ จึงต้องเยียวยารักษา ซึ่งมีทั้งตรวจเลือด ดูแลสุภาพต่างๆของมัน ตลอดจนให้ยากับบาดแผลต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหมีตัวนี้ใช้ชีวิตอยู่ในป่า
ตลอดเวลาเดือนเศษที่สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ 1 ดูแลมันอยู่นั้น เจ้าหน้าที่หลายคนมีความเห็นพ้องกันว่าหากจะนำไปปล่อยป่าจริงๆ ควรติดปลอกคอติดตามระบบดาวเทียมเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของหมีควายเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ยังน้อยเกินไป
หลังได้ปลอกคอติดตามระบบดาวเทียมมาแล้วจึงกำหนดการส่งตัวกลับป่า ซึ่งตามปกติจะอาศัยรอบบินของสำนักบินกระทรวงทรัพย์ฯ ซึ่งจะมีภาระกิจผ่านมายังเขตพื้นที่ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง กระทั่งวันที่ 12 ก.พ. 60 จึงเป็นกำหนดการส่งหมีควายกลับคืนผืนป่า ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่าเป็นการรีบร้อนเกินไปหรือไม่ และเหตุใดจึงไม่ใช้วิธีขนย้ายอื่นๆ เช่น ทางรถยนต์
ก่อนจะถึงคำตอบต่างๆ ขอขัดจังหวะด้วยการนำข้อมูลเกี่ยวกับสำนักบินกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันสักนิด เพื่อจะได้เห็นภาพต่างๆได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหลังเกิดเหตุ “หมีตก ฮ.” แล้วบรรยากาศการทำงานของสำนักบินฯ แห่งนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
สำนักบินกระทรวงทรัพย์ฯ ก่อกำเนิดมาจากการแยกตัวของกระทรวงนี้มาจากกระทวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีพิธีโอนย้ายฝูงบินมาประจำการที่กระทรวงทรัพย์ฯ เมื่อปี 2551 เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้คือรุ่น AS 350 1103 สัญชาติฝรั่งเศส จำนวน 14 เครื่อง แต่สามารถใช้การได้จริง 11 เครื่อง ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นสั่งซื้อมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงบัดนี้มีอายุงานทั้งสิ้นกว่า 20 ปี
ปัจจุบันสำนักบินฯขึ้นตรงต่อสำนักปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยนายวิจารณ์ สิมาฉายา และมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า เฮลิคอปเตอร์ที่มีอยู่ 10 กว่าเครื่องนั้นใช้ได้จริงเพียง 5 เครื่องโดยมีนักบิน - ช่างเครื่องผู้เชี่ยวชาญจากอดีตข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจและพลเรือนด้วยระบบเหมาจ้าง หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว เงินเดือนนักบินอยู่ที่ 3.5 หมื่น เบี้ยเลี้ยงวันละ 240 บาท/วัน ส่วนช่างเครื่องต่ำสุดคือ 1.6 หมื่นบาทจนถึง 2.5 หมื่นบาท สุดแท้แต่ความสามารถและประสบการณ์
สำคัญที่สุดคือเงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยง หรือแม้แต่ค่าน้ำมันไม่เคยออกตรงเวลา !!??
หากจะถือคติว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” สภาพความเป็นจริงของกองบินแห่งนี้แทบไม่ต่างอะไรกับนักรบที่ผอมโซ ไม่มีแรงจูงใจเพราะหาความก้าวหน้าไม่ได้ เนื่องจากมิได้เปิดตำแหน่งรับเป็นข้าราชการ อีกทั้งภาระกิจหลักของกองบินคือ ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ป้องกันไฟป่า รวมทั้งตรวจการณ์ตามชายฝั่งรวมพื้นที่ความรับผิดชอบ 107 ล้านไร่ทั่วทั้งประเทศ
อยากให้พี่น้องคนไทยลองหลับตานึกภาพ !!??
ไม่ทราบว่าจินตนาการของท่านทั้งหลายเป็นอย่างใด แต่มีเหตุการณ์จริงอันเป็นข้อมูลที่คนไทยหลายคนยังไม่ลืม และแน่นอนว่าโดยเฉพาะข้าราชการในกระทรวงแห่งนี้คงไม่มีวันลืมได้...เมื่อวันที่ 17 ส.ค.53 เฮลิคอปเตอร์ AS 350 1103 ซึ่งมีผู้โดยสารระดับ วีไอพี. หลายคนอยู่ระหว่างปฏิบัติภาระกิจคือ นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสหัส บุญญาวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักพระราชวัง นายโกวิท ปัญญาตรง ผู้ตรวจราชการฯ พร้อมนักบิน-ช่างเครื่องรวม 5 ชีวิต ปรากฏว่าเครื่องได้หายไปจากจอเรดาร์ และต่อมาพบว่าเกิดอุบัติเหตุตกบริเวณป่าลึกในเขต อ.นาหมื่น จ.น่าน
อุบัติเหตุดังกล่าวสร้างความเศร้าสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ ภายหลังการสอบสวนก็พบว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย คาดว่าจะเกิดพายุฝนอย่างกระทันหันในระหว่างบิน จนทำให้ทัศนะวิสัยเลวร้อยก่อนเครื่องจะไปชนกับหน้าผา
ข้อมูลที่สลับฉาก โดดไปมานั้นแค่อยากจะสื่อว่า...เราจะยอมรับกันหรือยังว่า “อุบัติเหตุ” ไม่ใช่มีเรื่องประมาทเข้ามาเกี่ยวทุกครั้งไป แต่มันมีเรื่องสุดวิสัยในช่วงนาทีฉุกเฉินนั้นๆ เกิดขึ้นเสมอ...เช่นเดียวกับการบินโดยอากาศยานปีกหมุนขึ้น-ลงทางดิ่ง หรือที่รู้จักกันดีว่าเครื่องบินประเภทนี้คือ เฮลิคอปเตอร์...เสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนักบินทุกคนที่ถูกฝึกมาต้องตัดสินใจโดยฉับพลัน
อาการแกว่างตัวของหมีควายตัวนั้น ไม่ใช่เพราะมีน้ำหนักเกิน แต่น่าจะเบาไปจึงทำให้เกิดอาการแกว่ง...นักบินเขาเชื่อเช่นนั้น เพราะภาระกิจขนน้ำไปดับไฟป่าต้องลำเลียงน้ำดิบถึงเที่ยวละครึ่งตัน ก็สามารถทำได้อย่างดีโดยไม่เคยมีเหตุขัดข้อง หรืออุบัติเหตุอะไรแม้แต่เพียงครั้งเดียว แต่การขนหมีควายโดยใช้ตาข่ายยกตัวขึ้นไปนั้นเมื่อผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผ่านหน้าผาอากาศย่อมเกิดการแปรปรวนได้ทุกนาที...การปลดหมีควายแลกกับ 5 ชีวิต และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ.. ผิด-ถูกหรือมีความเหมาะสมประการใดก็คงขึ้นกับการสอบสวนของผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ปฏิบัติโดยคำสั่งของ นายวิจารณ์ สิมาฉายา ในฐานะเบอร์ 1 ของส่วนความรับผิดชอบ
หากตั้งประเด็นไว้ว่า อุบัติเหตุ “หมีตก ฮ.” นั้นคือภารกิจแฝง มิใช่ภาระกิจหลักคงต้องฝากไว้ด้วยว่าอย่าลืมมองปัญหาให้รอบด้าน อย่าลืมขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ อย่าลืมด้วยว่า เขาทำงานในภาคสนามด้วยความพร้อม หรือด้วยความขาดแคลนสารพัด รวมทั้งขวัญ-กำลังใจ ที่กำลังกัดเซาะอยู่ทุกๆ นาที
หมดยุคหมกขยะไว้ใต้พรหมกันเสียที หมดยุคผู้บังคับบัญชาตาขาว ขี้หด-ตดหาย-เอาตัวรอดเสียที...ไม่เพียงเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ของนักบินที่ไม่เคยออกตรงเวลา จนมีข่าวไม่ค่อยดีว่า แม้แต่งบประมาณค่าอะไหล่- ค่าน้ำมัน ยังติด “เจ้าหนี้” ทั้งไทยและเทศอีกหลายล้าน
กับงานใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งมีป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร 107 ล้านไร่ต้องดูแล...กองบินกระทรวงทรัพย์ฯกลายเป็นอินทรีย์ปีกหัก ง่อยเปลี้ยเสียแขนแทบบินไม่ได้แบบนี้มันคงไม่ใช่แค่เรื่อง “หมีตก ฮ.”ซะแล้ว...น่าจะลุกลามไปทั้งสำนักปลัดฯเชียวแหละ !!??