ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หากจะมีผู้นำประเทศรายใดที่มีสไตล์และภาพลักษณ์เป็นที่น่าจดจำอย่างโดดเด่น เชื่อแน่ว่า คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผู้นำที่ผู้คนกล่าวขวัญถึงมากที่สุดรายหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดอาจไม่ใช่เพราะความสามารถในการบริหาร หรือทักษะด้านใดๆ ที่สื่อแสดงให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ หากแต่เป็นผลมาจากความไม่แคร์ หรือไยไพต่อความเป็นไปของโลกต่างหากที่ทำให้ผู้นำรายนี้มีความน่าสนใจอย่างพิเศษ
ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็บังเกิดขึ้นจากผลของความไม่สนใจความเป็นไปในระดับนานาชาติ และเป็นความท้าทายที่สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเป็นชนวนสงครามครั้งใหม่ ที่อาจไม่ได้จำกัดพื้นที่ความเสียหายอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น
ความเป็นไปของสังคมเกาหลีเหนือนับตั้งแต่ยุคของ คิม อิลซุง (15 เมษายน พ.ศ. 2455–8 กรกฎาคม พ.ศ. 2537) ซึ่งก้าวขึ้นเป็นผู้นำเกาหลีเหนือบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้งประเทศในปี 2491 และก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกในปี 2515 นอกจากจะดำเนินไปบนหนทางของความยากลำบากผ่านทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี และยุคสมัยแห่งสงครามเย็น ยังประกอบส่วนด้วยลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) ที่ทำให้เมื่อคิม อิลซุง ถึงแก่อสัญกรรม จะได้รับการสถาปนาและมอบสมญานามให้เป็นประธานาธิบดีตลอดกาล (Eternal President)
การขึ้นสู่อำนาจของคิม จองอิล (16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484–17 ธันวาคม พ.ศ.2554) สืบต่อจากคิม อิลซุง ผู้เป็นบิดาซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2537 เริ่มต้นด้วยการรับหน้าที่เป็นผู้นำในการจัดงานพิธีศพให้แก่บิดา และปรับปรุงบูรณะวังสุริยะคึมซูซัน (Kumsusan: Palace of the Sun) ให้เป็นที่พำนักสุดท้ายของคิม อิลซุงผู้เป็นบิดา อย่างไรก็ดี คิม จองอิลใช้เวลาสามปีในการรวมอำนาจก่อนจะก้าวขึ้นสู่สถานะการเป็นผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออย่างแท้จริง และติดตามมาด้วยชื่อเรียกขานตามแบบฉบับลัทธิบูชาบุคคล ไม่ว่าจะเป็น “บิดาที่รัก” “บิดาของเรา” หรือแม้กระทั่ง “จอมทัพ”
แม้ว่าคิม จองอิล จะไม่ได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีเหนือต่อจาก คิม อิลซุง ผู้เป็นบิดา เนื่องเพราะรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือได้ยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีออกจากไปจากสารบบ หลังจากที่ได้ยกย่องให้คิม อิลซุง เป็นประธานาธิบดีตลอดกาลไปก่อนหน้านี้ แต่คิม จองอิลก็ยังคงเป็นศูนย์กลางของลัทธิบูชาบุคคล ในฐานะผู้นำอันเป็นที่รัก และบิดาอันเป็นที่รัก ไม่ว่าคำเรียกขานเหล่านี้จะเป็นผลจากความเคารพศรัทธาอย่างแรงกล้า หรือเป็นผลจากความเกรงกลัวที่จะถูกลงโทษทัณฑ์ก็ตามที
ภายใต้ยุคสมัยแห่งการนำเกาหลีเหนือของคิม จองอิล เกือบทำให้เกาหลีเหนือ-ใต้ ก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าจนถึงระดับที่มีการคาดหวังว่าจะมีการรวมชาติกันได้ เมื่อประธานาธิบดี คิม แดจุง แห่งเกาหลีใต้ประกาศนโยบาย “ตะวันฉายแสง” (Sunshine Policy) ในปี 2541 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและใต้ และได้รับการตอบรับด้วยดีจากคิม จองอิล
ความพยายามของคิม แดจุง ในครั้งนั้น ประกอบส่วนด้วยการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือ และงดเว้นการเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างสองประเทศ หรือละเว้นความพยายามใดๆ ที่จะรวมประเทศเกาหลีด้วยวิธีการทางทหาร
ก่อนที่ผู้นำทั้งสองประเทศ คิม จองอิลแห่งเกาหลีเหนือ และคิม แดจุง แห่งเกาหลีใต้ จะร่วมพบปะและประชุมกันที่กรุงเปียงยาง ในเดือนมิถุนายน 2543 เพื่อหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เกาหลี เนื่องจากในครั้งนั้นเป็นการพบปะกันครั้งแรกของผู้นำประเทศเกาหลีทั้งสองนับตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี แต่ทว่าการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และนโยบายตะวันฉายแสงของนายคิม แดจุง ได้รับการต่อต้านจากชาวเกาหลีใต้
เมื่อคิม จองอิลถึงแก่อสัญกรรมในช่วงปลายปี 2554 บรรยากาศการสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือดำเนินไปท่ามกลางการคาดเดามากมาย เพราะแม้ว่าคิม จองอิล จะวางแผนและประกาศชัดแจ้งว่า คิม จองอึน
บุตรชาย จากภรรยาคนที่ 4 (เกิด 8 มกราคม พ.ศ.2526) คือผู้ที่จะก้าวขึ้นครองอำนาจอย่างแท้จริง แต่ความไม่ชัดเจนก็บังเกิดขึ้น เพราะคิม จองอึน ถูกประเมินว่าด้อยประสบการณ์ และทำให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่าในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน จาง ซุงเตก จะทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เพราะคิม จองอึน ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่นำประเทศได้ทันที
แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์ภายหลังการอสัญกรรมของคิม จองอิล ผู้เป็นบิดา คิม จองอึนก็ประกาศต่อสาธารณะว่า “เราได้รับการประกาศเป็นผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพประชาชนเกาหลี” ก่อนที่ในวันถัดมา (25 ธันวาคม พ.ศ.2554) โทรทัศน์เกาหลีเหนือจะเผยแพร่ภาพจาง ซุงเตกในชุดเครื่องแบบนายพลอันเป็นสัญญาณถึงการมีอำนาจครอบงำที่เพิ่มขึ้นหลังคิม จองอิลถึงแก่อสัญกรรม
ในขณะที่เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ซึ่งเชี่ยวชาญกิจการเกาหลีเหนือ ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่จาง ซุงเตกปรากฏภาพทางโทรทัศน์เกาหลีเหนือในชุดเครื่องแบบทหาร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าจาง ซุงเตกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกองทัพเกาหลีเหนืออันทรงพลัง ซึ่งได้ปฏิญาณตนว่ามีความภักดีต่อคิม จองอึนไปโดยปริยาย
ลัทธิบูชาบุคคลรอบคิม จองอึน ได้ถูกส่งเสริมขึ้นหลังการถึงแก่อสัญกรรมของคิม จองอิล ในเกือบจะโดยทันที โดย คิม จองอึนได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “ผู้สืบทอดอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติจูเช เป็นผู้นำอันโดดเด่นของพรรค กองทัพ และประชาชน”
ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการรัฐพิธีศพ คิม จองอิล เรียกขานและยกย่องคิม จองอึน ว่าเป็น “บุคคลยิ่งใหญ่จุติจากสวรรค์” คำโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเคยใช้เฉพาะกับบิดาและปู่ของเขา ขณะที่พรรคกรรมกรกล่าวในบทบรรณาธิการว่า “เราสัญญาทั้งน้ำตาที่หลั่งไหล เรียกคิม จองอึนว่า ผู้บัญชาการสูงสุดของเรา ผู้นำของเรา”
ขณะเดียวกันสื่อมวลชนรวมถึงหนังสือพิมพ์ชั้นนำของเกาหลีเหนือ โรดง ซินมึน ระบุว่า คิม จองอึนได้รักษาการประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง และผู้นำสูงสุดของประเทศ หลังบิดาถึงแก่อสัญกรรม และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554
ประวัติชีวิตของคิม จองอึน ในวัยเด็กซึ่งเป็นประหนึ่งเบ้าหลอมที่บ่มเพาะประพฤติกรรมในปัจจุบัน ได้รับการบันทึกอย่างรวบรัดว่าเขาใช้ชีวิตวัยเด็กที่ประเทศบ้านเกิด ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อและปลอมตัวเป็นลูกชายเจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีเหนือเพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นกลับมาเข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหารในเกาหลีเหนือ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหลังบิดาเสียชีวิต และกลายเป็นผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดในโลก
ขณะที่สื่อชื่อดังของโลกตะวันตกหยิบเรื่องราวของคิม จองอึน ขึ้นมาขยายเป็นข่าวไม่ว่าจะเป็นการระบุว่า คิม จองอึน เคยวางแผนสังหารพ่อตัวเองหลายครั้งเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ โดยมีทั้งการใช้รถบรรทุกพุ่งชนรถพ่อตัวเอง, วางแผนระเบิด, จ้างมือปืนลอบสังหาร รวมถึงวางแผนก่อรัฐประหารยึดอำนาจถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ เพื่อนสมัยเด็กชาวสวิตฯ ยังยืนยันว่า คิม จองอึน ฉายแววเป็นคนชอบเอาชนะตั้งแต่วัยเยาว์
เรื่องราวเหล่านี้ดูจะขาดน้ำหนักน่าเชื่อถือ จนกระทั่งในปี 2557 คิม จองอึน ได้สั่งประหารลุงแท้ๆ พร้อมครอบครัวทั้งหมด ในข้อหาพยายามควบคุมกองทัพเกาหลีเหนือและต่อต้านผู้นำสูงสุด ไม่นับรวมการออกคำสั่งประหารและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่แวดล้อมเขาอีกเป็นจำนวนมาก ภายใต้ข้อหาที่ไม่ชัดเจนนัก และทำให้ภาพลักษณ์ของคิม จองอึน ดำเนินไปอย่างไม่เคยเกรงกลัวใคร โดยเฉพาะเมื่อเขาสั่งให้กองทัพเร่งพัฒนาขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ
ความไม่แคร์ของคิม จองอึน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการลุแก่อำนาจ ในฐานะผู้นำสูงสุดหรือประมุขสูงสุดของประเทศ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อบริบทสังคมภายในเกาหลีเหนือเท่านั้น หากแต่ยังพร้อมที่จะพัฒนาเป็นภัยคุกคามที่สั่นคลอนเสถียรภาพไม่ใช่เฉพาะสันติภาพในภูมิภาค หากแต่เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของตัวเขาเองด้วย
พัฒนาการก่อนหน้าความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีครั้งใหม่ เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เมื่อ คิม จองอึน ประกาศความสำเร็จของกองทัพ โดยอ้างว่า เกาหลีเหนือได้พัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังทำลายล้างเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก สำเร็จแล้วอย่างเป็นทางการ
ก่อนที่ในช่วงวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมาในโอกาสฉลองครบรอบชาตกาล 105 ปี คิม อิลซุง หรือประธานาธิบดีตลอดกาลของเกาหลีเหนือ จะดำเนินควบคู่กับการแสดงแสนยานุภาพ และการทดสอบยิงขีปนาวุธ ที่แม้จะประสบความล้มเหลวแต่ก็ทำให้สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีอยู่ในภาวะตึงเครียดไม่น้อย
โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศว่า จะใช้มาตรการที่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือและใช้ปฏิบัติการเพียงฝ่ายเดียว หากจีนซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจและเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของเกาหลีเหนือ ยังไม่สามารถควบคุมและหยุดยั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้ ก่อนที่ ประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินเดินทางมายังคาบสมุทรเกาหลี เพื่อกดดันเกาหลีเหนืออีกโสตหนึ่ง
ความเป็นไปของลัทธิบูชาบุคคลของเกาหลีเหนือ อาจมีความสำคัญจำเป็นในการปกครองและหล่อเลี้ยงอุดมการณ์แห่งชาติที่ยังไม่สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างนัยความหมายอื่นๆ ที่ทรงคุณค่าร่วมกันในลักษณะของฉันทานุมัติสาธารณะที่ก้าวหน้าไปกว่านี้ได้
หากแต่ในโลกและสังคมที่ใช้ตรรกะและเหตุผล บางทีนี่อาจไม่ใช่เพียงภัยคุกคามที่สั่นคลอนสถานะและความเป็นไปในระดับสากล และยากจะปฏิเสธว่านี่คือสนิมร้ายที่พร้อมจะกัดกร่อนโครงสร้างและทำให้ทุกอย่างที่เคยมองข้ามอย่างไม่แคร์ ได้พังครืนลงมา ไม่ต่างจากกองขยะของความขลาดเขลาที่พร้อมจะสร้างปัญหาและเชื้อโรคร้ายให้เกิดขึ้นในสังคม
ประเด็นอยู่ที่ว่าระหว่างโลกภายนอกกับชุมชนภายใน ใครจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ว่านี้ เกาหลีเหนืออาจแตกต่างจากซีเรียในประเด็นบริบทแวดล้อม แต่ทั้งสองมีความเหมือนกันในฐานะที่เป็นพื้นที่ภายนอกสำหรับการประลองกำลังของมหาอำนาจ ว่าแต่ที่ใดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากกว่ากันเท่านั้น