xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดเช่าที่ 99 ปี ดูด "ทุนนอก" แฉ ปชป. ต้นคิด "แม้ว" โดดงับ คสช. ระวังพังทั้งกระดาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งสำหรับนโยบายเปิดให้นายทุนเช่าที่ดินอภิมหาโครตรยาวนานถึง 99 ปี คราวนี้น่าสนใจว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบสานต่อแนวนโยบายดังกล่าวจากรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จะทำสำเร็จหรือไม่ ด้วยว่าที่ผ่านๆ มาตั้งท่าท้องแล้วแท้งมาหลายรอบแล้ว

ขนาดอดีตนายกฯ นายทักษิณ ที่ได้ชื่อว่าป๊อบปูล่าสุดๆ ตอนที่ดันเรื่องนี้ยังถอย แล้ว “นายกฯลุงตู่” จะงัดท่าไม้ตายฝ่ากระแสสังคมที่ค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุดอย่างไร

แต่ที่เห็นๆ กันในเวลานี้คงหนีไม่พ้นการใช้ “อำนาจทหาร” ปิดปาก ปิดหู ปิดตา ดังเช่นที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ที่เตรียมชำแหละนโยบายการเปิดให้เช่าที่ 99 ปี แบบกะว่าจัดหนักๆ ให้รัฐบาล “งงเด้ๆ” โดนเข้าให้แล้ว

นั่นคือตามกำหนดนัดหมายของเวทีวิพากษ์ “การให้เช่าที่ดิน 99 ปี ผลประโยชน์ของไทยหรือผลประโยชน์ของใคร” ร่วมวิพากษ์โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด, ดร.สมนึก จงมีวศิน, เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และพรพนา ก๋วยเจริญ วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2560 ณ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี เจอรายการคุณขอมาเสียแล้ว เมื่อ “ฝ่ายความมั่นคง” ขอให้คณะผู้จัดงานเลื่อนจัดไปก่อนด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะยังไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย

เป็นการชิงลงมือสยบความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคง ที่มีผู้กำกับดูแลนโยบายสูงสุด คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แบ็คอัพทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคงทำเอาคณะผู้เตรียมวิพากษ์ “งงเด้ๆ” ยกกำลังสอง คือว่าถ้าจะรอให้ออกเป็นกฎหมายเสียก่อนแล้วค่อยมาวิพากษ์ก็เท่ากับอ้อยเข้าปากช้างจะง้างออกมาได้อย่างไร จะหยุดเรื่องนี้ได้ที่ไหน

โปรแรงดึงทุนนอกกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ มาว่ากันส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระต้นเรื่องที่ก่อให้เกิดกระแสคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งเสียก่อน เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 11 เมษายน 2560 นัดสุดท้ายก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งบรรยากาศตอนนั้นคงไม่มีใครใส่ใจอะไรนอกจากเตรียมตัวพักผ่อนยาว แต่โลกออนไลน์ หาได้หยุดจุดกระแสเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “หมุดคณะราษฎรหาย” หรือ ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี จึงถูกหยิบยกขึ้นมาแชร์กันให้ว่อน

อย่างไรก็ตาม หากกลับไปสืบค้นดูมติ ครม. ในวันนั้น ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องดังกล่าวในเอกสารการประชุมที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เรื่องนี้เป็นการออกมาแถลงผลการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อวางรากฐานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย (Eastern Economic Corridor - EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเป็นโครงการเริ่มต้นที่จะเกิดไปยังภาคอื่น ๆ ในอนาคต

ที่ประชุม ครม. วันนั้น มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำไปแก้ไขประเด็นต่าง ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน เพื่อนำกลับมาให้ครม.พิจาณาอีกครั้งก่อนจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ดังนี้

หนึ่ง-เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.จากเดิม “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” เป็น ร่าง “พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” สามารถเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 3 จังหวัดได้

สอง-จัดตั้งคณะกรรมการนโยบาย หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันมีรัฐมนตรี 11 กระทรวง เป็นกรรมการ จาก 21 กระทรวง ให้มีการเพิ่มรัฐมนตรีเข้าไปอีกเป็นกรรมการอีก 2 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรฯ

สาม-ให้อำนาจซูเปอร์บอร์ด ประกาศพื้นที่ใดเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

สี่-การอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนเป็นพิเศษ โดยนำกฎหมายที่การนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) มีอยู่แล้วเดิม บวกกฎหมายอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย เช่น กฎหมายที่ต้องได้รับการยกเว้น หรือกฎหมายที่จำเป็นเพื่อโอนอำนาจมาไว้ในสำนักงาน EEC เพื่อดำเนินการเป็น One Stop Service ให้กับนักลงทุน เช่น กฎหมายร่วมทุน กฎหมายคอนโด กฎหมายคนต่างด้าว กฎหมายวิชาชีพ กฎหมายอาหารและยา กฎหมายทะเบียนการค้า ฯลฯ

และ ห้า-การตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและประชาชนที่อยู่ภายในที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยเงินงบประมาณของกองทุนจะมาจากบริษัทต่างๆ ในพื้นที่ที่เข้ามาลงทุน

“ครม.ยังหารือในเรื่องผังเมือง การแลกเปลี่ยนเงินตรา การอนุญาตขุดดิน ถมดิน ควบคุมอาคาร จดทะเบียนเครื่องจักร การตรวจคนเข้าเมือง สิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าว สิทธิการเช่าที่ดิน สิทธิการลดหย่อนภาษี การใช้ที่ราชพัสดุ โดยไม่ต้องเข้ากฎหมายร่วมทุน การนำคนต่างด้าวที่เป็นผู้ชำนาญการนำครอบครัวเข้าเมือง การนำคนต่างด้าวมาทำงานในตำแหน่งที่กำหนด และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ต้องการเข้ามาทำงาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องที่รอการอนุมัติไปติดอยู่ที่กระทรวงต่างๆ เป็นอุปสรรคในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ ดังนั้นจึงมีการพิจารณาว่าส่วนใดควรคงไว้ในหน่วยงานต้นสังกัดและส่วนใดบ้างควรย้ายโอนมายังสำนักงาน EEC”

จะเห็นว่าถ้อยแถลงของนายกอบศักดิ์ หลีกเลี่ยงการลงรายละเอียดโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าว และสิทธิการเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาโดยตลอด

จำต้องย้อนกลับไปสืบสาวที่มาที่ไปของโครงการ EEC และร่างกฎหมายดังกล่าวกันอีกครั้ง

สำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Department) ครม. มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เห็นชอบหลักการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินโครงการ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดินแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิการเช่าที่ดิน สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ฯลฯ เสนอต่อ ครม. หลังจากนั้น ครม. มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ. ศ. ......

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อยู่ตรงประเด็นที่สำคัญอันดับหนึ่ง คือ สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าวผู้ประกอบกิจการและอาศัยภายในเขตฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง 50 ปีและสามารถต่อสัญญาได้อีกไม่เกิน 49 ปี นับจากวันที่ครบ 50 ปี รวมๆ แล้ว ก็คือ 99 ปี

สอง ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจการนั้นเป็นการเฉพาะได้

สาม ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ซูเปอร์บอร์ด มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยตรงเพื่อพิจารณาสั่งการในเรื่องการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งให้ซุปเปอร์บอร์ด มีอำนาจกำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนผู้ลงทุน และวิธีการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการสำหรับโครงการประเภทหรือลักษณะใดเป็นการเฉพาะได้

สี่ แก้ไขหลักการและขั้นตอนดำเนินการแผนภาพรวม การใช้ประโยชน์ที่ดิน สาธารณูปโภคพื้นฐาน แผนการดำเนินงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและชัดเจน และให้ถือว่าแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จัดทำขึ้นตามร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง สำหรับแต่ละจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้มีผลบังคับโดยไม่กำหนดเวลาสิ้นอายุเพื่อให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมที่บังคับใช้อยู่ก่อน

ร่างกฎหมายนี้ จึงไม่ได้มีแต่โปรแรงที่จูงใจชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยอนุญาตให้เช่าที่ดินได้ 99 ปี เท่านั้น แต่ยังทะลุทะลวงกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติ และข้อจำกัดต่างๆ อย่างเรื่องผังเมือง การใช้ประโยชน์จากที่ดิน ที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขสนองความต้องการของทุน เช่น เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวจากเกษตรกรรม มาเป็นสีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรมได้โดยใช้อำนาจของซูเปอร์บอร์ด หรือ “ครม.น้อย EEC”

ขณะที่ข้อจำกัดเรื่องผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ก็สามารถตั้งคณะชำนาญการขึ้นมาพิจารณาเป็นการเฉพาะได้ ไม่นับว่าอำนาจของ “ซูเปอร์บอร์ด” นั้นล้นเหลือพอๆ กับคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเหมือนกัน ส่วนเลขาธิการสำนักงาน EEC มือชงเรื่องก็มีอำนาจไม่ต่างไปจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

เมื่อดูจากอำนาจของซูเปอร์บอร์ด และอื่นๆ ประกอบกันแล้ว ต้องถือว่านี่เป็นการเปิด “เส้นทางลัด” ต้อนรับทุนอย่างถึงอกถึงใจเสียยิ่งกว่าเมื่อคราวที่มีการเปิดพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ยุคบุกเบิกสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพราะตอนนั้นยังมีหลายด่านที่คอยตรวจสอบถ่วงดุลกันอยู่

ต้องไม่ลืมว่า “ทางลัด” นั้นเร็ว แรง ทะลุพิกัด แต่บทเรียนที่ประเทศไทย มีผู้นำอย่างนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ชื่อว่า Strong Prime Minister ทำให้น่าคิดว่าโฉมหน้าการพัฒนา EEC ยุคหลังนายกฯลุงตู่ จะเป็นเช่นใด ย้อนกลับไปดูอำนาจของซูเปอร์บอร์ดแล้วคิดๆ ๆ กันอีกครั้ง แล้วจะได้คำตอบล่วงหน้า

แต่ก็อย่างที่ว่า คณะผู้นำที่มาจากทหารไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ การคิดหาหนทางดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาจึงต้องอิงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และทุ่มหมดหน้าตัก ที่ดินของบรรพบุรุษและลูกหลานในอนาคต ก็ต้องเอามาเร่ให้เช่าแบบยาวจนลืมไปเลย ทั้งที่นี่เป็นการดึงดูดการลงทุนในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ และต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นแกนหลัก
นวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยซึ่งพื้นฐานมาจากการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยของประเทศ และเปิดให้คนในสังคมมีความคิดต่างเห็นต่างจึงจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ส่วนที่ดินนั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักของการลงทุนเหมือนยุคไทยแลนด์ 1.0 อีกแล้ว
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(ซ้าย), กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
ชำเลืองดูการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการวิจัย คุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำขนาดแพ้ลาวแล้วจะทำอย่างไร สถาบันการศึกษาเฉพาะด้านที่ผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมในเขต EEC มีกี่แห่ง ปีหนึ่งๆ ผลิตคนได้กี่คน มีคุณภาพระดับไหน นี่ต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนของไทยแลนด์ยุค 4.0

การดึงทุนเข้ามาในเขต EEC นั้น รัฐบาลลุงตู่ คาดหมายว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 70,259 ไร่ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประมาณ 18,000 ไร่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ประมาณ 7,259 ไร่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ 21,500 ไร่ อุตสาหกรรมการบิน ประมาณ 500 ไร่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ประมาณ 20,000 ไร่ อุตสาหกรรมดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร ประมาณ 3,000 ไร่

หากดูเป้าหมายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในเขต EEC ต้องถือว่าล้ำมากๆ แต่โปรแรงๆ ที่จูงใจด้วยการเปิดให้เช่าที่ดินเกือบร้อยปีที่รัฐบาลออกมากลับสวนทางแบบไปกันคนละทิศ ถ้าหากคิดกันใหม่ ให้เช่าที่ดินแค่ 50 ปีก็เพียงพอแล้ว เพราะดูอย่างลาว ตอนนี้เลิกเงื่อนไขให้ต่างชาติเช่าที่ 99 ปีไปแล้ว เพราะนอกจากจะยาวนานไป ก็คงไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนอย่างว่า

ถ้ารัฐบาลลุงตู่ วางเป้าไปยัง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โปรแรงที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติคืออะไร ย่อมไม่ใช่การให้เช่า “ที่ดิน” ระยะยาวเป็นร้อยปีแน่นอน ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ควรจะทำให้เกิดเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งในสังคม ก่อเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลเปล่าๆ ปลี้ๆ

หากจะเลือกการสับขาหลอกไปเรื่อยๆ และสุดท้ายดันเอาจนได้แบบร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ หัวมังกรท้ายมังกุด ที่รัฐบาล และ สนช. เพิ่งทำคลอดออกมา ก็มีแต่จะตอกย้ำอำนาจนิยมแบบทหารของรัฐบาล สูญเสียความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องคนไทยที่รักรัฐบาลลุงตู่ เปล่าๆ

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลจะต้องฟังเสียงของประชาชนก่อน

ทั้งนี้ แนวนโยบายดังกล่าวถูกสังคมคัดค้านอย่างหนักจนรัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องวิ่งโร่ออกมาแจงไม่เว้นแต่ละวัน

“พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็น ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ด้วยการเช่าที่ดินระยะยาวเป็นเวลา 50 ปี และขยายเวลาได้อีก 49 ปี รวมเป็นเวลา 99 ปี ไม่ใช่เป็นการให้สิทธิพิเศษใหม่เพิ่มเติม แต่เพื่อนำมาเขียนในร่าง พ.ร.บ.EEC ให้นักลงทุนทราบอย่างชัดเจน เนื่องจาก การเช่าระยะยาวดังกล่าวระบุไว้ใน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปี 2542 มาตรา 540 กำหนดว่าให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินระยะยาวใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมมากกว่า 50 ปี ในช่วงแรก และขยายเวลาได้อีก 49 ปี โดยจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความมั่นใจกับภาคเอกชนซึ่งใน พ.ร.บ.EEC เขียนลงไปโดยใช้ถ้อยคำเดียวกันกับ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาฯ ปี 2542 ดังนั้นจึงไม่ใช่การให้สิทธิใหม่หรือให้สิทธิเพิ่มเติม แต่เป็นสิทธิเดิมที่มีอยู่แล้ว” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินสายอธิบาย

เฉกเช่นเดียวกับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ออกมาช่วยขยายความว่า การเปิดให้สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าว 99 ปีนั้น ถือว่าไม่ใหม่เนื่องจากการเช่าพื้นที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 และเป็นการเช่าภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และที่ผ่านมานั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ที่เปิดให้ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลยเมื่อได้รับสิทธิ์การส่งเสริม แต่ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบที่ทางรัฐบาลกำหนด

“ทั้งนี้ การเช่าภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการผลักดันลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเท่านั้น รวมถึงต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย ซึ่งแต่ละเขตจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ประโยชน์ ผลกระทบ และมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนหรือชุมชน ขณะเดียวกันต้องจัดทำร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วย พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งสองคนพยายามจะแสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นกฎหมายที่เคยมีอยู่แล้ว ซึ่งจากการตรวจค้นข้อมูลก็พบว่า เป็นกฎหมายที่ออกมาในยุคที่มี “นายชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี

ทว่า ดูเหมือนว่า คำชี้แจงของทั้งนายกอบศักดิ์ และนายอุตตม จะไม่สามารถหยุดยั้งอารมณ์ของผู้คนในสังคมได้ เพราะอธิบายความจริงไม่หมด เนื่องจากแม้กฎหมายจะเปิดช่อง แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง เพราะมีเงื่อนไขบานตะไท ต่างจากกฎหมายฉบับใหม่ที่จะทะลุทะลวงทุกปัญหาที่เคยมีอยู่ให้หมดไป

ก้าวแรกจาก ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กำลังเริ่มขึ้นแล้ว .... “พี่น้องครับ เรื่องการให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี จากเดิม 50 ปี เป็นเรื่องใหญ่มาก ... เราต้องตั้งสติ ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ยังเป็น “ร่าง” พระราชบัญญัติฯ เขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะเปิดให้ชาวต่างชาติมาเช่าพื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ได้นานถึง 99 ปี (แล้วจะขยายไปจังหวัดอื่นๆ ต่อได้)

ขั้นตอนต่อไป รัฐบาลจะต้องนำร่างนี้ไปตราเป็นพระราชบัญญัติ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องทำตามมาตรา 77 วรรค 2 ที่ระบุว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ”

“.... เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอย่ารอช้าเลย ภาคประชาชนมาเตรียมพร้อมล่วงหน้าสำหรับการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบของร่าง พ.ร.บ. นี้ กันดีกว่า โดยเฉพาะตัวผมเอง จะเตรียมตัวจัดหนักสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่าง “รอบด้าน” และเป็น “ระบบ” มาครับ มาช่วยกัน มาเตรียมตัวพร้อม แล้วมาลุยกัน จนรัฐต้องเกิดอาการ “งงเด้” กันเลยดีกว่าครับ

“.... มาลุยกันสักตั้ง เพื่อลูกหลานไทยกันครับ” ดร.เดชรัต เชิญชวนเรียกแขกเข้าให้แล้ว
ดังนั้น หากจะเบรกกระแส รัฐบาลลุงตู่ มีแต่ต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เปิดรับฟังความเห็น ขีดเส้นขอบเขตพื้นที่และอำนาจภายใต้กรอบ EEC ให้ชัด

อย่างเรื่องให้เช่าพื้นที่ 99 ปี จะกำหนดเฉพาะจุดไหน ไม่ใช่เปิดกว้างเป็นปลายเปิดคลุมทั้ง 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ใน EEC อีกทั้งยังสามารถขยายไปพื้นที่อื่นๆ ได้อีก อย่างนี้ถูกคัดค้านหนักหน่วง ไม่เลิกราแน่ๆ

หรืออย่างกรณีผังเมืองที่กำหนดไว้แบบคลุมๆ เครือๆ แล้วยังให้อำนาจซูเปอร์บอร์ดต่อตรงถึง ครม. ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการลงทุนเต็มที่นั้นมีแต่จะสร้างความไม่ไว้วางใจจากประชาชนไม่สิ้นสุด

ไหนๆ รัฐธรรมนูญฯ 2560 ก็ประกาศใช้แล้ว ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ กันเสียก่อนดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น