xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รวิฐา พงศ์นุชิต สางปัญหาผูกขาดดิวตี้ฟรีเมืองไทย “ดิฉันต้องการให้ประชาชนได้รู้ว่าเป็นธรรมมันอยู่ตรงไหน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุปสัปดาห์ - อีกไม่นานคงได้ทราบกันว่าหมากกระดานนี้จะลงเอยอย่างไร สำหรับปัญหาเรื่อง การผูกขาดธุรกิจ ร้านค้าปลอดภาษี หรือ ดิวตี้ฟรี หลังคำวินิจฉัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ชัดว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. “เลือกปฏิบัติ” เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงรายเดียว

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวอันเป็นผลมาจากเรียกร้องความเป็นธรรมขององค์กรที่มีชื่อว่า “สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย” ที่ต้องการให้รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) โดยต้องการให้ ทอท. จัดหาพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick-up Counter) เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วไปทุกรายที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนดได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีภายใต้กลไกตลาด

กระทั่งในเวลาต่อมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งหนังสือด่วนที่สุด ผผ 08/370 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ถึง นายกสมาคมดิวตี้ฟรี และ ทอท. แจ้งผลการวินิจฉัย ความว่า

“กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียว เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าภายในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นการให้บริการประชาชนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (ขาออก) การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเปิดจุดส่งมอบสินค้า ถือเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน, จำกัดสิทธิผู้ประกอบการรายอื่นในการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และไม่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ถือว่า ทอท. ปฏิบัติ หรือละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่

“ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เสนอแนะให้ ทอท. จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ส่งมอบสินค้า และขอให้ ทอท. รายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 60 วัน”

แน่นอน หลายคนสงสัยว่า สมาคมแห่งนี้มีที่มาและที่ไปอย่างไร เฉกเช่นเดียวกับตัวนายกสมาคมฯ ว่าเป็นใครมาจากไหน

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ร่วมพูดคุยกับ “รวิฐา พงศ์นุชิต” กับการเข้ามารับบทบาท “นายกสมาคมดิวตี้ฟรี” ถึงภารกิจทวงคืนความชอบธรรม สลายการผูกขาด เปิดเสรีธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) และจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick-up Counter)

-การเคลื่อนไหวของ “สมาคมดิวตี้ฟรี” สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัญหาผูกขาดผลประโยชน์ร้านดิวตี้ฟรีในเมือง รายละเอียดเป็นอย่างไร
ย้อนกลับไปตั้งแต่กรณีกลุ่มบริษัทล็อตเต้ (ผู้ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสินค้าปลอดภาษีรายใหญ่ในเกาหลีใต้) ไดัรับเชิญจากนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.) ท่านเชิญเขามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปฏิวัติใหม่ๆ ล็อตเต้ก็สนใจเข้ามาลงทุนเรื่องดิวตี้ฟรี จากนั้นทางล็อตเต้ได้เข้าไปหา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ในการเข้ามาดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในไทย ได้คำตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไรเข้ามาลงทุนได้เลย และดิฉันซึ่งเป็นรองอธิบดีสรรพากรมาก่อน ก็บอกเขาไปว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะคิดว่าช่องทางมันน่าจะเป็นอย่างนั้น ล็อตเต้ก็เลยดูสถานที่จะเข้ามาตั้งดิวตี้ฟรีเมืองไทย ก็มาเช่าพื้นที่ห้างโชว์ ดีซี

ขณะที่ทางกรมศุลกากร บอกว่า ล็อตเต้มีคุณสมบัติทำได้ แต่ต้องมีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick-up Counter) ภายในสนามบิน ล็อตเต้ก็ทำตามขั้นตอนไปขอเช่าพื้นที่ ทำหนังสือขอเช่าพื้นที่ไปที่สนามบินดอนเมือง กับสนามบินสุวรรณภูมิ 2 - 3 ฉบับ ปรากฏว่าทางสุวรรณภูมิไม่เคยตอบเลย แต่ที่ดอนเมืองตอบว่า พื้นที่แออัดกำลังจะซ่อมปรับปรุงให้มีพื้นที่มากกว่านั้น ท้ายที่สุด บริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ขอใช้พื้นที่ที่สนามบินอู่ตะเภาและได้ไลเซนส์จากกรมศุลกากรมา หลังจากนั้น บริษัท เซ็นทรัล ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด มีความประสงค์เช่นเดียวกัน และได้คำตอบเดียวกับทาง ล็อตเต้ ว่าต้องมี Pick-up Counter ก่อน แต่ทางเซ็นทรัลฯ ไม่แฮปปี้กับสนามบินอู่ตะเภา เขาอยากได้ที่สนามบินดอนมือง หรือสนามสุวรรณภูมิ

ต่อมาเขาได้รวมตัวกันขอให้ดิฉันเป็น “นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย” เพราะว่าดิฉันมีความรู้สายกฎหมาย ดิฉันเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากรคุมสายกฎหมายมาโดยตลอด ดิฉันกลับมาดูกฎหมายต่างๆ นานา กรมศุลกากร บอกคุณสมบัติผู้ที่ขอไลเซนส์มีประมาณ 5-6 อย่าง แต่ว่าไม่มีคุณสมบัติอันไหนระบุว่าจะต้องไปขอพื้นที่ Pick-up Counter ที่สนามบินด้วยตนเอง

จึงรวมตัวกันเพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นธรรม Pick-up Counter เป็นบริการสาธารณะ ดิฉันได้มาศึกษาเรื่องของดิวตี้ฟรี ประเภทแรก คือ มีสัมปทานแต่อยู่ในสนามบิน ประเภทที่สอง คือ ร้านค้าปลอดภาษีอากรในเมือง อยู่ที่ไหนก็ได้ที่กรมศุลกากรอนุญาต แต่ต้องมี Pick-up Counter เพราะกรมศุลกากรต้องการรู้ว่าคนที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองจะต้องนำสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักรไปพร้อมกับตัว ซึ่งที่ที่เหมาะสมที่สุดและควบคุมได้ก็คืออาคารขาออกที่สนามบิน ต้องไปรับของที่นั้น

ตามที่ทราบกันว่าร้านปลอดอากรซื้อของแล้วจ่ายเงินแล้วยังไม่ได้ของ ต้องไปเอาของที่ Pick-up Counter ภายในสนามบิน องค์ประกอบร้านค้าปลอดภาษีอากรในเมืองก็จะมีอยู่ 3 อย่าง 1. ร้านค้าปลอดภาษีอากรที่ตั้งอยู่ในเมือง 2. ผู้ซื้อสินค้าที่มีสิทธิซื้อ หมายความว่าเป็นนักท่องเที่ยว หรือเป็นคนไทยที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยมีตั๋วเครื่องบินมีพาสปอร์ตแน่นอน 3. ต้องมี Pick-up Counterในสนามบิน

ดิฉันจึงเห็นว่า Pick-up Counter เป็นบริการสาธารณะไม่มีการซื้อขาย ณ จุดส่งมอบสินค้า เพียงแค่รับของเท่านั้นเอง จึงเชื่อโดยสุจริตว่า Pick-up Counterไม่เป็นสัมปทานแน่นอน ก็จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมไปว่า Pick-up Counterไม่เป็นสัมปทานแน่นอน จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญ กรมศุลฯ ทอท. และสมาคมฯ ไปพบปะพูดคุยกัน ทอท. อ้างว่า Pick-up Counter หรือจุดส่งมอบตรงนั้นเป็นสัมปทาน แต่กรมศุลฯ บอกว่าจุดส่งมอบเป็นหนึ่งในกระบวนการของร้านค้าปลอดอากรในเมือง ถ้าไม่มีจุดส่งมอบการขายสินค้าปลอดอากรในเมืองก็ไม่เกิดขึ้น

ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เสาะหาพยานเอกสารหลักฐานต่างๆ จนกระทั่งรู้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิ เคยเปิด Pick-up Counterให้กับผู้ประกอบการรายอื่น นั่นหมายความว่ามันไม่เป็นสัมปทานแน่นอน อีกอย่างหนึ่ง เรื่องค่าตอบแทน หากพื้นที่ใดที่เป็นสัมปทานย่อมมีความชัดเจนเรื่องค่าตอบแทน จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เช่น 3 ปี เท่านี้ 5 ปี เท่านี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเขียนไว้ชัดเจน แต่ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินสุวรรณภูมิการสับเปลี่ยนหลายครั้ง เช่น ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ ทอท. 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ก็มีการปรับขึ้นเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่นำไปผ่านจุดส่งมอบสินค้า ต่อมา ปรับเปลี่ยนเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ของ 3 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้าที่นำมาผ่านจุดส่งมอบสินค้า จากนั้นก็มีการปรับกลับมาเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าของสินค้าปลอดอากร คำว่าสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นดิวตี้ฟรี แล้วจุดส่งมอบสินค้าPick-up Counter ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นสัมปทาน ทอท. ตีความให้จุดส่งมอบเป็นสัมปทานตั้งอยู่บนพื้นที่สัมปทานของพื้นที่เชิงพาณิชย์ คุณคิดหรือว่าถ้าเป็นพื้นที่สัมปทานมันจะกลับไปกลับมาเรื่องค่าตอบแทนได้อย่างไรกัน?

เหล่านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินท่านมีหลักฐานต่างๆ นานา ให้โอกาส ทอท. ชี้แจงเพิ่มเติมตลอดจนกระทั่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยออกมา ทอท. ทำอย่างนี้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

- เหตุนี้ประจักษ์ชัดตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทอท. เข้าข่ายเลือกปฏิบัติปิดกั้นเสรีทางค้า
คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เขียนไว้ดีมาก ทอท. ปฏิบัติหน้าที่ละเลยให้เกิดความเสียหายกับประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 13 (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 วรรค 1 เสนอแนะให้ ทอท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จัดหาและกำหนดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น เพื่อใช้ในการส่งมอบสินค้า ไม่ได้ชี้เฉพาะให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งแต่ใช้คำว่า “จุดส่งมอบสาธารณะ” ที่สามารถให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นๆ ได้ใช้ร่วมกัน นั่นคือ คำวินิจฉัย

เรื่องของดิฉันก็คือ “แสวงหาความเป็นธรรมจุดส่งมอบสินค้า” เป็นภารกิจที่เหมือนกับเปิดประตูที่มันขึ้นสนิมสำหรับธุรกิจประเภทนี้ให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย ให้สามารถเข้ามาประกอบกิจการได้ ส่วนเขาจะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นที่กลยุทธ์ทางการค้าของเขา

- คิดว่าการเรียกร้องของทางสมาคมฯ จะสามารถปลดล็อกธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) ได้จริงหรือ
มันกำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน ดิฉันถือว่าเดินมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของเขา ขจัดปัดเป่าให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้อย่างชัดเจนมาก เพราะว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเขียนมาชัดเจนมาก “เป็นการละเลยปฏิบัติ” การละเลยปฏิบัติของ ทอท. เข้าข่ายคดีอาญาผิดมาตรา 157 ดิฉันสามารถเอาคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินอันนี้ไปฟ้องศาลได้เลย หาก ทอท. ไม่ดำเนินการใด เพราะว่ายังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับไหน หรือเรื่องไหนที่ศาลจะเว้นหรือศาลจะไม่ฟัง เพราะว่าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะออกคำวินิจฉัยนี้มาเขาดูละเอียดถี่ถ้วนหมดแล้ว เขาไม่ซี้ซั้วหรอกค่ะ ระหว่าง 60 วัน ก็จะรอดูว่า ทอท. จะทำอย่างไร (หาก ทอท. ยังเพิกเฉย?) ไปถึงศาลแน่นอน ไม่ต้องห่วงค่ะ ศาลปกครอง และศาลอาญาด้วย คือเอกสารที่ร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมันพร้อมยิ่งกว่าพร้อม และมันก็เป็นเอกสารชุดเดียวกันนี่แหละที่ดิฉันจะนำไปศาล

- มีการพูดถึงเรื่องเปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรี กล่าวคือในเมืองไทยเปิดเสรีอยู่แล้วแต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
คำว่า เปิดเสรีดิวตี้ฟรี เราเปิดมานานมากแล้วแต่ ทอท. ก็ดี กรมศุลกากร ก็ดี ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย ทอท. ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำเช่นนี้ ดิฉันไม่อยากจะโทษว่าเขารู้หรือไม่รู้ เพราะว่าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว ก็เคยมีเรื่องนี้อยู่ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณารายได้ เคยสงวนสิทธิ์ด้วยซ้ำว่าเราต้องให้ผู้ประกอบการ ราย อื่นได้เปิดจุดส่งมอบสินค้า เคยสงวนสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2555 ก็ทำมาแล้ว รู้ทุกอย่างใช่ว่าไม่รู้ และการที่รู้ทุกอย่างคุณรู้ว่าเปิดเสรี ถ้าคุณให้สัมปทานจุดส่งมอบสินค้ากับรายใดเท่ากับว่าให้รายนั้นได้สัมปทานร้านค้าปลอดอากรในเมืองด้วยโดยปริยาย คนอื่นใช้จุดส่งมอบไม่ได้ ใช้จุดส่งมอบได้คนเดียวคือคนที่ได้สัมปทาน คุณทำอย่างนี้ได้ยังไง ดิฉันไม่โทษผู้ประกอบการรายอื่นนะ ดิฉันโทษ ทอท. ที่ทำแบบนี้

- ทอท. ต้องรับผิดชอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างไร
ไม่ต้องทำอะไรมากแค่จัดหาพื้นที่ให้เท่านั้นเอง พื้นที่ไม่ได้มากมาย เราขอแค่เพียง 300 ตารางเมตร คุณคิดดูพื้นที่ในสนามบินกี่แสนตาราเมตร? เราไม่ได้ขอมากมายเลย เราบอกว่าช่วยจัดสรรพื้นที่ให้เป็นจุดส่งมอบสาธารณะ ทอท. จะดำเนินการเองก็ได้ หรือให้คนอื่นดำเนินการก็ได้ แต่คนที่จะดำเนินการเรื่องจุดส่งมอบสาธารณะ Public Pick-up Counter ต้องไม่เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลอดอาการ มิเช่นนั้น ถ้าร้านใดร้านนึงมาทำก็ล่วงรู้ข้อมูลของอีกร้าน ใครก็ตามเป็นคนดำเนินการจุดส่งมอบ ก็เท่ากับล่วงรู้ข้อมูลเชิงพาณิชย์ ของคู่ต่อสู้หมดเลย ดิฉันมีความรู้เรื่องนี้ทุกคนเลยขอร้องให้ดิฉันมาช่วย ดิฉันไม่มีอำนาจแต่ดิฉันมีความรู้ เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านสัญญาคมนาคมมาก่อน ดิฉันรู้สัญญาทั้งหมดดิฉันเคยเห็นและดิฉันเชื่อว่าที่ดิฉันสู้ดิฉันใช้ข้อกฎหมายข้อเท็จจริงข้อสัญญาเข้าสู้

- ทิ้งท้ายภารกิจการออกเรียกร้องความชอบธรรมต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว และบทบาทในฐานะนายกสมาคมดิวตี้ฟรี
มันเป็นสัมปทานที่ให้กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งใช้ได้อยู่คนเดียวได้อย่างไร? มันไม่เป็นธรรม ดิฉันต้องการให้ประชาชนได้รู้ว่าเป็นธรรมมันอยู่ตรงไหน ดิฉันเป็นคนของกระทรวงการคลัง ดิฉันไม่มีทางที่จะทำร้ายประเทศชาติ มันเป็นผลประโยชน์ของเราทุกคน เราเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

คิดดูนะคะ จุดส่งมอบสินค้าทุกวันนี้อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งรายเดียว ต่อไปถ้าจุดส่งมอบนี้เป็นจุดส่งมอบสาธารณะร้านปลอดอากรทุกร้านสามารถนำสินค้าผ่านจุดส่งมอบ คุณว่ารัฐมีรายได้จากผู้ประกอบการรายเดียว หรือผู้ประกอบการหลายสิบราย แบบไหนรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน สนามบินไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง เรากู้เงินมาสร้าง1.4 หมื่นกว่าล้านตอนนี้ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย แล้ว ทอท. ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ ทอท. เป็นเพียงบริษัทจดทะเบียนรับมอบดูแลพื้นที่เท่านั้นเอง พื้นที่สนามบินเป็นของพวกเราทุกคน ดิฉันต้องการขอความเป็นธรรม อยากให้ประเทศนี้มีความเป็นธรรม สิทธิของใครใครก็ต้องได้อย่างชอบธรรมเท่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น