ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต่อจากฉบับที่แล้ว ซึ่งปูพื้นว่า ทำไม? คณะอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่มี นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธาน จึงสรุปไว้ว่า “ไม่ควรที่จะควบรวม อบต.ทุกแห่ง”
หลังจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นประธานีการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) ตรวจความเห็นต่อ“ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
วันนั้น 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. ที่ประกอบด้วย “สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)แห่งประเทศไทย” “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.)” และ “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย” ได้ยื่นหนังสือเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีจากเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่าย อปท. และภาคประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งสรุปว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและการกระจายอำนาจ”
การประชุม กกถ. ยังมีความเห็นว่า “รัฐไม่ควรบังคับให้มีการควบรวม” เนื่องจากอาจขัดร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.....(ขณะที่เขียนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แล้ว) แต่ควรให้ควบรวมโดยความสมัครใจของ อปท. ในเรื่องการจัดสรรรายได้ของ อปท. ควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท.ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ อปท. ขนาดเล็กกับขนาดกลางและใหญ่ โดยให้รัฐเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ อปท.ขนาดเล็กแทนการควบรวม ซึ่งมติที่ประชุมได้มอบหมายให้นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ยกร่าง พรบ.ประมวลกฎหมายท้องถิ่น เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เทียบเคียงกับร่าง 2 ฉบับ
กลับมาที่การบ้านของคณะอนุกรรมการฯ ที่เห็นว่า ไม่ควรบังคับให้มีการรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่าเจ็ดพันคน ภายในหนึ่งปี โดยมีเหตุผลดังนี้
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มาตรา 249 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีการจัดตั้งอปท.ตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบอปท.ที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 249 วรรคสอง บัญญัติให้การจัดตั้ง อปท.ในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการจัดตั้ง อปท.รูปแบบใด รวมถึงการยุบเลิกหรือควบรวมอปท.รูปแบบใด จึงควรต้องเป็นไปตามหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้คือ ต้องเป็นไปตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น
การที่ร่างประมวลกฎหมาย อปท. มาตรา 15 บัญญัติให้มีการควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาทหรือมีประชากรต่ำกว่าเจ็ดพันคนเข้าด้วยกันหรือกับเทศบาลอื่นที่มีเขตพื้นที่ติดกันและในอำเภอเดียวกันภายในหนึ่งปี เป็นการบังคับรวมโดยผลของกฎหมายโดยมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลที่จะควบรวม จึงไม่สอดคล้องกับหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... มาตรา 149
จากผลการศึกษาวิจัย “สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 15 ปีการกระจายอำนาจของไทย” ในโครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทยจัดทำโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงาน กกถ. ได้แสดงให้เห็นว่า อปท. ขนาดเล็ก คือ อบต. และเทศบาลตำบล ถึงแม้จะมีรายได้น้อยทำให้มีศักยภาพในการดำเนินงานที่จำกัด แต่มีจุดแข็งคือ อปท. ขนาดเล็กสามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้ง่าย และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนได้ดีกว่า อปท. ขนาดใหญ่ จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น
ดังนั้น หากจะมีการควบรวมควรกำหนดให้มีระยะเวลาเปลี่ยนแผ่น เช่น 3-5 ปี ถ้าเป็นไปโดยสมัครในก็สามารถควบรวมได้ โดยรัฐกำหนดมาตรการในการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการควบรวมถ้าการควบรวมเป็นไปโดยไม่สมัครใจก็สามารถควบรวมได้ โดยควรกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาศักยภาพและระยะเวลาดำเนินการโดยอาจจะกำหนดระยะเวลา 3- 5 ปี เพื่อให้ อปท.พัฒนาศักยภาพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากไม่สามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ได้จึงดำเนินการควบรวม อปท. นั้น
สำหรับบางพื้นที่มีคุณลักษณะเฉพาะ เช่นพื้นที่ห่างไกลและมีความยากลำบากในการเข้าถึงเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์หรือความจำเป็นเฉพาะ ฯลฯ อาจจัดให้มีหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กต่อไปตามเดิมตามความเหมาะสมของพื้นที่หรือความสมัครใจของประชาชน หาก อปท. ใดมีลักษณะ หรือ อัตลักษณ์เช่นนี้ไม่ควรยุบรวมกับ อปท. อื่น ควรให้คงสภาพเดิมไว้
กำหนดมาตรการในการร่วมมือกันในระหว่าง อปท.ซึ่งจะเป็นมาตรการที่จะช่วยให้ อปท.ขนาดเล็กไม่ต้องยุบรวม เนื่องจากการร่วมมือกันจะทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยอปท.ขนาดเล็กอาจให้บริการสาธารณะที่ใช้งบประมาณไม่มากในการดำเนินการ ส่วนการจัดบริการสาธารณะขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมากอปท.สามารถร่วมมือดำเนินการได้ โดยมีการกำหนดเครื่องมือหรือกลไกลในการร่วมมือกัน รวมถึงมีมาตรการในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกัน ดังกล่าว
เช่น ในประเทศฝรั่งเศส เคยมีกรณีให้ยุบรวมองค์กรส่วนท้องถิ่นแต่ไม่สามารถดำเนินการได้จึงเปลี่ยนมาใช้รูปแบบความร่วมมือแทนซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ประกอบกับในการจัดทำร่างกฎหมายกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่อปท.ได้มีการกำหนดแนวทางความร่วมมือของ อปท.ไว้รูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้ อปท.สามารถจัดบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือ อปท.ด้วยกันเอง หรือกับเอกชนก็ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในท้องถิ่น ทำให้เกิดการประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณในการดำเนินการจัดบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะของ อปท.ไว้แล้ว จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดการควบรวม อปท.แต่อย่างใด ควรเน้นการพัฒนาศักยภาพของ อปท. และควรถือเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นในการควบรวมเป็นสำคัญ
ความสามารถในการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจการสาธารณะของท้องถิ่นมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สมดุลทางการคลังซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากการกระจุกของตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งความไม่สมดุลในแนวตั้ง คือ ความเหมาะสมระหว่างภารกิจกับรายได้คือ ได้รับภารกิจมากแต่รายได้มีไม่เพียงพอหรือน้อยกว่าภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอน และความไม่สมดุลตามแนวนอน คือ อปท.ในสภาพใกล้เคียงกันจำนวนพื้นที่และประชากรแต่รายได้แตกต่างกันมากเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
ดังนั้น จึงควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจัดสรรรายได้ให้ อปท.ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของ อปท. และสอดคล้องกับภารกิจ รวมทั้งสภาพล้อมของพื้นที่ของ อปท.โดยเฉพาะอปท.ที่มีขนาดเล็ก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจน้อย มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาจัดทำบริการสาธารณะ โดยรัฐควรพิจารณาจัดสรรรายได้ เพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการคลังมากกว่าการที่จะให้ควบรวม
คณะอนุกรรมการ ฯ ยังสรุปในประเด็น “การบริหารอปท.” ในส่วนของ สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น มีความเห็นและข้อสังเกต ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาเทศบาลในมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 30ว่าเป็นการกำหนดที่ผันแปรตามจำนวนประชากร ทำให้มีมีสมาชิกจำนวนมาก และสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงควรกำหนดจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นไว้ให้เป็นจำนวนที่แน่นอนและไม่มีจำนวนมากเกินไป
โดยอาจพิจารณาเทียบเคียงได้จากการกำหนดจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้กำหนดเขตเลือกตั้งโดยใช้เกณฑ์ราษฎรหนึ่งแสนคนเป็นประมาณ โดยในเขตเลือกตั้งหนึ่งให้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้หนึ่งคน ซึ่งทำให้มีจำนวนสมาชิกไม่มาก หรือในกรณีของสภาเขตของกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ในเขตหนึ่ง ๆ มีสมาชิกสภาเขตอย่างน้อยเจ็ดคน ถ้าเขตใดราษฎรเกินหนึ่งแสนคนให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตในเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนคน
ขณะที่ ประเด็นที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นในมาตรา60 ควรกำหนดให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... โดยมีเหตุผลดังนี้ร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น มาตรา 60 บัญญัติให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มาตรา 252 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือในกรณี อปท.รูปแบบพิเศษจะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
จึงควรกำหนดการได้มาของผู้บริหารท้องถิ่นให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มาตรา 252 วรรคสอง เนื่องจากบางพื้นที่มีหลายชนเผ่าหรือมีความขัดแย้งทางศาสนา จึงควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาตัดสินใจว่าจะให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
ใน “ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น” ควรมีการศึกษาให้ชัดเจนในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น ระหว่างการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ กับการไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ให้ละเอียดรอบครอบก่อน เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าแบบใดมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่ากัน และควรมีกำหนดบทเฉพาะกาลในเรื่องการนับเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น สำหรับผู้บริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ
ทั้งนี้ ยังมีการสรุปถึง หน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะอนุกรรมการ ฯ มีความเห็น ว่า ควรกำหนดหน้าที่และอำนาจระหว่างรัฐกับ อปท.ให้ชัดเจนว่าภารกิจใดเป็นของรัฐ ภารกิจใดเป็นของท้องถิ่น ภารกิจใดที่ทั้งรัฐและท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ เช่น ในเรื่องการศึกษา กำหนดให้ อบต.มีหน้าที่จัดการศึกษาระดับอนุบาล เทศบาลมีหน้าที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วน อบจ. จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นต้นตาม ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มาตรา 250
และ “เมื่อกำหนดให้ อปท.มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องใดแล้ว ควรให้ อปท.มีอิสระในการที่จะออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้”
ฉบับหน้าจะกล่าวถึงบทสรุปว่าด้วย การจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ การเงิน การคลังและการงบประมาณ กองทุนส่งเสริมกิจการ อปท. และ ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น