xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไว้ใจเขาได้? รับประกันคุณภาพ ไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ราชอาณาจักรไทยจะมี “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2560” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนั่นเป็นสัญญาณว่า การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยที่หลายคนแสวงหาจะกลับคืนมา แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า “ดุลอำนาจ” ของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเสียเมื่อไหร่

และลืมไปได้เลยว่า “ระบอบทักษิณ” จะหวนกลับคืนมาสู่อำนาจอีกครั้งตามแรงปรารถนาของ “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร” เพราะคราวนี้ “มันจบจริงๆ แล้วครับนาย” ไม่ใช่เหมือนเมื่อครั้งที่ “เสี่ยเน” ประกาศต่อหน้าสาธารณชนเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ “ยุคไทยแลนด์ 4.0” โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็น “ผู้นำ” พร้อมทั้งมี “แก้ว 4 ประการ” อยู่ในมืออย่างพรั่งพร้อม และสนับสนุนด้วยฐานกำลังจาก “บูรพาบราเธอร์ผู้พี่” คือ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และบิ๊กป็อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เขาทั้ง 3 คนคือ Deep State ตัวจริงเสียงจริงในการเมืองไทยยุคใหม่นับจาก นช.ทักษิณหมดอำนาจวาสนา และไม่มีทางกลับมาเป็นใหญ่ในประเทศไทยได้อีก

โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประวิตรที่เวลานี้อำนาจหยั่งรากลึกลงไปในแทบจะทุกองคาพยพของไทย

ไม่ว่าจะเป็นด้านทหารที่วางฐานกำลังเอาไว้ชนิด “ยาวไป ยาวไป” รวมถึงถือเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ในการผลักดันโครงการต่างๆ ของกองทัพ เช่น การจัดซื้ออาวุธ รถถัง เรือดำน้ำ รถหุ้มเกราะจากจีน ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นด้าน กีฬาที่บัดนี้นั่งแท่นขึ้นเป็น “ประธานโอลิมปิกไทย” คนที่7 สืบต่อจาก บิ๊กอ๊อด-พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รวมทั้งส่ง “คนใกล้ชิด” เข้าไปควบคุมและบริหารจัดการในราชตฤณมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้ง

ส่วนด้านการเมืองไม่ต้องพูดถึงเพราะทำไปทำมาจากที่ “หวิด” จะสิ้นชื่อถูกเขี่ยพ้นจากวงโคจรอำนาจด้วยการปรับพ้นคณะรัฐมนตรี ก็สามารถ “ฟื้นชีพ” กลับมามีบารมีที่เบ่งบานอีกครั้ง รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายทุนการเมืองและนักการเมืองขั้วต่างๆ เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

รวมทั้งบรรดา “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญที่แน่ชัดแล้วว่า มีการต่อท่ออำนาจและส่งคนเข้าไปตามองค์กรต่างๆ ผ่านมาตรา 44 เป็นระยะๆ อีกแล้วครับท่าน ดังเช่นล่าสุดที่เกิดขึ้นกับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) แม้ว่านายวิษณุ เครืองามจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นเพราะจำเป็นก็ตาม นี่ไม่นับรวมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ส่งคนเข้าไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้

สำหรับตัว “บิ๊กป็อก” เอง เวลานี้แม้จะนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ก็ถือเป็นจักรกลคนสำคัญในการควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงที่ถือว่า รู้จักทุกตารางนิ้วของประเทศไทยดีที่สุด เพราะมีกลไกของข้าราชการกระจายอยู่ในทุกจังหวัด และเป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่า กำลังจัดจารีตกลุ่มก๊วนทางการเมืองในจังหวัดต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการล่าสุดกับเรื่อง “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” ซึ่งแม้ต้นตอจะไม่ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย หากแต่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ทว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ได้รับไฟเขียวจากกระทรวงมหาดไทยและ คสช.

และแน่นอน การแก้ พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2547 โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันให้อยู่แค่ 5 ปี จากเดิมที่อยู่จนเกษียณ 60ปี และประเมินผลการทำงานของผู้ใหญ่บ้านทุกๆ 3ปีย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกมองว่า เป็นการรื้อโครงสร้างทางการเมืองครั้งมโหฬารที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้านคือ “หัวคะแนนทางการเมือง” ที่มีอิทธิพลยิ่ง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อบจ.หรือ อบต.ก็ถูกควบคุมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้
 
ไม่เช่นนั้น พล.อ.อนุพงษ์คงไม่ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวหลัง องค์กรกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านออกมาข่มขู่ว่าจะมีม็อบว่า “ผมคิดว่าใครก็แล้วแต่ที่เสียประโยชน์แล้วใช้พลังมวลชนออกมาเคลื่อนไหวน่าจะโบราณเต็มแก่แล้ว และน่าจะไปไม่ได้ ผมอยากให้เดินไปด้วยเหตุด้วยเผล เดินตามตัวบทกฎหมายมากกว่า”

และสุดท้าย สปท.ก็มีมติเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าวด้วยคะแนน 91 ต่อ 27 งดออกเสียง 32 เสียง โดยส่งรายงานความเห็นให้ ครม.รับไปดำเนินการต่อไป ทว่า สุดท้ายจะประสบความสำเร็จหรือเป็นเพียงแค่การต่อรองทางการเมืองอีกไม่นานคงรู้กัน

อย่างไรก็ดี มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในระหว่างที่ “คณะผู้มีอำนาจตัวจริง” กำลังขับเคลื่อนประเทศไทยนั้น พวกเขาสามารถ “คืนความสุข” ให้คนไทยทั้งประเทศได้จริงหรือ แม้ว่าวันนี้ “คะแนนนิยม” โดยเฉพาะสำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์” จะลดลงบ้าง แต่ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจก็ตาม

ยิ่งถ้าวัดคุณภาพกันด้วยค่า KPI (Key Performance Indicator ) ซึ่งเป็นการวัดความก้าวหน้าของการบรรลุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ หรือผลสัมฤทธิ์ขององค์กร โดยเทียบผลการปฏิบัติงานกับมาตรฐานหรือเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ ก็ยิ่งต้องตอบคำถามหนัก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
บิ๊กป็อก - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
มาตรา 44 ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดที่ประกาศใช้ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็น “รูปธรรม” ได้บ้างหรือไม่ เพราะทำไปทำมาเมื่อพิจารณาแล้ว คำสั่งส่วนใหญ่จะกระทำเพื่อ “โยกย้ายข้าราชการ” และป้องกันมิให้ถูกฟ้องร้องตามมาในภายหลัง

เฉพาะแค่ไตรมาสแรกของปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ใช้ ม.44 ไปแล้วกว่า 20 คำสั่ง และคำสั่งสุดท้ายก็คือการแต่งตั้งโยกย้าย 6 ผู้ว่าราชการจังหวัด

ส่วนที่เหมือนจะทำเพื่อแก้ปัญหา ก็ทำแบบติดๆ ขัดๆ จนเกิดความสงสัย เช่น กรณีการประกาศใช้ที่วัดพระธรรมกาย เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้คุ้มค่าแต่ประการใด เพราะไม่สามารถนำตัวพระธมฺมชโยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ หรือที่เพิ่งประกาศใช้ไปสดๆ ร้อนๆ คือเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย การห้ามนั่งในแค็บและท้ายระกระบะ ก็ถูกต่อต้านทั้งประเทศ จนต้องออกมาผ่อนปรนกันในชั่วข้ามคืน

พวกแดงล้มเจ้าอย่าง โกตี๋-นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ และผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ก็ยังไม่สามารถนำตัวกลับมาลงโทษได้ ทั้งๆ ที่ประกาศโครมๆ ว่าจะลากตัวกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขณะที่เรื่องที่ประชาชนต้องการเห็นเป็นรูปธรรม เช่นการคุ้มครองอธิปไตยเหนือดินแดนไทยที่บ่อนช่องสายตะกู ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เมืองบุรีรัมย์ จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมา ทำประหนึ่งว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่อง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ก็เพิกเฉยต่อการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และสุดท้ายก็เชื่อว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในการจัดจารีตโครงสร้างพลังงานของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

เฉกเช่นเดียวกับกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบร้านค้าปลอดภาษีอากรหรือดิวตี้ฟรี อย่าง “คิงส์ เพาเวอร์” ที่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรให้เห็น

สำหรับเรื่อง “การปราบโกง” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยอยากเห็นที่สุด ถึงแม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะทำขึงขังประกาศนโยบายและลงมือปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นถึงขนาดยกเป็นวาระแห่งชาติ แต่ผลงานที่ผ่านมาแล้ว 2 ปี กับอีก 11 เดือน ของ “รัฐบาลลุงตู่” ยังต้วมเตี้ยมไม่ไปถึงไหน

            วัดผลอย่างเป็นรูปธรรมก็จากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือซีพีไอ ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) นั่นชัดเจนที่สุด โดยอันดับของไทยเมื่อปีที่ผ่านมาดิ่งลงเหลือ 35 คะแนน จาก 38 คะแนน ทำให้อันดับร่วงลงมาเป็นอันดับที่ 101 จากอันดับที่ 76 เมื่อปี 2558

            เป็นการวัดผลแบบสากลที่หนีไม่ออก ถึงแม้หน่วยงานปราบโกงและรัฐบาล จะพยายามอธิบายว่า เพราะ TI เอาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเข้ามาเป็นตัวชี้วัดด้วย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดใหม่ และตั้งแง่ที่รัฐบาลนี้มาจากรัฐประหาร

แต่ความจริงที่เป็นภาพสะท้อนและไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือความอื้อฉาวเรื่องทุจริตที่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากบริวารคนใกล้ชิด หรือกระทั่งสินบนข้ามชาติอย่างโรลสรอยส์ ที่มีหลักฐานโทนโท่ยังจัดการกันแบบลูบหน้าปะจมูกนั่นแหละที่ทำให้เรื่องการปราบทุจริตของรัฐบาลคสช. ไม่ไปถึงไหน ทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการ ออกกฎหมาย ใช้อำนาจตาม ม. 44 โยกย้ายข้าราชการ ฯลฯ มากมาย ซึ่งได้รับเสียงเชียร์เป็นระยะๆ แต่กลับให้ผลคล้ายๆ กับการชกลมชมสวน วนๆ ไป เท่านั้น  

แต่กระนั้นการปูทางออกกฎกติกาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ก็ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการปราบทุจริตที่สมควรได้รับคำชม เพราะหากไม่ใช่รัฐบาลลุงตู่ ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลจากการเลือกตั้ง “ก็ว่าจะๆ” อยู่หลายเรื่องแต่ทำไม่สำเร็จเนื่องจากกลัวโดนพวกพ้องกันเอง

            กฎกติกาใหม่เหล่านี้ ล้วนแต่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต พ.ศ. 2559, การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต (มาตรา 123/2) และให้เอาผิดกับเอกชนที่จ่ายสินบนด้วย (มาตรา 123/5), การนำมาตรฐานป้องกันการทุจริตในระดับนานาชาติมาใช้กับโครงการของภาครัฐ ทั้งข้อตกลงคุณธรรม โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)

นอกจากนั้น รัฐบาลลุงตู่ ยังตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.), การตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ขึ้นมาปฏิรูปการทำงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากขึ้น, รัฐธรรมนูญใหม่ที่มีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเข้มข้น รวมไปถึงการใช้มาตรา 44 โยกย้ายและพักงานข้าราชการที่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต ฯลฯ

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่านั่นเป็นเพียงมาตรการปราบโกงที่ออกมาจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่การปราบปรามคอร์รัปชั่นถ้าจะให้ได้ผลอย่างแท้จริงในระยะยาวและลงลึกในระดับปลูกฝังจิตสำนึกของคนในสังคม จำเป็นต้องเปิดให้มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนด้วย ซึ่งคำว่า “ประชาธิปไตยและการให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความเห็น” ไม่ได้มีความหมายแต่ในมิติทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายการปราบปรามการทุจริตที่รัฐบาลได้แถลงเอาไว้ด้วย

ที่ผ่านมา “รัฐบาลลุงตู่” ไม่เพียงแต่มองข้ามการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการปราบคอร์รัปชั่นในทางความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่วาทกรรมผ่านโพเดียม แต่ยังคุกคามคนที่เข้ามาช่วยรัฐบาลตรวจสอบทุจริตอีกด้วย ดังกรณีของนายวีระ สมความคิด หรือกรณีของนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ตั้งคำถามและตรวจสอบการบริหารราชการของข้าราชการและรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง

ล่าสุดที่นายวีระ เจอดีคือการออกมาเปิดโปงเรื่องบ่อนกาสิโนริมชายแดนในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่ด่านช่องสายตะกู หรือแม้แต่บรรดา “ขาหุ้นปฎิรูปพลังงาน” ที่รณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะมองเห็นความฉ้อฉลที่อยู่เบื้องหลังโครงการ ถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมการปิดกั้นกระบวนการตรวจสอบทุจริตจากภาคประชาชน

ย้อนกลับไปดูตัวชี้วัด หรือ KPI ของ TI ที่สแกนผลงานปราบทุจริตคอร์รัปชั่นของของรัฐบาลกันอีกครั้ง ก่อนติดตามไปดูเรื่องอื้อฉาวที่เป็นรูปธรรมอีกครั้งจากไมค์ทองคำถึงสินบนโรลสรอยส์ที่ปูดออกมาในยุครัฐบาลลุงตู่ที่ค่อยๆ จางหายไปกับสายลมในเวลานี้

9 ตัวชี้วัดของ TI สรุปออกมาได้ดังนี้

1. Justice Project (WJP) วัดความโปร่งใสจากนิติรัฐ เก็บข้อมูลระหว่าง พ.ค. - ก.ย. 2559 ไทยได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 11 คะแนน)

2.International Institute Management Development (IMD) วัดความสามารถในการแข่งขัน โดยสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงไปประมวลผลพิจารณากับปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สำรวจระหว่าง ม.ค. - เม.ย. ของทุกปี ไทยได้ 44 คะแนน (เพิ่มขึ้น 6 คะแนน)

3.International Country Risk Guide (ICRG) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเอกชน ซึ่ง TI ใช้บทวิเคราะห์รายปีด้านการคอร์รัปชั่นและความเสี่ยงด้านการเมือง ไทยได้ 32 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

4.Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-BTI) เป็นดัชนีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและตลาดเสรี เผยแพร่ผลทุกๆ 2 ปี ไทยได้ 40 คะแนนเท่าปีก่อน

5.Global Insight Country Risk Rating (GI) วัดการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องสินบน ซึ่งปีนี้ IT เปลี่ยนมาใช้ข้อมูลจากธนาคารโลกที่สำรวจความเห็นจากนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ ไทยได้ 22 คะแนน (ลดลง 20 คะแนน)

6.World Economic Forum (WEF) วัดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ใช้วิธีสำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่ทำลงทุนในประเทศนั้นๆ สำรวจระหว่าง ม.ค. - มิ.ย.ของทุกปี ไทยได้ 37 คะแนน (ลดลง 6 คะแนน)

7.Economist Intelligence Unit (EIU) วัดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศ วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ต้องเผชิญ ซึ่งแน่นอนว่าเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นด้วย สำรวจข้อมูล ก.ย. 2559 ไทยได้ 37 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน)

8.Political and Economic Risk Consultancy (PERC) วัดความรู้สึกของนักธุรกิจทั้งท้องถิ่นและต่างชาติต่อการคอร์รัปชั่นในประเทศนั้นๆ สำรวจข้อมูลระหว่าง ม.ค. - มี.ค. 2559 ไทยได้ 38 คะแนน (ลดลง 4 คะแนน)
9.Varieties of Democracy Project วัดความหลากหลายข
องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ ไทยได้ 24 คะแนน โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้น้อยกว่าเมียนมา (50 คะแนน) ฟิลิปปินส์ (39 คะแนน) มากกว่ากัมพูชา (17 คะแนน) เพียงประเทศเดียว)

            นั่นเป็นดัชนีชี้วัด “อย่างเป็นทางการ” ซึ่งทุกดัชนีชี้วัดล้วนแต่ได้คะแนนลดต่ำลงทั้งสิ้น แล้วหันมาดูรูปธรรมในการทำข้อสอบปราบโกงของรัฐบาลลุงตู่ อย่างที่รู้กันว่าตกตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

อย่างเช่นกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นล่าสุดและสะเทือนข้ามชาติ ก็คือ สินบนโรลสรอยส์ที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย ปตท. และสองการไฟฟ้าฯ ถึงแม้ว่ากรณีสินบนข้ามชาตินี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลลุงตู่ แต่ความชัดเจนที่ชี้ชัดว่ามีการติดสินบนกันจริงที่ถูกเปิดเผยขึ้นโดยสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ  ประเหมาะในช่วงรัฐบาลลุงตู่นี้พอดิบพอดี

เรื่องเข้าทางเช่นนี้ หากรัฐบาลลุงตู่จะโชว์ผลงานการปราบโกงคงไม่ยาก แต่นายกฯ กลับตีลูกชิ่งลอยตัวเหนือปัญหาแล้วโยนให้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่พากันเขี่ยลูกวนรอบสนาม ซึ่งถึงตอนนี้ สินบนโรลสรอยส์ ก็ค่อยๆ เงียบไปโดยที่ยังควานหาตัวคนผิดไม่เจอแบบไม่เหนือความคาดหมายตั้งแต่ต้น

งานนี้ คงรอดูอีกครั้งว่าองค์คณะไต่สวนของคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่รับเรื่องนี้ไปดำเนินการไต่สวน 2 อดีตรัฐมนตรีคมนาคม คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี กับพวก จะจบลงแบบจบเห่เหมือนคดีทุจริตอื่นๆ ที่เคยมีรายชื่อของนายสุริยะ เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนกรณีโรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ บมจ. ปตท. และ บมจ. ปตท. สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม นั้น หลังครบเวลาการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันเอง 30 วัน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ออกมายอมรับแล้วว่ายังไม่มีความคืบหน้าถึงขั้นนำตัวคนผิดมาลงโทษได้

อย่าถามถึงกรณีของสองการไฟฟ้าฯ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ที่ทำเงียบฉี่มาตั้งแต่ต้น เพราะสไตล์ของบิ๊กทหารที่คุมกระทรวงนี้ท่านเป็นคนเงียบๆ แต่จะฟาดเรียบหรือเปล่าไม่รู้??

เช่นเดียวกันกับการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ของสภาผู้ทรงเกียรติ ที่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบอย่างช้าๆ กระทั่งไม่แน่ชัดว่าจะรู้ผลทันอายุของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน หรือไม่?

            และไม่ต้องถามถึงความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับเครือญาติ บริวาร ของนายกฯ ลุงตู่ ที่เป็น “แผลเป็น” ประทับไว้ในรัฐบาลลุงตู่ ไม่ว่าจะเป็นฝาย "แม่ผ่องพรรณพัฒนา" อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หรือกรณีห้างหุ้นส่วนจัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ก็เป็นเรื่องที่จบลงไปแบบไม่มีอะไรในกอไผ่

ถึงแม้ KPI ด้านปราบทุจริตคอร์รัปชั่นรัฐบาลนายกฯลุงตู่ จะไม่ผ่าน แต่เชื่อหรือไม่ว่าผลโพลของสวนดุสิตโพล ที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,279 คน ระหว่างวันที่ 13-17 2560 มีนาคมที่ผ่านมา ต่อความพึงพอใจในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล ทั้งเรื่องสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กลับพบว่า ในภาพรวม คะแนนเต็ม 10 ประชาชนให้คะแนนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 7.3 คะแนน แยกเป็นเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการและสร้างความประทับใจ ทำให้ประชาชนมีความสุขมากที่สุด คือ การปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 82.1

ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาจริงๆ ในเรื่องที่เล่นกับกระแสความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำเรื่องอภิมหาทุจริตจำนำและระบายข้าวเอาไวในมือและมักถูกปล่อยหรือเป็นข่าวออกมาเป็นช่วงๆ อย่างคราวนี้ที่รัฐบาลเสียรังวัดจากการห้ามนั่งท้ายกระบะและแคปในช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนเตรียมเดินทางในเทศกาลสงกรานต์ ก็เป็นจังหวะเวลาพอดิบพอดีที่มีข่าวใหญ่ “อายัดทรัพย์” ในคดีจำนำข้าวที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปล่อยปละละเว้นก่อให้เกิดการทุจริตมโหฬาร

ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ 11 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการข้าวแห่งชาติที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้กระทรวงคลัง เกิดความเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท

เมื่อศาลไม่ทุเลาการบังคับคดี นับจากนี้กระบวนการอายัดและยึดทรัพย์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ถึงเวลาเดินหน้า

ส่วนจะเดินหน้าแบบเต็มสตรีม ยึดทรัพย์ให้ได้อย่างที่ทำให้รัฐเสียหาย หรือจะเดินหน้าไป ปรองดองไป หรือจะตก KPI ปราบคอร์รัปชั่นก็ไม่เป็นไร เพราะเวลานี้รัฐบาลลุงตู่ ยังคงเรืองอำนาจ ขณะที่พี่น้องชินวัตรและบริวารว่านเครือดูท่าริบหรี่

ถึงตรงนี้ กล่าวได้ว่า กำเนิดใหม่การเมืองไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะบางครั้ง “คะแนนนิยม” ก็ไม่อาจสะท้อน “KPI” ที่แท้จริงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น