xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นับถอยหลังวันเลือกตั้ง เดิมพัน คสช.-ทักษิณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

รัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

นับจากวันนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่าปีครึ่ง แต่ไม่เกิน 20 เดือน จึงจะมีการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายลูก หรือร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จเสียก่อน และขีดเส้นว่า ใน 10 ฉบับนี้ต้องให้ร่าง กฎหมายพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภารวม 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้จึงจะจัดเลือกตั้งได้ภายใน 150 วัน

โดยภาพรวมแล้ว การเลือกตั้งทั่วไปน่าจะมีขึ้นช่วงปลายปี 2561 และกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ล่วงเข้าต้นปี 2562 เพราะหลังการนับคะแนน ยังมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนน การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุดคือผู้ตั้งรัฐบาล คนที่ ส.ส.ในสภาฯ เกินครึ่งหนึ่ง คือ 250 คน ยกมือให้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ วางกลไกไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ต้องได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วง 5 ปีแรกหลังจากมีรัฐสภาชุดแรก และให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

ตามบทเฉพาะกาล หากมีเหตุทำให้ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ไม่มีใครได้เสียง ส.ส.บวก ส.ว.เกินครึ่งหนึ่งคือ 376 เสียงก็จะมี “ก๊อกสอง” ให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้

การเลือกนายกฯ ก๊อกสองโดยใช้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ 2 ใน 3 ของ ส.ส.บวก ส.ว .คือไม่ต่ำกว่า 500 คนจาก 750 คนลงมติให้ปลดล็อกเลือกบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อปลดล็อกได้แล้ว ก็กลับไปใช้วิธีการเลือกนายกรัฐมนตรีในบทบัญญัติปกติคือ คนเป็นนายกฯ ต้องมีเสียง ส.ส.บวก ส.ว.เกินครึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาคือ 376 เสียง

คะแนนเสียง 376 กับ 500 จึงเป็นตัวเลขสำคัญในการชี้ขาดว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

คสช.มีเสียงเป็นทุนอยู่แล้ว 250 เสียง คือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งตามบทเฉพาะกาลจะมีทั้งผู้ที่ คสช.ตั้งเอง และบทเฉพาะกาลกำหนดให้เป็นโดยตำแหน่ง คือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้ที่ คสช.เลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอมา

ถ้า คสช.ต้องการเป็นผู้กำหนดตัวนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ต้องการเสียง ส.ส.จากพรรคการมืองอีกเพียง 126 เสียงเพื่อให้เลือก หรือไม่เลือกคนที่พรรคการเมืองเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าไม่เลือกคนที่พรรคการเมืองเสนอ จะเลือกคนนอก คสช.ต้องการเสียง ส.ส.เพิ่มจาก 126 เสียง คือต้องการ 250 เสียงเพื่อรวมกับ ส.ว. 250 คน เป็น 500 คน ให้ได้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส. 500 คน, ส.ว. 250 คน)

ตัวเลข ส.ส. 250 คนจึงสำคัญสำหรับ คสช.ที่จะต้องเตรียมเอาไว้

สำหรับพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร การเลือกตั้งเป็นโอกาสเดียวที่จะครองอำนาจการเมืองอีกครั้ง ถ้าชนะเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 376 เสียงก็จบ เพราะเสนอคนของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีได้เลยตั้งแต่ก๊อกแรก ปิดประตู คสช.ไม่ให้มีนายกฯ ก๊อกสองที่เป็นคนนอก ถ้าพรรคเพื่อไทยมี ส.ส.ไม่ถึง 376 คนก็ต้องพยายามรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นๆ

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งไม่ถึง 376 คน หรือรวมกับพรรคอื่นได้ไม่ถึง 376 คน ก็ควรจะมีอย่างน้อย 250 คนเพื่อไว้ต่อรองกับ คสช.ในการปลดล็อกให้เลือกนายกฯ คนนอกได้ตามบทเฉพาะกาล

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด คือ 265 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน

การเลือกตั้งครั้งใหม่ซึ่งคงจะมีขึ้นตอนปลายปี 2561 พรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงที่จะชนะอีกเพราะความศรัทธาในตัวนายทักษิณ ของประชาชนโดยเฉพาะในภาคอีสาน ยังมีอยู่ แม้อาจจะไม่มากเท่าเดิม แต่ครั้งนี้เสียงเกินครึ่ง คือ 250 ไม่พอ เพราะในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. 250 คนลงคะแนนเสียงด้วย ต้องได้ 376 คนเป็นอย่างต่ำ

ถ้าไม่ได้ 376 คนตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ต้องมีอย่างต่ำ 250 คนเพื่อจะได้มีอำนาจต่อรอง ในการปลดล็อกเลือกนายกฯ คนนอก

ทางฝ่าย คสช.เองแม้จะมีเสียง ส.ว.เป็นทุน 250 เสียงอยู่แล้ว แต่คงไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอีก 250 เสียงเพื่อกรุยทางให้นายกฯ คนนอก และสกัดกั้นการกลับสู่อำนาจของนายทักษิณ โดยการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น