"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
"ปัญญาพลวัตร"
ช่วงสงกรานต์เป็นวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมาทบทวนถึงการพัฒนาการของครอบครัวและผู้สูงอายุในสังคมไทยว่า มีความเป็นไปอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องรูปแบบของครอบครัวในปัจจุบัน และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะได้หาแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรับมือเสียแต่เนิ่นๆ
การสำรวจครอบครัวไทยที่มีการจัดทำอย่างเป็นระบบเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยได้ทำการเผยแพร่ภายใต้ชื่อ “รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 ยุคเกิดน้อย อายุยืน” รายงานฉบับนี้เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว แต่มีเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่างที่ควรแก่การทำความเข้าใจ
หลายคนคงเคยได้ยินว่า เวลาเราพูดถึงรูปแบบครอบครัว เรามักนึกถึงครอบครัวขยายกับครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยายนั้นเป็นภาพของการอยู่ร่วมกันของคนร่วมสายโลหิตสามรุ่นตั้งแต่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่จนไปถึงลูกหลาน ส่วนครอบครัวเดี่ยวนั้นเป็นการอยู่ร่วมกันเฉพาะพ่อแม่และลูก หรือเฉพาะคู่สมรส ปกติครอบครัวขยายดำรงอยู่ในสังคมเกษตรและในพื้นที่ชนบทหรือเมืองเล็กๆ ส่วนครอบครัวเดี่ยวนั้นมักจะเกิดในสังคมอุตสาหกรรมและเป็นพื้นที่เขตเมือง
อย่างไรก็ตามรูปแบบของครอบครัวมิได้รับอิทธิพลมาจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองด้วย ดังนั้นในยุคปัจจุบันสังคมไทย จึงมีรูปแบบของครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้น ในรายงานการสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 ได้จำแนกรูปแบบครอบครัวเดี่ยว ออกเป็น 3 ประเภทย่อย คือ 1) คู่สามีภรรยาไม่มีบุตร 2) ครอบครัวที่มีทั้งพ่อแม่ และลูก อยู่กันพร้อมหน้า และ 3) ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีเพียง พ่อ หรือ แม่ คนใดคนหนึ่ง กับลูก ส่วนครอบครัวขยายนั้นได้แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อยคือ 1) ครอบขยายแบบดั้งเดิมที่มี ปู่ย่าตายาย บวกลูก บวกหลาน และ2) ครอบครัวขยายข้ามรุ่นที่มี ปู่ย่าหรือตายาย กับ หลาน
นอกจากรูปแบบครอบครัว ซึ่งเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่มีสายโลหิตร่วม หรือการสมรสแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนอีกจำพวกหนึ่งที่มีบ้านอยู่อาศัย แต่ไม่เป็นครอบครัว จึงเรียกว่า “ครัวเรือน” แทน ครัวเรือนคือบ้านที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียว หรืออยู่หลายคนแต่ไม่ใช่ญาติสายโลหิต หรือไม่ได้สมรส
ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้คือ การค้นพบซึ่งขัดแย้งกับสมมติฐานเดิม กล่าวคือโดยทั่วไปมีสมมติฐานว่า “ยิ่งมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและมีความเป็นเมืองมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้รูปแบบของครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นด้วย” สมมติฐานนี้ดูเหมือนมีความจริงเชิงประจักษ์รองรับอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง กล่าวสำหรับประเทศไทยน่าจะมีตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อพ.ศ.2504 เป็นต้นมา แต่เมื่อรายงานฉบับนี้ เผยแพร่ออกมา สมมติฐานข้างต้นนั้นก็ถูกพิสูจน์ว่าผิด โดยดูจากข้อมูลคือตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมาพบว่า รูปแบบครอบครัวเดี่ยวมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 66.7 ในปี 2530 เหลือเพียงร้อยละ 49.9 ในพ.ศ. 2556 ขณะที่ครอบครัวขยายกลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.5 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 35.7 ในปี 2556 (การสำรวจจำแนกตามจำนวนครัวเรือน)
ข้อมูลนี้บอกเราว่า การพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น มิได้ทำให้รูปแบบครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยดังที่เคยเข้าใจกันในอดีตอีกต่อไป แต่กลายเป็นว่า สิ่งที่เห็นคือ กลับมีครอบครัวขยายมากขึ้น และ การอยู่คนเดียวก็มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน (การอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 6.1 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 13.9 ในปี 2556)
ทำไมครอบครัวขยายจึงเพิ่มขึ้นเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก แต่ในรายงานไม่ให้คำตอบเรื่องนี้ชัดเจนนัก เพียงระบุว่า ประเทศไทยอยู่ระยะเปลี่ยนผ่าน และอยู่ในช่วงเวลาที่มีการผสมผสานกันระหว่างประชากรรุ่นต่างๆ โดยรุ่นปู่ย่าตายายมีลูกหลายคน จึงอยู่กับลูกคนใดคนหนึ่ง หรือบางกรณีผู้ชายวัยแรงงาน ต้องการให้พ่อแม่อยู่กับตนเองเพราะต้องการคนมาช่วยดูแลลูก
ในเรื่องนี้เราอาจตีความได้สองลักษณะ ประการแรก มีความเป็นไปได้ว่า พ่อแม่ที่ทำงานในเมือง โดยเฉพาะชนชั้นกลางระดับล่างและกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอในการจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลลูกตนเอง หรือไม่สามารถส่งลูกไปให้สถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียนเลี้ยงได้ ดังนั้นทางเลือกคือ การส่งลูกกลับไปให้ปู่ย่าตายายที่อยู่ในชนบทช่วยดูแลแทน ซึ่งเป็นทางออกอย่างหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายนั่นเอง ประการที่สอง มีความเป็นไปได้ว่า คนรุ่นปู่ย่าตายายจะมาอยู่อาศัยคนรุ่นลูก เพื่อช่วยดูแลหลาน หรือคนรุ่นลูกต้องการดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุของตนเองด้วยความกตัญญู
สำหรับรูปแบบครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกอย่างคือการอยู่คนเดียว ซึ่งมีคนสองกลุ่มวัย คือวัยทำงานซึ่งแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานมีมากขึ้น และผู้สูงอายุ ซึ่งคู่สมรสเสียชีวิตแต่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรแต่ไม่ประสงค์จะไปอยู่กับบุตร
ประเทศต่างๆในโลกมีคนอยู่คนเดียวมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศยุโรปซึ่งมีความทันสมัยสูงและมีวัฒนธรรมแบบปัจเจกชนนิยม สำหรับประเทศไทยจากรายงานฉบับนี้ประมาณการว่า มีคนอยู่คนเดียว 2.7 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 20 ของครัวเรือน จะเป็นครัวเรือนที่อยู่คนเดียว คนที่อยู่คนเดียวประมาณสามในสี่เป็นวัยแรงงาน ในภาพรวมเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ในวัยแรงงานเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนในวันสูงอายุผู้ชายมีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่อยู่คนเดียว
เหตุผลที่คนเลือกอยู่คนเดียวมีทั้งแบบสมัครใจและที่จำใจ ในการอยู่คนเดียวแบบสมัครใจ ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลให้คนเลือกตัดสินใจแบบนี้มีสามปัจจัยคือ ค่านิยมแบบปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นความต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระตามที่ตนเองเลือก โดยไม่มีพันธะทางครอบครัวมาเป็นอุปสรรค ปัจจัยที่สองคือความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพวกเขามีทรัพย์สินและเงินตราเพียงพอในการดำรงชีพโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปอาศัยอยู่กับผู้อื่น และปัจจัยที่สามคือ การมีเครือข่ายสังคม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นหรือกลุ่มเพื่อนบ้านที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน การมีเครือข่ายสังคมทำให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัว
ส่วนการอยู่คนเดียวแบบจำใจนั้นเป็นภาวะที่คนไม่ประสงค์อยู่คนเดียว แต่มีสาเหตุที่ผลักดันให้พวกเขาต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบนี้ ซึ่งอาจมาจากการหย่าร้าง คู่สมรสเสียชีวิต บวกกับการไม่มีมีบุตรหรือมีแต่บุตรไปอาศัยอยู่ที่อื่น และตนเองก็ไม่ประสงค์ตามไปอยู่กับบุตร การอยู่คนเดียวแบบจำใจนั้นมีมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาความโดดเดี่ยวและความอ้างว้างในจิตใจ อันนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้
ในทัศนะของผม ปมปัญหาสำคัญของครอบครัวคือ ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตร ครอบครัวขยายข้ามรุ่น และครัวเรือนที่อยู่คนเดียวทั้งในวัยแรงงานและวัยสูงอายุอยู่คนเดียว กรณีครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตรนั้นเกิดจากค่านิยมแบบปัจเจกชนนิยมที่มุ่งแสวงหาความสุขส่วนตนเป็นหลัก จึงมองว่าการมีบุตรเป็นภาระและสร้างข้อจำกัดในการแสวงหาความสุขส่วนตัวของชีวิต อันที่จริงค่านิยมแบบนี้ยังส่งผลให้เกิดการเพิ่มของครัวเรือนที่อยู่คนเดียวของคนวัยทำงานด้วย ทำให้คนวัยทำงานจำนวนมากที่เลือกการใช้ชีวิตแบบไม่แต่งงานและอยู่คนเดียวเพื่อสนองความต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระของตนเอง อีกทั้งรัฐบาลเอง แม้มีนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนและทรงพลังเพียงพอในการจูงใจให้คนวัยแรงงานแต่งงานและมีบุตร หากปัญหานี้ยังยืดเยื้อออกไปในอนาคตโดยไม่เร่งรีบแก้ไข ปัญหาประชากรก็จะมีมากขึ้นและอาจกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดังที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ
สำหรับครอบครัวข้ามรุ่น ซึ่งเกิดจากการที่วัยแรงงานส่งบุตรไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูในชนบท อาจทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรมีความห่างเหิน และสร้างปัญหาทางจิตใจแก่เด็กได้ เรื่องนี้สาเหตุหลักมาจากภาวะทางเศรษฐกิจบีบคั้น และรัฐอุดหนุนสวัสดิการไม่เพียงพอในการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน อันที่จริงหากจะแก้ปัญหานี้ก็ทำได้ไม่ยากนัก และเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติในอนาคตด้วย
ปัญหาประการสุดท้ายที่ต้องเตรียมการรับมือให้ดีคือ ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวโดยเฉพาะในเขตเมืองเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เพราะว่าในเขตเมืองการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุโดยปราศจากเครือข่ายเพื่อนบ้านนั้นมีเป็นจำนวนมากและนับวันจะมีมากขึ้น แตกต่างจากชนบท แม้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว แต่ก็ยังมีเครือข่ายเพื่อนบ้านคอยดูแลกันตามสมควร
การจัดระบบสวัสดิการทางสังคมและการสร้างเครือข่ายสังคมเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวในเขตเมืองใหญ่เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามมานาน แม้ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ดังนั้นผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ควรจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการปฏิบัติ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น