ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 ที่จังหวัดระยองไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ นับได้ว่าจังหวะการก้าวย่างของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้จะผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบมาแล้ว
รวมไปถึงกลยุทธ์ที่เปิดเผยว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทมีการตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ว่าต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ และดูจะเป็นไปได้มาก แม้ว่า บี.กริม จะมองว่าตัวเองเป็นเพียงนักลงทุนธุรกิจพลังงานขนาดเล็กเท่านั้น
เพราะเมื่อพิจารณาจากโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในมือที่มีอยู่ 43 โครงการ ที่มีกำลังการผลิต 2,357 เมกะวัตต์ และโครงการที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 28 โครงการ โดยมีกำลังการผลิต 1,626 เมกะวัตต์ ทำให้เห็นว่าเป้าหมายของบี.กริม ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อมเลย
นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าที่บี.กริม ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยแล้ว สปป.ลาว ถือเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ บี.กริม เลือกในการวางหมากรุกตลาดพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากความสมบูรณ์ด้านทรัพยากร และนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาวที่ต้องการจะเป็น Bettery of Asean ที่ทำให้มีนโยบายปล่อยสัมปทานให้แก่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของบี.กริม กลายเป็นการเอื้อประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ บี.กริม เพาเวอร์กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ของ สปป.ลาว มีด้วยกัน 8 โครงการ ด้วยขนาดกำลังการผลิตรวม 102.6 เมกะวัตต์ โดยมี 2 โครงการที่เตรียมจะเปิดเครื่องให้บริการในช่วงกลางปี คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซน้ำน้อย 2 และ เซกะตำ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสัก ด้วยงบลงทุนประมาณ 1,750 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าเซน้ำน้อย 2 จะมีกำลังการผลิต 6.7 เมกะวัตต์ และ เซกะตำ 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 13.4 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 6 โครงการ ประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำแจ 1 มีกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำคาว 1-5 จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 67.5 เมกะวัตต์
กระนั้นยังมีบางโครงการที่ บี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงกับหุ้นส่วนทางธุรกิจในโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทัดสะกอยที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ EDL ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาดังกล่าวจำนวน 30.0 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาว
โครงการดังกล่าว บี.กริม จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้ และมีความเป็นไปได้ว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ครบทั้งหมดในช่วงปี 2563-2564 ภายใต้งบประมาณการลงทุนสูงถึง 8,000 ล้านบาท
ด้วยศักยภาพด้านความสมบูรณ์ทางทรัพยากรของ สปป.ลาว ทำให้ประเทศลาวมีแหล่งน้ำที่มีปริมาณมหาศาลจากแม่น้ำโขง รวมไปถึงลำน้ำสาขาอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานราคาถูก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลลาวที่กำหนดให้กิจการไฟฟ้าที่ใช้งานจากแหล่งพลังน้ำที่มีอยู่ในประเทศ เป็นเครื่องมือพัฒนามาตรฐานการครองชีพของประชาชนลาว ซึ่งสนับสนุนให้มีการเพิ่มรายได้จากการผลิตและส่งออกไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อหาทุนกลับมาพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าในประเทศได้
แม้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดภายในประเทศยังคงต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะส่งออกมายังประเทศไทย โดยตัวแปรที่สำคัญต่อการเติบโตในกิจการไฟฟ้าของประเทศลาวคือ การเติบโตของจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าและการพัฒนาระบบโดยรวม
โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศลาวที่สำรวจเมื่อปี 2557 มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 743 เมกะวัตต์
ความพร้อมของทรัพยากรที่ สปป. ลาวมีอยู่ในมือ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดประเทศลาวจึงต้องการให้ตัวเองเป็นเสมือน Battery of Asean เพราะหากเปรียบเทียบความต้องการการใช้ไฟฟ้ากับปริมาณที่ผลิตได้ จะเห็นได้ว่า สินค้าส่งออกของลาวที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของลาวดีขึ้นคือ ไฟฟ้านั่นเอง
ความพยายามที่จะเป็น Battery of Asean ของ สปป.ลาว ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวเป็นอย่างมาก ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม จนทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ทั้งจากประเทศไทย จีน รัสเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ที่ช่วยหนุนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
เป้าหมายดังกล่าวของ สปป. ลาว น่าจะมาจากความต้องการที่จะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา และต้องการให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ทั้งนี้ จากจำนวนประชากรของลาวทั้งประเทศที่มีเพียง 6.8 ล้านคน หากเทียบกับปริมาณของทรัพยากรที่มีอยู่ น่าจะทำให้ศักยภาพด้านเศรษฐกิจ พลังงานไฟฟ้า การเกษตร การท่องเที่ยว น่าจะนำพาให้ประเทศลาวหลุดพ้นจากความยากจนได้ในปี 2563
ตามแผนนโยบายขจัดความยากจนของ สปป. ลาว รัฐบาลลาวดำเนินการก่อสร้างสายส่งกระแสไฟฟ้าไปทั่วประเทศนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2548 กระทั่งปัจจุบันทั่วประเทศมีบ้านเรือนร้อยละ 44 ที่มีไฟฟ้าใช้
โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก และขนาดกลางในท้องถิ่น และเศรษฐกิจของชุมชนที่จะมีการขยายตัวมากขึ้นในระยะยาว
ปัจจุบัน สปป.ลาว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 พันล้านกิโลวัตต์ต่อปี โดยแบ่งใช้ภายในประเทศประมาณ 800 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ในขณะที่ส่งออกกระแสไฟฟ้าประมาณ 229 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง จึงทำให้ สปป.ลาว สามารถส่งออกกระแสไฟฟ้าให้ไทย 72.11 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากไทย 27.87 ล้านเหรียญสหรัฐ
นโยบายของสปป.ลาว ในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ตั้งเอาไว้ว่าจะผลิตให้ได้ 20,000 เมกะวัตต์ต่อปี แต่ปัจจุบันมีการใช้ไปเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ในขณะที่ไทยได้เข้าไปเซ็น MOU เพื่อสร้างเขื่อนซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว หลายโครงการด้วยกันในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการส่งออกไฟฟ้าของ สปป.ลาว อาจจะเกินดุลการค้ากับประเทศไทย
ขณะที่เป้าหมายของ สปป.ลาว ทั้งการเป็น Battery of Asean และการหลุดพ้นจากประเทศยากจน ดูจะไม่ไกลเกินเอื้อม แม้ว่าประเทศลาวจะยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพร้อมในด้านการพัฒนา หากแต่การเปิดสัมปทานในบางด้านจะเป็นอีกหนึ่งแรงกำลังที่จะช่วยให้ประเทศลาวก้าวเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น
ซึ่งผู้บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ปรียนาถ สุนทรวาทะ เปิดเผยอย่างน่าคิดว่า “ในส่วนของเรื่องกฎระเบียบและนโยบายของรัฐในปัจจุบันได้ให้การส่งเสริมภาคส่วนด้านพลังงาานของเอกชนพอสมควร แม้ว่านโยบายบางประการอาจจะต้องมีการตีความและการสร้างความชัดเจนมากขึ้น เพื่อความมั่นใจในการลงทุนของเอกชน เช่น นโยบายเรื่องการส่งเสริม Renewable energy แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว กฎระเบียบของไทยยังได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด และอยากขอให้ภาครัฐมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคัดกรองผู้ประกอบการตัวจริง ที่มีความพร้อมไม่ใช่แค่หวังเอากำไรจากการเอาใบอนุญาตไปขายต่อ หรือเพื่อปั่นหุ้นแต่ทำไม่ได้จริง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงและความสับสนในการบริหารจัดการของภาครัฐเอง รวมทั้งเกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ตลอดจนเกิดความเสียหายกับนักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์”
ธุรกิจพลังงานของไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางใด สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่มีใช้ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น หรือเป็นเพียงการสร้างกระแสในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คำตอบอาจจะอยู่ไม่ไกลนับจากนี้