xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กกถ.ตรวจการบ้านปรับปรุงกฎหมาย อปท. ทำไม?ไม่ควรยกอบต.เป็นเทศบาลตำบล (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ก่อน ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตรวจการบ้าน จากคณะอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นประธาน ซึ่งนำ“ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”ที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปพิจารณาและทำความเห็น

ก่อนหน้านั้น คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น สปท. ได้จัดทำรายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น เรื่อง"โครงสร้างและอำนาจหน้าที่อปท.รูปแบบทั่วไป ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ประกอบด้วย 6 ลักษณะ 225 มาตรา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

กำหนดรูปแบบ อปท.ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ร่างมาตรา 2 และร่างมาตรา 5) กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และแนะนำการบริหารงานของอปท. โดยการกำกับดูแลอปท.ต้องทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งในการนี้กระทรวงมหาดไทย ต้องมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำกับดูแลที่ชัดเจนสอดคล้องและเหมาะสมกับรูปแบบ อปท. (ร่างมาตรา 4) กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการจัดตั้ง อปท.

(1) เทศบาลตำบล ท้องถิ่นที่มีประชากรไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันคน ซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล (ร่างมาตรา 9)

(2) เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรเกินหนึ่งหมื่นห้าพันคนแต่ไม่เกินห้าหมื่นคน และรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนพอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ และประชาชนในท้องถิ่นนั้นแสดงเจตนารมณ์ที่จะมีการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลเมือง (ร่างมาตรา 10)

(3) เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรเกินห้าหมื่นคนขึ้นไป และรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนพอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ และประชาชนในท้องถิ่นนั้นแสดงเจตนารมณ์ที่จะมีการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลนคร (ร่างมาตรา 11)

(4) องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้จังหวัดหนึ่งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีเขตพื้นที่ตามจังหวัดนั้น (ร่างมาตรา 14) กำหนดให้มีการควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่าเจ็ดพันคน เข้าด้วยกัน หรือเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันในอำเภอเดียวกันภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผลใช้บังคับ โดยมีข้อยกเว้นกรณีเทศบาลมีสภาพเป็นเกาะหรือสภาพภูมิศาสตร์ไม่สามารถติดต่อกับเทศบาลอื่นที่จะไปรวมได้สะดวก(ร่างมาตรา 15)

กำหนดการรวมเทศบาลที่มีเขตติดต่อกันภายในอำเภอเดียวกันเข้าด้วยกันให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเทศบาลที่จะไปรวมหรือเทศบาลรวมกับ อปท.รูปแบบอื่นได้โดยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเทศบาลที่ประสงค์จะไปรวม (ร่างมาตรา 17) กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ การพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ร่างมาตรา 60) กำหนดให้การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 79)

กำหนดหน้าที่และอำนาจของเทศบาล โดยหน้าที่และอำนาจจะมีทั้งการจัดทำบริการสาธารณะพื้นฐานซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดทำ และการจัดทำบริการสาธารณะอื่นที่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่พื้นฐานที่อาจจัดทำได้ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจที่ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่และอำนาจของเทศบาล ในลักษณะอำนวยการ ประสานงาน และจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะขนาดใหญ่และคาบเกี่ยวระหว่างอปท.และเป็นภาพรวมของจังหวัด (ร่างมาตรา 80 ถึงร่างมาตรา 93)กำหนดให้อปท. โดยความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นอาจร่วมกันดำเนินการ หรืออาจมอบหมายให้อปท.อื่นดำเนินการแทนได้ หรือจะขอให้จัดตั้งเป็นสหการหรือเรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคลก็ได้ (ร่างมาตรา 77 ถึงร่างมาตรา 102)

กำหนดรายได้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ร่างมาตรา127ถึงร่างมาตรา 161) กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ อปท. กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นจะเข้าไปจัดทำบริการสาธารณะในเขตพื้นที่อปท.ในเรื่องเดียวกันกับที่ อปท.จัดทำได้ (ร่างมาตรา 194 ถึงร่างมาตรา 196)กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร และนายอำเภอเป็นผู้กำกับดูแลเทศบาลตำบล (ร่างมาตรา 197 ถึงมาตรา 203)กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างมาตรา 205 ถึง มาตรา 223)
 
ล่าสุด หลังจากการระดมความคิดเห็น ต่อร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ คณะอนุกรรมการ ได้พิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาล (ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ) การควบรวมเทศบาล การบริหาร อปท. หน้าที่และอำนาจของอปท. การจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ การเงิน การคลัง งบประมาณ กองทุนส่งเสริมกิจการของ อปท. การส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลของ อปท. ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ อปท. และการกำกับดูแล อปท.

เริ่มจากความเห็นต่อ“การยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาล (ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....) “ คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า ไม่ควรยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดขององค์การบริหารส่วนตำบลโดยผลของกฎหมาย โดยมีเหตุผลดังนี้

1.ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มาตรา 249 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีการจัดตั้ง อปท.ตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบของ อปท. ที่กฎหมายบัญญัติ และ มาตรา 249 วรรคสอง บัญญัติให้การจัดตั้ง อปท.ในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชาชน และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบประกอบกัน

ดังนั้น การจัดตั้ง อปท.รูปแบบใด รวมถึงการยุบเลิก อปท.รูปแบบใด จึงควรต้องเป็นไปตามหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้คือ ต้องเป็นไปตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น การที่ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมาย อปท. มาตรา 5 บัญญัติให้ยกฐานะ อบต. ทั้งหมดเป็นเทศบาลตำบล เป็นการทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบ อบต. หมดสิ้นไป โดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นเทศบาลตำบล ซึ่งเป็นการบังคับโดยผลของกฎหมาย มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นอาจเป็นปัญหาการขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งราชรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาข้างต้น

2. ในหลักการของการกระจายอำนาจเป็นเรื่องของความหลากหลาย ความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ สภาพแวดล้อม สังคมเมือง สังคมชนบท ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งการกระจายอำนาจในต่างประเทศไม่ได้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงแค่ 2 ระดับ และไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว อปท.ระดับล่างมีหลายรูปแบบ มีโครงสร้างความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และลักษณะของชุมชน การบังคับให้ อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมดน่าจะผิดไปจากหลักการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณาแยกการบริหารชุมชนเมืองกับชุมชนชนบทออกจากกัน การยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลควรพิจารณาเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองและควรคำนึงถึงศักยภาพในการจัดทำบริการสาธารณะ เศรษฐกิจ รายได้และเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่จำเป็นต้องยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด

ดังนั้น จึงไม่ควรยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด พื้นที่ใดใน อบต. ที่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง มีความหนาแน่นของประชากรเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดควรยกฐานะเป็นเทศบาลในพื้นที่นั้น โดยควรมีการกำหนดเขตเทศบาลที่ยกฐานะให้ชัดเจน ส่วนพื้นที่ที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาลที่กำหนดขึ้นใหม่ให้ยังคงฐานะเป็น อบต. เป็นการชั่วคราวก่อน
 
โดยกำหนดให้มีเฉพาะสภา โดยมีสมาชิกสภามาจากผู้แทนหมู่บ้านทำหน้าที่ในการจัดหาบริการสาธารณะตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งอาจซื้อบริการจากเทศบาลตำบลที่ยกฐานะขึ้นใหม่เพราะเป็นผู้ให้บริการสาธารณะเดิมอยู่แล้ว หรืออาจให้ อบต. เข้ามาดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะแทน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน

3. จากผลการศึกษาวิจัย “สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 15 ปี การกระจายอำนาจของไทย” ในโครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย จัดทำโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ได้แสดงให้เห็นว่า อปท. ขนาดเล็กถึงแม้จะมีรายน้อยได้ทำให้มีศักยภาพในการดำเนินงานที่จำกัด
 
แต่มีจุดแข็งคือ อปท. ขนาดเล็กสามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้ง่ายกว่า และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนได้ดีกว่า อปท. ขนาดใหญ่ จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น

ดังนั้น หากจะมีการควบรวมควรกำหนดให้มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น 3 - 5 ปี ถ้าเป็นไปโดยสมัครใจก็สามารถควบรวมได้ โดยรัฐต้องกำหนดมาตรการในการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดการควบรวม หากต้องการควบรวมเป็นไปโดยไม่สมัครใจก็สามารถควบรวมได้ โดยควรกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาศักยภาพและระยะเวลาดำเนินการโดยอาจจะกำหนด ระยะเวลา 3- 5 ปีเพื่อให้ อปท. พัฒนาศักยภาพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

หากไม่สามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ได้จึงดำเนินการควบรวม อปท. นั้นสำหรับบางพื้นที่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและมีความยากลำบากในการเข้าถึง เป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์หรือความจำเป็นเฉพาะ ฯลฯ อาจจัดให้มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กต่อไปตามเดิมความเหมาะสมของพื้นที่หรือความสมัครใจของประชาชน หาก อบต. ใดมีลักษณะ หรืออัตลักษณ์เช่นนี้ไม่ควรยุบรวมกับ อปท. อื่น ควรให้คงสภาพเดิมไว้

 ฉบับหน้า จะกล่าวถึง ผลวิจัยในโครงการวิจัยเพื่อติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทย จัดทำโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการวิจัย โดยสำนักงาน กกถ.ในประเด็น การควบรวมเทศบาล การบริหาร อปท. ในส่วนของสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หน้าที่และอำนาจของ อปท. 

ทั้งนี้ จะกล่าวถึง“เหตุผลที่ ไม่ควรบังคับให้มีการรวมเทศบาล ที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่าเจ็ดพันคน ภายในหนึ่งปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น