xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อ ม. 44 ถูกต่อต้าน(ครั้งแรก) “ลุงตู่” มาเพราะ “รถถัง” เกือบจะพังเพราะ “รถกระบะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ม.44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งสารพัดสารพัน นี่นับเป็นครั้งแรกที่อำนาจ ม.44 ถูกต่อต้านจากประชาชนคนไทยโดยพร้อมเพรียงจนต้องถอยกรูดไม่เป็นกระบวน

เนื่องด้วยเพราะแม้จะเป็นคำสั่งที่ปรารถนาดีต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากในแต่ละปีคนไทยเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์จำนวนมากจนติดอันดับโลก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์และเทศกาลปีใหม่ แต่ก็เป็นคำสั่งที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทย ประหนึ่งออกกฎหมายโดยนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างอย่างไรอย่างนั้น

คำสั่ง คสช. ที่ 14/256 ประกาศให้ผู้ใช้รถใช้ถนน “คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง” และ “ห้ามนั่งท้ายกระบะ-นั่งแค๊บ” หากผู้ใดฝ่าฝืนโดนจับโดนปรับถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ทว่า หลังดีเดย์บังคับใช้ได้เพียงแค่วันเดียวคือเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ก็เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการแสดงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาล กระทั่งสุดท้าย คสช.ต้องตัดสินใจภายในวันเดียวด้วยการใส่เกียร์ถอยหลังเป็นการชั่วคราว

ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมองว่า ความหวังดีที่ คสช.ต้องการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง เป็นใช้อำนาจรังแกประชาชน เป็นการออกกฎหมายสร้างความเดือนเนื้อร้อนใจแก่ประชาชน โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมว่าเอื้ออำนวยต่อการนำกฎหมายมาบังคับใช้หรือไม่ และแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะอธิบายอย่างไร ก็ไม่เป็นผล

อ้างว่าการบังคับให้ทุกคนคาดเบลท์ทุกที่นั่ง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางบนท้องถนน อ้างว่าห้ามนั่งท้ายรถปิคอัพห้ามนั่งแค๊บ เพราะไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยเพราะพื้นที่ส่วนนี้เพื่อตั้งวางสิ่งของเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงบริบทของชาวบ้านที่มีจำกัด

การบังคับใช้ ม. 44 คุมเข้มจราจรด้วยการแก้กฎหมายเพิ่มโทษ หวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หากเทียบผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณจะคุ้มค่าหรือไม่ ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ไม่มีทางเลือก การเผชิญทุกข์ระงมจากการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่เน้นโทษปรับ แลกมาด้วยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คสช. การันตีอย่างนั้นได้หรือไม่

อ้างอิงสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2557 - 2559 ของกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตดังนี้ ปี 2557 เสียชีวิต 397 ราย, ปี 2558 เสียชีวิต 416 ราย และ ปี 2559 เสียชีวิต 501 ราย

สำหรับรถกระบะประสบอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14 - 15 เปอร์เซนต์ รองจากรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งครองแชมป์อุบัติเหตุอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุปรากฏชัดว่ากลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ มอเตอร์ไซค์ ดังนั้นมาตรการคุมเข้มงานจราจรควรเบนเข็มไปจัดระเบียบสร้างมาตรฐานความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่กลุ่มนี้เป็นลำดับแรกใช่หรือไม่

การบังคับใช้ ม. 44 ในประเด็นดังกล่าว ตามมาซึ่งเสียงครวญของกลุ่มผู้ขับขี่ปิคอัพ เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมกับคนทำมาหากิน กลุ่มคนที่มีทางเลือกในชีวิตไม่ มากนัก จึงเกิดกระแสคัดค้านตามเป็นมาเป็นวงกว้าง

แน่นอน 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับดังกล่าว รวมทั้งบรรดาคนดังในแวดวงต่างๆ ที่ตบเท้าออกมาต่อต้านเสียงแข็ง

พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ กูรูด้านรถยนต์ ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง นายกฯ ลุงตู่ ขอให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว ความว่า

“ท่านนายกครับ เรื่องเข็มขัดนิรภัยนั้นน่ะ ท่านโปรดฟังผมสักนิดเถอะครับ ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกตำแหน่งที่นั่ง แล้วใช้กฏหมายเดิมที่มีอยู่ คือ “บังคับ” คนขับและคนนั่งตอนหน้า ส่วนตำแหน่งอื่นๆนั้น “ผู้ใดต้องการใช้ก็มีเข็มขัดเตรียมไว้ให้” ผู้ใดสมัครใจตายก็ไม่ต้องใช้ช่างหัวมัน

“ท่านลองเทียบเคียงกับเครื่องบินนะครับ ก่อนเครื่องบินขึ้น เขาบังคับให้ทุกคนต้องคาดเข็มขัด แต่เมื่อเครื่องบินขึ้นแล้ว เขาไม่บังคับ “แต่มีคำแนะนำว่าควรคาดเข็มขัดตลอดเวลาที่นั่งอยู่ เพื่อความปลอดภัย”

“ท่านจะเชื่อผมก็ได้ จะเชื่อคนรอบตัวท่านก็ได้ ประเทศนี้มีรถปิ๊คอัพวิ่งอยู่เกินครึ่งหนึ่งของรถทั้งหมดนะครับ สงกรานต์นี้ถ้าตำรวจทำหน้าที่เถรตรง คงจลาจลทั้งประเทศแน่ แล้วรถแห่พระพุทธรูปมาให้คนสรงน้ำ ที่เอาพระตั้งบนกระบะมีคนนั่งประคอง ทั้งคนประคองและพระพุทธรูปจะต้องโดนจับด้วยไหมครับ อย่าไปเทียบเคียงประเทศอื่นเลย ลักษณะการใช้รถและวิถีชีวิตมันต่างกันมาก ถ้าบังคับใช้จริงๆ สงกรานต์นี้จะมีรถทัวร์ รถโดยสารออกวิ่งพอรับส่งคนหรือไม่ครับลองนึกดูนะครับ

“เชื่อผมก็ได้ ไม่เชื่อผมก็ได้ ผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใคร ผมมีรถที่อยู่ในข่ายพอสำหรับครอบครัว มีจำนวนคันมากพอสำหรับเดินทางด้วยเช่นกัน ไม่ต้องห่วงผมหรอกครับ ผมห่วงท่านมากกว่าครับ…….ไปละ วันนี้เหนื่อยมากพอแล้วครับ”

“จอนนี่ มือปราบอินดี้” หรือ จ.ส.ต.ยุทธพล ศรีสมพงษ์ ตำรวจชื่อดังได้โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อข้อบังคับดังกล่าวว่า

"ชีวิตพวกเขาเลือกเกิดไม่ได้คงเป็นเพราะความจนมันบีบบังคับ จนบางครั้ง ความตายเลยไม่เคยคิดกลัว และไม่เคยเก็บมาคิด ขอเพียงแค่ว่า วันหยุดเทศกาลได้ติดสอยห้อยตามรถเพื่อน รถเถ้าแก่ เพียงได้กลับบ้านไปพบหน้าพ่อแม่และครอบครัว รวมทั้งได้พบปะเพื่อนฝูงที่บ้านที่ต่างจังหวัด นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องราวของการบรรทุก แต่มันคือเรื่องราวของการหอบเอาความคิดถึงหอบเอาความสุขที่จะได้พบหน้าคนที่เขารัก ที่ยังรอคอยพวกเขาที่บ้าน นี่คือวีถีชีวิตคนจน จะมีใครสักคนที่จะเข้าใจพวกเขาเหล่านี้ หวังว่าจะมีใครสักคน...ที่เข้าใจ"

เช่นเดียวกับ “พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม” สภ.สลุย จ.ชุมพร ที่โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวได้อย่างตรงใจประชาชนแต่ขัดในองค์กร เป็นเหตุให้ถูกสอบวินัย ใจความว่า

“การออกกฎหมาย ไม่ควรก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับชีวิตคน ดังนั้นควรรับฟังเหตุผลของคนทุกระดับชั้น ว่าออกแบบไหนเขารับได้หรือออกแบบไหนเขาจะเดือดร้อน เพราะถ้าคนชั้นสูงและร่ำรวยออกกฎหมายจะคิดไม่ถึงถึงความลำบากของคนจน และถ้าออกโดยคนจนล้วนๆ ก็จะไม่รู้ถึงภาพกว้างในสังคมระดับใหญ่ ที่สำคัญการออกกฎหมายควรกำหนดเป้าหมายความต้องการให้ชัดเจนหลายๆ ด้านแล้วนำมาประชุมหารือสรุปว่าจะเอาด้านไหนที่เหมาะสมที่สุดเช่น จะเอาเป็นผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินเข้าส่วนรวม หรือจะเอาประโยชน์ด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลัก เหมือนครั้งหนึ่งเคยบอกให้รวมๆกันไปรถคันเดียวหลายๆ คนเพื่อนลดรถบนถนนจราจรจะได้ไม่ติดขัดและเป็นการประหยัดน้ำมันช่วยชาติ แต่ตอนนี้ห้ามนั่งรถเกินสี่คนต่อคันรวมถึงห้ามนั่งกระบะหลัง โดยมองถึงความปลอดภัย แต่ผมมองว่าความปลอดภัยน่าจะห้ามความเร็วมากกว่า เศรษฐกิจตอนนี้ควรผ่อนปรนกันแบบกลางๆ จะมีความสุขกว่า ไว้เศรษฐกิจดีดีเมื่อไรค่อยทำก็ยังทัน ผมแค่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเองนะครับ!!”

ไม่ต่างจากความคิดเห็นของคนในแวดวงบันเทิงที่ออกมาแสดงจุดยื่นว่าไม่เห็นด้วยกับนโนบาย “ห้ามนั่งท้ายกระบะ-นั่งแค๊บ” ที่กลั่นออกมาจากความปรารถนาดีของรัฐบาล

“อุ๋ย บุดด้า เบลส” หรือ นที เอกวิจิตร วิจารณ์ในมาตรการดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Natee Ekwijitความว่า

“กฎหมายห้ามนั่งกระบะหลังและห้ามนั่งในแค็บ เพราะถือว่าจดทะเบียนเป็นรถ 2 ที่นั่ง เป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ได้ผ่อนปรนกันมาจนเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ารัฐบาลและตำรวจจะมาบังคับใช้เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของประชาชน ตนคิดว่าน่าจะไปบังคับใช้กฎหมายลงโทษพวกเมาแล้วขับให้ได้จริง ๆ เสียก่อนน่าจะมีประโยชน์กว่า”

เช่นเดียวกับแรปเปอร์รุ่นพี่ “โจอี้ บอย ศิลปิน” โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Apisit Joeyboy Opasaimlikit แสดงความไม่เห็นด้วย “ผมว่าขี่สวนเลนกับช้าวิ่งขวาน่าจะจับก่อนนั่งหลังกระบะ”

นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Nitipong Honar ตัดทอนบางส่วนความว่า

“เรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องดี กฎหมายเขาก็มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีใครรู้ ตำรวจบางคนยังไม่รู้เลยมั้ง เรื่องนั่งแค๊บ นั่งหลังกระบะเนี่ย...ฮ่าๆๆ หมวกกันน็อค เข็มขัดนิรภัย ก็เป็นกฎหมายแห่งความหวังดี... แต่เรื่องดี ๆ หลายเรื่อง ถ้าออกมาผิดจังหวะ ผิดเวลา ... มันก็เสียรังวัดบานปลายล้มลุกคลุกคลานไปได้ ดีละ...หลังสงกรานต์ ค่อยคุยเรื่องนี้กันใหม่ ที่ต้องไปเอาจริงเข้มข้นก็เรื่องเมาแล้วขับนั่นแหละ โดยเฉพาะพี่มอเตอร์ไซค์ ที่เป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดเสมอในช่วงเทศกาล ทั้งเมา ทั้งสวนเลน ทั้งไม่มีไฟท้าย ทั้งไม่ใส่หมวกกันน็อค สี่มรณะเลยนะนั่น.. ก็เพ่งเล็งไปตรงส่วนนี้ให้หนักก็แล้วกันนะจ่านะ...”

นอกจากนี้ ยังมีการนำภาพซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเคยกระทำในลักษณะดังกล่าวมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์จำนวนมาก เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจนำผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมนั่งมาในท้ายรถกระบะ ภาพตำรวจ-ทหารนั่งอยู่ท้ายรถกระบะ ฯลฯ และไพล่เลยไปกล่าวหาว่า กฎหมายที่ออกมาเป็นการเปิดช่องให้ “ตำรวจ” ผู้ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนเป็นทุนเดิมจะได้รับ “สินบน” ในการจับกุมและออกใบสั่งเพิ่มขึ้น

แม้กระทั่งตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ยังถูกขุดภาพที่เคยยืนอยู่ท้ายรถปิกอัพพร้อมกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และดาราสาวแพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ สมัยที่ ผบ.ทบ.มาเผยแพร่อีกต่างหาก

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ลามเหมือนไฟลามทุ่งจนสร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลอย่างหนัก กลุ่มที่ฝักใฝ่การเมืองก็ผสมโรงโหมกระพือ กลุ่มที่ศรัทธาก็พร้อมใจกันลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ กลุ่มไทยเฉยที่ไม่เคยเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องราวของบ้านเมืองก็ร่วมวงแสดงความไม่เห็นด้วย

เรียกว่า ทุกวงสนทนาของคนไทยมีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ว่าได้

ในที่สุด ไม่ทันข้ามวัน คำสั่ง คสช.ที่ 14/256 ก็พังครืนจากแรงต้านของประชาชนอย่างไม่เป็นท่า จำต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อนที่รัฐบาลจะพังแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และก็ไม่รู้ว่า จะมีโอกาสได้กลับมาบังคับใช้ได้อีกหรือไม่เสียด้วยซ้ำไป

เสธ.ไก่อู - พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จำต้องตั้งโต๊ะอธิบายถึงเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลในทันที

“เพื่อลดอุบัติเหตุ ป้องกันการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยความจริงใจ ไม่มีสิ่งใดซ่อนเร้น หรือต้องการทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกลำบาก แต่เมื่อได้รับฟังเสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่แล้ว จึงมีความเห็นให้ผ่อนผันชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนก่อน”

ปรากฏการณ์ต่อต้าน ม.44 แสดงให้เห็นว่า เสียงของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจจำต้องรับฟัง เพราะพวกเขาคือเจ้าของประเทศตัวจริง

ปรากฏการณ์ต่อต้าน ม.44 แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายอะไรที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน และถูกปล่อยปละละเลยในการใช้กฎหมายมาเป็นเวลานาน จำเป็นที่จะต้องอาศัยเวลาในการให้ข้อมูล ในการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว

เดชะบุญที่ “นายกฯ ลุงตู่” ยังฟังเสียงประชาชน ไม่เช่นนั้น มาเพราะ “รถถัง” ก็อาจจะไปเพราะ “รถกระบะ” ได้เหมือนกัน

และคงต้องติดตามกันต่อว่า นายกฯ ลุงตู่ จะเดินหน้า ม.44 ในประเด็นที่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น