xs
xsm
sm
md
lg

ตรรกะของความเหมาะสม: จากนั่งท้ายรถกระบะ สู่การลาออกของรองอธิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
"ปัญญาพลวัตร"

โดยปกติตรรกะหลักที่มนุษย์ใช้ในการปฏิบัติมีสองประเภทคือตรรกะของความเหมาะสม กับตรรกของผลสืบเนื่อง ตรรกะของความเหมาะสมเป็นเรื่องที่มนุษย์นำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำโดยอ้างอิงกับบทบาทหน้าที่และบริบทของสังคม ส่วนตรรกะของผลสืบเนื่องนั้นมีสาระหลักว่า มนุษย์ตัดสินใจกระทำโดยพิจารณาว่า ผลสืบเนื่องที่ตนเองได้รับคืออะไร หากมนุษย์ประเมินว่าผลสืบเนื่องเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ก็จะกระทำ แต่หากประเมินแล้วว่า การทำสิ่งใดทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ ก็จะไม่ทำ

ตรรกะของความเหมาะสมเป็นกฎเกณฑ์หรือปทัสถานทางสังคม ซึ่งมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆคือ ตรรกะของความเหมาะสมแบบทั่วไปที่สมาชิกของสังคมอ้างอิงร่วมกันในการกระทำทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง กับตรรกะของความเหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์หรือปทัสถานทางสังคมที่มีความเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มทางสังคมหนึ่งๆใช้อ้างอิง

ตรรกะของความเหมาะสมแบบทั่วไปมีความแตกต่างกันตามสังคม บางสังคมกำหนดให้สมาชิกแต่ละคนปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่ามีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม ขณะที่บางสังคมกลับมีกฎเกณฑ์แตกต่างออกไป กลับใช้ตรรกะอีกชุดหนึ่งที่มองว่าการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นการตีตนเสมอท่านบ้าง ไม่รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่บ้าง ไม่เคารพผู้อาวุโสบ้าง ไม่รู้จักกาละ เทศะบ้าง

หากสมาชิกผู้ใดในสังคมใดกระทำแตกต่างจากตรรกะของความเหมาะสม ก็มักถูกแทรกแซงด้วยการลงโทษทางสังคม ในสังคมที่ยึดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อกัน ก็จะรังเกียจพฤติกรรมที่สร้างความไม่เท่าเทียม และไม่ยอมรับพฤติกรรมการใช้อภิสิทธิ์

ในทางกลับกันในสังคมที่ยึดการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเป็นตรรกะหลักที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ผู้คนในสังคมนั้นก็จะรู้สึกว่า การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องปกติ หากสมาชิกของสังคมคนใดปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ก็มักจะถูกมองด้วยสายตาที่แปลกประหลาด และบางคนที่อยู่ในฐานะที่สามารถใช้อภิสิทธิ์ได้ แต่ไม่ยอมใช้ ก็มักถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยฉลาด

ตรรกะของความเหมาะสมแบบทั่วไปจะคาดหวังถึงพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมของสมาชิกในการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างกว้างๆ แต่ตรรกะของความเหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของบุคคล ตามตำแหน่งหน้าที่และสถานภาพในสังคมมีลักษณะที่แคบกว่า แต่มีพลังในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์อย่างนึกไม่ถึง หลายครั้งหลายโอกาสที่บุคคลถึงกับยินยอมสูญเสียผลประโยชน์ของตนเองเพื่อปฏิบัติตามตรรกะของความเหมาะสม

ดังในสังคมไทย ความกตัญญูต่อบิดามารดา และดูแลท่านเมื่อยามชราภาพ เป็นบทบาทสำคัญของบุตรและธิดา เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่ จึงเป็นการสมควรและเหมาะสมที่บุตรและธิดาจะต้องดูแลบิดาและมารดาของตน เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณ หากบุตรและธิดาคนใดไม่ปฏิบัติตามตรรกะชุดนี้ ก็จะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญูและเป็นคนไม่ดี กระนั้นผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังให้ดูแลบิดามารดายิ่งกว่าผู้ชาย เพื่อแสดงความเป็นลูกที่ดี ผู้หญิงจำนวนมากจึงยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อทำหน้าที่ของความเป็นลูกที่ดี

มีตัวอย่างอีกมากที่แสดงให้เห็นถึงพลังของตรรกะของความเหมาะสมในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ในหลายกรณีตรรกะความเหมาะสมพลังชี้นำพฤติกรรมของบุคคลมากกว่าตรรกะของความสืบเนื่อง อย่างเช่น การที่ทหารจำนวนมากยอมเสียสละชีวิตของตนเอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทที่สังคมคาดหวัง หรือพนักงานดับเพลิงที่ยอมเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต เพื่อทำหน้าที่ของตนเองตามบทบาทที่สังคมกำหนด กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าปทัสฐานของสังคมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้สวมตำแหน่งเหล่านั้น มีพลังเหนือกว่าตรรกะของความสืบเนื่อง ซึ่งเน้นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ผู้คนในสังคมแต่ละอาชีพ แต่ละตำแหน่ง แต่ละสถานภาพได้รับการปลูกฝังปทัสถานแห่งการปฏิบัติภายใต้ตรรกะของเหมาะสมอย่างยาวนาน ในบางอาชีพปทัสฐานเหล่านั้นผนึกอยู่ในจิตสำนึกของบุคคลที่อยู่ภายในหน่วยทางสังคมนั้นๆ แต่หากสังคมยังไม่มีการปลูกฝังและหล่อหลอมตรรกะของความเหมาะสมภายในอาชีพหรือตำแหน่งทางสังคมใดๆอย่างเข้มข้นแล้ว ตรรกะของความสืบเนื่องก็จะเป็นพลังหลักชี้นำการปฏิบัติของบุคคลในอาชีพนั้น

อย่างอาชีพนักการเมืองในสังคมไทย ซึ่งไม่มีการปลูกฝังปทัสฐานและกฎเกณฑ์การปฏิบัติที่เหมาะสม ทำให้การกระทำของนักการเมืองส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตรรกะของความสืบเนื่อง โดยตัดสินใจทำหรือไม่ทำเรื่องใดมักยึดโยงกับผลประโยชน์หรือโทษที่ประเมินว่าจะเกิดขึ้นเป็นหลัก สำหรับอาชีพตำรวจ แม้ว่าได้รับการอบรมกล่อมเกลาและปลูกฝังปทัสถานที่เหมาะสมจากสถาบันการผลิตตำรวจที่เป็นทางการ แต่ปทัสถานที่ได้รับอย่างไม่เป็นทางการผ่านรุ่นต่อรุ่น กลับขัดแย้งกับปทัสถานที่เป็นทางการ และการปฏิบัติจริงตำรวจก็มักใช้ตรรกะของความเหมาะสม โดยใช้ฐานอิงจากปทัสถานที่ไม่เป็นทางการเป็นหลัก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิบัติของตนเอง

ตำรวจไม่น้อยมีวิธีคิดว่า เป็นความเหมาะสมแล้วที่รับเงินจากผู้ทำผิดกฎหมายจราจร หรือผู้ทำผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น การเปิดสถานบริการ การเปิดบ่อนพนัน เพราะทำให้ทั้งตำรวจและผู้กระทำผิดได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ โดยผู้ทำผิดก็เสียเงินน้อยกว่าอัตราการปรับสูงสุดตามกฎหมาย และไม่ต้องเสียเวลาไปเสียค่าปรับ หรือในบางกรณีก็ไม่ต้องถูกโทษทางอาญา ส่วนตำรวจก็ได้ประโยชน์ มีเงินเข้ากระเป๋าตนเอง และส่งให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย เรียกว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ประโยชน์กันทั่วหน้า ตรรกะชุดนี้จึงได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวาง

แต่ในหลายกรณี ตรรกะของความเหมาะสมที่แตกต่างกันของกลุ่มในสังคม นำไปสู่ความขัดแย้งได้ ดังความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับผู้ใช้รถกระบะ กลุ่มตำรวจมีตรรกะของความเหมาะสมชุดหนึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ถนน และได้ขับเคลื่อนจนกระทั่งมีกฎหมายจราจร ที่ขยายฐานความผิดเพิ่มขึ้นมากมาย รวมทั้งการห้ามคนนั่งในกระบะหลังของรถกระบะ และการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดทุกที่นั่ง รวมทั้งที่นั่งในรถกระบะแบบตอนครึ่งด้วย โดยตำรวจให้เหตุผลว่า รถกระบะเป็นรถสำหรับบรรทุกสิ่งของไม่ใช่บรรทุกผู้คน การบรรทุกคนไม่ปลอดภัย ตำรวจผู้ผลักดันนโยบายมีความเชื่อว่า กฎหมายที่เข้มข้นจะทำให้คนกลัวไม่กล้ากระทำผิด ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้รถ อันจะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุตามท้องถนนได้

ขณะที่ผู้ใช้รถกระบะมีชุดของตรรกะว่า รถกระบะเป็นรถอเนกประสงค์ ใช้ทั้งบรรทุกสิ่งของและบรรทุกผู้คน เหมาะสมสำหรับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด และเชื่อว่าการออกกฎหมายในลักษณะนี้ไม่ได้ทำเพื่อความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างแท้จริง หากแต่มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ ความเชื่อเช่นนี้ของผู้ใช้รถยนต์สรุปจากประสบการณ์จริงที่พบได้ทั่วไปในสังคมไทย

เมื่อตรระกะของความเหมาะสมสองชุดขัดแย้งกัน การอภิปรายถกเถียงเพื่อเอาชนะกันก็เกิดขึ้น บางกรณีจบลงด้วยการหาทางออกร่วมกันได้และเกิดการสร้างสรรค์ตรรกะของความเหมาะสมใหม่ขึ้นมาใช้ร่วมกัน แต่บางกรณีก็หาจุดร่วมกันไม่ได้ และทำให้ความขัดแย้งบานปลาย

สำหรับกรณีที่ตรรกะของความเหมาะสมมีพลังกำหนดพฤติกรรมน้อยกว่าตรรกะของความสืบเนื่องก็มีไม่น้อย ที่เห็นชัดคือ เหตุการณ์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดลแบบรวมหมู่ อันเป็นผลมาจากการที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับรองอธิการบดีต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. การกระทำของบรรดารองอธิการบดีเหล่านั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของตรรกะของความสืบเนื่อง เพราะพวกเขาประเมินว่า การแสดงบัญชีทรัพย์จะสร้างผลกระทบทางลบอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ตนเอง ดังนั้นเพื่อหลีกเลียงการแสดงบัญชีทรัพย์สิน จึงลาออกจากตำแหน่งไป เหตุการณ์นี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าตรรกะของความเหมาะสมหรือปทัสถานเกี่ยวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร ยังไม่มีความเป็นสถาบันเพียงพอที่จะไปทำให้บุคคลยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

การกำหนดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล และกลุ่มทางสังคมได้นั้น สังคมต้องสร้างตรรรกะของความเหมาะสมที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นขึ้น และทำให้กลายเป็นค่านิยมและปทัสถานทางสังคมขึ้นมา การออกกฎหมายอย่างบุ่มบ่ามและขาดความรอบคอบ เพื่อบังคับให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างทันทีทันใด โดยยังมิได้มีปทัสถานที่ดีรองรับ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้ง่าย

ดังเรื่องกฎหมายจราจร ที่รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างปทัสถานเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนให้กลายเป็นสถาบันที่ชี้นำแบบแผนปฏิบัติในชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งการไม่สามารถสร้างมาตการทางเลือก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้รถอย่างเป็นรูปธรรม อยู่ ๆ ก็ใช้อำนาจหักด้ามพร้าด้วยเข่า ความขัดแย้งก็ย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

เช่นเดียวกันกับเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในหน่วยงานภาครัฐ มีกฎหมายบังคับอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ยังขาดการทำให้เรื่องนี้ให้เป็นปทัสถานของวิชาชีพนั้น ก็ย่อมนำไปสู่การสร้างปัญหาตามมาดังที่เห็น ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ต้องสร้างปทัสถานการปฏิบัติ พื่อทำให้การแสดงบัญชีทรัพย์สิน กลายเป็นตรรกะของความเหมาะสมสำหรับดำรงตำแหน่งผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐทุกระดับต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น