xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกจิตสำนึกด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเยาวชน

เผยแพร่:   โดย: ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์


วรนุช ดีละมัน
มัทนาวดี หัทยานนท์
โฉมศรี ชูช่วย
นักศึกษาปริญญาเอก คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่ามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด หลายประเทศมีความต้องการพลังงานเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคเกษตรกรรม และภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พบว่าแนวโน้มของการใช้พลังงานมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยการใช้พลังงานภายในประเทศมีหลายประเภท ตัวอย่างการใช้เชื้อเพลิงที่นำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในปี พ.ศ. 2558 มีเชื้อเพลิงทั้งหมด 7 ประเภท ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 69.22% ถ่านหิน 19.10% พลังน้ำ 8.65% น้ำมันเตา 0.61% น้ำมันดีเซล 0.10% พลังงานทดแทน 2.24% และซื้อต่างประเทศ 0.07% [1]

จะเห็นได้ว่าเชื้อเพลิงหลักที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีโอกาสที่จะหมดไปในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้การใช้พลังงานที่ผ่านๆ มาของประชาคมโลกยังก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาในหลายด้านหนึ่งในนั้นคือด้านอากาศ ก๊าซมลพิษหลายชนิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) [2] เป็นต้น

จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านวิกฤติพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับงานวิจัยและค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศไทยในอนาคตอาจจะต้องพบกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนพลังงานได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องปัญหาพลังงานที่จะเกิดขึ้นปัจจุบันรัฐบาลจึงมีการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการลดการใช้พลังงาน และมุ่งเน้นในการพัฒนาและหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆที่ประเทศไทยสามารถสร้างและจัดการได้จากทรัพยากรภายในประเทศรวมทั้งการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ดีที่สุด (Best Available Techniques) และ แนวปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices) ตามนโยบายขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบสนองแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยงานที่เห็นความสำคัญ และต้องการส่งเสริมและเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทน จึงได้มีการจัดโครงการปลูกจิตสำนึกด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเยาวชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานรวมทั้งมีองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนสามารถรวมกลุ่ม ในการเผยแพร่และสร้างสรรค์กิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมฯ ตามวุฒิภาวะที่พึงกระทำได้ และเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนสามารถแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในการซักถามต่อประเด็นด้านการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ โดยโครงการนี้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2559 โครงการในครั้งนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ มีการกำหนดพื้นที่แกนนำไว้ทั้งหมด 6 พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล โดยทำการคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการพื้นที่ละ 5 โรงเรียน รวมทั้งหมด 30 โรงเรียน

สำหรับการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการให้ความรู้พื้นฐานและปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ มีการใช้สื่ออุปกรณ์ในการสอนที่ทันสมัย เช่น อินโฟกราฟิก (Infographics) การใช้สื่อแบบภาพเคลื่อนไหว (Motion Clips) เพื่อง่ายต่อการอธิบาย และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเนื้อหาสำคัญของโครงการจะมุ่งเน้นในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชี้ประเด็นของผลดีและผลเสียที่จะเกิดตามมาจากการใช้พลังงานประเภทต่างๆ มีวิทยากรที่มีความรู้เป็นผู้ดำเนินโครงการ สำหรับการจัดโครงการอบรมและปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนกลุ่มแกนนำทั่วทั้งประเทศในครั้งนี้นี้ คณะผู้จัดทำโครงการมีความคาดหวังให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเห็นคุณค่าในการอนุรักษ์พลังงานซึ่งเป็นการวางรากฐานความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศเพราะเยาวชนคืออนาคตของชาติที่มีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนนอกจากนี้ประชาชนในช่วงกลุ่มอายุอื่น เช่นวัยทำงาน และผู้สูงอายุยังสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการบริหารจัดการพลังงานทดแทนผ่านเว็บไซต์ อีกทั้งสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ล้ำยุคที่มีความซับซ้อนสูงในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่ายจาก Animation Slides และภาพเคลื่อนไหวแบบ Motion Clips ได้อีกด้วย จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า การอบรมให้ความรู้เรื่องพลังงานทดแทนแก่เยาวชนในภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง พบว่า เยาวชนทั้ง 4 ภาคมีความรู้และความสนใจเรื่องพลังงานทดแทนคล้ายๆ กัน อย่างเช่น พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนจากน้ำ พลังงานทดแทนชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งบางโรงเรียนในภาคใต้และภาคเหนือ ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มาใช้เป็นพลังงานทดแทนภายในโรงเรียนอีกด้วย

ความสนในเรื่องพลังงานทดแทนของเยาวชนทั้ง 4 ภาคจะให้ความสำคัญและสนใจซักถามพลังงานทดแทนที่มีปัจจัยและต้นทุนในพื้นที่ท้องถิ่นของตัวเองเพื่อสามารถที่จะนำมาพัฒนาและผลิตเป็นพลังงานทดแทนให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตัวเองในอนาคต ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ภาคใต้ ที่ถูกคัดค้านจากโรงเรียนและชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเนื่องจากจะทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมีพื้นที่ตั้งใกล้กับโรงเรียนจนเกินไปจนเกิดเป็นแรงต่อต้านขึ้น นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจากคุณครูในเรื่องของการอบรมที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดทำหรือผลิตผลงานที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน ในลักษณะการสอน แบบ Learning Active ในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนพะเยาพิทยาคม จ.พะเยา ในพื้นที่ภาคเหนือปัจจุบันได้มีการสอนให้นักเรียนทดลองทำไบโอดีเซลจากน้ำมันเหลือใช้ในครัวเรือนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การอบรมให้ความรู้ที่ผ่านมาพบว่าความรู้พื้นฐานในเรื่องของพลังงานทดแทนในแต่ละโรงเรียน และแต่ละภาค มีพื้นฐานความรู้ที่ใกล้เคียงกันอาจสืบเนื่องมาจากการเรียนการสอนของโรงเรียนที่หันมามุ่งเน้นในเรื่องพลังงาน และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ เช่นความรู้ในเรื่องพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งจากสื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

นอกจากนี้เยาวชนในแต่ละภาคยังให้ความสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทนที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรพื้นฐานในท้องถิ่น สำหรับภาคเหนือเยาวชนจะมีความสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทนที่ผลิตมาจากน้ำมากกว่าพลังงานชนิดอื่น เช่นเดียวกับภาคใต้เยาวชนจะมีความในเรื่องของพลังงานทดแทนที่มาจากพลังงานลม (กังหันลม) และชีวมวล เป็นหลัก ในส่วนของภาคอีสานและภาคกลางเยาวชนจะมีความสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทนที่คล้ายคลึงกัน โดยจะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนที่ผลิตมาจากพืชที่เหลือทิ้งจากการเกษตรกรรม เช่น ข้าวโพด ฟางข้าว มันสำปะหลัง ผนวกกับบริเวณพื้นที่ของทั้ง 2 ภาค มีโรงงานรับซื้อเศษพืชที่เหลือทิ้งจากการเกษตรกรรมเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนมีความสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทนจากชีวมวลมากกว่าพลังอื่นๆ

ในการอบรมครั้งนี้พบว่าผลตอบรับจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีการตอบรับที่ดี มีความกระตือรือร้นและให้ความสนใจในเรื่องของพลังงานทดแทนทุกประเภท นอกจากนี้เยาวชนยังมีข้อเสนอแนะให้มีการจัดโครงการอบรมในเรื่องของพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการให้ความรู้กับเยาวชนรุ่นต่อไปในอนาคต ดังนั้นการปลูกฝังในกลุ่มเยาวชนนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในอนาคตให้มีความรู้ความเข้าใจและเตรียมพร้อมที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานทดเแทนของชาติสืบไปในอนาคต

*หมายเหตุ : ท่านสามารถติดตามผลงานด้านการเผยแพร่องค์ความรู้พลังงานทดแทนของศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ทางเว็บไซต์http://www.green-energy-th.com

[1] การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ปี 2558. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่: https://www.egat.co.th.
[2] Mike Robbins. CROPS AND CARBON: PAYING FARMERS TO COMBAT CLIMATE CHANGE, Earthscan, 2011, 300 pages, ISBN: 978-1-84971-375-7 (hbk), Book Review. Economic Analysis & Policy, Vol. 43 No. 1, MARCH 2013.

กำลังโหลดความคิดเห็น