xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งงเด้ งงเด้...เขตหวงห้าม ไม่มี “ตั๋วครู” ห้ามเข้า???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นเรื่องที่เป็นหัวข้อถกเถียงในแวดวงการศึกษาในทุกระดับชั้นเลยทีเดียว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการในยุคที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ เปิดประเด็น “ปลดล็อกตั๋วครู” เพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษาด้านอื่นๆ ทางด้านศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ หากแต่สนใจในอาชีพ “เรือจ้าง” และมี “ความรู้ความสามารถ” เข้ามาสอบรับราชการเป็น “ครู” ได้

และเหลือเชื่อว่าเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาอีกต่างหาก จนเป็นที่น่าสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น และมีการเมืองเข้ามาอยู่เบื้องหลังหรือไม่

แน่นอน เรื่องนี้ย่อมมีที่มาและที่ไป

ก่อนหน้าที่ นพ.ธีระเกียรติ จะตัดสินใจปลดล็อกนั้น ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาจริงๆ และระบบการผลิตบุคลากรเพื่อเป็น “ครู” ก็มีปัญหาจริง ทำให้ไม่สามารถผลิตเด็กที่คุณภาพได้ เป็นเหตุให้มาตรฐานการศึกษาไทยติดอันดับรั้งท้าย กลายเป็นปัญหาหมักหมมที่แก้ไม่ตก ขณะที่ระบบซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบันก็ขีดวงให้เฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ตั๋วครู เท่านั้น

ที่สำคัญคือ แต่ละปีมีปริมาณครูจบใหม่หลายหมื่นคน แต่การศึกษาไทยกลับขาดแคลนครูวิชาเฉพาะอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ ทำให้เด็กไทยต้องแห่ไปเรียน “กวดวิชา” กับติวเตอร์ชื่อดังกันจ้าละหวั่น และนั่นเป็นเหตุให้ นพ.ธีระเกียรติ ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีปลดล็อกตั๋วครู
 กล่าวคือจากเดิมกำหนดว่า "ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครู ตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน" โดยกำหนดใหม่เป็น "มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครู ตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา"

การปลดล็อกตั๋วครูเพื่อต้องการเปิดทางให้ได้คนดีคนเก่งเข้ามาเป็นครู ภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช. จึงเดินหน้าแก้ปัญหาโดยระบบการศึกษาที่สั่งสมมานานที่ไม่มีรัฐบาลใดกล้าแตะ เพราะครูไทยถือเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ แน่นอน การเดินหน้าแก้ปัญหาในครั้งนี้ นำมาซึ่งเสียงสะท้อนต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ รวมถึง “กลุ่มการเมือง” ที่รอจังหวะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

"เรื่องนี้มีการถกเถียงมานานกว่า 10 ปีแล้วว่าจะมีการเปิดโอกาสให้คนข้างนอกเข้ามาเป็นครูได้หรือไม่ และต้องเข้าใจข้อเท็จจริงด้วยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีครูที่เกษียณอายุราชการอีกประมาณ 270,000 คน อีกทั้งภาพใหญ่ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศคือ การได้มาซึ่งครูประจำการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ การสรรหาบรรจุข้าราชการครู ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการสรรหาคนที่จะมาทดแทนครูที่จะเกษียณ 270,000 คน เราไม่ได้ปิดกั้นคนเก่า แต่ขณะนี้มีปัญหาว่าหลายสาขา สรรหาเท่าไรก็ไม่เคยได้ และเราต้องการคนเก่งไม่ว่าจะเป็นกระบวนการครูคืนถิ่นซึ่งก็นำมาจากสาขาอื่นด้วย

“...เรื่องการสรรหา ไม่เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานหรือการทำลายศักดิ์ศรีใคร และเป็นเรื่องของเหตุผล จะมาเถียงกันเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครูก็จะมีการเถียงกันไปมาว่าวัดได้ไหม และเหนือสิ่งอื่นใดต้องมีใครสักคนตัดสินใจว่าประเทศจะเดินอย่างไร ตอนนี้ตัดสินใจแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเคลื่อนไหวก็ขอให้เป็นเรื่องของวิชาการ คุยกันดี ๆ แต่อย่าทำให้เสียศักดิ์ศรี หรือแบล็คเมล์ หรือปลุกเร้าอารมณ์คน

"คนที่เสียเปรียบจริงๆ ไม่ใช่คนที่เรียนจบครู แต่เป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้เรียนครู ซึ่งอุตส่าห์ตั้งใจมา พอเข้ามาแล้วต้องไปเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) หรือปริญญาโทเรื่องความเป็นครู ซึ่งปกติมีอยู่แล้ว ลองคิดดูว่าเสียสละเพียงใดในการที่จะมาเป็นครู แล้วจะไปกีดกันเขาทำไม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเข้ามาในสาขาขาดแคลนที่เราสรรหาไม่ได้สักที ในสาขาที่หาได้ก็ให้มาแข่งกัน ถ้าคุณเรียนมาตั้ง 5 ปี คุณก็ต้องเก่งพอที่จะแข่งกับเค้าได้ เรียนมา 5 ปีก็ต้องแข่งได้ทั้งความเป็นครูและวิชาการด้วย เขาเริ่มจากเสียเปรียบแล้วไปกีดกัน เรื่องการผลิตคนเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ขณะนี้ต้องดูแลเรื่องการรับสรรหาครูเข้ามา เพราะฉะนั้น นโยบายกระทรวงศึกษาธิการจะเดินแบบนี้ เหมือนเป็นเจ้าของบริษัทต้องการใครสักคนเข้ามาทำงานต้องเป็นเรื่องของใคร เรื่องของมหาวิทยาลัย หรือเรื่องของบริษัท ดังนั้นให้คุยกันดีๆ" นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม “นโยบายปลดล็อกตั๋วครู” ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักจากคณาจารย์ ผู้บริหาร นิสิตนักศึกษา กลุ่มคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ รวมทั้งเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ทบทวน

“การให้คนเก่งๆ รู้เนื้อหามากๆ มาสอนหนังสือ มันไม่มีเสน่ห์ เหมือนสากกะเบือ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่รู้ว่าต้องนำเด็กเข้าบทเรียนอย่างไร สอนอย่างไรให้เด็กสนใจ ซึ่งจุดต่างของวิชาชีพครูกับวิชาชีพอื่นๆ คือ เรามีต้นทุนทางวิชาชีพ มีการวัดแววความเป็นครู เด็กที่เรียนมาด้วยความตั้งใจ มีแรงบันดาลใจที่จะเป็นครู อีกทั้งการเรียนครู มีปรัชญา ศาสตร์ องค์ความรู้เฉพาะ เช่นการออกแบบหลักสูตร การจัดการเด็กที่มีปัญหา การวัดประเมินผลที่สอดแทรกให้กับนิสิต นักศึกษาตลอดการเรียนตั้งแต่ปี 1- 5 เช่นเดียวกับการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพ

"เวลานี้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เหมือนถูกย่ำยีมาก ถูกมองข้ามความสำคัญ ขณะที่คุรุสภาที่เป็นองค์กรวิชาชีพครูกลับนิ่งเฉย ซึ่งน่าจะต้องพิจารณาบทบาทตัวเองด้วย ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้คราวนี้ก็จะเป็นจุดด่างของวิชาชีพครู ที่ปล่อยให้วิชาชีพอื่นมาแย่งงาน"

นั่นคือความเห็นของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เสียงสะท้อนดังกล่าว ที่ประชุม ก.ค.ศ. รับฟังก่อนร่วมหารือทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยได้บทสรุปของแนวทางการปฏิบัติในการรับสมัครสอบบรรจุครูผู้ช่วยใหม่ เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ 1/2560 เป็นต้นไป (รับสมัครสอบระหว่าง วันที่ 29 มี.ค. - 4 เม.ย. 2560) ดังนี้

การสอบครูผู้ช่วยจะเปิดสอบทั้งสิ้น 61 สาขาวิชา มีอัตราบรรจุได้ 6,381 อัตรา ใน 64 จังหวัดและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชา

และอีก 25 สาขาวิชาจะเปิดให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ สามารถสมัครได้ จำแนกเป็นกลุ่มสาขาวิชาที่คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ที่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 5 ปี จำนวน 17 วิชา ได้แก่ กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด, การเงิน/การบัญชี, จิตรกรรม, จิตวิทยาคลินิก, ดนตรีพื้นเมือง, นาฏศิลป์ (โขน), ภาษาพม่า, ภาษาเวียดนาม, ภาษาสเปน, เศรษฐศาสตร์, โสตทัศนศึกษา, หลักสูตรและการสอน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างก่อสร้าง), อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างยนต์) และภาษามลายู และอีกกลุ่มสาขาวิชาที่ขาดแคลนเรื้อรัง 8 ได้แก่ วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ทั่วไป, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนสอบผ่านขึ้นบัญชีได้น้อยมาก

ผู้สมัครสอบทั้งหมดจะต้อง สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ

หากสอบผ่าน สพฐ. จะทำเรื่องขอไปยังสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนให้ และให้ไปผู้ที่สอบผ่านไปรายงานตัวที่สถานศึกษา ขณะเดียวกัน สพฐ.จะมีการติวเข้มเป็นกรณีพิเศษก่อนทำการสอนจริง

บทสรุปดังกล่าวได้รับการยอมรับจากกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ถือเป็นข้อยุติกระแสวิพากษ์และการต่อต้านที่เกิดขึ้น

และแปลไทยเป็นไทยได้ว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า วิชาชีพครูมีความสำคัญ แต่ก็ยอมรับระบบการผลิตครูของสถาบันการศึกษามีปัญหาจริงๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วที่ผ่านมาสถาบันที่ผลิตครูเปิดการเรียนการสอนทางด้านไหนกันบ้าง ทำไมถึงไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้

กระนั้นก็ดี นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยใจบริสุทธิ์แล้ว งานนี้มี “การเมือง” ผสมโรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีข้อมูลยืนยันว่า บุคคลสำคัญที่ปล่อยข่าวล่าชื่อปลุกม็อบขับไล่ นพ.ธีระเกียรติก็คือ “อดีตบิ๊กในกระทรวงเสมา” รายหนึ่งที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้ามกับรัฐบาล

นี่เป็นโจทย์ที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพราะงานนี้มีเดิมพันสูงสุดคือ “อนาคตของชาติ”


กำลังโหลดความคิดเห็น